นับจากนี้ ซีพีกรุ๊ป กำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ ของการเคลื่อนย้ายองค์กรเข้าสู่โลกการค้าบนอินเทอร์เน็ต
การเปิดตัวบริษัทเอเชียฟรีวิลล์ ไม่ใช่การเริ่มต้นธุรกิจแบบธรรมดา แต่นี่คือ
เดิมพันครั้งใหม่ของธุรกิจที่กำลังจะได้ชื่อว่า bricks and clicks เรื่องโดย
ไพเราะ เลิศวิราม pairoh@manager.co.th
"การสร้างมอลล์ในอากาศสร้างได้ไม่ยากเหมือนกับห้างสรรพสินค้าจริงๆ ที่ต้องลงทุนมหาศาล
แต่ Mall ในอากาศ ขอให้มีคอมพิวเตอร์ก็มีสิทธิเข้ามาชอปปิ้ง ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไทยหรือที่ไหนๆ
คนจึงมองว่าอินเทอร์เน็ตนั้นยิ่งใหญ่ใน ศตวรรษหน้า และบังเอิญทีเอเป็นบริษัทที่พร้อมที่สุดในประเทศ
ที่จะให้บริการ"
ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2543 ซึ่งเป็นช่วงเวลา ที่เขากำลังครุ่นคิดอย่างมาก
ถึงการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต จากการนำ e-commerce มาใช้กับธุรกิจ ถึงแม้ว่าแนวคิดในช่วงนั้นของธนินท์
ยังอยู่ในช่วงของการทำความชัดเจนให้กับกลุ่มธุรกิจที่เป็นอยู่ แต่หลังจากนั้นเพียงแค่
2 เดือน ธนินท์ก็ได้ข้อสรุปของการตัดสินใจขับเคลื่อนองค์กรเข้าสู่ e-business
อย่างเต็มตัว
แรงขับดันของกลุ่มซีพีมาจากความจำเป็นในหลายส่วน ด้วยกัน กลุ่มซีพีนั้นเรียนรู้การนำเทคโนโลยีมาใช้กับการผลิต
เป็นพื้นฐานความรู้ดั้งเดิม เป็นสิ่งที่ธนินท์ได้เรียนรู้มาแล้วอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่ธุรกิจการเกษตรรวม ถึงธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม
แต่แรงบีบคั้นที่มากไปกว่านั้น คือ ความจำเป็นในการพัฒนาตัวเองให้เท่าทันกับการเปลี่ยน
แปลงของระบบการค้าโลก ทั้งในแง่ของเงินทุนจากต่างประเทศ และเคลื่อนย้ายจากผู้ผลิตอาหาร
ระดับโลก ไปสู่การสร้างและบริหารเครือข่ายการขายอาหารของโลก (ผู้จัดการรายเดือนกุมภาพันธ์
2543) เป็นเรื่องจำเป็นที่ซีพีจะต้องเรียนรู้การสร้างกลไกการทำธุรกิจแนวใหม่ที่ต้องสอดคล้องความ
เป็นไปของระบบสากลที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นตัวเชื่อม เป็นสิ่งที่กลุ่มซีพีไม่อาจปฏิเสธได้
การถือกำเนิดบริษัทเอเชียฟรีวิลล์ ที่ก่อตั้งขึ้นในเดือนเมษายน 2543 จึงมีความหมายมากกว่าเป็นการเปิดธุรกิจให้บริการตลาดอิเล็กทรอนิกส์
(market place) ที่เป็นระบบจัดซื้อ e-Procure-ment ที่ให้สำหรับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็กมาใช้งานเท่านั้น
ที่ลึกลงมากกว่านั้น ก็คือ ความพยายามในการขับเคลื่อนองค์กรเข้าสู่ธุรกิจ
e-business อย่างเป็นรูปเป็นร่าง และชัดเจนที่สุด ของกลุ่มซีพีนับจากนี้
"นับตั้งแต่ 1-2 ปีข้างหน้านี้ เอเชียฟรีวิลล์คงจะต้องทำงานตรงนี้หนัก"
คำกล่าวของศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น
จำกัด ลูกชายคนที่สองที่มีบทบาทที่สุดในธุรกิจสื่อสาร บอกถึงความสำคัญในภาระหน้าที่ของบริษัทเอเชียฟรีวิลล์
ที่จะเป็นเสมือน "บันได" ขั้นแรกในการ เรียนรู้
