อินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิต เป็นบริษัทเก่าแก่ที่เปลี่ยนเจ้าของบ่อยที่สุดทุกกลุ่มเข้ามาอย่างมีความหวังที่จะให้เป็นธุรกิจที่มีกำไรดี
และสามารถซัพพอร์ตธุรกิจในเครือ แต่ยังไม่ทันเห็นผลพวกเขาก็มีอันต้องทิ้งไป
ครั้งแล้วครั้งเล่า จนมีการแซมกันว่า เหตุอาถรรพณ์เกิดเพราะชื่อ อินเตอร์
ถ้าเป็นกริยาแปลว่าฝัง ไลฟ์ แปลว่าชีวิต รวมกันแปลว่า "ฝังชีวิต"
ผู้ที่มาผ่านสังเวียนที่นี่ก็มักจะเอาชื่อเสียงมาฝังที่นี่ ล่าสุดตะวันออกฟายแนนซ์ได้รับไฟเขียวจากคลังให้เป็นหัวหอกในการเข้าเทคโอเวอร์
ก็มีคำถามที่ท้าทายว่า จะซ้ำรอยเดิมหรือจะเป็นการเปิดศักราชใหม่
ผลประกอบการของบริษัทประกันชีวิตในรอบปี 2529 จำนวน 12 บริษัทเป็นของต่างประเทศสองบริษัทคือ
เอไอเอ และซียูแอล บริษัทเอไอเอยังคงครองแชมป์ทำกำไรเป็นอันดับหนึ่งคือ 313.3
ล้านบาท ซึ่งกำไรนี้คิดเป็น 22 เท่าของกำไรทุกบริษัทรวมกัน
ผลประกอบการทั้งระบบ มีกำไรเพียง 5 บริษัท ที่เหลือล้วนแต่ขาดทุน ที่หนักที่สุดก็อินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิต
ขาดทุนในปี 2529 จำนวน 20.467 ล้านบาท ขาดทุนสะสม 216.3 ล้านบาท นับว่าฐานะการเงินของบริษัทอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง
ท่ามกลางการเฝ้าดูว่าอินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิตจะฝ่ามรสุมได้หรือไม่ ข่าวการเทคโอเวอร์ก็ปรากฏขึ้น
ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปต่าง ๆ นานา อนาคตของอินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิตจะเปลี่ยนโฉมไปอย่างไร
การพิจารณาอดีตและปัจจุบันของอินเตอร์ไลฟ์คงช่วยได้มากทีเดียว
ยุคก่อตั้ง สุริยน ไรวา 2494-2516
ปี 2494 วสันต์ วีรมนัส อดีตนักขายมือดีของบริษัทนครหลวงประกันชีวิตมีความคิดอยากตั้งบริษัทประกันชีวิต
เพราะเห็นว่าตลาดยังมีช่องว่างอีกมาก เขาได้ทำการรวบมักขายมือดี แล้วไปชักชวนข้าราชการผู้มีชื่อเสียง
นักกฎหมาย นายแพทย์ พ่อค้า ที่เข้าใจธุรกิจนี้ดีจำนวน 10 คนเข้าร่วมการก่อตั้ง
พระยาสุนทรพิพิธ (เชย) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเป็นการเอาคนมีชื่อเสียงบวกพ่อค้า
ตามสูตรการจัดตั้งบริษัท เริ่มจากทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 4,000
หุ้น ๆ ละ 1,000 บาท
ใช้ชื่อบริษัทว่าสยามบริการประกันภัย ดวงตราบริษัทเป็นรูปพะสยามเทวธิราชประทับยืน
มีแสงรัศมีล้อมรอบเศียรพระหัตถ์ขวามือหอกยาวเป็นศาตราวุธ
กรรมการผู้จัดการคนแรกได้แก่วสันต์ วีรมนัส มีสมจิตร พรหมสิงห์เป็นผู้ช่วย
และมีเสถียร วีรกุล เป็นกรรมการผู้อำนวยการ ซึ่งเป็นคนที่กลุ่มพ่อค้าส่งมาคุมวสันต์อีกที
ปีแรกเป็นการจัดวางระบบงาน และการเร่งอบรมพนักงานขายประกัน
ปีกแรกเป็นการจัดวาระบบงาน และการเร่งอบรมพนักงานขายประกัน
เนื่องจากโดยธรรมชาติของธุรกิจนี้ 3-5 ปีแรก จะยังไม่มีกำไร เพราะเบี้ยประกันปีแรกเป็นลูกค้ารายใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำครั้งแรก
ซึ่งปกติผลตอบแทนในการขาย (COMMISSION) จะสูงถึง 50% ของยอดเบี้ยประกันรับ
เมือรวมค่าใช้จ่ายในการบริหารเช่นค่าหัวหน้าหน่วยฝ่ายบริหาร ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่าง
ๆ แล้วจะมีค่าใช้จ่ายถึง 110-130% ของเบี้ยประกันแสดงว่าขายลูกค้าปีแรกบริษัทจะขาดทุนทันที
10-30% โดยยังไม่คิดถึงค่าสินไหมหรือทุนประกันที่ต้องรับผิดชอบเลย ฉะนั้นปีแรกยิ่งขายมากเท่าไร
ก็ยิ่งขาดทุนมากเท่านั้น
ผู้บริหารยุคนั้นคงตระหนักในความจริงข้อนี้ ว่าข้อสำคัญต้องมีสายป่านยาว
จำต้องหานายทุนที่มีเค้าหน้าตักมากและมีชื่อเสียงในวงกว้าง
สุริยน ไรวา คือคนที่เด่นดังที่สุดในยุคนั้น ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ ในปีถัดมาสุริยนปล่อยให้ทีมเดินบริหารต่อไป
แต่ปรากฏว่าผลงานไม่คืบหน้าเท่าที่ควร
สุริยน ไรวา ได้ให้พ่อบุญธรรม คือพระนรราชจำนง หรือสิงห์ ไรวา ซึ่งเป็นอดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์
