สงวน วงศ์สุชาต ผู้สร้างตัวด้วยตัวเอง


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

ถ้าการที่ใครสักคนอายุ 30 ปี ก็สามารถมีทรัพย์สมบัติมูลค่าหลายสิบล้านบาท แต่มีเงินเพราะว่าเป็นทายาทของเศรษฐี ก้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาสนใจอะไรมากนักเพราะว่าคนแบบนี้เห็นกันออกดาษดื่นไปในสังคมไทยปัจจุบัน

แต่การที่คนหนุ่มอายุเพียง 30 ปี สร้างตัวด้วยตัวของเขาเองไม่ต้องพึ่งครอบครัว ใช้สมองของเขาเป็นหลัก ไม่ต้องไปแบกหาม ไม่ต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมทางการค้า คดโกงใคร อย่างที่รู้ ๆ กันสำหรับผู้มั่งคั่งบางคนในปัจจุบัน

เพียงแต่เขาให้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่ผ่านการสั่งสมมานานนับสิบปี เพื่อสร้างตัวสร้างฐานะ สร้างฐานทางธุรกิจของเขา ในปริมณฑลที่ไม่ค่อยมีนักธุรกิจคนไหนเข้าไปจับเพราะมีคำว่า "จรรยาบรรณ" และ "คุณธรรม" เข้ามาเป็นตัวสกัดกั้น

ยิ่งการที่เขาสามารถใช้ประสบการณ์ที่เหนือกว่าความรู้ที่เขามีอยู่ ไปสอนสั่งคนที่มีความรู้มากกว่าเขา หรือรู้เท่า ๆ กับเขาได้

จึงต้องสนใจเขาให้มาก ๆ ทีเดียว

สงวน วงศ์สุชาต คือคน ๆ นั้น

ปีนี้สงวน อายุ 41 เป็นเจ้าของโรงเรียนเสริมหลักสูตรที่กรุงเทพ และสาขาที่เชียงใหม่พิษณุโลก ขอนแก่น และหาดใหญ่

เป็นเจ้าของโรงพิมพ์และอุปกรณ์ทันสมัย ราคานับสิบ ๆ ล้าน

เป็นเจ้าของเครื่องคอมพิวเตอร์ไอบีเอ็มและแอปเปิ้ล นับร้อย ๆ เครื่อง

ทรัพย์สินที่เขาสร้างขึ้นมามาจากสมองและความชาญฉลาดของเขาเป็นหลัก

ถ้าสงวนได้เป็นนักร้องตามที่เขาใฝ่ฝันในตอนวันรุ่น เขาอาจจะไม่มีวันนี้

ถ้าเขาประกอบอาชีพตามบิดาของเขา เป็นช่างทำรองเท้า

วันนี้ก็คงไม่มีโรงเรียนเสริมหลักสูตร โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษและปัจจุบันยังเพิ่มเป็นโรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์อีกต่างหาก

เขาเริ่มฉายแววเมื่อตอนที่เขาอายุ 17 สงวนชนะเลิศการสอบแข่งขันทั่วประเทศ จากผู้เข้าแข่งขันมากกว่าร้อยโรงเรียน

วันนั้นเป็นวันที่เขายินดีมากที่สุดวันหนึ่ง เพราะ "ผมได้รับรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่สหัวในฐานะผู้ประสบความสำเร็จทางการศึกษา"

ว่ากันวาเพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เขาเลิกล้มความตั้งใจที่จะเป็นนักร้อง "มันไม่เหมาะกับผม"

หลังจากที่เขาจบจากโรงเรียนบพิตรพิมุข และเอ็นทรานส์เข้ารัฐศาสตร์จุฬาได้ดังหวังแล้วเขาได้กลับไปบพิตรพิมุขอีกครั้งหนึ่ง

ไม่ใช่ในฐานะนักเรียน แต่เป็นติวเตอร์ให้รุ่นน้อง เพราะเขาได้ผ่านการคัดเลือกจากโรงเรียนเก่า

นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของเขากับการก้าวไปเจ้าของโรงเรียนกวดวิชาในอนาคต

"นักเรียนประทับใจต่อการสอนของผมมาก" สงวนเคยเล่าให้ฟัง

เขาเปิดโรงเรียนกวดวิชาชื่อ "เสริมหลักสูตร" ขึ้นเป็นครั้งแรกที่สะพานควาย

มีนักเรียนตามมาเรียนกับเขาถึง 300 คน "ก็เป็นพวกที่เรียนกับเขาที่พิตรพิมุขนั่นแหละชวนเพื่อน ๆ มา" นักเรียนคนหนึ่ง-เล่าให้ฟัง