ในมุมมองของศุภชัยแล้ว เขาเชื่อในความสำคัญ และความจำเป็นที่จะต้องก้าวเข้า
สู่ธุรกิจ e-business การจัดตั้งเอเชียฟรีวิลล์ สำหรับศุภชัยแล้วจะเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนองค์กรของกลุ่มซีพี
ที่จะสามารถขยายผลต่อเนื่องไปยังการใช้งานในจุดอื่นๆ ขององค์กร
"นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดการขยาย ตัวเหมือนกับโดมิโน ที่จะส่งผลกระทบไปยังจุดอื่นๆ
เปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดฝอยที่จะถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน การเกิด market
place มันเหมือนกับระบบไอทีของระบบเศรษฐกิจ มันจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วย
centralize ทำให้เกิด economic of scale"
การคลุกคลีอยู่ในธุรกิจโทรคมนาคม ที่ ต้องดูแลองค์กรขนาดใหญ่อย่างบริษัทเทเลคอม
เอเซีย เจ้าของสัมปทานโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมายที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่สื่อสารข้ามชาติเป็นพันธมิตร
และต้องติดต่อกับซัปพลายเออร์ ทำให้ศุภชัยสามารถรับรู้ถึงความจำเป็นของการ
นำ e-commerce มาใช้ในเครือซีพีได้อย่างรวดเร็ว
ถึงแม้ศุภชัยจะให้ความสนใจกับ e-commerce มากเพียงใดก็ตาม แต่ภาระหน้าที่ของเขาที่ทีเอก็หนักหนาทำให้เขาไม่สามารถปลีกตัวมาสำหรับธุรกิจใหม่
ที่ต้องใช้เวลาและการศึกษาอย่างจริงจัง เพราะทีเอยังอยู่ในช่วงของการสร้างองค์กร
จากองค์ประกอบทั้งภาย ในและภายนอกองค์กร การแปลงสัมปทาน และการเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันในอนาคต
แต่การจะเลือกใช้ผู้บริหารในเครือที่อยู่เดิม ก็อาจมีกรอบ กติกา และประสบการณ์เดิมที่เป็นของตัวเอง
ทำให้มุมมองของการเคลื่อนย้ายเข้าสู่ e-business ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการเรียนรู้ใหม่
และสามารถมองเห็นภาพรวมขององค์กรถูกจำกัด
การได้ ม.ล.สุภสิทธิ์ ชุมพล อดีตหัวหน้ากลุ่มธุรกิจการเงินสถาบัน บริษัท
UBS Warburg จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว
ม.ล.สุภสิทธิ์ผ่านประสบการณ์ด้านวาณิชธนกิจมา 12 ปีเต็ม ทั้งการควบรวมกิจการ
และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เคยทำดีลสำคัญๆ มาหลายโครงการรัตนสิน นครธน แทค
และยูคอม ประนอมหนี้ และการอยู่ในองค์กรที่เป็นบริษัทข้ามชาติด้านการเงิน
ทำให้มองเห็นแนวโน้มของธุรกิจ e-commerce ในระดับโลก นับเป็นข้อต่อสำคัญของการเริ่มต้นในการก้าวเข้าสู่โลกอินเทอร์
เน็ตขององค์กรขนาดใหญ่อย่างซีพีอย่างเป็นจริงเป็นจัง ที่สำคัญ ม.ล.สุภสิทธิ์
เป็นอีกผู้หนึ่งที่ให้ความสนใจและต้องการผันตัวเองเข้าสู่ธุรกิจ e-commerce
"e-commerce เป็นเรื่องของการจัดการข้อมูล การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับการดำเนินธุรกิจ
ผมเชื่อว่านี่คือ big issue ที่ทุกคนต้องปรับตัว" การเลือก ม.ล.สุภสิทธิ์
มาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการขับเคลื่อนองค์กรเข้าสู่ e-business จึงไม่ได้อยู่ที่การพัฒนาในเรื่องของเทคโนโลยี
หรือการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ในโลกดอทคอม แต่เป็นเรื่องของการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม
และสอดคล้องกับสภาพขององค์กร และที่สำคัญคือ จะต้องอยู่บนพื้นฐานของธุรกิจที่แท้จริง
สิ่งแรกที่กลุ่มซีพีทำหลังจากได้ทีมงาน และจัดตั้งบริษัทเอเชียฟรีวิลล์ขึ้นมา
ก็คือ การว่าจ้างบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป ที่ปรึกษาองค์กรและการเงินระดับโลกเข้ามาประเมินศักยภาพธุรกิจของกลุ่มซีพีในการปรับเข้าสู่
e-business เพื่อนำผลที่ได้มาใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ การประเมินของบอสตัน
คอลซัลติ้ง จะครอบคลุมธุรกิจที่มีอยู่ทั้งหมดของ กลุ่มซีพีตั้งแต่ธุรกิจการเกษตร
ค้าปลีก โทรคมนาคม ปิโตรเคมี รถจักรยานยนต์ ไม่ได้จำกัดเฉพาะธุรกิจของกลุ่มซีพีที่อยู่ในไทยเท่านั้น
แต่รวมไปถึงเครือข่ายธุรกิจของกลุ่มซีพีทั่วโลก ม.ล.สุภสิทธิ์เล่าถึงวิธีการประเมินของบอสตันว่า
จะดูจากขีดความรู้ความสามารถของกลุ่มซีพีในด้านต่างๆ ไม่วาจะเป็นเรื่องของความรู้ของธนาคาร
การระดมเงินทุน ในตลาดหุ้น การส่งออก เนื่องจากการขับเคลื่อนองค์กรขนาดใหญ่ไปสู่โลกใบใหม่
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าจะทำอะไร แต่อยู่ที่ว่าจะนำขีดความรู้ความสามารถที่มีอยู่ไปประยุกต์ใช้กับ
e-business ในด้านใดได้บ้าง
"เขาดูว่าขีดความสามารถของเราที่จะไปสู่ e-business ในด้านไหนบ้าง และต้องใช้เงินลงทุนเท่าไร
รวมถึงการเปลี่ยนแปลงคน เช่น ถ้าเราขาดคน เราต้องจ้างคนแบบไหนที่จะทำให้ยุทธศาสตร์เหล่านี้เป็นจริงขึ้นมาได้"
ม.ล.สุภสิทธิ์กล่าว
หลังจากใช้เวลา 2-3 เดือนในการประเมินผลขีดความสามารถทั้งหมด บอสตันคอนซัลติ้ง
ได้ข้อสรุปถึงแนวทางในการทำธุรกิจ e-business ให้กับกลุ่มซีพีมาทั้งหมด 38
โครงการ แต่การจะเริ่มดำเนินการพร้อมกันทุกโครงการเป็นไปไม่ได้ ต่อมาทีมงานของม.ล.สุภสิทธิ์
จึงได้นำมาพิจารณาคัดเลือกให้เหลือ 4 โครงการนำร่องที่จะเริ่มดำเนินงานได้ก่อน
"เป็น 4 กลุ่มธุรกิจ ที่เราประเมินแล้วว่ามีรูปธรรมที่เป็นไปได้มากที่สุด
ที่จะทำให้เกิดตลาด การค้าอิเล็กทรอนิกส์ และจะถูกใช้เป็นโครงสร้างหลักของการเข้าสู่ธุรกิจ
e-commerce ของกลุ่มซีพีในช่วงของการเริ่มต้น" ม.ล.สุภสิทธิ์ อดีตวาณิชธนกิจ
วัย 38 ปี กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ธุรกิจ 4 กลุ่มเหล่านี้ ประกอบไปด้วย Food Exchange, E-Procurement, Retailers
Exchange และ Multi Access Portal จะเห็นได้ว่า ธุรกิจทั้ง 4 ประเภทนี้ ครอบคลุมธุรกิจหลักของกลุ่มซีพีไว้ทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเกษตร ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจสื่อสารโทร คมนาคม และทั้งหมดนี้ได้ถูกคาดหมายว่าจะเริ่มขึ้นได้ภายใน
1 ปี
อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นธุรกิจด้วยการทำ market place ที่เป็นเรื่องของระบบการจัดซื้ออิเล็กทรอนิกส์
