|
พฤติกรรมการพิมพ์เปลี่ยน ค่ายยักษ์ชิงปักธงคอนเซ็ปต์ใหม่
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 กันยายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
*ฝุ่นตลบค่ายพรินเตอร์-เครื่องพิมพ์ดิจิตอลชิงโชว์นวัตกรรมใหม่
* เปิดคอนเซ็ปต์มุ่งสร้างจุดต่างครองใจผู้บริโภคยุคใหม่
* หมดยุคอะนาล็อก ขายเครื่องอย่างเดียวอยู่ไม่ได้อีกต่อไป
* เกมการตลาดครั้งสำคัญที่ทุกคนไม่ต้องการพลาดสนามสู่อนาคต
ความเคลื่อนไหวในตลาดการพิมพ์ของไทยน่าจับตามองอีกครั้ง เมื่อบรรดาค่ายยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ซัมซุง เอชพี และแคนนอน กำลังเดินเกมโชว์คอนเซ็ปต์ใหม่ที่จะเข้ามารองรับพฤติกรรมการพิมพ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิตอล ซึ่งแต่ละค่ายต่างมีเกมกลยุทธ์แตกต่างกันไป แต่ที่สำคัญคือปัจจุบันนี้การขายเครื่องพิมพ์หรือพรินเตอร์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถอยู่ได้อีกต่อไป
ปัจจัยสำคัญที่เชื่อได้ว่างานพิมพ์ดิจิตอลกำลังมีบทบาทและแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลจากจำนวนเนื้อหาจำนวนมหาศาลบนเว็บที่จะเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัวในปี 2555 การใช้ดีไวซ์ที่เป็นโมบิลิตี้อย่างสมาร์ทโฟน เชื่อมต่อกับเว็บมากขึ้น ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเนื้อหาบนเว็บและเลือกพิมพ์ได้จะเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าภายในปี 2555
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยการเปลี่ยนรูปแบบงานพิมพ์จากยุคอะนาล็อกไปสู่ยุคดิจิตอล การเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจงานพิมพ์ที่เน้นเรื่องของการบริการมากขึ้น อย่างการบริการจัดการงานพิมพ์สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ การคิดค่าบริการตามปริมาณงานพิมพ์สำหรับงานพิมพ์กราฟิกขนาดใหญ่ เช่น บิลบอร์ด ป้ายต่างๆ หรือแม้แต่งานพิมพ์ธุรกิจประเภทสื่อการตลาดต่างๆ
ซัมซุงโชว์คอนเซ็ปต์
ผู้ช่วยมือถือหนึ่งธุรกิจ
การเติบโตกว่าภาพรวมของตลาดหลายเท่าตัวของ “ซัมซุง” ในธุรกิจการพิมพ์ น่าจะเป็นบทพิสูจน์หนึ่งถึงแนวทางการทำตลาดที่ถูกต้องของซัมซุงว่าสามารถตอบสนองการพิมพ์ยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี
ล่าสุดซัมซุงสร้างปรากฏการณ์ความต่อเนื่องของโทเทิลไอทีโซลูชั่นด้วยนวัตกรรมการพิมพ์ใหม่ถึง 3 ซีรีส์ ประกอบด้วย CLP-325 CLX-3185FN และ SCX-3200 เน้นการสร้างประสบการณ์การพิมพ์ที่สมบูรณ์แบบครบวงจรผ่านเทคโนโลยีที่มาพร้อมกับเครื่องพรินเตอร์เหล่านั้น
เทคโนโลยีที่ซัมซุงนำเสนอสู่ตลาด ได้แก่ See it, Print it เทคโนโลยีการพิมพ์ที่ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส สามารถพิมพ์ข้อมูลจากหน้าจอผ่านพรินเตอร์ได้ทันที ฟังก์ชั่น Anyweb Print ช่วยเพิ่มความง่ายขึ้นอีกขั้นด้วยการลากและวางคอนเทนต์จากแหล่งต่างๆ เพื่อพิมพ์รวมกันในหน้าเดียวในทันที ฟังก์ชั่น One-Touch Print Screen เทคโนโลยีเอกสิทธิ์ของซัมซุงที่ช่วยควบคุมการทำงานอยู่ด้านหน้าตัวเครื่อง สามารถสั่งการให้พรินเตอร์พิมพ์หน้าต่างที่กำลังใช้งานอยู่ได้ทันที รวมทั้งโหมด Eco-Print Button สามารถพิมพ์ออกมาดูรูปแบบก่อนสั่งพิมพ์จริง ช่วยประหยัดทั้งสี โทนเนอร์ และกระดาษ
“เราตอบโจทย์ในทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ผูกติดกับการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์มากขึ้นทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” บุญเลิศ วิบูลย์เกียรติ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจไอที บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าว
