ฮันคุกบุกทุกเซกเมนต์ ปั้นแบรนด์เกาหลีสู้ตลาดยาง


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 กันยายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ฮันคุก ยางเกาหลีเปิดเกมรุก ปะทะยางแบรนด์ญี่ปุ่น ส่งยางใหม่ 3 รุ่น บุกตลาดทุกเซกเมนต์ตั้งแต่รถยนต์นั่งขนาดซับคอมแพกต์ไปจนถึงรถยนต์นั่งขนาดกลาง และยางรถสปอร์ต วางกลยุทธ์ต่อยอดแบรนด์ด้วยกิจกรรมมอเตอร์สปอร์ต ด้วยการสนับสนุนทีมแข่งรถยนต์ทางเรียบ และรถยนต์ประเภทดริฟต์

สมรภูมิยางรถยนต์ในตลาดทดแทน หรือ RPM เข้าสู่ยุคแข่งขันกันดุเดือดยิ่งขึ้น หลังจากตลาดยางรถยนต์ส่วนใหญ่เมืองไทยถูกครอบครองโดย 3 แบรนด์ใหญ่คือ กู๊ดเยียร์ มิชลิน และบริดจสโตน แต่หลังจากการเริ่มรุกตลาดอย่างแข็งขันของยางจากเกาหลีใต้ ด้วยแบรนด์ฮันคุก ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่า ตลาดยังมีช่องว่างให้กับแบรนด์ใหม่ๆ เนื่องจากยางจากเกาหลีใต้ เริ่มสร้างส่วนแบ่งตลาดได้ในระดับหนึ่ง ด้วยการใช้กลยุทธ์ด้านราคา ที่ต่ำกว่าคู่แข่งราวๆ 20-40%

อย่างไรก็ดี การเริ่มปรับกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ด้วยการส่งยางรถยนต์รุ่นใหม่เข้าในตลาดพร้อมๆ กันถึง 3 รุ่น ซึ่งประกอบด้วย รุ่น Enfren สำหรับรถยนต์ขนาดตั้งแต่ซิตี้คาร์ และซับคอมแพกต์ ไปจนถึงรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ด้วยขนาดยางเริ่มต้นที่ 13 นิ้วถึง 16 นิ้ว, ยางรุ่น ME 01 สำหรับรถยนต์ขนาดเล็กจนถึงรถยนต์นั่งขนาดกลาง ขนาดของยางเริ่มต้นตั้งแต่ 16-18 นิ้ว และยางสำหรับสปอร์ตและรถยนต์สมรรถนะสูงในรุ่น R-S3 มีขนาดตั้งแต่ 16-18 นิ้วเช่นกัน

โดยยางแต่ละรุ่นนั้น ฮันคุก พยายามสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในเรื่องประสิทธิภาพของยางรถยนต์ทั้งในด้านวัตถุดิบ การออกแบบหน้ายาง ดอกยาง รวมถึงโครงสร้าง ซึ่งไม่แตกต่างจากยางรถยนต์แบรนด์ใหญ่ๆ

โดยเฉพาะยางสำหรับรถสปอร์ตนั้น น่าจะเป็นจุดขายหลักในการทำตลาด เนื่องจากที่ผ่านมา ฮันคุก พยายามใช้กลยุทธ์การทำตลาดผ่านกิจกรรมการแข่งขันรถยนต์หลายๆ รายการ ทั้งทางเรียบและทางฝุ่น และเป็นรายการใหญ่ๆ ของเมืองไทย ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มมองเห็น และรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์ฮันคุก ในด้านความสปอร์ต และยางในรุ่น R-S3 นั้น ยังมีการเพิ่มรายละเอียดลายหน้าดอกยางให้มีความแตกต่างจากยางทั่วไปอีกด้วย

ขณะที่ตลาดยางรถยนต์ในส่วนของตลาดยางทดแทนนั้น ในปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณมากกว่า 7 ล้านเส้น ซึ่งแน่นอนว่า 3 แบรนด์ใหญ่ทั้ง มิชลิน, บริดจสโตน และกู๊ดเยียร์ ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด แต่การที่ฮันคุกเริ่มมีตัวผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดที่มากขึ้น และหลากหลายรุ่น จะเป็นการเพิ่มโอกาสในตลาดยางรถยนต์เมืองไทย และการทำตลาดด้วยกลยุทธ์ด้านราคาจะเป็นจุดที่สร้างยอดขาย โดยเฉพาะตลาดยางรถยนต์ขนาดซิตี้คาร์ หรืออีโคคาร์ และซับคอมแพกต์ เนื่องจากเป็นตลาดรถยนต์สำหรับผู้บริโภคที่มีรายได้ไม่สูงนัก และการเสริมผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์สำหรับรถอีโคคาร์ อย่าง Enfren จะตอบสนองความต้องการในตลาดดังกล่าวได้ ในขณะที่ยางรถยนต์แบรนด์ใหญ่ๆ ยังให้ความสำคัญกับตลาดรถยนต์นั่งขนาดซับคอมแพกต์ ซึ่งมีการเพิ่มการทำตลาดยางในขนาดตั้งแต่ 15 นิ้วเป็นหลัก

อีกทั้งกระแสการตอบรับสินค้าจากประเทศเกาหลีใต้ในเมืองไทย มีสูงขึ้น ทั้งในเรื่องคุณภาพ และเทคโนโลยี ซึ่งฮันคุกเองเป็นแบรนด์ที่มีศักยภาพ ด้วยการลงทุนตั้งโรงงานผลิตในหลายประเทศทั่วโลก และเอเชีย อย่างเช่นในเกาหลีใต้เอง ในประเทศจีน รวมถึงการเข้าไปตั้งโรงงานผลิตในอินโดนีเซีย

ดังนั้น ถือเป็นโอกาสของการเปิดตลาดยางฮันคุก และการสร้างแบรนด์ผ่านกิจกรรมมอเตอร์สปอร์ตต่างๆ ในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดจากที่มีอยู่เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ฮันคุกยังต้องให้ความสำคัญคือการเพิ่มบรรดาตัวแทนจำหน่ายในทุกระดับ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำตลาดยางรถยนต์เมืองไทย และปัจจุบันยางรถยนต์แบรนด์ใหญ่ๆ ทั้ง มิชลิน บริดจสโตน และกู๊ดเยียร์ ต่างสร้างเครือข่ายโชว์รูมยางของตัวเองขึ้นมา และเป็นจุดที่สามารถกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.