เข้ามาช่วยดูแลพระนรราชฯเห็นว่าจะต้องให้มืออาชีพเข้ามาวางระบบ และถ่ายทอดโนว์ฮาวต่าง
ๆ จึงได้ดึง RICHARD SHIM ซึ่งเป็นนักขายและมีฝีมือทางด้านบริหารการขายดีเด่น
จากบริษัทหนึ่งในอเมริกามาช่วย โดยมีสัญญาการบริหารสองปี
RICHARD SHIM มีส่วนอย่างสำคัญ ในการพัฒนาจากระบบแบบไทย ๆ มาสู่ทิศทางการประกันชีวิตที่เป็นสากลมากขึ้น
เขาถ่ายทอดความเข้าใจในเรืองคณิตศาสตร์ประกันภัย พัฒนาแบบของกรมธรรม์ให้เป็นที่ง่ายแก่การเข้าใจมากยิ่งขึ้น
พอหมดสัญญา 2 ปี RICHARD SHIM ไม่ได้ต่อสัญญา ซึ่งคนเก่าแก่ของอินเตอร์ไลฟ์เล่าว่า
"เหตุผลข้อแรกคือพาสปอร์ตหมดอายุ 2 ผลงานไม่เร็วเท่าที่ควรและถ้าทำต่อไปอำนาจการตัดสินใจคงมีไม่มากนัก"
RICHARD ต่อมาไปเป็นผู้จัดการเอไอเอที่ญี่ปุ่น
ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2505 บริษัทได้ขอเปลี่ยนชื่อจากสยามบริการประกันภัยเป็น
อินเตอร์เนชั่นแนลไลฟ์ แอสชัวรันส์ (ประเทศไทย) THE INTERNATIONAL LIFE ASSURANCE
(THAILAND) ชื่อย่อว่า I.L.A. และเปลี่ยนสัญลักษณ์ใหม่เป็น ดวงตราลูกโลก
ด้านที่มีแผนที่ประเทศไทยอยู่ กลางลูกโลกมีชื่อย่อและชื่อเต็มเป็นภาษาอังกฤษอยู่เบื้องล่าง
ทั้งหมดนี้ต้องการสะท้อนความเป็นสากลนิยมมากขึ้น
หลังจากปี 2505 สุริยนเข้ามาเป็นกรรมการอำนวยการเองจนสิ้นชีวิต เขาส่งคนเข้ามาบริหารดดยเปลี่ยนหน้ากันหลายชุดสุริยนให้ความสำคัญกับกิจการประกันชีวิตมาก
เพราะเขาเห็นว่าเป็นกิจการประเภทน้ำซึมบ่อทราย คือเป็นแหล่งที่มีเงินไหลเวียนตลอดเวลา
สมพงษ์ ตัณฑเศรษฐี เป็นรองกรรมการอำนวยการ และให้สมาน วัชรศิริธรรม เป็นกรรมการผู้จัดการ
ว่ากันว่า สุริยนดึงทั้งมือซ้ายและมือขวาจากธนาคารเกษตรมาบริหาร สมัยนี้เองที่เป็นยุคของการขยายสาขา
นอกจากนี้มือขายก็เริ่มเปลี่ยนตำแหน่งเป็นบริหารงานขายมากขึ้น ตลอดจนการเร่งออกกรมธรรม์ใหม่
ๆ เช่นกรมธรรม์ฌาปนกิจ เพื่อสงเคราะห์ครอบครัวผู้มรณกรรม "เพราะเราขายกรมธรรม์แบบสะสมทรัพย์ไม่ได้คนเบื่อ
เริ่มไม่เชื่อมั่น หลังจากที่นครหลวงประกันภัยล้มไป เรารับประกันคนอายุ 60-75
ปี เป็นก้อนประเภทชำระครั้งเดียวก็ขายดีมาก ส่วนใหญ่ลูกค้าจากภาคตะวันออก"
ประมุข จุลินทร์ ลูกหม้อเก่าของอินเตอร์ไลฟ์ตั้งแต่ยุคก่อตั้งเล่ากับ "ผู้จัดการ"
ซึ่งขณะนั้นประมุขดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการฝ่ายขาย
สุริยนดึงคนเก่งจากอาคเนย์ประกันภัยมาอีกคน ชื่อชัชวาล ชุติมา คนนี้มาเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย
ซึ่งเขาได้เอาประสบการณ์บริหารภายในและการขายแบบของอาคเนย์มาใช้กับอินเตอร์ไลฟ์
ทำให้ระบบอำนวยผลประโยชน์ชัดเจนและเป็นธรรมยิ่งขึ้น
ที่สำคัญคือมีการส่งเสริมการขายออกเยี่ยมและปลุกระดมตามสาขาต่างจังหวัดทำให้ยอดขายพุ่งขึ้นสูง
แต่ต่อมาชัชวาลลาออกไปเป็นหุ้นใหญ่ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่เชียงใหม่ร่วมกับตระกูลนิมมานเหมินท์
(บงล.ไทยเงินทุน)
ผลประกอบการของบริษัทอยู่ในสภาพรักษาตัวเองได้ บางปีกำไร บางปีขาดทุน
ปีที่บริษัทเกิดวิกฤติคือปี 2510-2511 ผลประกอบการเริ่มแย่ลงจนเห็นได้ชัด
19 มิถุนายน 2511 กระทรวงเศรษฐการ ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 46 แห่ง
พ.ร.บ.ประกันชีวิต 2510 มีคำสั่งควบคุมกิจการประกันชีวิตโดยสิ้นเชิงจำนวน
4 บริษัท คือบริษัทศรีอยุธยาประกันชีวิต, บริษัทบูรพาประกันชีวิต, บริษัทไทยประสิทธิ์ประกันภัย
และบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลไลฟ์แอสชัวร์รัน
ความหมายของการเข้าควบคุมคือ การสั่งระงับการดำเนินกิจการ ห้ามไม่ให้มีการหาผลงานใหม่
ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทและผู้เอาประกันอย่างมาก
ทั้งนี้ก็ให้เหตุผลว่า บริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน และกล่าวหาว่าบางบริษัทได้มีการยักย้ายทรัพย์สินของบริษัทโดยมิชอบ
สมาคมประกันชีวิต ประชุมเครียดเพื่อหาข้อยุติในการให้การช่วยเหลือ สมพงษ์
