เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ เมิน 3G!!! ทุ่ม “ไอโฟน 4”กระหึ่มเมือง


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(25 กันยายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

คนกำหนดไม่เท่ากับฟ้าบันดาล ที่ทำให้ 2 เหตุการณ์ใหญ่ของวงการโทรคมนาคมต้องอุบัติขึ้นในวันเดียวกันอย่างที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน

หนึ่งเหตุการณ์ที่จะพลิกประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมโทรคมนาคมคือการประมูล 3G ที่ถูกกำหนดในวันที่ 20 กันยายน 2553 มีอันต้องหยุดรอคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในเช้าวันที่ 23 กันยายน 2553 ซึ่งไม่ว่าจะพลิกหงายหรือพลิกคว่ำ ย่อมกลายเป็นประวัติศาสตร์

ให้กับวงการมือถือไทยอีกครั้ง

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ถูกเก็บไว้เป็นความลับตลอดมาคือการเปิดตัว “ไอโฟน 4” ซึ่งผู้ให้บริการทั้งเอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ จะจัดงานเปิดตัวไอโฟน 4 อย่างเป็นทางการในประเทศไทยในค่ำคืนวันที่ 23 กันยายน 2553

“23 กันยายน กลายเป็นวันที่ไอทีโทรคมนาคมเมืองไทยตื่นเต้นที่สุด”

เป็นคำกล่าวของ ธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์องค์กร และว่า

ความตื่นเต้นของธนานั้น อยู่บนความไม่รู้ว่าโทรคมนาคมจะพลิกโฉมไปอย่างไรกับเรื่องของ 3G และเทรนด์ของสมาร์ทโฟนที่ร้อนแรงกว่าที่คาดคิดไว้อย่างมากมาย

ก่อนหน้าที่เหตุการณ์ทั้งสองจะเกิดขึ้นในวันเดียวกัน ทั้งเอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ ต่างใจจดใจจ่อกับทั้งสองเหตุการณ์มาก ชนิดที่อาจจะทำให้ผู้บริหารบางคนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ เพราะต้องเดินเกมกำหนดยุทธศาสตร์ให้กับทั้งสองเหตุการณ์

วันที่ ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์ ปิดต้นฉบับคือวันที่ 22 กันยายน 2553 แต่ประวัติศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 23 กันยายนนั้นเป็นสิ่งที่หลายคนเฝ้าติดตาม และหาก 3G มีอันต้องชะลอไปก่อนตอนช่วงเช้า รับรองได้ว่าปรากฏการณ์ยึดพื้นที่ปิดเรดฮอตของเมืองเพื่อเปิดตัวไอโฟน 4 ของทั้ง 3 ค่ายมือถือ จะกลายเป็นงานปาร์ตี้เปิดตัวสินค้าที่สุดอลังการอย่างแน่นอน

ยิ่งบรรดาเซเลบ ไฮโซ ดารา คนดัง กำลังถูกล่ารายชื่อให้มาเป็นแขกวีไอพีในการเปิดตัวไอโฟน 4 ด้วยแล้ว สงครามแย่งชิงเจ้าพ่อเจ้าแม่ดาราหน้ากล้องทั้งหลายกลายเป็นประเด็นร้อน ถึงขนาดที่บางค่ายยังไม่กล้าที่จะใส่ชื่อของบรรดาเซเลบลงในกำหนดการเชิญสื่อมวลชน หรือในตัวข่าวประชาสัมพันธ์ เนื่องจากกลัวจะหน้าแตกหมอไม่รับเย็บหากบรรดาตัวพ่อเหล่านี้ไม่ได้ไปปรากฏตัวในงานเปิดตัวของตนเอง

ยิ่งไปกว่านั้นการคุมเข้มของแอปเปิล บีบบังคับหัวใจทั้งเอไอเอส ดีแทคและทรูมูฟ ที่อยากจะพูดถึงเรื่องไอโฟน 4 แทบจะตาย เพราะต้องปิดปากกันเงียบ จนทำให้บรรดาสาวกที่เฝ้ารอว่าราคาเครื่องไอโฟน 4 ทั้ง 16GB และ 32GB จะมีราคาขายเท่าไรกันแน่ในเมืองไทย ที่สำคัญแพกเกจโปรโมชั่นของแต่ละค่ายที่จะงัดมาสู้กันในศึกสมาร์ทโฟนที่มันส์ที่สุดแห่งปีนี้จะมีหน้าตาเป็นเช่นไร ทั้งหมดคำตอบอยู่ที่วันที่ 23 กันยายน โดยเครื่องไอโฟน 4 เครื่องแรกที่จะขายผ่านโอเปอเรเตอร์จะถูกส่งมอบให้ผู้บริโภคคนไทยได้นั้นคือเวลาเที่ยงคืนหนึ่งนาทีของค่ำคืนวันที่ 23 กันยายน แต่เป็นวันที่ 24 กันยายน 2553 แล้ว

เกมการตลาดไม่ปรกติ
รับการมาของไอโฟน 4

การเปิดตัวไอโฟน 4 ครั้งนี้ไม่ปรกติเหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา ที่มีผู้เล่นในตลาดเพียงรายเดียวเป็นผู้เปิดตัวไอโฟน แต่ครั้งนี้เป็นการเปิดตัวพร้อมกันจาก 3 ค่ายมือถืออย่างครบครัน ที่สำคัญเป็นการมาครั้งแรกของ “เอไอเอส” ยิ่งทำให้ค่ายมือถืออันดับสองอย่างดีแทคและอันดับสามอย่างทรูมูฟ จับจ้องที่จะต้อนรับน้องใหม่ หรือกำลังต้องจับจ้องว่าจะแก้เกมเอไอเอสได้อย่างไรดี

