|
กลยุทธ์ 3 ปี ฟื้นกิจการ พลิกสถานะการเงินทีมเลสเตอร์
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
เป็นสโมสรฟุตบอลที่ประสบปัญหาทางการเงินมาก่อนเช่นเดียวกับสโมสรฟุตบอลทีมอื่นๆ ของ อังกฤษ แต่ความสามารถในการบริหารจัดการอยู่ในเกณฑ์ดี จากการที่มีแผนระยะ 3 ปี เป็นตัวกำหนดทิศทางทั้งด้านการปรับสถานะทางการเงิน ทางธุรกิจ และผลงานการเงินของทีมดูจาก ประการแรก การที่สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ประสบความสำเร็จในฤดูกาล 2008-2009 ที่ผ่านมา จึงได้รับการปรับสถานะอัตโนมัติให้กลับไปอยู่ในกลุ่มแชมเปียนชิปได้ในที่สุด
ประการที่สอง สโมสรสามารถลดผลขาดทุนได้ถึง 57% จาก 6 ล้านปอนด์ ในปี 2009 และ 14 ล้านปอนด์ในปี 2008 มีความพยายามบริหารงานอย่างรอบคอบระมัดระวัง เมื่อมีการคาดหมายว่ายอดรับจะลดลง เนื่องจากรายรับจากการถ่ายทอดการแข่งขัน
ระดับรายรับรวมของสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ได้ลดลงจาก 14.1 ล้านปอนด์ในปี 2008 เหลือ 10.9 ล้านปอนด์ในปี 2009 ขณะที่ค่าใช้จ่ายประจำของสโมสรก็ลดลง ทั้งค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับนักเตะ
ประการที่สาม ภาระหนี้สินของสโมสรแห่งนี้ก็ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้สินทรัพย์หมุนเวียนสุทธิหลังหักหนี้สินหมุนเวียนดีขึ้นจาก 10.9 ล้านปอนด์ เป็น 16.1 ล้านปอนด์ และสินทรัพย์รวมสุทธิก็เพิ่มขึ้นจาก 5.5 ล้านปอนด์ เป็น 13 ล้านปอนด์
ประการที่สี่ ประธานของสโมสรได้อัดฉีดเงินก้อนใหม่เข้าไปหล่อเลี้ยงสโมสรเพิ่มขึ้นถึง 10 ล้านปอนด์
ในบรรดาผลประกอบการที่ดีขึ้นทั้ง 4 ประการข้างต้น ประเด็นที่ถือว่าทำให้สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ สามารถเรียกคืนภาพลักษณ์และชื่อเสียงได้ค่อนข้างมาก คือ ประเด็นเรื่องหนี้สินที่ลดลง ทั้งนี้เพราะแทบไม่มีสโมสรฟุตบอลอังกฤษรายใดเลยที่ทำได้ แม้ว่าโดยภาพรวมแล้วเลสเตอร์ ซิตี้ จะยังเป็นสโมสรที่ประสบกับผลขาดทุนโดยรวมก็ตาม
นอกจากนั้น การที่รายรับโดยรวมของเลสเตอร์ ซิตี้ ลดลงไป ก็ไม่ใช่ว่าเกิดกับสโมสรนี้เพียงแห่งเดียว แต่เป็นผลกระทบจากความเสี่ยงทางธุรกิจที่เกิดขึ้นกับแทบทุกสโมสรฟุตบอลในอังกฤษ และเป็นปัจจัยที่มาจากสภาพตลาดภายนอก ซึ่งอยู่นอกเหนือความสามารถในการควบคุมของสโมสรฟุตบอลเพียงรายใดรายหนึ่ง ทุกสโมสรจึงอยู่ในภาระจำยอมรับสภาพดังกล่าวอย่างไม่เต็มใจนัก
การลดลงของรายได้ยังอาจมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดีขึ้นมากนัก แฟนคลับจึงพยายามประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ดูได้จากจำนวนผู้ชมลีกโดยเฉลี่ยเหลือ 20,250 คนจาก 23,500 คน ในฤดูกาลก่อนหน้า และยอดการขายตั๋วในช่วงฤดูกาลก็ลดลงเป็น 11,600 ใบ จาก 13,965 ใบ ในช่วงฤดูกาลแข่งขันช่วงก่อนหน้านั้น