(e-Procurement) ถึงแม้ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอย่างหนึ่งในแวดวงธุรกิจ
แต่ก็สามารถสะท้อนให้เห็นได้ว่ากลุ่มซีพีไม่ต้องการมุ่งเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงไปสู่
e-business อย่างเข้มงวดมากนัก
แน่นอนว่า ธุรกิจทั้งหมดที่อยู่ภายในกลุ่มซีพี จะได้ประโยชน์จากระบบจัดซื้อใหม่
หรือ e-procurement ในการลดค่าใช้จ่ายในการ จัดซื้ออุปกรณ์สำนักงานลงร่วมกันได้
ทั้งยังเป็นการเตรียมพร้อมใหักับองค์กรของกลุ่มซีพี ที่จะได้เรียนรู้ และปรับตัวเข้าสู่วิถีทางในการทำ
ธุรกิจแนวใหม่ ที่จะใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ สำคัญไปพร้อมๆ กัน โดยที่ยังไม่ได้ลงลึกไปถึง
การเปลี่ยนแปลงกลไกภายในของธุรกิจ ซึ่งเป็น เรื่องที่ต้องใช้เวลา
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับกลุ่มซีพี ที่จะสามารถก้าวเข้าสู่โลกของอินเทอร์เน็ตได้ทันที
โดยไม่ต้องใช้เวลามากมาย เหมือนกับอีก 3 โครงการ ที่ต้องใช้ความระมัดระวัง
และอาศัยเวลาในการดำเนินการมากกว่า
เพราะถึงแม้ว่าจะต้องมีการปรับปรุงองค์กรที่เกิดจะรองรับกับระบบการใช้งาน
ในระบบ e-Procurement แต่ก็ทำในส่วนของระบบการจัดซื้อ ยังไม่จำเป็นที่จะต้องลงลึกไปถึง
supply chain management เหมือนกับการ สร้างตลาดอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นการค้าขายวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต
ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรของธุรกิจเพื่อให้รองรับกับการใช้งาน
นั่นหมายความว่า กลุ่มซีพีมีเวลาที่จะสร้างการเรียนรู้ และการลองผิดลองถูก
เพราะ ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม ซึ่งแต่ละธุรกิจมีวัฒนธรรม และรากฐานของธุรกิจของตัวเอง
ที่ยังต้องใช้เวลาในการ transform ก่อนจะลงลึกไปสู่การใช้ประโยชน์จากธุรกิจพื้นฐานในมือของกลุ่มซีพี
"ตรงนี้มันง่ายที่สุด เพราะยังไม่เกี่ยวกับระบบ supply chain management
หรือระบบ consumer relation management ซึ่งองค์กรจะต้องสร้างความพร้อมใหักับตัวเองอย่างมาก"
ม.ล.สุภ สิทธิ์บอกกับ "ผู้จัดการ"
ความหมายของ ม.ล.สุภสิทธิ์ จึงอยู่ที่ว่าองค์กรจะมีขีดความสามารถมากน้อยเพียงใด
เป็น สิ่งที่สำคัญและจำเป็นมากที่สุด "สิ่งที่มองข้ามไม่ได้ ก็คือ การที่เราต้องปรับวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับความสามารถในการใช้งาน
เพราะไม่มีประโยชน์ถ้าซื้อเทคโนโลยีมาแล้วใช้ไม่ได้ ก็เท่ากับการมีขยะราคาแพง"
ม.ล.สุภสิทธิ์กล่าว
หากมองลึกลงไปมากกว่านั้น การเริ่มต้นด้วยระบบ e-Procurement จะทำให้กลุ่มซีพียังไม่ก้าวเข้าสู่
e-business โดยลำพัง แต่ยังสามารถพ่วงเอาพันธมิตรที่เป็นผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่
และรายเล็ก ไม่ว่าจะเป็นเครือซิเมนต์ไทย ที่มองเห็นประโยชน์ของการประหยัดต้นทุนในการสั่งซื้อสินค้าร่วมกันได้
และนั่นย่อมหมายถึงพลังในการก้าวเข้าสู่โลกของ e-commerce ที่จะได้รับการยอมรับได้รวดเร็วกว่าหากโครงการสำเร็จลุล่วง