ก่อนหน้าการเปิดตัวไอโฟน 4 สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด เอไอเอส กล่าวว่า การแข่งขันกันทำตลาดไอโฟน 4 จะยิ่งกระตุ้นให้ตลาดคึกคักมากขึ้น แต่ละค่ายจะชูจุดเด่นที่แตกต่างกันในการทำตลาด โดยมีเรื่องของแพกเกจโปรโมชั่นมาเป็นจุดดึงดูด ร่วมกับบริการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับไอโฟน ที่จะทำให้ผู้บริโภคเลือกที่จะใช้บริการเครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่ง

แม้ว่าเอไอเอสจะเข้ามาขายไอโฟนทีหลัง แต่ที่ผ่านมาจากการประเมินจำนวนผู้ถือไอโฟนในตลาดเมืองไทยที่มีประมาณ 300,000 คน พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้ใช้งานเอไอเอส ทำให้เอไอเอสมีความมั่นใจว่าการขายไอโฟน 4 ครั้งแรกของเอไอเอสจะได้รับการตอบรับอย่างมาก

การเข้ามาทีหลังของเอไอเอส ทำให้เอไอเอสต้องทำตลาดตามระเบียบที่เข้มข้นของแอปเปิล และแทบจะไม่มีอะไรเผยออกมาจากค่ายนี้เลย จนกระทั่งก่อนวันเปิดตัว ที่สังคมบนโลกออนไลน์เริ่มมีการเผยข้อมูลเรื่องราคาเครื่องของเอไอเอส ที่วางราคาเริ่มต้นไว้ประมาณ 23,000 บาทสำหรับไอโฟน 4 รุ่น 16GB

ก่อนหน้านี้เอไอเอสทำได้เพียงส่งจดหมายประชาสัมพันธ์ ใจความระบุว่า “บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กำลังจะ Launch ไอโฟน 4 สุดยอดสมาร์ทโฟนที่บาง และมีหน้าจอที่คมชัดที่สุดเท่าที่เคยมีมา พร้อมวางตลาดเร็วๆ นี้ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ais.co.th สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับไอโฟน 4 ติดตามได้ที่www.apple.com/iphone โดยในวันที่ 22 กันยายนนั้น มีผู้ที่ได้ลงทะเบียนไว้กับเอไอเอสได้รับการยืนยันให้ไปรับเครื่องผ่านทางอีเมลเป็นครั้งแรก

ทั้งนี้ เอไอเอสจะเปิดตัวไอโฟน 4 และรับเครื่องกันตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 23 ไปจนถึงวันที่ 26 กันยายน ที่สกาย ฮอลล์ เซ็นทรัล ลาดพร้าว งานนี้เอไอเอสมีการเตรียมกำลังพลเกณฑ์พนักงานไปช่วยกันทำงานอย่างเต็มพิกัด โดยผู้ที่จะต้องรับผิดชอบในงานนี้บางคนรู้ตัวก่อนเพียง 1-2 วันก่อนวันงานเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของอีกสองค่ายนั้น ได้เดินเกมก่อนการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเช่นกัน ผู้ที่เคลื่อนไหวคนแรกก่อนใครหนีไม่พ้นทรูมูฟ ในฐานะเป็นรายแรกที่ประเดิมทำตลาดไอโฟนในประเทศไทย โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถลงชื่อเพื่อรับข้อมูลการวางจำหน่ายของไอโฟน 4 ผ่านทรูชอปตั้งแต่ 2 สัปดาห์ก่อน จากนั้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมา ทรูมูฟก็ติดประกาศป้ายโฆษณาเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจเป็นเจ้าของไอโฟน 4 ภายในชอปว่า “iPhone4 Midnight Launch, Thursday 23 from 10.00 pm @ Royal Paragon Hall, Siam Paragon” แต่ปรากฏว่าวันต่อมา ป้ายดังกล่าวก็ถูกถอนออกไปจากชอปทรูมูฟ น่าที่จะเป็นผลมาจากการได้รับคำเตือนจากแอปเปิล เนื่องจากทรูมูฟทำผิดสัญญาที่ทำร่วมกันไว้กับแอปเปิลเกี่ยวกับข้อตกลงในการให้ข้อมูลการเปิดตัวไอโฟน 4 ในเมืองไทย

จนกระทั่งวันที่ 17 กันยายน 2553 ทรูมูฟร่อนจดหมายเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมงานแถลงข่าวกลุ่มย่อย/พบปะพูดคุยเรื่อง “ศักยภาพเครือข่ายไร้สายความเร็วสูงของทรูมูฟ พร้อมรองรับสุดยอดสมาร์ทโฟน iPhone 4...แล้วจะรู้ว่าทำไมต้องทรูมูฟ” ในวันที่ 20 กันยายน 2553 สุดท้ายก็ต้องยกเลิกไปโดยไม่มีสาเหตุ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเป็นเหตุผลเดียวกับที่กล่าวไปเบื้องต้น

แม้ว่างานแถลงข่าวกลุ่มย่อยจะถูกยกเลิกไป แต่ช่วงบ่ายกลับมีภาพหลุดโปรโมชั่นไอโฟน 4 จากการที่ทรูมูฟให้ข้อมูลกับบล็อกเกอร์ออกมา ข้อมูลหลุดออกมาว่าทางทรูมูฟได้เตรียมทำดับเบิลซิม (Double Sim) ซิมแพ็กคู่สำหรับผู้ใช้ไอโฟนและไอแพด ในราคาพิเศษ