ฝ่ายปฏิบัติการของสโมสรที่ถือว่าเป็นหัวหอกสำคัญของการปรับปรุงการดำเนินงานครั้งนี้และทำงานอย่างหนักในการพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถรักษาฐานรายได้ไว้เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงานโดยรวมลดลงได้ตามความคาดหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับนักเตะลดลงถึง 3.3 ล้านปอนด์ เหลือ 11.2 ล้านปอนด์ จาก 14.5 ล้านปอนด์ ในปีก่อนหน้า ขณะที่สโมสรสามารถผลักดันให้มูลค่าทางการตลาดของตัวนักเตะเพิ่มขึ้นได้ ด้วยการสนับสนุนนักเตะหนุ่มที่มีพรสรรค์ในการพัฒนาเป็นนักเตะมืออาชีพและสร้างผลงานในระดับที่เป็นเลิศได้
สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ บริหารจัดการเรื่องของการพัฒนานักเตะที่เป็นเด็กสร้างของตนเองอย่างเป็นรูปธรรม มีโปรแกรมที่ถือว่าเป็นโปรแกรมเสริมทักษะฟุตบอลที่จัดให้เป็นการเฉพาะกับทีมคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสแก่นักเตะกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น
ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ทำให้ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ อยู่ในเกณฑ์ที่โดดเด่นกว่าสโมสรฟุตบอลอังกฤษอีกหลายทีมก็คือ การให้ความสำคัญกับเรื่องของการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างเอาจริงเอาจัง และการวางระบบควบคุมทางการเงินที่เข้มงวดเข้มข้น เพื่อให้มั่นใจว่าสโมสรจะกลับมาเป็นทีมที่มีความสามารถในการทำกำไรได้อีกครั้งหนึ่ง ภายใต้แผนกลยุทธ์พลิกฟื้นกิจการ 3 ปีที่กล่าวมาแล้ว
การใช้สภาวะความเป็นผู้นำในการบริหารสโมสรได้อย่างเหมาะสมทำให้ทุกคนในทีมมีความผูกพันและพันธะสัญญาร่วมกันที่จะทำให้สโมสรได้รับการยอมรับให้อยู่ในกลุ่มที่มี เสถียรภาพทางการเงินและการดำเนินงานที่เป็นโมเดลทางธุรกิจฟุตบอลที่ยั่งยืน และใช้ปัจจัยดังกล่าวนี้เป็นการส่งเสริมและสร้างความก้าวกระโดดของสโมสรไปสู่ระดับของพรีเมียร์ลีก
สิ่งที่นักวิเคราะห์ทางการเงินและนักลงทุนพอใจต่อเลสเตอร์ ซิตี้ คือ การเน้นการวางแผนในระยะยาวแทนที่จะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ อย่างเดียว
จากงบการเงินจะเห็นว่า มูลค่าของสินทรัพย์ถาวรของสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปีก่อนหน้า แม้ว่าสินทรัพย์หมุนเวียนสุทธิจะยังเป็นลบเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาระหนี้สินที่มีระยะครบกำหนดภายใน 1 ปี อยู่ในเกณฑ์สูงถึง 17.2 ล้านปอนด์ แต่สินทรัพย์สุทธิหลังจากหักภาระหนี้สินระยะยาว ถ้าเปลี่ยนจากที่เคยติดลบ 5.5 ล้านปอนด์ เป็นบวก 13.0 ล้านปอนด์
นอกจากนั้นผลขาดทุนสะสมทางบัญชีที่ยังมีจำนวนสูงมากถึง 26.7 ล้านปอนด์ แม้ว่าส่วนของผู้ถือหุ้นจะเป็นบวก 13.0 ล้านปอนด์ จากที่เคยติดลบ 5.5 ล้านปอนด์
ภาระหนี้สินที่มียอดหนี้คงค้างสูงน่าเป็นเหตุผลให้สโมสรแห่งนี้ต้องการแสวงหานักลงทุนที่จะสามารถอัดฉีดเงินเข้ามาช่วยเหลือเพื่อลดยอดหนี้ได้ตามเงื่อนไข
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|