แอนดรอยด์โฟนสุดคึก ยิ่งโตยิ่งแตกเซกเมนต์


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(25 กันยายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

มีหลายคนคิดว่า จะมีใครที่ไหนที่จะมาช่วงชิงกระแสระบบปฏิบัติการสมาร์ทโฟนจากไอโฟน แบล็กเบอร์รี่ได้ ซิมเบียน หรือจะเป็น วินโดวส์โมบาย ทั้งสองไม่ใช่คำตอบ ณ วันนี้ พระเอกที่มาแรงและต้องจับตามอง คงหนีไม่พ้น “แอนดรอยด์”

จากวันแรกที่กูเกิลลงมาเปิดตัวสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการ “แอนดรอยด์” ระบบปฏิบัติการของค่ายตัวเองช่วงปลายปีที่แล้ว มาถึงวันนี้ “แอนดรอยด์” ได้กลายเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับแบรนด์มือถือที่ไม่มีระบบปฏิบัติการของตัวเองในการเลือกที่จะใช้ต่อกรกับไอโฟน แบล็กเบอร์รี่

จากผลวิจัยตลาดที่บริษัทวิจัย “คานาลิสต์” ประเมินว่า สมาร์ทโฟนที่ใช้แอนดรอยด์เพิ่มขึ้นถึง 886% ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยที่แอนดรอยด์จะถูกใช้ในสมาร์ทโฟนถึง 75 ล้านเครื่องภายในปี 2555 เพิ่มจาก 5 ล้านเครื่องในปี 2552 เทียบกับระบบปฏิบัติการ “ไอโอเอส” ของค่ายแอปเปิลที่จะใช้ในสมาร์ทโฟน 62 ล้านเครื่องภายในปี 2555 เพิ่มจาก 25 ล้านเครื่องในปี 2552

ขณะที่บริษัทวิจัยตลาดอย่าง “การ์ตเนอร์” ประเมินส่วนแบ่งตลาดระบบปฏิบัติการสมาร์ทโฟนในปีนี้ไว้ว่า ระบบปฏิบัติการซิมเบียนของโนเกียจะมีส่วนแบ่งตลาด 40.1% และจะลดลงเหลือ 34.2% ในปี 2554 และ 30.2% ในปี 2557 ส่วนแอนดรอยด์จะมีส่วนแบ่ง 17.7% ในปีนี้ และเพิ่มเป็น 22.2% ในปี 2554 และ 29.6% ในปี 2557 จากแนวโน้มดังกล่าว จึงไม่ได้เป็นเรื่องแปลกประการใดที่จะเห็นแบรนด์มือถือต่างทยอยเปิดตัวสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

จากข้อมูลของจีเอฟเค ซึ่งสำรวจเมื่อพฤษภาคมปีนี้ ระบุว่า ตลาดสมาร์ทโฟนในเมืองไทยอยู่ที่ประมาณ 800,000 เครื่อง จากตลาดมือถือรวม 11 ล้านเครื่อง ทั้งนี้แยกเป็นมือถือซิมเบียน 6 แสนเครื่อง และสมาร์ทโฟนที่มีโอเอส 2 แสนกว่าเครื่อง ในจำนวนนี้เป็นสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ โมบาย และแอนดรอยด์ ในสัดส่วนเท่าๆ กัน ประมาณ 26%

อย่างไรก็ตาม ทิศทางของแอนดรอยด์เป็นขาขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ที่มีหลายๆ แบรนด์ส่งสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์เข้ามาทำตลาดมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่แอนดรอยด์โฟนคึกคักช่วงหนึ่งก็ว่าได้

การ์มิน-อัสซุส นับเป็นผู้เล่นรายล่าสุดที่ทำการเปิดตัวสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ในประเทศไทย การ์มิน-อัสซุส เอ10 เป็นสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ที่มีระบบนำทางลิขสิทธิ์เฉพาะของการ์มิน หน้าจอสัมผัส 3.2 นิ้ว กล้องดิจิตอล 5 ล้านพิกเซล ภายในเครื่องมาพร้อมระบบแผนที่ประเทศไทยซึ่งให้รายละเอียดทั้งข้อมูลร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงภาพยนตร์ หรือแหล่งชอปปิ้งในรูปฐานข้อมูล POI มากกว่า 450,000 จุด มีเข็มทิศอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเดินทางในเมือง ครอบคลุมทั้งสำหรับผู้ขับขี่และผู้เดินเท้า หน่วยความจำในตัว 4 กิกะไบต์ หน่วยความจำสำรอง RAM-ROM ขนาด 512 เมกะไบต์

“ตลาดสมาร์ทโฟนของการ์มิน-อัสซุสเป็นกลุ่มวัยทำงานระดับกลางอายุระหว่าง 30-50 ปี ที่มีไลฟ์สไตด์เดินทางท่องเที่ยว รวมไปถึงนักธุรกิจต่างประเทศที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย” พรเทพ วัชรอำนวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัสซุสเทค คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวและว่า “เรามั่นใจว่าจะสามารถเป็นผู้นำตลาดเนวิเกเตอร์สมาร์ทโฟนได้”