จากรูปภาพที่หลุดออกมาว่อนอินเทอร์เน็ตนั้น คือการปรับเปลี่ยนราคาโปรโมชั่นสำหรับไอโฟน จากเดิมที่มี 2 ราคา คือ 699 บาท สำหรับโทร.300 นาที ข้อความสั้น 300 นาที MMS 120 นาที ใช้อินเทอร์เน็ต 2G ไม่จำกัด ทดลองใช้ 3G ได้ 5GB และไวไฟ นาทีละ 50 สตางค์ และ 899 บาท สำหรับใช้งานอินเทอร์เน็ต 2G และไวไฟ ไม่จำกัด ทดลองใช้ 3G ได้ 5GB มาเป็นโปรโมชั่น iPack 549 บาท สามารถใช้อินเทอร์เน็ต 2G และทดลองใช้ 3G ได้ 1GB ไวไฟ ไม่จำกัด ขณะที่ iPack 749 บาท สามารถส่งข้อความสั้น 500 ครั้ง MMS 300 ครั้ง สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในรูปแบบ 2G ทดลองใช้ 3G และบริการไวไฟจากทรูมูฟได้ไม่จำกัด

ในส่วนของซิมแพ็กคู่ สำหรับผู้ใช้งานไอโฟนโปรโมชั่นใดก็ได้ และต้องการใช้ไอแพดด้วย จะได้รับส่วนลด 200 บาท สำหรับเปิดบริการโปรโมชั่น iPack จากเดิมที่ 749 บาท เหลือ 549 บาท น่าจะเป็นการประกาศให้ตลาดรับรู้ด้วยว่าในเร็วๆ นี้ทรูฯ จะขายไอแพดด้วย

โปรโมชั่นที่หลุดออกมานั้น อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ ในวันที่เปิดตัวไอโฟน 4 อย่างเป็นทางการ และจากการให้ข้อมูลของแหล่งข่าวพบว่าในแต่ละค่ายจะมีการจับตาดูว่าแพกเกจโปรโมชั่นของแต่ละค่ายเป็นเช่นไร ซึ่งหากเสียเปรียบก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนได้เพียงชั่วข้ามคืน

ค่ายดีแทคไม่น้อยหน้าคู่แข่ง มีความเคลื่อนไหวเป็นระยะก่อนการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ดีแทคได้มีการส่งข่าวประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่สนใจลงทะเบียนเพื่อรับข้อมูลตั้งแต่เวลา 10.00 น. ของวันที่ 16-17 กันยายน เพื่อลงทะเบียนรับสิทธิเป็นเจ้าของไอโฟน 4 ก่อนใคร เพียงแค่วันแรกของการจองสิทธิ ดีแทคก็แว่วข่าวออกมาว่าเต็มแล้ว

หลังจากนั้น 17 กันยายน 53 ดีแทคจึงส่งจดหมายเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมงานแถลงข่าว “เปิดตัว iPhone 4 จากดีแทค” ในวันที่ 22 กันยายน 2553 แต่เหล่าสื่อมวลชนที่ไปร่วมงานอย่างคับคั่งต้องผิดหวังไปตามๆ กัน เนื่องจากดีแทคไม่สามารถที่จะปริปากอะไรเกี่ยวกับไอโฟน 4 ได้เลย กระทั่งวันที่ 20 กันยายน คอลเซ็นเตอร์ดีแทคได้โทร.แจ้งสิทธิไปยังลูกค้าว่าสามารถซื้อไอโฟน 4 ล็อตแรก ในงานเปิดตัวที่ตึกจามจุรีสแควร์ ตั้งแต่วันที่ 24-26 กันยายนนี้ โดยกำหนดเป็น 3 ช่วงเวลา ช่วงละ 150 เครื่อง

ในโลกไซเบอร์ก็มีการพูดถึงการได้รับการติดต่อจากดีแทคกันอย่างแพร่หลาย และในช่วงเย็นของวันที่ 21 กันยายนนั้น ก็มีข่าวเล็ดลอดเกี่ยวกับแพกเกจโปรโมชั่นของดีแทคที่จะมีการขายทั้งเครื่องเปล่าและเครื่องที่พ่วงกับการบันเดิลแพกเกจโปรโมชั่นที่จะมีสัญญา ซึ่งจะทำให้ราคาไอโฟน 4 ของดีแทคที่นำเสนอถูกลงอีกแต่ติดสัญญา

การเดินสำรวจตลาดก่อนการขายไอโฟน 4 อย่างเป็นทางการในร้านไอสตูดิโอนั้น พบว่าทางร้านมีการให้ผู้สนใจไอโฟน 4 จองมัดจำ 1,000 บาท และเมื่อเครื่องไอโฟน 4 มาถึงก็จะแจ้งให้มารับเครื่องอีกครั้ง แต่ที่น่าสังเกตคือพนักงานแจ้งว่าเครื่องไอโฟน 4 ที่จำหน่ายนั้นเป็นเครื่องของดีแทค ซึ่งตามกฎระเบียบของแอปเปิลนั้น การเปิดให้จองและเก็บเงินค่ามัดจำนั้นเป็นข้อห้ามหนึ่ง





แข่งกันโชว์เครือข่าย
รองรับ “ไอโฟน 4”