ตัณฑเศรษฐี กรรมการบริหารขณะนั้น ชี้แจงต่อสุริยนว่าที่ประชุมบริษัทภาคีประกันชีวิตถือวาการบอกว่าหนี้สินเกินทรัพย์สินนั้นเป็นการกล่าวอ้างเกินความจริง
เพราะกองประกปันภัยยังไม่ได้คำนวณทรัพย์สินหรือคำนวรผลบังคับกรมธรรม์ (VALUATION)
และที่กล่าวหาว่าบางบริษัทยักย้ายทรัพย์สินก็เป็นการกล่าวหาอย่างเหวี่ยงแห
แต่อย่างไรก็ตามบริษัทก็ต้องดำเนินการตามที่กองประกันภัยกำหนดเงื่อนไขสุริยนได้โอนหุ้นจากโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์
จำนวน 1,000 หุ้น และนำที่ดินจำนวน 191 ไร่ ที่สัตหีบ ให้แก่บริษัทเพื่อเป็นการชำระหนี้ของตนที่กู้ไปจากบริษัทพร้อมทั้งเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก
10 ล้านบาท
เป็นอันว่าบริษัทผ่านการควบคุมครั้งที่ 1 ไปได้
สุริยน ไรวา มีความสนิทสนมกับครอบครัวหลวงวิจิตร วาทการ ลูกชายหลวงวิจิตรฯ
กลับมาจากเมืองนอก สุริยนก็ชวนเข้ามาทำอินเตอร์ไลฟ์ โดยมาคุมฝ่ายขาย
จำนรรค์ อินทุสุต น้องภรรยาของสุริยนที่ต่อมาก็เป็นภรรยาอีกคนหนึ่งของสุริยน
เข้ามาบริหาร ช่วงก่อนสุริยนจะเสียชีวิตไม่นานนัก และกลายสภาพเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แทนสุริยน
ไรวา
จำนรรจ์ รู้จักกับวิวิทย์ วิจิตรวาทการตั้งแต่สมัยอยุ่สวิส จริง ๆ แล้วก็น่าจะร่วมมือกันบริหารกิจการไปได้ดี
แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะทั้งคู่ทะเลาะกันอุตลุด
สภาพการณ์ในบริษัทแบ่งเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน วิวิทย์คุมด้านการตลาดทั้งหมด
โดยที่จำนรรจ์คุมบัญชี และการเงิน
วิวิทย์ตอนนั้นบริหารแอร์สยามด้วยเขามีเพื่อนชื่อสุธี นพคุณ ซึ่งรู้จักกันตั้งแต่สมัยอยู่ต่างประเทศ
และ PSA ที่สุธีร่วมกับ พร สิทธิอำนวยก็กำลังรุ่งเรืองมาก
ขณะนั้นสุธี นพคุณมีบริษัทเครดิตฟองซิเอร์บ้านและที่ดินไทย โรงแรมรามาทาวเวอร์
เขาสนใจอยากจะมีกิจการประกันชีวิตด้วย
วิวิทย์คือหัวหอกที่เข้าจัดการเรื่องนี้ให้สุธี โดยใช้มาตรการหลายอย่าง
เขาเข้าไปเสนอกันบางกองประกันภัยว่าบริษัทควรจะเพิ่มทุนอีก 10 ล้านซึ่งทางสุธีมีเงินพร้อมอยู่แล้วที่จะซื้อหุ้น
แต่ทางจำนรรจ์ไม่พร้อม
"มีการฟ้องร้องกันไปมาระหว่างวิวิทย์กับจำนรรจ์เกือบ 10 คดี เรียกกว่าขึ้นศาลกันไม่เว้แต่ละวัน
ถึงความชอบธรรมในการซื้อ-ขายหุ้น มีอยู่คดีหนึ่งวิวิทย์ฟ้องว่าจำนรรจ์กู้เงินจากอินเตอร์ไลฟ์
โดยเอาโฉนดไปจำนองแล้วเอาเงินมาซื้อหุ้นในนามตัวเอง" คนเก่าแก่ในอินเตอร์ไลฟ์เล่า
"ผู้จัดการ"
ดำรง ลัทธพิพัฒน์ รมต.กระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้นมีคำสั่งให้ สำนักงานประกันภัย
ซึ่งมีโพธิ์ จรรย์โกมล เป็นผู้อำนวยการสำนักงานเข้าเป็นประธานในการควบคุมบริษัทอินเตอร์ไลฟ์
พร้อมกับกรรมการอีก 12 คน
"เราเข้าไปเพราะผู้ถือหุ้นขัดแย้งกันหนัก เราไว้วางใจไม่ได้ แต่ละกลุ่มมุ่งหาผลประโยชน์จากบริษัท
เงินประกันของผู้เอาประกันร่อยหรอลงทุนขณะ ฐานะการเงินไม่มั่นคง สภาพหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สินเราเข้าไปเคลียร์ปัญหา
และวางแผนแก้ไขฐานะบริษัท" โพธิ์ จรรย์โกมลเล่า
สภาพของพนักงานทั่วไปอยู่ในภาวะระส่ำระสาย อันเกิดจากความขัดแย้งดังกล่าว
นักขายมือดีหลายคนลาออก ที่เหลืออยู่ก็เกิดความไม่มั่นใจ ขวัญเสียไม่รู้ว่าต่อไปใครจะเป้นนายทำให้สภาพบริษัทยิ่งตกต่ำลงไปอีกมาก
ต่อมาจำนรรจ์ยอมขายหุ้นทั้งหมดให้วิวิทย์ วิวิทย์บริหารอินเตอร์ไลฟ์อยู่ช่วงสั้น
ๆ เพราะแอร์สยามที่วิวิทย์ทำกับหมอปราเสริฐ ปราสาทของโอสถ มีปัญหาหมุนเงินไม่ทัน
สุธีให้กู้เงินจึงเกิดการแลกเปลี่ยนกันขึ้น โดยชำระหนี้เป็นหุ้นของอินเตอร์ไลฟ์
เป็นอันว่าสุธีได้อินเตอร์ไลฟ์ไปสมใจอยาก
ยุคสุธี นพคุณ
ในปัจจุบันชื่อพีเอสเอได้กลายเป็นตำนาน สำหรับความทรงจำที่เลือนหายไปแล้วของผู้คน
แต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ชื่อนี่หอมหวนมากเป็นกลุ่มคนหนุ่มที่ไต่เต้าจากความไม่มีอะไรมากนักสู้อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่