และเป็นการยอมรับที่มากพอ
สิ่งที่มองข้ามไม่ได้สำหรับการทำตลาดการค้าอิเล็กทรอนิกส์ ก็คือ ความเชื่อถือ
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องดึงองค์กรขนาด ใหญ่เข้ามาร่วมในการเป็นพันธมิตร
เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เป็นที่ยอมรับจากผู้ซื้อและผู้ขายที่จะมาใช้บริการนี้
นอกจากนี้การจัดสร้าง market place นั้นไม่เหมือนกับการสร้าง "ตลาด" ในโลกใบเก่า
ที่จะมีเฉพาะผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดเท่านั้น แต่ในโลกของอินเทอร์เน็ต การทำ
market place จะสามารถเชื่อมโยงไปสู่ e-marketplace อื่นๆ ได้ทั่วโลก และนี่คือ
บันไดขั้นแรกของการขยายไปสู่การสร้าง market place ที่จะถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมของกลุ่มซีพี
ซึ่งจะถูกสร้างขึ้นเป็นลำดับต่อไปหลังจากการสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นภายในองค์กร
"และนี่คือสาเหตุที่ตั้งเอเชียฟรีวิลล์ขึ้นมา ในตลาดการค้าโลก มันออนไลน์หมดแล้ว
ถ้ายังส่งใบ invoice ยังส่งแฟกซ์มันไม่เวิร์คหรอก และการที่ต้องไปเปิดหน้าร้านอยู่ต่างประเทศ
ทั้งๆ ที่เขามาติดต่อซื้อขายกับเราได้ เราต้องมี market place เกิดขึ้น ไม่ใช่
e-Procurement เท่านั้น แต่จะมีหลาย market place เกิดขึ้นในแต่ละอุตสาหกรรม"
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บริหาร บริษัทเทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่นกล่าว
Food Exchange คือ หนึ่งในแผนธุรกิจ e-commerce ที่ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน
และเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับซีพี อุตสาหกรรมอาหาร เป็นธุรกิจหัวหอกหลักของกลุ่มซีพีที่จำเป็นต้องพัฒนาตัวเองอย่าง
ต่อเนื่อง เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการแข่งขัน ที่เปลี่ยนแปลงไป อันเป็นแรงบีบคั้นที่ทำให้ซีพีจำเป็นต้องเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต
เพราะความจำเป็นของซีพีนับจากนี้ ก็คือ เคลื่อนย้ายตัวเองจากผู้ผลิตที่มีเครือข่ายการผลิตอาหารระดับโลก
ไปสู่การสร้างและบริหารเครือข่ายการขายอาหารของโลก ซีพีจะต้องเรียนรู้การสร้างเครือข่ายการตลาดที่เป็นความจำเป็นขั้นใหม่ที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสำคัญ
การเกิด vertical market place ในแต่ละอุตสาหกรรม ตามความหมายของศุภชัย
ที่นอกจากจะได้ประโยชน์ในเรื่องของการลดต้นทุน การเพิ่มขีดความสามารถจัดการวัตถุดิบ
สต็อกสินค้า ที่จะได้จากการใช้ประโยชน์ข้อมูล ที่ได้รับมาจัดการในเรื่องเหล่านี้
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผลพวงที่จะตามมาก็คือ เครือข่ายการตลาด
(network market ing) ที่จะเชื่อมโยงกันทั่วโลก ซึ่งจะทำให้ธุรกิจทั้งหมดสามารถใช้ประโยชน์ร่วม
(synergy) ระหว่างกันได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ซีพีจำเป็นต้องก้าวให้ทัน
