โอเอสที ธุรกิจไฮเทคจากฝั่งขวาแม่น้ำโขง


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

ท้าวเลน นักศึกษาสาวซึ่งไปศึกษาทางด้านคอมพิวเตอร์ในฝรั่งเศสใช้เวลา 13 ปี สร้างโอเอสทีขึ้นมาเป็นบริษัทชั้นนำทางด้านธุรกิจการสื่อสารข้อมูลในยุโรป

สิ่งที่ขึ้นชื่อลือชาที่สุดเกี่ยวกับคนลาวในฝรั่งเศสก็คือ อาหารลาว ซึ่งเข้มข้นทั้งกลิ่นและรส แต่ลาวอพยพอย่างท้าวเลนได้แสดงให้คนฝรั่งเศสรู้ว่า คนลาวก็มีดีอีกหลายอย่างไม่ใช่ทำอาหารอร่อยเท่านั้น ดังเช่น บริษัทอูแอสต์ สตองดาร์ เตเลมาติก หรือโอเอสทีของเขา ซึ่งเป็นผู้นำด้านธุรกิจสื่อสารข้อมูลในยุโรป

ท้าวเลนมาถึงฝรั่งเศสเมื่อปี 1970 ในฐานะนักเรียนทุนที่มาเรียนที่มหาวิทยาลัยแรนห่างจากปารีสไปทางตะวันตก 320 กิโลเมตร ระหว่างที่กำลังศึกษาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ท้าวเลนก็พบกับแสงอ้วน สาวลาวที่เป็นคู่ชีวิตของเขาในปัจจุบัน แสงอ้วนเป็นนักศึกษาทางด้านเคมี พอเรียนจบ ท้าวเลนก็ไปฝึกงานอยู่ที่ศูนย์วิจัยของทรานส์แพคในเมืองแรน ทรานส์แพคเป็นเครือข่ายข้อมูลสาธารณะระดับชาติของฝรั่งเศส

ระหว่างที่ฝึกงานอยู่ ท้าวเลนก็เกิดความคิดว่า เขาสามารถที่จะทำในสิ่งที่ทรานส์แพคกำลังทำอยู่ได้ดีกว่า ด้วยการปรับปรุงระบบการส่งข้อมูลให้ดีขึ้น ซึ่งจะสามารถขนาดของข้อมูลให้เล็กลง ทำให้ผู้ใช้เสียค่าใช้จ่ายน้อยลง

ในปี 1980 ท้าวเลนและภรรยาจึงตัดสินใจเปิดบริษัทโอเอสทีขึ้น ในระยะแรกแสงอ้วนทำหน้าที่เป็นคนขนของ โดยใช้รถประจำบ้านเป็นพาหนะปัจจุบันเธอมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไป ส่วนท้าวเลนเป็นประธาน บริษัทนี้เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ประเภทต่าง ๆ ที่ใช้กับงานส่งข้อมูล ซึ่งมียอดขายประมาณ 46 ล้านเหรียญต่อปี

จุดมุ่งหมายตั้งแต่แรกของท้าวแรกก็คือ การพัฒนาระบบการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ดังนั้นโอเอสทีจึงผลิตอุปกรณ์อย่างเช่น คอนเซ็นเตรเตอร์ (CONCENTRATERS) และสวิทช์หลายชนิด เพื่อใช้สำหรับเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ประเภทต่าง ๆ กันได้ ภายใต้ระบบเครือข่ายข้อมูลที่เรียกว่า PRIVATE PACKAGE DATE NETWORK โอเอสทียังได้พัฒนาระบบบริหารเครือข่ายข้อมูล ระบบป้องกันบุคคลอื่นไม่ให้เข้าถึงระบบข้อมูล และอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นโดยเฉพาะเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการส่งข้อมูลและลดต้นทุนการสื่อสาร โอเอสทีเป็นผู้นำในตลาด PRIVATE PACKET DATA NETWORKS มาตั้งแต่ปี 1986

ปัจจัยที่มีส่วนต่อความสำเร็จของท้าวเลนก็คือ เขาเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ในเวลาที่เหมาะสมและในสถานที่ที่ถูกต้อง แรน ซึ่งเคยเป็นเมืองต่างจังหวัดอันเงียบเหงา ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถาบันวิจัยอย่างทรานส์แพค และเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีชั้นสูงทางคอมพิวเตอร์และการโทรคมนาคม ท้าวเลนฝึกงานอยู่เป็นเวลา 2 ปีกับสถาบัน 2 แห่งในเมืองแรน ตอนที่เขาตั้งโอทีเอสขึ้นมา ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 7,000 เหรียญ เขาบอกว่ามันเป็นเรื่องที่น่าท้าทายสำหรับตัวเอง หลังจากประมูลงานของทางการได้ 2 โครงการ เงินทุนของเลนก็เพิ่มขึ้นเป็น 45,000 เหรียญ ซึ่งเพียงพอที่จะซื้อเครื่องมือเพื่อใช้ในงานวิจัยพัฒนาสินค้า