พรอ้มกับภาพพจน์ การบริหารแบบใหม่ ภายใต้หลักวิชากรโดยคนหนุ่มสาวไฟแรงทั้งหมด
นัยว่าพวกเขาชอบเข้าไปบริหารกิจการที่มีปัญหาทำท่าจะไปไม่รอด เข้าไปฟื้นฟูให้กลับดีขึ้นมาอีกครั้ง
เป็นการพิสูจน์ฝีมือผู้จัดการ "มืออาชีพ"
กรกฎาคม 2518 บริษัทเปลี่ยนชื่ออีกครั้งให้สั้นลงเป็น "อินเตอร์ไลฟ์"
ก่อนที่จะเพิ่มทุนในปี 2519 จาก 15 ล้านบาท เป็น 25 ล้านบาท และ 35 ล้านบาทตามลำดับกระทั่งกลายเป็นบริษัทประกันชีวิตทีมีทุนชำระสูงที่สุดในประเทศไทย
มีสำนักงานตัวแทนในต่างจังหวัด 64 แห่งและย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ที่ตึก 6
ชั้น สี่แยกมักกะสัน (จนถึงปัจจุบันมีการย้ายสำนักงานใหญ่แล้ว 9 ครั้ง) อยู่ติดกับตึกดำอันอื้อฉาว
พีเอสเอเข้ามาบริหารอินเตอร์ไลฟ์โดยมอบหมายให้ชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริษัทซีเอสเอ็นแอนด์แอสโซซิเอท
เป็นคนรับผิดชอบพร้อมทั้งทีมงานชุดใหม่
ทีมงานของชัยณรงค์ประกอบด้วยไพบูลย์ สำราญภูติ, สุกิจ ตันสกุล, สมชาย อเนกพุฒิ,
ชะลอ เทพวัลย์, แน่งน้อย ปัญจพรรค์และอีกหลายคน
สุกิจ ตันสกุลให้ความเห็นสภาพบริษัทว่า "บริษัทมีปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากผู้ถือหุ้นมากกว่าปัญหาโครงสร้าง
ถ้าหน่วยงานไม่มี UNITY มีการแบ่งฝ่าย ต่อให้มีโครงสร้างดีก็ทำไม่ได้ เราเข้าไป
TAKE OVER 90% ก็ทำให้เกิดเอกภาพ มีนโยบายแน่นอน พนักงานมีทิศทางปัญหาโดยตัวธุรกิจเองไม่มากเท่าไหร่"
"ชัยณรงค์ มองว่าความจริงธุรกิจนี้มันดี เป็นธุรกิจที่ทั่วโลกยอมรับ
แต่บ้านเรายังล้าหลัง ชัยณรงค์เดินทางตระเวนไปทั่วประเทศเพื่อหาข้อมูล ใช้เวลา
3 เดือนในการทำ MARKETING PLAN เพื่อเสนอสุธี" ไพบูลย์ สำราญภูติเล่า
กลุ่มผู้บริหารชุดใหม่มีความเชื่อว่าขอเพียงใช้แนวการบริหารสมัยใหม่ และเอาหลักการตลาดเข้าไปประยุกต์เท่านั้นทุกอย่างจะดีขึ้น
เพราะมันเป็นธุรกิจเดียวในโลกที่ลงทุนน้อยที่สุด ไม่ต้องมีเครื่องจักร โรงงานวัตถุดิบ
ขอเพียงให้ได้ทีมงานที่ซื่อสัตย์สุจิรตใจเป็นพอคือที่สำคัยต้องลงทุนเรื่อง
"คน"
ชัยณรงค์นำทีม ทำการแก้ไขอัตราเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายทั้งหมด
โดยเฉพาะผู้จัดการสาขาต่างจังหวัดและผู้อำนวยการขายเขตต่าง ๆ ทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ
เงินเดือนที่เคยได้ 800-900 บาทเปลี่ยนเป็น 2,000-3,000 บาท เป็นกลยุทธ์ที่ไม่ปล่อยให้เสือหิวโซ
แต่กระตุ้นให้คนอยากทำงานมากขึ้น
กลุ่มผู้บริหารใหม่มองว่านักขายเก่าเป็นพวกเขี้ยวลากดิน เป็นพวกที่มีคอนเซ็ปท์แบบเก่า
ซึ่งการเข้าไป INTERFERE ค่อนข้างยาก จึงตัดสินใจสร้างทีมใหม่
"เราตั้งความหวังไว้ที่คนรุ่นใหม่พวกที่จบปริญญาตรีทั้งหลาย เอามาอบรมให้เป็นนักขายและบริหารการขายประกันภัยรุ่นใหม่
แต่พอไป ๆ แล้วพลิกล็อก นอกจากผมจะต้องดูคนใหม่แล้ว ชัยณรงค์บอกคนเก่ามีปัญหา
ไม่มีใครแก้ก็โยนมาให้ผมแก้ ผมก็เลยต้องทำด้านฝึกอบรม เสร็จแล้วก็คุมขายคุมตลาด
และเป็นผู้จัดการในที่สุด" ไพบูลย์ สำราญภูมิเล่าอีกตอนหนึ่ง
การบริหารงานยุค PSA ไพบูลย์บอกว่าใช้ระบบ "แบ่งแยกแล้วปกครอง"
(DIVIDED AND RULES) ตัวอย่างก็คือ "ฝ่ายการตลาดมีกรรมการ 6 คน เป็นคนเก่า
4 คนคือ ประมุข จิลินทร์, สุเมธ ณ สงขลา, มนตรี ศิวะนาวิน, ประสิทธิ์ รัตนพันธ์
ส่วนทีมใหม่มีเพียง 2 คน ซึ่งคือ 4 ต่อ 2 จะหักหาญโดยใช้แบบเผด็จการก็อาจจะถูกต่อต้านได้
ไพบูลย์แก้ปัญหาโดย เอาประมุขจุลินทร์มาอยู่ในกทม.เท่ากับประจำกองบัญชาการทหารสูงสุดเป็น
3 ต่อ 2 แล้วทางแก้สำหรับ 3 ขุนศึกที่เหลือทำโดยแทนที่จะแบ่งเขตเพียง 3 เขตทั่วประเทศ
ก็ให้ขยายเป็น 6 เขต ขั้นต่อไปก็ต้องเลือกผู้จัดการภาคที่มีศักดิ์ศรีและบารมีพอสมควร
แม้ว่าทั้ง 3 คน จะเป็นลูกน้องที่อยู่ในอาณัติของ 3 ขุนศึกแต่ด้วยความเชื่อว่าทุกคนรอคอยจังหวะที่ก้าวหน้าทั้งนั้น
ดังนั้นเสียงจึงเป็น 3-+1 ต่อ 3+2 งานก็เดินไปได้โดยผู้บริหารใหม่มีศักยภาพทางด้านนโยบายคล่องตัวขึ้น