เรื่องของเครือข่ายที่ทรงประสิทธิภาพกลายเป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาประชัน เพื่อต้อนรับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของไอโฟน 4 แต่ทุกค่ายพยายามที่จะหลบประเด็นไม่พูดถึงว่าเครือข่ายนั้นเป็นเครือข่ายที่จะรองรับ “ไอโฟน” แต่กลับพูดรวมๆ เป็น “สมาร์ทโฟน” แทน

ดีแทคได้ประกาศความพร้อมสำหรับตลาดสมาร์ทโฟน ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Perfect Match” ระหว่างสมาร์ทโฟนและเครือข่ายดีแทค บนแนวคิด “เร็วกว่า ดีกว่า ทั่วถึงกว่า เอาใจกว่า”

ในแง่ที่ว่าเร็วกว่านั้น ดีแทคชูเครือข่ายความเร็วสูงที่มี
คุณภาพ สัญญาณที่เสถียร คงที่ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ดีแทคมีแนวทางในการปรับปรุงเครือข่ายอย่างต่อเนื่องโดยมุ่งให้ความสำคัญกับบริการดาต้า โดยขณะนี้ดีแทคเป็นผู้ให้บริการรายเดียว ที่ให้บริการดีแทคอินเทอร์เน็ตบนเทคโนโลยี EDGE ที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทย 100% และในการปรับปรุงเครือข่ายจะส่งผลให้เพิ่มความเร็วในการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อีกกว่า 25%

ส่วนเรื่อง “ดีกว่า” นอกจากดีแทคจะเน้นจุดขายเรื่องบริการรายเดือน ดีแทคยังมีบริการที่ช่วยป้องกันไม่ให้ลูกค้าต้องประสบปัญหา bill shock โดยการกำหนด cap max หรือเพดานอัตราค่าบริการรายเดือน จุดนี้น่าจะเป็นจุดที่สร้างความอุ่นใจให้กับผู้ใช้งานไอโฟนที่ต้องออนเน็ตอยู่ตลอดเวลาได้เป็นอย่างดี

สำหรับเรื่องความทั่วถึงกว่านั้น ดีแทคมีจุดจำหน่ายที่มากกว่า ด้วยจำนวนร้านค้ามากกว่าร้อยร้านที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และเรื่องเอาใจกว่า ในการเน้นบริการและการให้คำแนะนำช่วยเหลือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตั้งค่าและปรับแต่งเครื่องเบื้องต้น บริการบัดดี้จากเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญ

“เราเชื่อว่าตลาดสมาร์ทโฟนมีความร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง เราจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมเครือข่ายและบริการไว้รองรับกับผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต” ปกรณ์ พรรณเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าว

ด้านเอไอเอสได้มีการจับมือกับอีริคสัน ใช้เทคโนโลยีใหม่ “EDGE Plus” เนื่องจากความต้องการใช้งานสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์แอร์การ์ดที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพเครือข่ายและช่องสัญญาณ เทคโนโลยีใหม่ครั้งนี้จะนำมาขยายขีดความสามารถของเครือข่ายเอไอเอส มีทั้งเทคโนโลยี DTM (Dual Transfer Mode) ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนสามารถสื่อสารข้อมูลและเสียงได้ในเวลาเดียวกัน

เทคโนโลยี EDGE Plus เป็นการพัฒนาความสามารถในการรับส่งข้อมูลให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยสามารถรองรับอุปกรณ์สื่อสารรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี และยังมีเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มช่องสัญญาณควบคุมเพื่อรองรับพฤติกรรมการร้องขอสัญญาณแบบถี่ๆ ได้อีกด้วย ซึ่งมีผลให้สามารถรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นของสมาร์ทโฟน

วิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะโอเปอเรเตอร์ สิ่งที่ต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่องคือการสรรหาบริการและพัฒนาคุณภาพในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่ปัจจุบันความต้องการใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตเติบโตขึ้นมากกว่า 100% ดังนั้น นอกเหนือจากการนำดีไวซ์หลากหลายพร้อมแอปพลิเคชั่นที่ตอบสนองความต้องการให้กับทุกๆ กลุ่ม การพัฒนาศักยภาพความเร็วของเครือข่ายเป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักที่รองรับการเติบโตของสมาร์ทโฟน

ในมุมของทรูมูฟนั้น แม้ว่าในการทำตลาดไอโฟนจะมีความเสียเปรียบเรื่องของเครือข่าย แต่จุดที่ทรูมูฟเหนือกว่าเอไอเอสและดีแทคคือการมีไวไฟที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไอโฟน 4 ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งาน FaceTime ในการติดต่อสื่อสารผ่านวิดีโอคอลล์ ซึ่งจะต้องทำผ่านไวไฟเท่านั้น

ทรูมูฟได้มีการส่งข่าวซุบซิบก่อนหน้านี้ เน้นให้เห็นถึงเรื่องของไวไฟ โดยเนื้อหาของข่าวซุบซิบนั้น ระบุว่า “เพราะทรูมูฟเป็นเจ้าเดียวที่มีไวไฟเยอะที่สุดกว่า 18,000 จุดในตอนนี้ ทำให้ “คุณชายอดัม” ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล เลยเหนียวแน่นที่จะใช้ไอโฟน 4 กับเครือข่ายทรูมูฟอย่างแน่นอน ก็ไฮเทคๆ อย่างเฟซไทม์ต้องใช้ไวไฟเท่านั้น”


***********

“ไอโฟน 4” มันวิเศษที่ตรงไหน?