ซับแบรนด์ “ออปติมัส”
แอนดรอยด์โฟนแอลจี

ขณะที่ “แอลจี” ยักษ์ใหญ่จากแดนเกาหลีใต้ ประกาศความพร้อมอย่างเป็นทางการที่จะบุกตลาดสมาร์ทโฟนโลก โดย สก็อต อาห์น ซีอีโอและประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือแอลจี ระบุชัดเจนว่า แอลจีจะทำตลาดสมาร์ทโฟนภายใต้ซับแบรนด์ “ออปติมัส” (Optimus) พร้อมทั้งเปิดตัวสมาร์ทโฟน “ออปติมัส วัน” และ “ออปติมัส ชิก” ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เป็นหัวหอกในการรุกตลาดสมาร์ทโฟนของแอลจี

“สมาร์ทโฟนออปติมัสจะเป็นจุดเปลี่ยนของการใช้สมาร์ทโฟนที่เดิมนั้นผู้ใช้จะรู้สึกยุ่งยากและราคาแพง”

ณัฐวัชร์ ศิริวงศ์ศาล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กลุ่มผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือ บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า จริงๆ แล้ว แอลจีเคยนำเข้าสมาร์ทโฟนเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมา ทั้งระบบปฏิบัติการวินโดวส์โมบายและแอนดรอยด์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่ได้โฟกัสการทำตลาด แต่มีเพื่อให้สินค้าครบไลน์เท่านั้น แต่จากนี้ไปจะรุกตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลกอย่างจริงจัง

ณัฐวัชร์ ยอมรับว่า แอลจีออกสมาร์ทโฟนช้ากว่าคู่แข่ง ช่วงที่ผ่านมาจึงไม่ประสบความสำเร็จในการทำตลาดสมาร์ทโฟนมากนัก โดยมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 1% ของตลาดสมาร์ทโฟนในไทย แต่เชื่อว่าหลังจากมีออปติมัสออกสู่ตลาด จะช่วยให้แอลจีติดท็อปทรีของตลาดได้ ไม่เฉพาะการมีสินค้ารุ่นใหม่ทยอยออกสู่ตลาด แต่ยังจะโฟกัสเรื่องของช่องทางการขายเพื่อผลักดันให้ยอดขายสมาร์ทโฟนมากขึ้นด้วย รวมถึงร่วมมือกับโอเปอเรเตอร์รุกตลาดในแต่ละเซกเมนต์มากขึ้น

ซัมซุงแกแล็คซี่ 5
สร้างไอดอลรุ่นใหม่

ค่ายซัมซุงเป็นอีกหนึ่งค่ายที่เอาจริงเอาจังกับการทำตลาดแอนดรอยด์โฟนอย่างต่อเนื่อง จนสามารถสร้างชื่อ “ซัมซุงแกแล็คซี่” จนติดตลาด หลังจากซัมซุงเปิดตัวมือถือซัมซุงแกแล็คซี่เอส ซัมซุงแกแล็คซี่ 3 และซัมซุงแกแล็คซี่ 5 ก็ได้รับการตอบรับจากตลาดไทยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในกลุ่มนิสิต นักศึกษา และวัยรุ่นที่สนใจเรื่องของเทคโนโลยีและกำลังมองหาแอปพลิเคชั่นใหม่ๆ

ซัมซุงมองว่าระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เป็นทางเลือกใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ส่งผลให้เกิดการพัฒนาแอปพลิเคชั่นหลากหลาย ทำให้มั่นใจว่าแอนดรอยด์โฟนจะก้าวขึ้นสู่อันดับหนึ่งยอดขายสมาร์ทโฟนในสหรัฐอเมริกา หรืออันดับสองของระบบปฏิบัติการภายใน 2 ปีข้างหน้า

และเพื่อเป็นการขยายฐานสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ของซัมซุงสู่กลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ ล่าสุดซัมซุงได้เปิดตัวแคมเปญออนไลน์ “ไอดอลรุ่นใหม่ ฉลาดใช้ Android” เพียงโพสต์เหตุผล “ไอดอลรุ่นใหม่เบื่อระบบปฏิบัติการเก่าๆ ยังไง” ก็สามารถเข้าร่วมกิจการชิงรางวัลต่างๆ อย่างมากมาย โดยซัมซุงเชื่อว่าวัยรุ่นทั่วเมืองไทยจะเข้าร่วมแคมเปญนี้กว่า 500,000 คน และจะมีผลต่อการขยายฐานซัมซุงสมาร์ทโฟนให้เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 100%

ในแคมเปญนี้ซัมซุงตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถสร้างยอดขายให้กับซัมซุงแกแล็คซี่ 5 ได้มากกว่า 20,000 เครื่องต่อเดือนด้วย

ก่อนหน้านี้ความเคลื่อนไหวการเปิดตัวแอนดรอยด์โฟนยังมีอีก 2 ค่ายยักษ์ ไม่ว่าจะเป็น เอชทีซี และเอเซอร์ จึงน่าที่จะต้องแข่งขันกันอย่างหนักในการช่วงชิงผู้บริโภครุ่นใหม่ที่จะเข้ามาเลือกใช้แอนดรอยด์โฟน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.