ยุคนั้นเป็นยุคที่อินเตอร์ไลฟ์มีโครงการ ผู้จัดการบริหารสาขา ซึ่งทำหน้าที่เข้าไปดูแลควบคุมเสมียนพนังกานประจำสาขาค่าใช้จ่ายในการบริหาร
งานด้านสารบรรณตลอดจนเรื่องราวต่าง ๆ ของลูกค้าโดยตรงคอยรายงานและเสนอสำนักงานใหญ่เป็นประจำทุกสัปดาห์
"โครงการนี้ทีแรกมันไม่เวิร์คเลยทะเลาะกันวินาศสันตะโร เพราะผู้จัดการขายก็บอกว่าส่งพ่อมาคุมได้ยังไง
เพราะพ่อนี่มันเด็กกว่าลูกมาก" สุกิจ ซึ่งตอนนั้นเข้ามาช่วยดูแลผู้จัดการสาขาเล่าให้ฟัง
นอกจากนี้การส่งคนใหม่เข้าไปคุมทำให้ช่องทางหากินของผู้จัดการสาขาที่บางแห่งก็บริหารโดยเอาคนในครอบครัวทั้งหมดทำงาน
บางคนก็มีการทำทะเบียนราษฎร์เถื่อนมีทั้งสำเนาทะเบียนบ้าน สูติบัตร มรณบัตร
รวมทั้งตรายางราชสีห์ของกระทรวงมหาดไทย เขียนเอง ประทับเองเสร็จ เพื่อรับเงินประกัน
ส่วนบางแห่งที่ทำอะไรถูกต้องก็รู้สึกว่าคนใหม่เข้าแบ่งเอาผลประโยชน์ที่ตนควรจะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยไป
นโยบายบริหารสาขา นำมาซึ่งความแตกร้าวภายในและความแตกแยกของผู้บริหารใหม่เองด้วย
ระหว่างกลุ่มของไพบูลย์ สำราญภูติและสมชาย อเนกพุฒิ
ส่วนนโยบายแบ่งแยกแล้วปกครองผู้บริหารใหม่เห็นว่าดี ทำให้งานดำเนินไปได้อย่างที่ต้องการ
ส่วนคนเก่าก็เห็นว่าเป็นการทำให้แตกแยกและเสียประโยชน์อันพึงมีพึงได้แต่เดิมไป
ทำให้เสียขวัญและกำลังใจ
กว่าจะทำให้การบริหารงานภายในลงตัวได้ก็ก้าวย่างสู่ปีที่ 4 อินเตอร์ไลฟ์มุ่งพัฒนาในเรื่องภาพพจน์
มีการออกอินเตอร์ไลฟ์สาส์น เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างบริษัทถึงลูกค้า (ซึ่งยังออกอยู่จนปัจจุบัน)
เป็นบริษัทแรกที่เริ่มออกโฆษณาทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุและในโรงภาพยนตร์เปลี่ยนคำขวัญของบริษัทจาก
"ประกันภัย จ่ายคล่อง ต้องอินเตอร์ไลฟ์" มาเป็น "ความอบอุ่นใจแห่งปัจจุบัน
หลักประกันแห่งอนาคต" และปลายเดือนกันยายน 2523 บริษัทเพิ่มทุนจาก 35
ล้านเป็น 50 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะพัฒนาแบบกรมธรรม์ให้ทันสมัยมากขึ้น "กรมธรรม์สมัยก่อนเหมือนโฉนดที่ดิน
เหมือนเอกสารทางราชการ มีความจริงจังและความสมัยเก่าอยู่ค่อนข้างมาก ต้องเจ้าใจว่าเราไม่ได้ทำในด้านความตาย
เรากำลังทำในเรื่องความมั่นคง ทำในสิ่งซึ่งสังคมทันสมัยเขายอมรับกัน นอกจากนี้เราจ้าง
EXECUTIVE จากต่างประเทศที่เกษียณแล้วแต่ยังอยากทำงานมาช่วยดูและกำหนดทิศางและก็ส่งคนของเราไปเทรนการประกันที่ต่างประเทศ
เช่น ไมตรี ตันฑวนิช ไปเทรนที่สวิส 3 เดือน" สุกิจ ตันสกุล ซึ่งตระกูลเขาคุ้นเคยกับการประกันชีวิตหลายรุ่นเล่ากับ
"ผู้จัดการ"
พิจารณาผลประกอบการ ตั้งแต่ปี 2518-2524 ปรากฏว่าผลประกอบการอยู่ในเกณฑ์ที่ไปได้
ค่อนข้างดีกว่าตอนที่เริ่มเข้ามาจับคือปี 2518 ซึ่งขาดทุนถึง 16 ล้านบาท
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่ได้กำไรมากเท่าที่ควร ซึ่งผู้บริหารก็ให้เหตุผลว่าเวลาการบริหารไม่นาน
พอที่จะเห็นผลเป็นกอบเป็นกำ ก็พบกับความจำเป็นที่ต้องถอนตัวออกไปเสียก่อน
สาเหตุก็คือปลายปี 2524 อาณาจักรพีเอสเอเริ่มสั่นคลอน เกิดความแตกแยกระหว่างพร
สิทธิอำนวย กับสุธี นพคุณ มีการแบ่งสมบัติกัน สุธีได้อินเตอร์ไลฟ์ พร้อมกับรามาทาวเวอร์
และกิจการอีกหลายตัวแต่สภาพการเงินไม่คล่องตัว ทำให้ต้องมีการเลือกเอาธุรกิจไหนอยู่และตัดธุรกิจไหนไป
"เราจ้างฝรั่งมาทำการประเมินค่า (EVALUATION) ฝรั่งเห็นว่าอินเตอร์ไลฟ์เป็นบริษัทที่มีการปรับตัวเป็นตัวที่มีอนาคต
แต่เนื่องจากโดยนโยบายเราเอาโรงแรม จึงต้องขายตัวประกันภัยไป" อดีตคนที่เคยร่วมงานกับพีเอสเอเล่าให้ฟังถึงการตัดสินใจในครั้งนั้น
ว่ากันว่า เมื่อสุธี นพคุณ ไปทำรามาการ์เด้นส์ แล้วมีปัญหา ก็พยายามเอาเงินจากอินเตอร์ไลฟ์ไปใช้
ซึ่งทำให้ผู้บริหารที่สุธีส่งเข้าไปเกิดความอึดอัดใจมาก และยอมรับไม่ได้
เมื่อสุธีขายหุ้นให้สุพจน์ ผู้บริหารเก่าทั้งหมดก็พากันลาออก