ตรงกับสิ่งที่ธนินท์กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ถึงความต้องการของซีพี ในการสร้าง
network marketing ที่จะมาสนับสนุนแนวทางของการพัฒนาไปสู่การผลิตสินค้าสำเร็จรูป
ที่สามารถรองรับกับตลาดเฉพาะมากขึ้น และมีความหลากหลาย ซึ่งจำเป็นจะต้องมีเครือข่ายที่จะมา
รองรับแนวคิดเหล่านี้ ผลที่ตามมาก็คือ การก้าว ไปสู่โลกของ e-commerce
ความตั้งใจของกลุ่มซีพี ก็คือ หลังจากปูพื้นด้วยระบบ e-Procurement เพื่อให้ทุกองค์กรของกลุ่มซีพีได้เรียนรู้ได้ระดับหนึ่งแล้ว
จากนั้นกลุ่มซีพีจะนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาห-กรรมในเครือซีพี ซึ่งจะเป็นการลงลึกไปสู่การสร้างตลาดในระดับลึก
หรือที่เรียกว่า vertical market place ซึ่งจะมีความยุ่งยากในการดำเนิน การมากกว่า
เพราะถึงแม้ว่า การสร้างระบบ Food Exchange จะมีรูปแบบใกล้เคียงกับการสร้างระบบ
e-Procurement นั่นคือ การสร้างตลาดกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ต
แต่สิ่งที่แตกต่างกัน ก็คือระบบ Food Exchange ไม่ใช่การซื้อขายโต๊ะ เก้าอี้
กระดาษ แต่เป็นการซื้อขายวัตถุดิบที่จะใช้ในการผลิต องค์กรที่จะพัฒนาไปสู่ระบบนี้จะต้องมีความพร้อมมากกว่า
ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเพียงแค่แผนกจัดซื้อเท่านั้น แต่จะต้องมีระบบหลังบ้าน
(back office) ที่ดีพอ เช่น การติดตั้ง supply chain management และ consumer
relationship management เพราะจะต้องเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตโดยตรง และนั่นคือ
ความท้าทายของซีพีนับจากนี้ เช่นเดียวกับธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มซีพี ที่เป็นอีกยุทธศาสตร์ที่สำคัญ
ที่ถูกกำหนดอยู่ในแผน การเข้าสู่ e-commerce สาขาของ 7-Eleven กว่า 1,000
สาขาเข้าถึงผู้บริโภคได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เป็นพลังของเครือข่ายที่ซีพีเชื่อมั่นว่าจะสามารถเชื่อมโยงเข้าสู่โลกการค้ายุคใหม่ได้เป็นอย่างดี
ความน่าสนใจของร้าน 7-Eleven อยู่ที่การที่จะใช้ประโยชน์จากเครือข่ายเหล่านี้ทำตัวเป็น
"ผู้ให้บริการ" แก่ผู้ประกอบธุรกิจ e-commerce ที่จะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง
การดำเนินงานในส่วนนี้จึงเป็นทั้ง b2b2c คือ เชื่อมโยงตั้งแต่การให้บริการระหว่างธุรกิจด้วยกัน
จนถึงผู้บริโภค คนสุดท้าย
ถึงแม้ว่าการเข้าสู่ e-commerce ของ 7-Eleven จะเป็นแค่การชิมลางในการใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์
เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการวางขายสินค้าบางประเภท ที่ไม่สามารถนำไปวางจำหน่ายตาม
ร้าน 7-Eleven ได้ ซึ่งมูลค่าการซื้อขายยังมีไม่มากนัก
แต่ในช่วงหลายปีมานี้ ซีพีเซเว่นอีเลฟเว่น พยายามเรียนรู้การนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์
ภายในอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างระบบออนไลน์ข้อมูลการซื้อขายสินค้า ระบบสต็อก
การนำระบบเครื่องชำระเงิน ณ จุดขาย (point of sales) รวมถึงการทำโครงการกระเป๋าสตางค์