โอเอสทีในปี 1982 มีพนักงาน 10 คน เพิ่มขึ้นเป็น 87 คนในปี 19686 290 คนในปี 990 และ 320 คนเมื่อปี 1993 อายุเฉลี่ยของพนักงาน คือ 33 ปีเท่านั้น ประมาณ 130 คนเป็นพนักงานที่ทำงานในห้องทดลอง

"งานวิจัยเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการขยายธุรกิจใหม่ ๆ ทุกวันนี้เรายังอยู่ในเฉพาะธุรกิจ INTELLIGENCE SWITCHES ในอนาคตเราจะขยายเข้าไปในเรื่องของมัลติ มีเดียสวิทช์ ซึ่งรวมทั้งภาพ เสียง และข้อมูลด้วย" เลนกล่าว

ระหว่างปี 1991-1992 โอเอสทีมีอัตราการเติบโต 30% "สำหรับสภาพตลาดที่อ่อนตัวลงในตอนนี้ ผมคาดว่าปีนี้เราจะโตประมาณ 20% เราตั้งเป้าที่จะทำยอดขาย 90 ล้านเหรียญให้ได้ในปี 1995" นี่คือความหวังของเลน จนถึงตอนนี้ลูกค้าหลักของโอเอสที คือ บริษัทอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการทั้งใหญ่และเล็ก โดยลูกค้ากลุ่มธนาคารและราชการมีสัดส่วน 30%

ตั้งแต่ปี 1988 เป็นต้นมา กิล เลอ กอง หัวหน้าฝ่ายสื่อสารของธนาคารเครดิต อะกริโกในแรน ได้สั่งซ้อสวิทช์จากโอทีเอสไปแล้ว 105 ตัว "เราต้องการระบบที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งเลนมีสิ่งที่เราอยากจะได้ก่อนที่เราจะเปิดการประมูลด้วยซ้ำไป โอทีเอสก้าวล้ำคู่แข่งไปค่อนตัวแล้ว ถ้าสินค้าของโอเอสทีจะมีราคาแพงที่สุดก็เพราะว่าเป็นสินค้าที่ดีที่สุด" กองกล่าว

การที่สินค้าโอทีเอสได้รับการยอมรับจากผู้ใช้ก็เพราะเลนนั้นคาดหวังคุณภาพขั้นสูงสุดจากพนักงานของเขาเสมอ แพทริก โคลเรก ผู้บริหารคนหนึ่งของโอทีเอสเล่าว่า "ถ้าเลนรับปากใครแล้วละก็ เขาจะทำทุกวิถีทางที่จะไม่ให้ลูกค้าผิดหวัง" ในปี 1991 เมื่อสินค้าตัวหนึ่งของบริษัทไม่สามารถทำงานได้ เขาไล่คนงานในสายการผลิตทั้งหมด 25 คนออกจากงานทันที

มารี-โคลด ปูแมส หัวหน้าฝ่ายบุคคลของโอทีเอสยอมรับว่า พนักงานหลายคนรู้สึกช็อคที่มีการไล่คนออกมากขนาดนี้ เพราะว่าโอทีเอสนั้นเคยอยู่กันมาแบบคนในครอบครัวเดียวกัน นักวิจัยคนหนึ่งของบริษัทพูดถึงสไตล์ของเลนว่า "ถ้าเขาลงมาคุยกับเราเมื่อไรก็จะให้คำแนะนำอย่างละเอียด เรามีความรู้สึกว่าเขายอมรับฟังเรา" โคลเรกเสริมว่าเลนสนับสนุนให้พนักงานทุกคนเป็นตัวของตัวเอง เขาบอกว่าประตูห้องทำงานทุกคนเปิดตลอดเวลา

โอเอสทีมีสาขาอยู่ที่สหรัฐฯ ไอเวอรี่ โคสต์ และสิงคโปร์ด้วย เพื่อขยายตลาดในต่างประเทศ ลูกค้าในเอเชียของโอทีเอส ได้แก่ ซัมซุง ฮิวเล็ต แพ็คการ์ด, พับลิค เน็ทเวอร์คของไต้หวัน และวิดิโอเท็กซ์ เน็ทเวอร์คจากเกาหลี เลนกล่าวว่า "เราไปได้ดีในสิงคโปร์ มาเลเซีย และไต้หวัน ส่วนตลาดอินโดนีเซียกับมาเลเซียก็ไม่เลว"

แล้วประเทศบ้านเกิดของเลนละ ? เลนเคยเดินทางไปศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเครือข่ายข้อมูลในลาว เขาบอกว่า "ก็อย่างที่รู้กันอยู่ ลาวนั้นเป็นประเทศเล็ก" ดูเหมือนว่าจะเล็กเกินไปสำหรับความต้องการที่ใหญ่โตกว่าของประธานกรรมการบริษัทโอเอสที



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.