ไอโฟน 4 มันเจ๋งตรงไหน ถึงขนาดที่ทำให้ “เอไอเอส” กลืนน้ำลายตนเองว่าไม่สนใจที่จะขาย “ไอโฟน” ตั้งแต่เมื่อครั้งแรกเริ่ม และกลุ่มผู้ใช้ไอโฟนส่วนใหญ่ที่มีทั้งกลุ่มวัยรุ่น คนทำงาน ไปจนถึงกลุ่มรุ่นใหญ่ทั้งหลาย รู้ถึงคุณสมบัติที่ติดตัวมาพร้อมกับไอโฟน 4 ขนาดไหน แม้ว่ามันจะออกสู่ตลาดมาหลายเดือนก่อนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเมืองไทย

ในด้านการดีไซน์นั้น “ไอโฟน 4” ออกแบบทรงเหลี่ยมมากกว่ารุ่นก่อนที่ฝาหลังโค้งมน เพิ่มแถบสเตนเลสสตีลคาดเสริมแกร่งอยู่ด้านข้างทั้งสี่ด้าน และไม่ได้ประดับให้ดูหรูหราเท่านั้น มันยังใช้ประโยชน์เป็นเสมือนเสาอากาศของมือถือสำหรับรับสัญญาณตั้งแต่ 3G ไวไฟ บลูทูธ และจีพีเอส

จอด้านหน้าเป็นกระจกทั้งหมดแบบกันรอยขีดข่วนได้ จุดที่สังเกตได้ชัดเจนคือบางกว่ารุ่นเดิม 25% ไอโฟน 4 เปลี่ยนมาใช้เป็นปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงแยกอิสระ จากเดิมออกแบบเป็นปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงแบบกระดก และมาพร้อมกับช่องใช้ซิมแบบไมโครโฟน

ด้านหน้ามีกล้องเพิ่มอีกตัวอยู่หน้าเครื่องสำหรับรองรับการใช้งานวิดีโอคอลล์ ด้านหลังกล้อง 5 ล้านพิกเซล มีไมโครโฟนตัวที่สองพร้อมระบบตัดเสียงรบกวน มีปุ่มกดเปิด/ปิดเครื่องและช่องเสียบหูฟังที่ดูหรูกว่าเดิมอยู่ด้านบน ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ประกอบด้วย

จอใหม่ที่เรียกว่า เรตินา ดิสเพลย์ เสมือนลูกตาของคนเรามีจอตาที่เรียกว่า เรตินา ทำหน้าที่รับภาพจากเลนส์ตา โดยปรกติแล้วสามารถรับความละเอียดภาพได้ 300 พิกเซลต่อตารางนิ้ว แต่จอภาพของไอโฟน 4 ปรับปรุงให้แสดงความละเอียดภาพได้ 326 พิกเซลต่อตารางนิ้ว สูงกว่าไอโฟนรุ่นก่อน 4 เท่าตัว และสูงกว่าจอโทรศัพท์มือถือรุ่นอื่นในตลาด

ความละเอียดดังกล่าวทำให้หน้าจอขนาด 3.5 นิ้วของไอโฟน 4 แสดงผลที่ความละเอียด 960x640 พิกเซล เรียกว่าละเอียดยิ่งกว่าการรับภาพของลูกตามนุษย์เสียอีก ทำให้ได้ภาพที่คมชัดราวกับนั่งอ่านหนังสือคุณภาพการพิมพ์ชั้นสูง ระบบปฏิบัติการไอโฟนยังออกแบบมาให้ช่วยปรับความละเอียดของตัวอักษรและแสดงผลโหมดความละเอียดสูงโดยอัตโนมัติ



ไอโฟน 4 ยังประหยัดไฟกว่าเดิม ช่วยให้คุยสายผ่านเครือข่าย 3G ได้นานขึ้น 40% (สูงสุด 7 ชั่วโมง) หรือใช้ท่องเว็บผ่าน 3G ได้นาน 6 ชั่วโมง เข้าเน็ตผ่านไวไฟนาน 10 ชั่วโมง เล่นวิดีโอนาน 10 ชั่วโมง ฟังเพลงนาน 40 ชั่วโมง เปิดเครื่องได้นาน 300 ชั่วโมง นอกจากพวกจีพีเอส, ไวไฟ, บลูทูธ, เซ็นเซอร์วัดอัตราเร่ง, เข็มทิศ, เซ็นเซอร์วัดแสงเหมือนรุ่น 3 จีเอสแล้ว รุ่นใหม่ยังมีเซ็นเซอร์วัดจุดศูนย์ถ่วงที่เปิดทางให้นักพัฒนาเกมออกแบบเกมให้เร้าใจยิ่งขึ้น

กล้องถ่ายภาพและวิดีโอไอโฟน 4 มาพร้อมกับกล้องความละเอียด 5 ล้านพิกเซล พร้อมเซ็นเซอร์เพิ่มแสงสว่างด้านหลังช่วยให้ถ่ายภาพได้ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะในที่มีแสงน้อย กล้องยังสามารถบันทึกวิดีโอความละเอียดสูง (HD) 30 เฟรมต่อวินาที มีแฟลชจากหลอดแอลอีดีสำหรับช่วยถ่ายภาพ มีโปรแกรมสำหรับตัดต่อภาพวิดีโอในตัว และผู้ใช้สามารถส่งวิดีโอขึ้นอินเทอร์เน็ตได้ทันที

