|
ปตท.ปรับแผนลงทุนแอลพีจี เปิดแผนเด็ดลุย “ปิโตรเวียดนาม”
ASTV ผู้จัดการรายวัน(13 กันยายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ปตท.จ่อเดินหน้ารุกธุรกิจแอลพีจีในเวียดนามเต็มสูบ เล็งขอซื้อหุ้นทั้งหมดจากพันธมิตรร่วมทุน “ปิโตรเวียดนาม” หากไม่สำเร็จก็จะขายหุ้นในมือ 45% ออกไปแล้วลงทุนใหม่หมด หลังประเมินตลาดแอลพีจีมีศักยภาพเติบโตได้อีกมากและไม่ถูกควบคุมราคาขายเหมือนประเทศไทย ด้านสยามแก๊ส แย้มสนใจซื้อธุรกิจแอลพีจีของ ปตท.หากเสนอขายเพื่อเสริมธุรกิจที่มีอยู่ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
นายสรัญ รังคสิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ การตลาดพาณิชย์และต่างประเทศ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท.มีแผนจะปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ในประเทศเวียดนามใหม่ หลังจากได้ร่วมทุนกับบริษัท ปิโตรเวียดนาม ตั้งบริษัท เวียดนามแอลพีจี เพื่อทำธุรกิจบรรจุและขายแอลพีจีในเวียดนามมานานเกือบ 20 ปี โดยบริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะขยายตลาดธุรกิจแอลพีจีในเวียดนามให้มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาขอซื้อหุ้นจากปิโตรเวียดนามทั้งหมด หรือขายหุ้นในบริษัทร่วมทุนดังกล่าวทั้งหมดออกไป แล้วลงทุนใหม่โดยปตท.ถือหุ้นทั้ง 100% เนื่องจากตลาดแอลพีจีในเวียดนามมีศักยภาพดี โดยราคาขายอิงตามราคาตลาดโลก ไม่ถูกควบคุมราคาขายเหมือนกับไทย
“ส่วนแบ่งการตลาดของเวียดนามแอลพีจีเดิมเคยสูงถึง 10% ปัจจุบันลดลงเหลือ 4-5% ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก ปตท.ไม่สามารถส่งออกแอลพีจีจากไทยไปจำหน่ายที่เวียดนามได้ ทำให้ต้องหันไปซื้อจากโรงกลั่นในเวียดนามแทนผ่านทางพันธมิตรร่วมทุน ซึ่งปริมาณการขายไม่มากและมีข้อจำกัดในพื้นที่การจัดจำหน่าย แต่ก็มีผลกำไรจากการดำเนินงานทุกปีประมาณ 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ”
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีเวลาอีก 3 ปีกว่าสัญญาการร่วมทุนจะสิ้นสุดลง เพื่อตัดสินใจว่าจะเลือกแนวทางใดโดยจะหารือกับปิโตรเวียดนามก่อนเพื่อขอซื้อหุ้นทั้งหมด หากไม่สำเร็จก็คงจะขายหุ้นที่ถืออยู่ในมือไป แล้วลงทุนธุรกิจบรรจุและขายแอลพีจีใหม่ ซึ่งจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าเดิมที่ทำอยู่ซึ่งจะต้องลงทุนทั้งท่าเทียบเรือ โรงงานบรรจุยังไม่สามารถประเมินเงินลงทุนได้ในช่วงนี้ โดยยอมรับว่า วัตถุประสงค์ในการเข้าไปทำตลาดแอลพีจีในเวียดนามครั้งแรก เพื่อใช้เป็นตลาดส่งออกแอลพีจีในไทย เนื่องจากช่วงนั้นความต้องการใช้แอลพีจีในประเทศไม่สูงเหมือนกับปัจจุบัน ทำให้กำลังการผลิตแอลพีจีในไทยเหลือต้องส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ
แต่ปัจจุบันสถานการณ์ความต้องการใช้แอลพีจีในตประเทศสูงมากนับตั้งแต่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ใช้ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนมาใช้แอลพีจีแทน จนทำให้ไทยกลายเป็นประเทศผู้นำเข้าแอลพีจีแทนที่ส่งออกไปต่างประเทศ ขณะเดียวกันรัฐบาลได้ควบคุมราคาขายปลีกแอลพีจีอยู่ที่ 330 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน สวนทางตลาดโลกที่ราคาพุ่งไปถึง 600-700 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระส่วนต่างการนำเข้าและราคาขายปลีกแทน
นายสรัญ กล่าวต่อไปว่า การตัดสินใจเข้าไปรุกตลาดแอลพีจีที่เวียดนามในอนาคต ก็คงต้องมีการนำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งก็เหมือนกับคู่แข่ง โดยราคาขายปลีกเป็นราคาลอยตัวตามตลาดโลก แต่ยอมรับการแข่งขันสูง ดังนั้นจำเป็นต้องมีการวางแผนการตลาดที่ชัดเจน โดยจะต้องรุกตลาดในทุกรูปแบบนอกเหนือจากการขายในครัวเรือนไปยังภาคอุตสาหกรรมและขนส่งซึ่งปัจจุบันความต้องการใช้แอลพีจีในเวียดนามประมาณ 1 ล้านตัน บริษัทเวียดนามแอลพีจี เป็นการร่วมทุนระหว่างปตท.และปิโตรเวียดนาม ในสัดส่วนหุ้น 45% 55% ตามลำดับ ช่วงแรกปตท.มีการส่งออกแอลพีจีไปจำหน่ายที่เวียดนาม แต่ระยะหลังต้องหันไปซื้อแอลพีจีจากโรงกลั่นในประเทศหรือนำเข้าแทน
SGPจ่อซื้อหุ้นแอลพีจีของ ปตท.ที่เวียดนาม
แหล่งข่าวจากบริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) (SGP) กล่าวว่า หากปตท.ต้องการขายหุ้นธุรกิจเวียดนามทั้งหมด ทางบริษัทก็สนใจที่จะซื้อ เนื่องจากธุรกิจบรรจุและขายปิโตรเลียมเป็นธุรกิจหลักที่บริษัทให้ความสนใจ แม้ว่าจะมีธุรกิจแอลพีจีอยู่ในเวียดนามแล้วก็ตาม มองว่า จะเป็นการเสริมศักยภาพในการทำธุรกิจให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นซึ่งการจัดหาแอลพีจีมาป้อนนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เนื่องจากบริษัทอยู่ระหว่างการซื้อหุ้นสามัญของบริษัท เชฟรอน โอเชี่ยนแก๊ส แอนด์ เอ็นเนอร์จี้ จำกัด ในสัดส่วน 99% ของทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้ว จากบริษัท เชฟรอน ไชน่า จำกัด ทำให้มีท่าเทียบเรือและคลังเก็บแอลพีจีขนาดใหญ่ 1แสนตัน เพื่อป้อนให้โรงบรรจุอื่นๆของบริษัทที่กระจายในภูมิภาคนี้ ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าไปซื้อกิจการธุรกิจแอลพีจีในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติมหลังจากเข้าไปซื้อธุรกิจเชลล์แก๊สที่สิงคโปร์เมื่อเร็วๆ นี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|