นอกจากในแง่ของนวัตกรรมเทคโนโลยี ซัมซุงยังได้มีการคิดค้นและออกแบบพัฒนาพรินเตอร์ในรูปแบบ “Ultra-Compact Size” ให้เป็นสายพันธุ์พรินเตอร์ที่มีขนาดเล็ก เน้นดีไซน์กะทัดรัด เพื่อประหยัดเนื้อที่การใช้งานให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ ซัมซุงได้วางกลยุทธ์ในการทำตลาดครึ่งปีหลัง เน้นการเจาะตลาดทั้งกลุ่ม B2B และ B2C ด้วยการสื่อสารการตลาดในรูปแบบ 360 องศา ผ่านทั้งอะโบฟ เดอะ ไลน์ และบีโลว์ เดอะ ไลน์ รวมถึงการให้ความสำคัญเรื่อง “Touch&Feel” ให้ผู้สนใจสามารถสัมผัสและทดลองผลิตภัณฑ์ก่อนตัดสินใจซื้อ
เอชพีมองลึก
พฤติกรรมผู้บริโภค
เอชพีมองการทำตลาดการพิมพ์รูปแบบใหม่มาเกือบ 3 ปี ภายใต้วิสัยทัศน์ “พรินต์ 2.0” โดยวันนี้เอชพีมองข้ามธุรกิจการพิมพ์ดิจิตอลไม่ใช่อยู่แค่การขายเครื่องเท่านั้น แต่ต้องมองลึกไปถึงพฤติกรรมการพิมพ์ในกลุ่มผู้ใช้ 3 เซกเมนต์ ตั้งแต่กลุ่มคอนซูเมอร์ กลุ่มเอสเอ็มบีและกลุ่มเอนเตอร์ไพรส์
“เอชพีพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างระบบนิเวศที่อำนวยความสะดวกต่อพฤติกรรมของผู้ใช้งานในแต่ละเซกเมนต์ให้สามารถพิมพ์ได้ทุกที่ทุกเวลา” มาร์กาเร็ต อัง รองประธานกลุ่มธุรกิจภาพและการพิมพ์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอชพี กล่าว
เทคโนโลยีที่เอชพีออกแบบสำหรับจับกลุ่มคอนซูเมอร์และเอสเอ็มบี เอชพีมีโมเดลธุรกิจที่ให้ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะพิมพ์ที่บ้านด้วยเครื่องพิมพ์ส่วนตัว ด้วยเทคโนโลยี HP ePrint ที่สามารถสั่งพิมพ์จากอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้จากทุกที่ทุกเวลา และการสร้างเนื้อหาหรือแอปพลิเคชั่นใหม่ๆ บนเว็บ รวมไปถึงการพิมพ์ออนไลน์ผ่านเว็บพอร์ทัล Snapfish ที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมรูปภาพสำหรับเก็บ แบ่งปัน และสั่งพิมพ์ได้อย่างง่ายๆ หรือสามารถเลือกพิมพ์ได้จากหน้าร้านค้าปลีกด้วยตนเอง ซึ่งทั้งหมดผู้ใช้งานสามารถเลือกพิมพ์ในรูปแบบที่ตนเองต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงปริมาณขั้นต่ำเหมือนอย่างการพิมพ์ในแบบอะนาล็อก
ในส่วนกลุ่มเอนเตอร์ไพรส์ เอชพีผลักดันการบริการจัดการงานพิมพ์ หรือ Managed Print Services เข้าสู่กลุ่มองค์กรขนาดใหญ่มากขึ้น เพื่อตอบสนองความท้าทายด้านการลดต้นทุน ลดความยุ่งยากและเวลาในการจัดการต่อปัญหาด้านการพิมพ์ ที่สำคัญคือการบริหารระบบเวิร์กโฟลว์อย่างมีประสิทธิภาพ
แคนนอนพรินต์ออนดีมานด์
รับจุดเปลี่ยนตลาดสู่ดิจิตอล
แคนนอนมองว่าแนวโน้มตลาดเครื่องพิมพ์ระบบดิจิตอลจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากเทคโนโลยีการพิมพ์เปลี่ยนไปสู่การพิมพ์แบบดิจิตอลอย่างเต็มตัว ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจการพิมพ์และภาพถ่าย ต้องเร่งปรับเปลี่ยนและเพิ่มอุปกรณ์การพิมพ์ให้เป็นระบบดิจิตอล เพื่อรองรับงานพิมพ์สมัยใหม่ที่ต้องการความรวดเร็ว สะดวก ใช้เวลาน้อยและประหยัดค่าใช้จ่ายในการพิมพ์
นอกจากนั้นเครื่องพิมพ์ระบบดิจิตอลยังสามารถตอบสนองต่อตลาดพรินต์ออนดีมานด์ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจมากขึ้น เนื่องจากการดำเนินกลยุทธ์การตลาดแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นกลยุทธ์การตลาดที่สำคัญในปัจจุบัน ซึ่งการพิมพ์ระบบเดิมไม่สามารถตอบสนองได้
ตลาดพรินต์ออนดีมานด์ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพิมพ์เพื่อส่งมอบเฉพาะบุคคล เช่น โฟโต้บุ๊ก สมุดภาพ แผ่นพับ ใบปลิว กลุ่มพิมพ์จำนวนน้อย เช่น นามบัตร บัตรอวยพร กลุ่มพิมพ์ด้วยข้อมูลแปรเปลี่ยน เช่น ใบแจ้งหนี้ ใบเสร็จรับเงิน และกลุ่มพิมพ์บรรจุภัณฑ์และฉลาก
จากปัจจัยที่เกิดขึ้นดังกล่าว ร.อ.สุนทร ปัณฑรมงคล ผู้อำนวยการอาวุโสและผู้จัดการทั่วไป ส่วนงานบิสซิเนสอิมเมจจิ้ง โซลูชั่น บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่าแคนนอนจะเน้นกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกมากขึ้นในการทำตลาดเครื่องระบบดิจิตอล ทั้งด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้กับคู่ค้าด้วยเครื่องพิมพ์รุ่นใหม่ รวมทั้งมีการสร้างโชว์รูมเครื่องพิมพ์ระบบดิจิตอล เพื่อเป็นต้นแบบของธุรกิจการพิมพ์และการถ่ายรูปแบบใหม่
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|