นอกจากนี้ยังมีโปรแกรม iMovie รุ่นใหม่ สำหรับตัดต่อและรวมภาพจากหลายคลิปมาลำดับภาพบนโปรแกรมของ iMovie และสามารถเอาภาพนิ่ง เสียงเพลงประกอบ ข้อมูลบอกจีพีเอส มาใส่ในวิดีโอได้ด้วย ไอโฟน 4 ยังสามารถใช้วิดีโอคอลล์ หรือโทรศัพท์แบบเห็นหน้าด้วย FaceTime

สำหรับคนที่รักการอ่านหนังสือ ไอโฟน 4 สามารถอ่านหนังสือที่โหลดมาอ่านบนเครื่องแมคอินทอช โดย “ซิงก์” หรือเชื่อมต่อไอโฟนกับโน้ตบุ๊ก เอาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์มาอ่าน และสามารถโหลดจากร้านมาอ่านบนไอแพดได้โดยตรง ไม่เสียสตางค์เพิ่มหากเคยซื้อมาอ่านบนไอบุ๊ก หรือไอแพดมาก่อนแล้ว


***********

3G ไทยเกิดมานานแล้ว

วันที่ 23 กันยายน 2553 อาจจะเป็นวันที่ถูกบันทึกเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งของวงการโทรคมนาคมไทย ไม่ว่าคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดจะยืนตามหรือกลับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลาง เกี่ยวกับการประมูล 3G ซึ่งย่อมมีผลทั้งให้การประมูล 3G เดินหน้าได้ต่อไป หรือการประมูล 3G อาจจะต้องชะลอออกไปจนกว่าจะมีคณะกรรมการการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. มาจัดการในเรื่องนี้

การลุ้นพลิกคว่ำพลิกหงายของ 3G ย่อมเป็นที่จับตาอย่างแน่นอน และในแง่ของผู้บริโภคนั้น การมาของ 3G แน่จะเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานดาต้าบนโทรศัพท์ให้ก้าวหน้าไปอีกหลายช่วงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกระแสความเบ่งบานของ “สมาร์ทโฟน” มือถือเหล่านี้ล้วนต้องการเครือข่ายที่ทรงประสิทธิภาพในการรองรับความต้องการใช้งานโลกออนไลน์มากที่สุด

ยิ่งสมาร์ทโฟนตัวพ่ออย่าง “ไอโฟน” และ “แบล็กเบอร์รี่” คนถือเจ้าสมาร์ทโฟนทั้งสอง ออนเน็ตอยู่ตลอดเวลา มีการรับส่งดาต้าจำนวนมากในแต่ละวัน พูดกันตามตรงก็คือ เครือข่ายที่ทั้งเอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟให้บริการอยู่ในปัจจุบันรองรับได้ไม่เต็มประสิทธิภาพแบบสมบูรณ์แบบ แต่หากมีเครือข่าย 3G ปัญหาต่างๆ เหล่านั้นจะหมดไป

จากปัญหาการประมูล 3G ที่ยังลูกผีลูกคน ไม่รู้ว่าจะต้องร้องเพลงรอไปอีก 2-3 ปี กว่ากระบวนการทั้งหมดจะเดินเข้าสู่ขั้นตอนและนำไปสู่การประมูลได้นั้น ผู้คนส่วนใหญ่ในเมืองไทยยังยึดติดและนึกอยู่เสมอว่าประเทศไทยล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า ในเรื่องของ 3G

ในความเป็นจริงนั้น ประเทศไทยก็มีบริการ 3G ให้บริการมานานแล้วเช่นกัน แต่อยู่ภายใต้ 2 รัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้แก่ บริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

ทีโอที ได้รับการจัดสรรคลื่น 3G ในย่านความถี่ 1900 เมกะเฮิรตซ์มาตั้งแต่ปี 2543 ก่อนที่จะมีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. หลังจากนั้นได้ตั้งบริษัท ไทยโมบาย โดยร่วมทุนกับ กสท เพื่อติดตั้งเครือข่ายและให้บริการ 3G แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และต้องดึงเอกชนอย่างกลุ่มสามารถเข้ามารับช่วงการทำการตลาด ซึ่งก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน ล้มเหลวอย่างหนักจนขาดทุนกว่า 4,000 บาท

ปัจจัยแห่งความล้มเหลวของทีโอทีในการบริการ 3G เกิดขึ้นในยุคทักษิณ ที่นักการเมืองไม่ต้องการให้ทีโอทีโตจนสามารถแข่งขันกับเอกชนได้ จึงมีการสกัดกั้นในรูปแบบต่างๆ จนไทยโมบายมีอันต้องปิดฉากไป

ทีโอทียกเครื่องและนำบริการ 3G กลับมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้งในช่วงปลายปี 2552 ที่ผ่านมา โดยให้เอกชนมาร่วมทำการตลาดในลักษณะของ MVNO (mobile virtual network operator) 5 ราย ตั้งเป้าจะต้องมีผู้ใช้บริการ 5 แสนรายภายใน 6 เดือน แต่ปรากฏว่าทำไปทำมาลูกค้าที่ตั้งเป้าหมายไว้ก็สามารถทำได้เพียงแสนกว่ารายเท่านั้น

ปัญหาสำคัญของทีโอทีในการให้บริการ 3G ก็คือการที่ทีโอทีไม่มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจได้ดีเช่นเดียวกับภาคเอกชน จากภาวการณ์ที่ตนเองเป็นเสือนอนกินรายได้สัมปทานมาอย่างยาวนาน ประกอบกับประสิทธิภาพเครือข่ายการให้บริการ 3G ที่ยังไม่ครอบคลุมกว้างขวางเพียงพอ และยังไม่ได้รับการสนับสุนนเรื่องการขยายโครงข่ายจากรัฐบาลด้วย แม้ว่าที่ผ่านมาจะผ่านไปแล้วถึง 3 รัฐมนตรี นับจนวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรกับบริการ 3G ของทีโอที เพราะหากมีการสนับสนุนอย่างจริงจังเชื่อว่าผู้บริโภคน่าจะได้รับประโยชน์จากการใช้บริการ 3G มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้