ยุค….สุพจน์ เดชสกุลธร
สุพจน์ คือผู้ที่รับซื้อกิจการอินเตอร์ไลฟ์ต่อมา ตอนนั้นเขามี เฉลิมนครประกันภัย
เยาวราชไฟแนนซ์ เจริญกรุงไฟแนนซ์เครดิตฟองซิเอร์เฉลิมโลกอยู่แล้ว สุพจน์เคยพูดกับลูกน้องว่าเขาใฝ่ฝันที่จะมีกิจการประกันชีวิตมานานแล้วเพราะ
"ธุรกิจอื่นสู้ประกันภัยไม่ได้ เป็นสถาบันที่มั่นคงและมีเงินมาก ไฟแนนซ์นี่ถ้ามีปัญหาแล้วไปเลย
ปุ๊บเดียวคนแห่ถอนหมด" ก็ไม่รู้ว่าสุพจน์พูดประโยคนี้ก่อนหรือหลังคนไปแห่ถอนเงินเยาวราชไฟแนนซ์ของเขาจนล้ม
ตามสูตรเมื่อเปลี่ยนแผ่นดินเจ้าผู้ครองแผ่นดินก็เปลี่ยนไปด้วย ผู้บริหารเดิมลาออกหมด
ยังคงเหลือสมชาย อเนกพุฒิรักษาการอยู่ ระดับตัวแทนที่เข้ามาสมัยพีเอสเอและคนเก่าบางคนลาออกเกลี้ยง
สุพจน์เป็นกรรมการผู้อำนวยการรองฝ่ายตลาดได้แก่เกษม วิศวพลานนท์เจ้าของสุกี้ไชน่าทาวน์
ซึ่งเคยอยู่เอไอเอในสมัยของโจเซฟ ตัน เกษมควบคุมและวางแผนงานการตลาดใหม่หมดอีกครั้ง
และวรทรรศ์ กาญจนดุล เป็นรองฝ่ายการบัญชีและการเงิน
"ผมเข้ามาก็ดูรายรับ-รายจ่าง อยู่ 1 เดือน ทำให้สันนิษฐานว่าสมชาย
อเนกพุฒิเพียงรักษาการให้อยู่ได้ มีรายจ่ายมากกว่า รายรับ สาขามีอยู่เกือบร้อย
มีคนหลายร้อย มีทางเลือกสองทาง ทางแรกง่ายมากโละคนงานออกให้หมดเหลือไว้เท่าที่จำเป็น
เพื่อให้ได้ดุลกับเบี้ยประกันรับ ซึ่งมีประมาณ 1 ล้าน หรือเท่าไหร่จำไม่ได้
สมัยก่อนผมความจำแม่นมาก ตั้งแต่เข้าไปอินเตอร์ไลฟ์ แก้ปัญหาไม่เว้นแต่ละวัน
ความจำเลยแย่ลงไปมาก ทางที่สองเพิ่มรายรับให้พอกับรายจ่ายให้คนเก่าทำงานหนักขึ้นและสร้างคนใหม่เพื่อหารายรับจากตลาดที่ยังมีช่องว่างอีกมาก"
"เบี้ยประกันถ้าต้องการสองล้าน หรือเพิ่มขึ้น 100% ซึ่งต้องเพิ่มขึ้น
ระยะสั้นเราใช้วิธีดึงคนมือดี ๆ 5-6 คน อบรมคนใหม่อีก 1 พันกว่าคน แบ่งเป็น
10 ภาค มีผู้จัดการภาค หัวหน้าหน่วยผู้จัดการขาย จัดทัพโดยมีฝ่ายเสธคือ เฉลิม
ตุงคะมณี" เกษม วิศวพลานนท์ เล่าให้ฟังอย่างยืดยาว
อย่างไรก็ตามในปี 2526 บริษัทขาดทุนถึง 104.9 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดทุนมโหฬารและปี
2527 ขาดทุน 25.8 ล้านแหล่งข่าวบางคนระบุว่าช่วงข้อต่อของการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งมีการยักย้ายถ่ายเทบัญชีกัน
บังเอิญคราวนี้มากหน่อย แต่บางกระแสก็ว่าปี 2526 มีการปรับปรุงใหม่ ซึ่งเดิมทำไว้ไม่ถูกต้อง
ยอกขาดทุนจึงออกมาบานทะโร่
ปลายปี 2527 เยาวราชไฟแนนซ์มีปัญหาสภาพคล่อง ประชาชนตื่นไปถอนเงินจนทำให้บริษัทเงินทุนแห่งนั้นล้มและตามด้วยบริษัทในเครือเช่นเจริญกรุงไฟแนนซ์และอื่น
ๆ ทำให้สุพจน์ต้องปล่อยมือจากอินเตอร์ไลฟ์ขายต่อให้รุ่งเรือง จันทรภาษา
ยุคของ รุ่งเรือง จันทรภาษา
รุ่งเรืองจันทรภาษา เป็นเจาของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกฟายแนนซ์
มีธุรกิจเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับทั้งสุพจน์ เดชสกุลธร และสุธี นพคุณ
รุ่งเรืองส่งทีมใหม่เข้าบริหาร โดยให้เวชช วิศวโยธิน เป็นกรรมการผู้อำนวยการสิทธิรักษ์
เลขะกุล เป็นกรรมการรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ส่วนอีกคนคือชัยสิทธิ์ชัยพิบาลสฤษดิ์
เป็นการเปลี่ยนทีมบริหารถึง 3 ครั้งในระยะเวลาไม่ถึง 5 ปี ทุกครั้งที่เปลี่ยนแปลงก็ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่
เริ่มดูงาน เริ่มจัดบ้านตามสไตล์เจ้าของบ้านใหม่ทุกทีไปทำให้ขาดความต่อเนื่องในด้านนโยบาย
ไม่มีทิศทางที่แจ่มชัด ทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงอย่างมาก ๆ
ชุดนี้เข้ามาก็พยายามจัดองค์กรให้กระชับขึ้น "เราต้องดำเนินการตลาดให้รัดกุม
มองให้ทะลุถึงธุรกิจนี้ เรามีการปรับปรุงยุบเลิกหน่วยงานที่ซับซ้อนมี LAY
OFF ออกไป 70 กว่าคน ตอนนี้อยู่ในระหว่างการเร่งปรับปรุงทุกด้าน" ชัยสิทธิกล่าว
มีการเร่งสร้างคุณภาพการบริการโดยเตรียมที่จะซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ มูลค่า
