เรียกที่นี่ว่าซิลเวอร์บีช การผนึกกำลังของสถาปนิกรังสรรค์กับสหาย


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ถ้าใครบอกว่าไม่รู้จัก สถาปนิกนามกระเดื่องของเมืองไทยคนนี้ก็คงจะแปลกมาก ๆ

นอกจากจะเป็นเจ้าของบริษัทรังสรรค์สถาปัตย์แล้ว ก็ยังเป็นผู้ช่วยศาตราจารย์ในตำแหน่งรองคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯอีกด้วย

เขามีชื่อเสียงทางด้านการออกแบบมานานหลายสิบปีอาคารใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นตึกโชคชัย ตึกที่เคยได้ชื่อว่าสูงที่สุดในประเทศไทย อาคารกมลสุโกศล อัมรินทร์พลาซ่า วอลล์สตรีททาวเวอร์และอาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารกสิกรไทยริมถนนพหลโยธิน ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานส่วนหนึ่งของเขา

และผลงานชิ้นใหม่ที่ฮือฮามากก็คือการออกแบบโรงแรมเอราวัณยุคใหม่ซึ่งเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์

ผลงานที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ของเขาจะใช้การออกแบบ "โพสต์โมเดิร์น" คือการนำเอาสถาปัตยกรรมในยุคโบราณกรีก โรมัน มาเป็นรูปแบบในการก่อสร้างอาคารเพื่อทำให้กลมกลืนกับอาคารใหม่ ๆ ทำให้ความแข็งของอาคารอ่อนช้อยลงได้

เรียกว่าชื่อของรังสรรค์เป็นตรารับประกันคุณภาพได้ดี งานชิ้นไหนถ้าไม่ "เปอร์เฟ็ค" จริง ๆ เขาไม่ยอมให้ผ่านมือไปแน่

อรุณ ชัยเสรี อดีตอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเขาลาออกจากจุฬาฯมาตั้งบริษัทอรุณชัยเสรีคอนซัลติ้งเอนจิเนียร์สรับออกแบบคำนวณโครงสร้างและควบคุมงานก่อสร้าง

อรุณเคยร่วมงานกับรังสรรค์ หลายต่อหลายโครงการอาทิเช่น อัมรินทร์พลาซ่า วอลล์สตรีททาวเวอร์ ฯลฯ ผลงานที่ออกมาเป็นประกาศนียบัตรรับประกันความผิดหวังได้สำหรับการผนึกกำลังของสองอาจารย์จากจุฬาฯ คู่นี้

นรเศรษฐ ปัทมานันท์ กรรมการผู้จัดการซิลเวอร์บีชหลายคนอาจจะไม่รู้จักเพราะไม่ใช่คนในวงการนี้ แต่ถ้าบอกว่าเขาเป็นเจ้าของบริษัทชิโนเวสต์เอ็นเตอร์ไพรส์ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตก้นกรองบุหรี่ให้โรงงานยาสูบ นักสูบทั้งหลายก็คงจะพอคุ้น ๆ กับผลิตภัณฑ์ของเขาอยู่บ้าง

นรเศรษฐเข้ามาจับงานนี้เพระการชักชวนของไพฑูรย์สายสว่าง กรรมการอีกคนของซิลเวอร์บีช ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ศึกษาความเป็นไปของโครงการ "อาจารย์ไพฑูรย์แกรู้จักผมดีแกมาชวนผม และแกก็สนิทกับอาจารย์ รังสรรค์ แล้วเราก็มาร่วมกันสร้างซิลเวอร์บีช" นรเศรษฐบอกความเป็นมาให้ผู้จัดการฟัง

ส่วนถนอม อังคณะวัฒนากรรมการรองผู้จัดการฝ่ายการตลาดของซิลเวอร์บีช หลายคนคงคุ้นเคยกับชื่อนี้อยู่บ้าง โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวงการก่อสร้างและพัฒนาที่ดิน

ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของบริษัทโมเดอร์นโฮม บริษัทรับสร้างบ้านเหมือน ๆ กับ ควอลิตี้เฮ้าส์ของค่ายแลนด์แอนด์เฮ้าส์