บริการ 3G ของ กสท ก็มีเช่นกัน โดยอยู่บนเครือข่ายซีดีเอ็มเอที่ลงทุนติดตั้งในต่างจังหวัดมาตั้งแต่ปี 2546 จนครบ 51 จังหวัด และเปิดให้บริการไปแล้ว แต่ติดปัญหาที่พื้นที่กรุงเทพฯ และ 25 จังหวัดภาคกลาง กสท ให้ฮัทช์เป็นผู้ลงทุนไปก่อนหน้านี้ เมื่อติดตั้งโครงข่ายซีดีเอ็มเอในภูมิภาคเรียบร้อย กสท จึงมีแนวคิดที่จะซื้อกิจการจากฮัทช์ เพื่อผนวกกับโครงข่ายของตนให้เป็นโครงข่าย 3G ที่สามารถให้บริการครอบคลุมทั้งประเทศ

ทั้งนี้ รัฐมนตรีไอซีทีคนก่อน ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี ได้มีการอนุมัติให้ กสท ซื้อฮัทช์ในวงเงิน 7,500 ล้านบาทแล้ว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนมือรัฐมนตรีไอซีทีมาเป็น จุติ ไกรฤกษ์ ก็มีการยับยั้งไว้ ด้วยเหตุผลที่ว่ามูลค่าแพงเกินไป

บริการ 3G ของไทยที่มีอยู่แล้วบนเครือข่ายของทีโอที และ กสท จึงเสมือนเด็กที่ไม่โต พิการส่วนโน้นส่วนนี้ ไม่สามารถเดินเครื่องได้เต็มรูปแบบ

นี่คือความจริงที่หลายคนอาจจะไม่รู้ และตั้งหน้าตั้งตารอเพียงการประมูล 3G จากภาคเอกชนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยไม่คิดจะกลับมาพัฒนาสิ่งที่มีให้บริการอยู่แล้ว

ไอเดียยก 2G สู่ 3G

หลายคนพยายามช่วยกันหาทางออกว่าจะมีแนวทางไหนบ้างที่จะให้ประเทศไทยได้ใช้บริการ 3G ให้เร็วที่สุด ถ้าหากว่าการประมูล 3G โดย กทช.มีอันต้องแท้งไป และต้องให้ กสทช.เข้ามารับหน้าเสื่อแทน ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาอีกไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี

หนึ่งในไอเดียที่ถูกจุดออกมาและมีทีท่าว่าจะทำได้ง่ายและเร็วก็คือไอเดียของ กรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เผยว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาให้ กสท และทีโอที ยกระดับการให้สัมปทานมือถือระบบ 2G ไปให้บริการ 3G ด้วยการขยายเวลาสัมปทานให้กับผู้ประกอบการรายเดิมออกไปอีก เพราะอุปกรณ์และเครื่องมือที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถดำเนินการได้ และไม่ต้องประมูลใหม่ เพื่อให้การพัฒนาด้านโทรคมนาคมเดินหน้าต่อไปได้ไม่สะดุด

ในเบื้องต้นกระทรวงการคลังได้มีการหารือกับกระทรวงไอซีทีแล้วว่าน่าจะดำเนินการได้ และจากการหารือไปยังสำนักงานกฤษฎีกามีแนวโน้มว่าน่าจะดำเนินการได้ ส่วนการคงสัมปทานให้กับรายเดิมและขยายเวลาออกไป เมื่อ กทช.จะต้องเป็นผู้ออกใบอนุญาตตามหน้าที่ของ กทช.นั้นทำได้ ไม่น่ามีปัญหา

ที่ผ่านมาทั้งเอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ ได้มีการทดลองบริการ 3G บนโครงข่ายเดิมมาระยะหนึ่งแล้ว และเชื่อว่าหลายคนอาจจะได้ทดลองใช้เรียบร้อยแล้ว ความเร็วในการใช้บริการถือว่าเร็วกว่าการให้บริการ EDGE/GPRS อย่างมาก ทำให้สามารถใช้คอนเทนต์ได้อย่างหลากหลายบนสมาร์ทโฟน ซึ่งหากมีการเปิดให้บริการ 3G ในเชิงพาณิชย์บนโครงข่ายเดิม น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในเมื่ออนาคตของ 3G ของแท้ยังไม่อาจเกิดได้


*************

เจลเบรกไอโฟน 4 อะไรจะเกิดขึ้น

กลายเป็นเรื่องปรกติไปแล้วสำหรับการเจลเบรกไอโฟน และเมื่อไอโฟน 4 ลงตลาดไทยอย่างถูกกฎหมาย คนที่ถือไอโฟน 4 จำนวนหนึ่งจะต้องเจลเบรกเครื่องไอโฟน 4 อย่างแน่นอน ดังนั้นก่อนที่คุณจะทำการเจลเบรกไอโฟน ควรได้รู้ผลที่จะตามมาเสียก่อน ว่าหลังจากที่คุณกดเจลเบรกไป จะเกิดอะไรขึ้นกับไอโฟน 4 ที่เพิ่งจะได้เป็นเจ้าของ