อิเล็ก ทรอนิกส์ หรือ electronic purse ซึ่งซีพีได้ร่วมมือกับคอมแพค และธนาคารอีก
3 แห่ง เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้บัตรเดบิตที่เติมเงินได้จากบัญชีเงินฝาก ในการนำไปซื้อสินค้าและบริการในร้าน
7-Eleven
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงหลายปีมานี้ธุรกิจสื่อสารได้กลายเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มซีพี
ที่ธนินท์ ให้ความสำคัญอย่างมาก และกำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแง่ของเทเลคอมเอเซีย
คอร์ปอเรชั่น หรือทีเอ นอกจากจะเป็นองค์กรที่มีความพร้อมใน การเข้าสู่ e-business
ได้เร็วที่สุด และง่ายที่สุด เนื่องจากเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ
หรือไอทีโดยตรง มีการนำระบบไอทีสมัยใหม่ นำเอาซอฟต์แวร์ SAP มาใช้งานภายใน
มี IT capability ที่ดี ทีเอยังเป็นองค์กรที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการเคลื่อนย้ายเข้าสู่
e-business ในฐานะผู้วางโครงสร้างพื้นฐาน เพราะฉะนั้นยิ่งมูลค่าการซื้อขายผ่านตลาดอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากเท่าไร
ความต้องการใช้เครือข่ายก็ต้องเพิ่มไปด้วย แต่นั่นเป็นเพียงผลพลอยได้ที่ทีเอได้รับเท่านั้น
โมเดลของการเคลื่อนย้ายสู่การทำธุรกิจ e-commerce ที่ทีเอและธุรกิจสื่อสารได้ถูกกำหนดไว้
ก็คือ การสร้างจุดเชื่อมต่อ (convergence) เพื่อให้ผู้ใช้บริการสื่อสารของทีเอทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์พื้นฐาน เคเบิลทีวี พีซีที ให้บริการอินเทอร์เน็ต สามารถเข้าถึงข้อมูลเดียวกันได้อย่างสะดวก
โดยไม่มีเรื่องความแตกต่างของมาตรฐานของอุปกรณ์มาเป็นอุปสรรค ศุภชัยเรียกระบบนี้ว่า
Multi Access Portal concept
จุดสำคัญของระบบ Multi Access Portal จึงทำหน้าที่ในการแปลงภาษา และ platform
ของ แต่ละ network ที่แตกต่างกันให้มาอยู่บนภาษาเดียวกัน
"ยกตัวอย่าง ถ้าจะใช้อีเมลผ่านมือถือต้องมีอีเมล 1 ตัว พีซีต้องมีอีเมลอีกตัว
พอไปทางด้าน เคเบิลทีวี ต้องมีอีเมลอีกตัว ผู้ใช้บริการไม่สะดวก ต้อง access
ถึง 3 อีเมล" ศุภชัยให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางดังกล่าว ซึ่งเขาคาดหมายว่าระบบนี้จะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ
30-40 ล้านเหรียญ
การใช้ประโยชน์จากระบบ Multi Access Portal ไม่จำกัดอยู่เฉพาะธุรกิจสื่อสารในกลุ่มทีเอ
เท่านั้น แต่ยังเปิดกว้างสำหรับธุรกิจสื่อสารอื่นๆ ที่จะสามารถใช้ประโยชน์ร่วมด้วย
นอกจากนี้ ระบบ Multi Access Portal จะเชื่อมโยงเข้ากับ market place ใน
3 ส่วนที่มีอยู่ ผลที่ตามมาก็คือ การที่องค์กรธุรกิจจะสามารถใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในการลดต้นทุนในการทำธุรกิจแล้ว
ยังสามารถนำเสนอสินค้าและบริการถึงมือผู้บริโภคผ่านอุปกรณ์เหล่านี้ได้โดยตรง
ในรูปแบบของการทำ b2b2c
"อุตสาหกรรมอาหารจะได้ประโยชน์ ซื้อสินค้าได้ถูกลง ขายของได้มากขึ้น และเมื่อเชื่อมโยงเข้ากับเครือข่ายค้าปลีก
