|

นักลงทุนต่างชาติรุมซื้อ สโมสรฟุตบอลเมืองผู้ดี
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 กันยายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
มีเศรษฐกิจจากหลายชาติพากันทยอยเข้าไปซื้อสโมสรฟุตบอลอังกฤษจากหลากหลายมุมโลก ทั้งหมดล้วนแต่เป็นผู้ชาย จนมีคนผู้ที่วิเคราะห์ว่า สงสัยการได้เป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลสักแห่ง จะเป็นความฝันที่พวกผู้ชายทุกคนอยากได้อยากเป็น
หลายคนออกมาโต้แย้งว่า มีผู้ชายจำนวนไม่น้อยที่ไม่สนใจกีฬาฟุตบอล เรื่องนี้ไม่น่าจะใช่เป็นความฝันของผู้ชายทุกคน
แต่ที่แน่ๆ คือ ต้องยอมรับว่าการซื้อสโมสรฟุตบอลเมืองผู้ดี เป็นเกมของลูกผู้ชายที่มั่งคั่งจำนวนไม่น้อยไปแล้ว เพราะสโมสรฟุตบอลอังกฤษดูเหมือนจะตกเป็นของคนรวย โดยเฉพาะผู้ชาย ไม่ใช่เพียงสโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกเท่านั้น หากแต่รวมถึงสโมสรฟุตบอลที่อยู่ในดิวิชั่นที่ต่ำลงมาอีก 2-3 ดิวิชั่น และที่ไม่ใช่สโมสรฟุตบอลมืออาชีพด้วย
วิธีการจะซื้อหุ้นสโมสรเพื่อจะให้เข้าไปเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลอังกฤษ ทำได้ 2 ทางคือ ทางแรก ด้วยการเข้าไปซื้อหุ้นของสโมสรฟุตบอลที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เหมือนกับการซื้อหุ้นทั่วไป
สโมสรฟุตบอลอังกฤษที่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของอังกฤษได้แก่ สโมสรมิลล์วอลล์ (Millwall) มีเจ้าของและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ชื่อ Theo Puphifis ผู้บริหาร Den Enterprise ของกลุ่ม Dragon แต่ในทางปฏิบัติไม่มีใครสนใจซื้อเพราะสโมสรฟุตบอลแห่งนี้เพราะขาดทุนติดต่อกันมานานหลายปี และไม่เคยจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นของสโมสรฟุตบอลอังกฤษเลย
สโมสรวัตฟอร์ด เป็นสโมสรฟุตบอลอังกฤษดิวิชั่นสูงกว่า มิลล์วอลล์ มีเซอร์ เอลตัน จอห์นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีปัญหาในการจ่ายเงินปันผลมาหลายปีเช่นกัน แต่การพยายามปรับตัวด้านการบริหาร ทำให้เริ่มมีกำไรจากการดำเนินงานมา 2 ปีบัญชีแล้ว
แรงเจอร์ส เป็นสโมสรฟุตบอลอังกฤษจากสก๊อตแลนด์ ที่แม้จะมีหุ้นจำหน่ายก็ไม่มีใครสนใจเช่นกัน
นอกจากผลประกอบการไม่ดีแล้ว การเข้าไปซื้อหุ้นของสโมสรฟุตบอลอังกฤษในตลาดหลักทรัพย์คงต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล และไม่สามารถเข้าไปควบคุมการบริหารจัดการหรือการลงทุนได้ แถมยังไม่มีผลตอบแทนจากการลงทุนด้วย จึงเป็นวิธีที่ไม่นิยม หากไม่ใช่แฟนคลับที่ต้องการซื้อหุ้นของสโมสรที่ตนชื่นชอบเอาไว้แบบเล็กๆ น้อยๆ
ทางที่สอง คือ การเข้าไปหาผู้ถือหุ้นรายใหญ่คนปัจจุบันแบบตรงๆ ที่ง่ายกว่า และต่อรองราคาได้ดีกว่า แถมยังสามารถขอเงื่อนไขการควบคุมทีมและการลงทุนได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การซื้อสโมสรฟุตบอลอังกฤษมักเป็นเรื่องที่ทำกันแบบลับๆ ไม่นิยมเปิดเผยต่อสาธารณชนหรือสื่อมวลชน เพราะบางสโมสรอย่างเช่น c]t เป็นสโมสรฟุตบอลขนาดเล็ก ไม่ใหญ่มาก ไม่มีทรัพย์สินมากมาย สามารถหาซื้อได้ในราคา 100,000 ปอนด์เท่านั้นเอง
ที่สามารถทำการเจรจาตรงกับเจ้าของสโมสรฟุตบอลอังกฤษคนปัจจุบันได้ เพราะเจ้าของมักจะตีราคาสโมสรฟุตบอลที่ตนเป็นเจ้าของไว้แล้ว จึงมีราคาที่บอกได้ทุกเวลา
วิธีการที่ใช้กันในการซื้อสโมสรฟุตบอลอังกฤษทั่วไปคือ การสอบถามว่าเจ้าของสนใจจะขายในราคาเท่าใด ซึ่งเจ้าของก็มักจะบอกราคาขายในใจ แล้วก็ต่อรองเจรจากัน อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังได้มีการเปลี่ยนวิธีการ จากการรอให้มีคนสนใจเข้าไปเสนอราคาขาย เป็นการประกาศขายตามสื่อสารธารณะมากขึ้น อย่างเช่น สโมสรแบร์รี่ ทาวน์ ขายแบบประกาศขายในราคา 250 ล้านปอนด์