2 ล้านบาทเข้ามาบริหารงานทางด้านกรมธรรม์ ซึ่งปัจจุบันเช่าเครื่องโดยให้บริษัทหนึ่งเป็นคนจัดการบันทึกข้อมูลรายละเอียดของลูกค้ารวมทั้งการเก็บสถิติและออกใบเสร็จรับเงิน
นอกจากนี้ชัยสิทธิ์ยังบอก "ผู้จัดการ" ว่ามีโครงการจะออกกรมธรรม์แบบสะสมทรัพย์พิเศษมีระยะเอาประกัน
15-21 ปี ทุกประกันขั้นต่ำ 50,000 บาท และจะคืนให้ผู้เอาประกัน 5% ของทุนประกันทุก
3 ปี และกรมธรรม์เคหะสินเชื่อ เป็นการประกันชีวิตให้กับผู้ซื้อบ้านและมีสัญญาในการผ่อนส่งกับธนาคารหรือสถาบันการเงิน
ผลประโยชน์ที่จะได้รับในกรณีที่ผู้เอาประกันเสียชีวิต คือบริษัทก็จะรับภาระผ่อนส่งแทนและบ้านก็ยังตกเป็นกรรมสิทธิ์ของครอบครัวผู้เอาประกัน
แต่ผลประกอบการในปี 2528-2529 ขาดทุน 10.1 และ 20.4 ล้านบาทตามลำดับ
ถึงตรงนี้มีปัญหาว่าผู้บริหารปัจจุบันจะได้ทำงานตามแผนที่เตรียมไว้หรือไม่
รุ่งเรืองซึ่งเป็นเจ้าของตะวันออกฟายแนนซ์นั้น มีปัยหาหนักในช่วงวิกฤติในวงการการเงินจนยอดสภาพคล่องจนสุดจะทนจึงต้องขอความช่วยเหลือจากโครงการ
4 เมษายนของทางการ
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้บีบให้รุ่งเรืองจัดการหนี้สินที่บริษัทในเครือกู้จากบงล.ตะวันออกฟายแนนซ์โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
กระทั่งรุ่งเรืองต้องเอาหุ้นของบริษัทอินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิตและอินเตอร์ไลฟ์ประกันภัยค้ำประกันหนี้
รวมทั้งที่ดินอีกหลายผืน
หุ้นอินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิตที่เอาไปค้ำไว้นั้นมีจำนวน 6.7 แสนหุ้น หุ้นละ
100 บาท เป็นมูลค่า 67 ล้านบาท จากทุนจุดทะเบียน 120 ลาน คิดเป็น 55 % ของหุ้นทั้งหมด
หุ้นของอินเตอร์ไลฟ์ประกันภัยที่ค้ำกับตะวันออกฟายแนนซ์ 35% และที่ค้ำกับบงล.เงินทุนสากล
35% ซึ่งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เงินทุนสากลก็อยู่ในเครือของกรุงไทย โดยกรุงไทยถืออยู่
65%
อนาคตของอินเตอร์ไลฟ์
เตือนใจ ทองเปล่งศรี กรรมการผู้จัดการบริษัทตะวันออกฟายแนนซ์ ซึ่งอดีตเคยเป็น
ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบ สำนักงานประกันภัยนับเป็นผู้ที่คร่ำหวอดในวงการประกันภัยผู้หนึ่ง
ได้บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ทางการเตรียมแผนฟื้นฟูบริษัททั้งสองพร้อมทั้งขอออนุญาตให้มีการโอนหุ้น
ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ซึ่งทางคลังเห็นชอบด้วยแล้ว พร้อมกับมีหนังสือเป็นทางการให้ดำเนินได้เมื่อเดือนที่ผ่านมา"
นิพันธ พุกกะณุสุต รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สนับสนุนแนวความคิดนี้
โดยได้มีการหารือกับทางผู้บริหารสำนักงานประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งดูแลธุรกิจประกันภัยทั้งระบบซึ่งต่างก็เห็นชอบที่สถาบันการเงินของกระทรวงการคลังเข้าไปบริหารอินเตอร์ไลฟ์
ข้อดีของการที่รัฐเข้าเทคโอเวอร์อินเตอร์ไลฟ์ประกันภัยและประกันชีวิต คือการทำ
FINANCIAL SERVICE ธุรกิจที่มีลักษณะ COMPLIMENTARY ครบวงจรซึ่งประกอบด้วย
ธนาคาร สถาบันเงินทุนประกันชีวิต และประกันภัย ซึ่งเป็นธุรกิจที่สนับสนุนเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
เป็นนโยบายที่หวังจะให้ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารชั้นนำ (LEAD BANK) บงล.ธนานันต์
เป็นบริษัทเงินทุนชั้นนำ และมีอินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิตและประกันภัยชั้นนำ
นี่คือความใฝ่ฝันของผู้ใหญ่กระทรวงการคลังยุคนี้
เนื่องจากปัจจุบันอินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิตมีทุนจดทะเบียน 120 ล้าน แต่มียอดขาดทุนสะสมถึง
224 ล้านบาท ซึ่งตามปกติผู้เข้าถือหุ้นใหม่มักจะเรียกร้องให้มีมูลค่าตามความเป็นจริง
แต่ทาง "ผู้จัดการ" ได้รับการยืนยันจาก พงศ์ เศวตศิลา ผู้จัดการใหญ่ของธนานันต์และเตือนใจว่าจากากรประชุมครั้งแรกของผู้ที่เตรียมจะเข้าบริหารอินเตอร์ไลฟ์ว่าไม่จำเป็นต้องลดทุนก่อน
สามารถเพิ่มทุนได้เลย