สงวนย้ายโรงเรียนเรื่อยมาเนื่องจากจำนวนนักเรียนมากขึ้นทุกวัน จากสะพานควายมาวงเวียนใหญ่ วังบูรพา และจบลงด้วยถนนมหรรณพ ใกล้ศาลว่าการกรุงเทพมหานคร

ซึ่งเป็นฐานใหญ่ของ "เสริมหลักสูตร"

ที่นี่เขาสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนกระทั่งถึงคนที่จะไปทำดอกเตอร์

ช่วงแรกที่เขาเน้นก็คือการสอนคอร์สเอ็นทรานส์ วิชาภาษาอังกฤษซึ่งเป็นปัจจัยชี้ขาดว่าใครจะได้เข้ามหาวิทยาลัยหรือไม่

แต่ปัจจุบันตัวที่ทำเงินให้เขามากที่สุดน่าจะเป็นคอร์สโทเฟิล นอกจากนี้เขายังมีคอร์สอื่น ๆ อีกมากมาย

สงวนนำเอาวิดีโอเข้ามาเป็นสื่อการสอนพวกแรก ๆ ก็ว่าได้

สมัยที่วิดีโอยังไม่แพร่หลายอย่างทุกวันนี้ เขาถ่ายวิธีโอการสอนไว้ทุกคนที่ไม่มีเวลาเรียนในรอบที่ฟิกซ์ไว้ได้ดู

นี่เป็นการเสนอเงื่อนไขที่ที่อื่นยังไม่มี ยังตามเขาไม่ทัน

นอกจากนี้สิ่งที่เขาได้ประโยชน์จากวิดีโออีกก็คือ เขานำหนังฝรั่งมาฉาย

เขาบอกว่าเพื่อเป็นการฝึกภาษาอังกฤษแก่ผู้ที่มาเรียน แต่ที่จริงมันก็คือการดึงดูดนักเรียนอีกทางหนึ่งนั่นเอง "ผมมาเรียนที่นี่ตอนนั้นก็เพราะเพื่อนเขาบอกว่าที่นี่ฉายหนังให้ดู" ศิษย์สงวนคนหนึ่งบอก

เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เขาต้องขยายตัวเขาก็สามารถขยายสาขาโรงเรียนเสริมหลักสูตรไปต่างจังหวัดหลัก ๆ ไม่ว่าจะเป็น เชียงใหม่ หาดใหญ่ พิษณุโลก และขอนแก่น ที่กำลังขึ้นเอามาก ๆ

และวันนี้ก็ด้วยความเป็นคนที่ทันสมัยอยู่เสมอ

เมื่อถึงยุคที่คอมพิวเตอร์กำลังเฟื่องเขาก็ซื้อคอมพิวเตอร์นับร้อยเครื่อง ทั้งไอบีเอ็มเอทีและเอ็กซ์ที รวมทั้งแอปเปิ้ลรุ่นที่ดังที่สุด-แม็คอินทอช

เขาก็นำเอายุทธวิธีเดิมมาใช้อีก นั่นคือให้คนที่เรียนภาษาอังกฤษกับเขามีสิทธิเรียนคอมพิวเตอร์ฟรี

และแน่นอนถ้าจะเรียนขั้นสูงก็ไม่ฟรีอีกต่อไป

ทุกวันนี้เขายังเป็นเจ้าของโรงพิมพ์มูลค่าสิบ ๆ ล้าน ที่น่าประหลาดก็คือเขายังมีกิจการรับแจกใบปลิวด้วย โดย "มืออาชีพ" เขาบอกในใบปลิว

สงวนเป็นคนประเภท "เปอร์เฟคชั่นนิสท์" ต้องการสมบูรณ์แบบทุกอย่าง จนบางครั้งกลายเป็นคนขี้โม้เมื่อทำไม่ได้อย่างที่พูด

ความหวังขั้นสูงสุดที่เขาเคยบอกไว้คือ เขาจะเรียบเรียงพจนานุกรมขึ้นมาใช้ "เพราะที่มี ๆ อยู่ยังไม่ดีพอ" เขาเคยให้สัมภาษณ์หนังสือฉบับหนึ่ง

แต่เขาคงยังไม่มีเวลาพอเพราะทุกวันนี้เขายังเอ็นจอยกับการเมคมันนี่อยู่

เพราะเขาไม่ใช่ครูบาอาจารย์

เขาเป็นนักธุรกิจ เป้าหมายก็คือทำกำไรสูงสุด

เป็นกำไรสูงสุดบนพื้นฐานของ "คุณธรรม" และ "จรรยาบรรณ" ของอาชีพเรือจ้าง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.