ต่างชาติถือครองอสังหาฯ ดาบสองคม ธอส.แนะฟังความเห็นรอบด้าน


ASTV ผู้จัดการรายวัน(16 กันยายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

นายก ส.ธุรกิจบ้านจัดสรร เสนอรัฐขยายเวลาต่างชาติถือครองสิทธิ์อสังหาฯ จาก 30 ปี เป็น 50 ปี เพื่อดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ ยันยังไม่พบเก็งกำไร ธอส.ชี้ การถือครองอสังหาฯ ของต่างชาติ ดาบสองคม ควรฟังความเห็นจากทุกฝ่าย มองแนวโน้มครึ่งปีหลัง การลงทุนต่างชาติอาจชะลอตัวลง โดยมีผลกระทบ ศก.โลกที่ยังไม่ฟื้นตัว และผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาท เพื่อมาลงทุนในประเทศต่ำกว่าช่วงที่ผ่านมา

นายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง อสังหาริมทรัพย์ไทยไร้พรมแดน โดยระบุว่า การส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีจะมีการนำเทคโนโลยีความรู้ การจัดการมาพัฒนาในประเทศ ส่วนข้อเสียเกรงว่า ต่างชาติจะเข้ามาแข่งขัน จนภาคเอกชนในประเทศได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีกฎหมายเปิดทางให้ต่างชาติซื้อที่ดินในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลได้ไม่เกิน 1 ไร่ เมื่อเข้ามาลงทุนในประเทศวงเงินไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และสามารถเช่าที่ดิน เพื่อประกอบธุรกิจระยะเวลายาวถึง 50 ปีด้วยกัน และสามารถขอต่ออายุได้อีก 1 ครั้ง แต่ไม่ครอบคลุมถึงที่อยู่อาศัย

ขณะนี้ยังไม่พบสัญญาณการเก็งกำไรจากชาวต่างชาติในภาคอสังหาฯ เพราะปัจจุบันมี พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในการถือครองกรรมสิทธิ์สมบูรณ์ (Freehold) ในอาคารชุดของชาวต่างชาติต้องไม่เกิน 49% โดยปัจจุบันตัวเลขการโอนต่างชาติแล้วประมาณ 80,000 - 90,000 หน่วย ซึ่งยังไม่เป็นตัวเลขที่สูงเกินไป

“กรณีที่เกิดขึ้นจึงเห็นว่า ต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจเป็นเวลานาน น่าจะให้เช่าที่อยู่อาศัยได้นานขึ้น จาก 30 ปีเป็น 50 ปี ส่วนการเติบโตภาคอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันนั้น ยังไม่มีสัญญาณการเก็งกำไร”

นายอิสระ กล่าวเสริมว่า ปีนี้การตัวเลขการโอนที่อยู่อาศัยจะอยู่ที่ประมาณ 170,000 หน่วย หรือ คิดเป็นมูลค่ากว่า 400,000 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ดังนั้น จึงไม่มีความกังวลกับสัญญาณฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์

ด้าน นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า แนวทางการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของต่างชาติ จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย รวมถึงการส่งเสริมให้เอกชนไทยที่มีความพร้อม ไปลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในตลาดต่างประเทศได้ด้วย

ส่วนความต้องการให้รัฐบาลขยายการถือครองที่ดินระยะยาวให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ 30 ปี แต่คงต้องภายใต้เงื่อนไขพิเศษ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อกลไกทางตลาด เช่น การถือครองที่ดินไม่เกินกี่ปี การนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเท่าใดจะสามารถได้รับสิทธิดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดการเก็งกำไรเกิดขึ้น และกระทบต่อการซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทย โดยจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปและนำเสนอให้ภาครัฐบาลพิจารณาในขั้นตอนต่อไป

สำหรับแนวโน้มภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่า จะชะลอตัวลง โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาติจะลดลงไปมากพอสมควร เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งยังได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้การแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาท เพื่อมาลงทุนในประเทศต่ำกว่าช่วงที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน พื้นที่การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ดังนั้น ผู้ประกอบส่วนใหญ่จึงหันไปขยายการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ ยอมรับว่า มีความกังวลกับการเก็งกำไรที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียม ซึ่งไทยไม่ได้ประสบปัญหาเพียงประเทศเดียวยังมีอีกหลายประเทศมีปัญหาดังนั้นภาครัฐจะต้องมีมาตรการเข้ามาควบคุม โดยปัจจุบันพบว่ามีการเก็งกำไรประมาณ 10-15%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.