ทั้ง 4 คนล้วนแล้วแต่โดดเด่นและเป็นที่เลื่องลือในสาขาอาชีพที่ยึดกุม คงดูเป็นเรื่องปกติถ้าพวกเขายังสุขใจที่จะขวนขวายหาความสำเร็จตามแบบฉบับดั้งเดิม แต่มิติแห่งการผนึกผสานกำลัง และความคิดเพื่อร่วมกันสร้างปรากฏการร์ใหม่กับโครงการใหญ่อย่างหนึ่งย่อมเป็นเรื่องน่าขบคิดและติดตาม

"ซิลเวอร์บีช คอนโดมิเนียน" คือโครงการที่ว่านั้นซิลเวอร์บีช เป็นคอนโดมิเนียมสูง 22 ชั้น จำนวน 84 ยูนิต ตั้งอยู่ชายหาดวงศ์อมาตย์ นาเกลือพัทยาเหนือ

พัทยาเหนือซึ่งไม่แออัดและวุ่นวายเหมือนพัทยากลางและพัทยาใต้อย่างที่เรารู้ ๆ กัน

"พัทยาเหนือที่ดินส่วนใหญ่จะอยู่ติดชายหาด เราถือว่าเป็นหาดส่วนตัว และที่ดินของซิลเวอร์บีชอยู่ตรงปลายเหมือนเชิงเขาโอกาสดูวิวจะดีกว่าที่อื่น" ถนอมบอกจุดเด่นของโลเคชั่นให้ฟัง

"ที่อื่น" ของเขาคงจะหมายถึงคู่แข่งของซิลเวอร์บีช ซึ่งในบริเวณนั้นก็มีการ์เดนคลิฟ คอนโดมิเนียมและสยามเพนเฮ้าส์ 3 ที่พอฟัดพอเหวี่ยงเพราะจัยเอมาร์เก็ตเช่นเดียวกัน แต่ทั้งสองโครงการเปิดไปแล้วตั้งแต่ 2525 ทำให้ถนอมบอกว่า "ผมไม่คิดว่าจะมีคู่แข่ง"

"ต่ำสุด 2.2 ล้าน สูงสุด 4 ล้าน ก็ตกตารางเมตรละหมื่นสี่ถึงหมื่นหก เมื่อเทียบกับวัสดุและสิ่งอำนวยความสะดวกแล้วราคาปานกลางแต่ได้ของหรู" ถนอม คำนวณราคาขายต่อยูนิต กับ "ผู้จัดการ"

ซิลเวอร์บีชนั้น จริง ๆ แล้วก็เริ่มต้นจากการที่รังสรรค์ ต่อสุวรรณ กับมิตรสหายกลุ่มนี้ต้องการจะสร้างสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับพวกเขากันเองแต่เมื่อดูทำเล และมีการศึกษาตลาดรวมทั้งความเป็นไปได้ของโครงการแล้ว ไป ๆ มา ๆ ก็บานปลายกลายเป็นการลงขันกันจัดทำโครงการใหญ่โตดังกล่าว

"คือ ทุกคนที่เป็นเจ้าของโครงการที่จะมีห้องของตัวเองที่ซิลเวอร์บีชด้วย" คนที่ทราบเรื่องเล่า

รังสรรค์ ต่อสุวรรณ กับอีกบางคนที่ร่วมลงทุนและบริหารโครงการนั้น ที่แล้ว ๆ มาก็ได้แต่รับจ้างคนอื่น ทำให้เจ้าของโครงการรวยกันมาแล้วหลายคน

หรือว่าคราวนี้เขาต้องการจะรวยเองบ้าง

"ไม่ใช่อย่างนั้นหรอก พวกเราไม่ได้หวังจะกำไร เราหวังจะใช้ตัวนี้สร้างชื่อเพื่อทำโครงการต่อไปในอนาคตมากกว่า" ผู้ร่วมทุนคนหนึ่งของซิลเวอร์บีชบอก

สรุปง่าย ๆ ก็คือ โครงการนี้ไม่มีรายการ "ตีหัวเข้าบ้าน" นั่นเอง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.