นิตยสารพีซีเวิลด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของการเจลเบรกไอโฟน 4 ไว้ก่อนหน้านี้ จะได้รับรู้ถึงข้อดีข้อเสียที่กำลังจะเกิดขึ้นกับการเจลเบรกไอโฟน 4

5 เหตุผลที่ต้องเจลเบรก

1.ใช้งานได้ทุกเครือข่าย ปัญหาใหญ่สำหรับเครื่องไอโฟนที่โดนล็อก คือจะล็อกให้ใช้งานได้เฉพาะกับผู้ให้บริการที่ทำข้อตกลงกับทางแอปเปิลไว้เท่านั้น ดังนั้นการเจลเบรกจะทำให้ไอโฟนสามารถลงโปรแกรมเพื่ออันล็อก (Unlock) ให้สามารถใช้งานเครือข่ายอื่นได้

2.มีแอปพลิเคชั่นเจ๋งๆ ให้เลือกเล่นมากกว่า แม้ว่าในแอปสโตร์จะมีแอปอยู่มากมาย แต่แอปพลิเคชั่นที่อยู่ใน Cydia นั้นเป็นอะไรที่ต่างออกไป ยกตัวอย่างเช่น MyWi แปลงร่างไอโฟนคุณให้กลายเป็นไวไฟเราเตอร์ Intelliscreen ทำให้อีเมลและปฏิทินมาอยู่ในหน้าโฮมสกีน MxTube ดาวน์โหลดวิดีโอยูทูบใส่ในไอโฟนเพื่อดูแบบออฟไลน์ หรือ PDANet แชร์อินเทอร์เน็ตกับเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณ

3.เร็วและสะดวก การเจลเบรกนั้นไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดอะไรมา เพียงแค่เปิดเว็บไซต์ แล้วรอเพียงอึดใจเดียว ก็สำเร็จ

4.สามารถเลิกใช้เจลเบรกได้ ถ้าอยากยกเลิกการเจลเบรกก็สามารถรีสตอลได้ ทำได้โดยผ่านโปรแกรมไอจูน (iTunes)

5.ใช้งาน FaceTime บน 3G ปรกติแล้วการใช้งาน FaceTime หรือการสนทนาแบบเป็นภาพนั้น จะโดนบังคับให้ใช้งานผ่านการเชื่อมต่อไวไฟเท่านั้น แต่หลังจากทำการเจลเบรกเครื่องจะสามารถใช้งานโปรแกรม FaceTime ผ่าน 3G ได้ (แม้อาจจะไม่ดีมาก)

5 เหตุผลที่ไม่ควรทำการเจลเบรก

1.เครื่องจะค้าง เพราะหลังจากที่กดเจลเบรก นั่นหมายถึงการยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับไอโฟน โดยปัญหาหลักที่จะตามมาชัวร์ๆ คงหนีไม่พ้นเครื่องค้าง และทำงานแบบหน่วงๆ ในบางเวลา

2.หมดประกันทันที แม้รัฐสภาสหรัฐฯ จะออกมาระบุว่าเจลเบรกโทรศัพท์มือถือนั้นเป็นเรื่องถูกกฎหมาย แต่มันก็ทำให้การรับประกันจบลงด้วยเช่นกัน กรณีนี้แอปเปิลจะไม่รับประกันความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการดัดแปลงเครื่องไอโฟน

3.ใช้ดาต้ามาก ยกตัวอย่างเช่นการใช้งานโปรแกรม FaceTime บน 3G นั้นจะใช้ปริมาณการรับส่งข้อมูลจำนวนมาก ถ้าโปรโมชั่นของคุณไม่ใช่แบบไม่จำกัดแล้วล่ะก็ เตรียมควักเงินจ่ายค่าส่วนเกินการใช้ดาต้าได้ทันที

4.Bugs เพียบ ปัญหาข้อหนึ่งที่ผู้ที่จะเจลเบรกไอโฟนต้องยอมรับคือ ปัญหาเรื่องการใช้งานแอปพลิเคชั่นที่ให้มาในเครื่องซึ่งอาจทำงานได้ไม่ปรกติเท่าที่ควร ยกตัวอย่างเช่นการไม่ทำงานของโปรแกรม FaceTime และการรับส่ง MMS โดยผู้ใช้งานสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการอัปเดตแอปพลิเคชั่นเจลเบรก ซึ่งสามารถตามอ่านได้ที่ทวิตเตอร์ของโคเม๊ก (Comex)

5.ความกังวลเรื่องความปลอดภัย-เว็บไซต์ Macrumors ระบุว่าข้อบกพร่องขณะเจลเบรก จะทำให้บรรดาแฮกเกอร์สามารถควบคุมมัลแวร์ได้ในระยะไกล ผ่านโปรแกรม iOS PDF viewer นอกจากนี้มัลแวร์ต่างๆ ยังมาจากฟอนต์ที่ผู้ใช้งานพยายามดาวน์โหลดมาไว้บนโปรแกรม PDF Viewer บนไอโฟน


อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง

- โนเกียไฟติ้งแบ็ก กลับมาครั้งนี้ไม่ธรรมดาโนเกียไฟติ้งแบ็ก กลับมาครั้งนี้ไม่ธรรมดา

- แอนดรอยด์โฟนสุดคึก ยิ่งโตยิ่งแตกเซกเมนต์





อัพเดดล่าสุด 9/23/2010 9:47:17 AM โดย Srisompong Vajasith

หมายเหตุ เส้นแบ่งข่าว หมายถึง ข่าวถูกแบ่งเป็นหน้า ๆ
keyword :

Close


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.