ลักษณะการเพิ่มทุน นอกจากสถาบันของรัฐแล้ว ยังมีการชักชวนธนาคารที่ยังไม่มีบริษัทประกันภัยเป็นของตัวเองให้เข้ามาร่วมถือหุ้น
เช่น ธนาคารมหานคร, ธนาคารนครหลวงไทย, ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ
"เราคงเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 180 ล้านบาท คือเพิ่มอีกเพียง 60 ล้านบาท
เพราะเงินจากการประกันชีวิตเป็นเงินเย็น ระยะเวลาใช้คืนยาวนาน เงินกองทุนติดลบจึงไม่มีปัญหาเหมือนกับสถาบันการเงิน"
เตือนใจชี้แจงให้กระจ่างขึ้น
สำหรับอินเตอร์ไลฟ์ประกันภัย (ซึ่งเดิมชื่อบริษัท ประกันนิรภัย เป็นของคนจีนแถวเยาวราช
ที่ขายกิจการให้กลุ่มพีเอสเอซึ่งทางกลุ่ม PSA ส่ง ชนินทร์ รุนสำราญและเปลี่ยนชื่อเป็นอินเตอร์ไลฟ์ประกันภัย)
แม้จะขาดทุนอยู่บ้าง แต่โดยธรรมชาติของกิจการ พงศ์ เศวตศิลา บอกว่า ถ้าอัดงานของเครือทั้งหมดเข้ามาตูมเดียวก็ฟื้นแล้ว
ยิ่งมีภาพพจน์ของสถาบันการเงินหลายแห่งเป็นประกัน ภาพพจน์จะดีขึ้นมาก และส่งผลให้การหาประกันได้คล่องตัวขึ้น
อินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิต เตือนใจบอกว่า ตั้งเป้าว่าบริษัทซึ่งอยู่ในลำดับ
6-7 จาก 12 บริษัท มาเป็นบริษัทชั้นนำระดับต้น ๆ นอกจากเพิ่มทุนแล้ว จำเป็นต้องหาผู้บริหารมืออาชีพ
ที่เป็นมือโปรทางด้านประกันชีวิตเข้ามาฟื้นฟูกิจการ
ผู้บริหารปัจจุบันก็คงนั่งร้อน ๆ หนาว ๆ ว่าตัวเองมือโปรหรือไม่ในทัศนะของผู้เอาเงินมาลง
ซึ่งเขาจะต้องมั่นใจว่า ไม่สูญเปล่า
แหล่งข่าวที่เป็นกรรมการฟื้นฟูอินเตอร์ไลฟ์ ให้ความเห็นว่า พิจารณาจากสภาพอินเตอร์ไลฟ์ในปัจจุบัน
และแผนซึ่งร่างเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว คงต้องใช้เวลาประมาณ 5 ปีกว่าทุกอย่างจะลงตัว
มองจากอายุ 36 ขวบของอินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิต ก็นับว่าเข้าสู่วัยกลางคนที่ผานประสบการณ์มาแล้วอย่างสะบักสะบอมเปลี่ยนเจ้านายครั้งแล้วครั้งเล่า
ที่น่าเห็นใจก็พนักงานที่พากันเสียขวัญทุกครั้งที่เกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะทุกครั้งมีการเปลี่ยนโครงสร้างการบริหาร
ปรับโน่น ยุบนี่ ให้วุ่นวายไปหมด และบางครั้งมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ อันเป็นเรื่องผลประโยชน์ของพนักงานโดยตรงเสียด้วย
ในกรณีหลังมีตัวอย่างเช่น ข้อบังคับในการทำงานสมัย สุริยน ไรวา ข้อที่
22 เรื่องการจ่ายเงินบำเหน็จ ซึ่งบอกว่า พนักงานที่ปฏิบัติงานมาแล้วไม่น้อยกว่า
1 ปี นับแต่ได้รับการบรรจุ และแต่งตั้ง ได้รับเงินเดือนประจำ หากมีความประสงค์จะลาออกโดยไม่มีความผิดให้คิดค่าบำเหน็จ
โดยเอาเงินเดือนที่รับครั้งสุดท้ายคูณจากจำนวนปีที่ได้ปฏิบัติงานมา แต่สมัยสุธี
เขียนกฎใหม่ว่า จะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานซึ่งก็คือเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยหกเดือนเท่านั้น
ซึ่งพนักงานหลายต่อหลายคนที่เสียประโยชน์ได้ฟ้องร้องเป็นคดีความกันอุตลุด
กรณีของอินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิตนั้นเห็นได้ชัดเจนว่า บริษัทล้มลุกคลุกคลานมาตลอดในยุคแรกเป็นปัญหาเรื่องความเข้าใจของประชาชนที่มีต่อการประกันชิวตยังไม่มาก
ปัญหาขาดมืออาชีพ และขาดโนว์ฮาว์ที่ดีพอ ตลอดจนปัญหาการใช้เงินไปลงทุนผิดประเภท
และมีการทะเลาะเบาแว้งภายใน การบริหารยุคต่อ ๆ มาก็พยายามเข้ามาแก้แต่ก็ยังไม่มีใครได้ทำนานพอจนประสบความสำเร็จ
และบางครั้งยังมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินออกไปอีกด้วย ที่สำคัญคือขาดความต่อเนื่องในการบริหาร
ทำให้พัฒนาได้ไม่ทัดเทียมคู่แข่ง
อนาคตของอินเตอร์ไลฟ์จะไปได้สวยหรือไม่ขึ้นอยู่กับการทุ่มเทอย่างตั้งใจจริงต่อธุรกิจนี้
ให้สามารถดำรงอยู่ด้วยตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง มิใช่พอตกแต่งให้ดูดีขึ้นแล้วก็ขายออกไป
หรือชักรู้สึกไม่เข้าที ก็ถอนตัวหรือเปลี่ยนนโยบายตามแบบที่ทางการทำให้เห็นอยู่บ่อย
ๆ จนประชาชนเกือบจะสิ้นศรัทธาต่อนโยบายใด ๆ ของรัฐ