นอกจากนั้นก็มี สโมสรที่ใช้การขายแบบเปิดเผย เช่น ฮาริแฟกซ์ ทาวน์ ที่นำสโมสรของตนออกจำหน่ายทางหนังสือพิมพ์รายวันไฟแนนเชียลไทม์, สโมสรฟุตบอลทรานเมียร์ ขายตนเองในอีเบย์, สโมสรฟุตบอลเซ็นต์ ไมร์เรนจากสก๊อตแลนด์ ก็มีการเสนอขายทางหนังสือพิมพ์เช่นกัน ปัญหาหนี้สินของสโมสรฟุตบอลอังกฤษ
สโมสรฟุตบอลอังกฤษเกือบทั้งหมดในระดับพรีเมียร์ ลีก มีภาระหนี้สินกับภายนอกจำนวนมาก จนไม่มีทางเลือกนอกจากการนำสโมสรออกขายเพื่อให้ได้แหล่งเงินสนับสนุนแหล่งใหม่
ที่เป็นเช่นนี้เพราะการลงทุนในสโมสรฟุตบอลไม่ได้มาจากคนที่รักกีฬาฟุตบอล และให้การสนับสนุนได้แบบไม่มีเงื่อนไข แถมผู้ที่สนับสนุนทางการเงินจำนวนมากยังได้เงินมาซื้อสโมสรจากการกู้ยืมมาจากสถาบันการเงิน
ยิ่งกว่านั้น สถาบันการเงินเจ้าหนี้รายใหญ่ของสโมสรฟุตบอลอังกฤษเอง ยังมักจะกำหนดเงื่อนไขในการให้สินเชื่อว่า หากสโมสรฟุตบอลอังกฤษที่เป็นลูกหนี้ไม่สามารถจัดหาแหล่งเงินสนับสนุนได้ จะต้องยินยอมให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้เป็นผู้จัดหาแหล่งเงินให้ และเจ้าของจะต้องยินยอมขายหุ้นในมือของตนออกให้กับเจ้าของรายใหม่ด้วย
ในส่วนของสโมสรฟุตบอลอังกฤษ มีหนี้สินเพิ่มพูนมาจาก ประการแรก การใช้เงินลงทุนสร้างสนามแข่งของตนเอง เพื่อให้สามารถเก็บรายได้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่การลงทุนดังกล่าวใช้เงินจำนวนมาก กว่าจะสร้างรายได้แก่สโมสรฟุตบอลที่เป็นเจ้าของ และเมื่อภาวะเศรษฐกิจไม่ดี การซื้อตั๋วชมรายการแข่งขันอาจไม่คุ้มค่ากับภาระดอกเบี้ย
ประการที่สอง เมื่อมีสนามฟุตบอลแล้ว ค่าใช้จ่ายประจำวันที่ต้องใช้เพื่อรักษาสภาพ และดูแลรักษาสนาม เป็นภาระรายวันที่สร้างต้นทุนจำนวนมหาศาลและต่อเนื่องแก่สโมสรฟุตบอลทุกสโมสรเลยทีเดียว
ประการที่สาม ค่าใช้จ่ายประจำที่เป็นค่าโสหุ้ยต่อหัวหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ค่ารักษาและบริหารนักเตะ โดยเฉพาะนักเตะที่มีชื่อเสียงของสโมสร
ประการที่สี่ ค่าซื้อตัวผู้เล่น โดยหวังว่าจะมีทีมเล่นคุณภาพที่จะทำให้สโมสรไม่ตกลงไปจากระดับพรีเมียร์ ลีก ถือว่าเป็นการลงทุนทางการเงินอย่างหนึ่ง หากคาดคะเนผิด ไม่คุ้มค่าก็คือ ภาระค่าใช้จ่ายสูงกว่าความสามารถในการทำรายได้ เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า
เกมการลงทุนซื้อสโมสรฟุตบอลอังกฤษ
ข่าวครึกโครมที่สุดของการซื้อสโมสรฟุตบอลอังกฤษในขณะนี้ คือ การขายสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล ซึ่งมีกระแสข่าวว่า นายเฮนรี่ หวง ผู้บริหารของบริษัทไชนีส อินเวสต์เมนต์ เป็นผู้กล้าหาญรายล่าสุดที่ประกาศขอซื้อสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล โดยได้รับการสนับสนุนในการเข้าซื้อจากสถาบันการเงินเจ้าหนี้ของลิเวอร์พูล รอยัล แบ็งก์ ออฟ สก็อตแลนด์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ทางการเงินรายใหญ่ของลิเวอร์พูล
หากทำได้สำเร็จก็จะเป็นการถ่ายโอนความเป็นเจ้าของไปจากเจ้าของคนปัจจุบัน คือ ทอม ฮิกส์ และ จอร์จ ยิลเลตต์ ด้วยมูลค่าการขายราว 600 ล้านปอนด์
นายเฮนรี่ หวงเป็นผู้ที่มีชื่อในการติดต่อทางด้านธุรกิจกีฬาระดับสากลมานาน มีโครงการลงทุนทางการเงินในหลายโครงการกับบริษัทอเมริกัน และยังมีเครดิตดีขนาดจับมือกับรัฐวิสาหกิจของจีนในการถือหุ้นกิจการใหญ่อื่นๆ มาแล้ว
การลงทุนในสโมสรลิเวอร์พูลคราวนี้ บริษัทจีนแห่งนี้ได้ทำการขายหุ้นที่ถือในบริษัท มอร์แกน สแตนลีย์ออกไป เพื่อนำเงินสดไปวางให้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงินที่ว่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|