จะสามารถเชื่อมต่อขายสินค้า ในลักษณะของ b2c ได้เลย เพราะเรามีโครงสร้างโทรคมนาคมที่ถูกเชื่อมต่อกันเป็นพื้นฐาน"
โมเดลของการทำ e-commerce ในส่วนของธุรกิจสื่อสาร จึงเป็นลักษณะเดียวกับธุรกิจค้าปลีก
นั่นคือการที่จะมีธุรกิจที่ให้บริการตั้งแต่ธุรกิจไปจนถึงผู้ใช้ปลายทาง หรือ
b2b2c นั่นเอง
แต่อุปสรรคของการทำระบบ Multi Access Portal นี้ไม่ได้อยู่ที่เรื่องของเทคโนโลยี
ที่นับว่า ยังเป็นเรื่องใหม่มาก และยังอยู่ในช่วงของการเริ่มต้น แต่สิ่งที่ยากก็คือ
การที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการโทรคมนาคม (โอเปอเรเตอร์) ที่จะต้องยินยอมพร้อมใจที่จะพัฒนาระบบนี้ร่วมกัน
เพื่อให้การใช้งานแพร่หลาย ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มทีเอเท่านั้น
โมเดลของธุรกิจ e-commerce ทั้ง 4 รูปแบบ จะไม่ถูกจำกัดเพียงเท่านั้น แต่จะเป็นการวางรากฐานของการเคลื่อนย้ายเข้าสู่
new economy ที่จะสานต่อไปยังโครงการอื่นๆ ที่ต่อเนื่อง
"e-strategy มีแล้ว แต่เรายังบอกไม่ได้ว่า ขอบเขตของมันจะไปถึงจุดไหน"
ม.ล.สุภสิทธิ์กล่าว
ภาระหน้าที่ของ ม.ล.สุภสิทธิ์ ก็คือ การที่จะต้องทำงานใกล้ชิดกับบริษัทในกลุ่มซีพีทั้งหมด
ในการที่จะนำพาองค์กรเหล่านั้นก้าวเข้าสู่ e-commerce อย่างราบรื่นที่สุด
จำนวนพนัก-งาน จาก 13 คน เพิ่มขึ้นเป็น 130 คน ภายในเวลาไม่ถึงปี พร้อมกับภารกิจที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
"เป็นเรื่องของการเลือกเทคโนโลยีให้เหมาะกับธุรกิจเก่า และให้ทุกคนมองเห็นประโยชน์
และมองเห็นมูลค่าเหมือนกัน ทำอย่างไรจะทำให้องค์กรเป็น enable" ม.ล.สุภ-สิทธิ์บอกว่า
สิ่งที่มองข้ามไม่ได้ ก็คือ การปรับวิธีการทำงานใหม่ให้สอดคล้องกับประสิทธิ
ภาพและความสามารถในการใช้งาน และที่ขาด ไม่ได้ก็คือ การที่ต้องมองพื้นฐานของธุรกิจที่
แท้จริงด้วย
"ผมทำอะไรผมต้องดู bottom line เป็น หลักอยู่แล้ว ทำธุรกิจแล้วต้องมีรายได้
อย่าลืมว่า บริษัทต้องเลี้ยงตัวเองได้"
และที่สำคัญ การเริ่มต้นของเอเชีย ฟรีวิลล์ และแผนยุทธศาสตร์ของธุรกิจทั้ง
4 โครงการนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากผู้นำองค์กร ไม่ให้ความสำคัญ ทุกวันนี้
ไม่เพียงแต่ ม.ล.สุภ สิทธิ์และผู้บริหารของเอเชียฟรีวิลล์จะรายงานความคืบหน้าของบริษัทเอเชียฟรีวิลล์โดยตรงต่อ
"ท่านประธานธนินท์" เท่านั้น พันธมิตรรายใหญ่ ในโครงการ e-Procurement ส่วนหนึ่งมาจากความช่วยเหลือของธนินท์
จึงไม่แปลกที่บนชั้น 24 ของตึกฟอร์จูนทาวเวอร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทเอเชียฟรีวิลล์
ที่แม้ว่าการตกแต่งยังไม่เรียบร้อยดี จะมีโอกาส ได้พบกับประธานธนินท์ ที่มาดูแลความเรียบ
ร้อยด้วยตัวเองอยู่เสมอๆ
เพราะนี่คือ ก้าวแรกของการเคลื่อนย้าย องค์กรของกลุ่มซีพี ที่จัดได้ว่าเป็นองค์กรเก่าแก่ในโลกธุรกิจใบเดิม
หรือ bricks and mortar ในการก้าวเข้าสู่โลก new economy ที่กำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