|
CSR ภาคราชการ จำเป็นต้องมีให้ได้
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 กันยายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ในยุคปัจจุบันที่กระแสการยอมรับต่อแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) เป็นไปอย่างกว้างขวาง
หลักความรับผิดชอบต่อสังคมจึงเป็นที่คาดหวังว่าทุกคนทุกหน่วยงานต้องมี โดยไม่จำกัดเฉพาะที่เป็นองค์กร หรือธุรกิจ (Corporate)
โดยเฉพาะหน่วยราชการและข้าราชการ จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบในการให้บริการที่รวดเร็ว ถูกต้อง และมีคุณธรรมต่อประชาชนผู้ใช้บริการ ต่อหน่วยงาน และต่อสังคมและส่วนรวม ซึ่งถ้ามีคุณลักษณะดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็น CSR ในระบบราชการ ก็จะนำไปสู่เป้าหมาย “ความยั่งยืน” ของสถาบัน
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนของราชการไทย นับว่าน่าสนใจจึงขอนำมาบอกต่อ
ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Strategy) มีความสำคัญในการพัฒนาระบบราชการซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมให้ส่วนราชการมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการดำเนินงานภายใต้หลักจริยธรรมและการกำกับดูแลตนเองที่ดี คำนึงถึงผลงานหรือบริการที่มีคุณภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์ และมีผลเชิงบวกแก่ผู้รับบริการและสังคมโดยรวม ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในการทำงาน การใส่ใจ ดูแล รักษา ชุมชนท้องถิ่น สังคม สิ่งแวดล้อม และป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสังคม เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานให้บรรลุผลอย่างยั่งยืน ก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ที่ดีแก่หน่วยงานและภาครัฐโดยรวม
ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2551- พ.ศ. 2555) นั้นได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ส่วนราชการมีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน (Social Responsibility) ซึ่งก็สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ดังกล่าว
คำอธิบายวลี "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" จากรายงาน The Brundtland Report ของคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (World Commission on Environment and Development - WCED) (1987) ระบุว่า "คือการพัฒนาที่เพียงพอกับความต้องการของชนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอย่างพอเพียงกับความต้องการของชนรุ่นต่อไปในอนาคต”
แนวคิดพื้นฐานในการพัฒนา 3 ด้านอย่างเท่าเทียมกัน ได้แก่
เศรษฐกิจ – การผลิตสินค้าและบริการตามเป้าหมาย
สังคม – มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมและความเป็นธรรม เพื่อเป็นการนำไปสู่การสืบทอดวัฒนธรรม
สิ่งแวดล้อม – คงไว้ซึ่งความหลากหลายทางพันธุกรรมและให้ระบบสิ่งแวดล้อมมีความสามารถในการกลับคืนสู่สมดุล
การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเป็นเป้าหมายที่จะเกิดขึ้นเมื่อการขับเคลื่อนองค์กร หรือการดำเนินงานคำนึงถึงความสมดุล 3 ด้าน มิใช่เพียงการทำกิจกรรมช่วยสังคมเช่นการบริจาค การทำบุญขององค์กร (Corporate Philanthropy)
การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระยะยาว จึงต้องเกี่ยวข้องในทุกกิจกรรมขององค์กรและเกี่ยวข้องกับบุคลากรทั่วทั้งองค์กร ซึ่งจะสร้างความผูกพันและตอบสนองความต้องการของผู้เกี่ยวข้อง และสร้างผลในทางบวกต่อสังคม โดยการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวจะแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบ (accountability) และความโปร่งใส (transparency) ขององค์กร
ข้อคิด...
ผมให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบในหน้าที่การงานที่จะมีคุณค่าแก่ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะลูกค้าหรือประชาชน
ดังนั้น การปฏิบัติราชการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนซึ่งเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการดำเนินงานก็ต้องยึดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยสรุปดังนี้
1)หลักประสิทธิผล (Effectiveness) เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ มีการวางเป้าหมายการปฏิบัติงานที่ชัดเจนและสร้างกระบวนการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน รวมถึงมีการติดตาม ประเมินผล และพัฒนาปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2)หลักประสิทธิภาพ (Efficiency) ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด เกิดผลิตภาพคุ้มค่าการลงทุนและบังเกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม รวมทั้งลดขั้นตอนและระยะเวลาในการปฏิบัติงาน ตลอดจนยกเลิกภารกิจที่ล้าสมัยและไม่มีความจำเป็น
3)หลักการตอบสนอง (Responsiveness) ต้องสามารถให้บริการได้อย่างมีคุณภาพ ทำงานให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด
4)หลักภาระรับผิดชอบ (Accountability) ต้องมีการจัดระบบการรายงานความก้าวหน้าและผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบและการให้คุณให้โทษ
5)หลักความโปร่งใส (Transparency) ต้องปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมา รวมทั้งต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นและเชื่อถือได้
6)หลักการมีส่วนร่วม (Partticipation) ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
7)หลักการกระจายอำนาจ (Decentralization) ในการปฏิบัติงานควรมีการมอบอำนาจและกระจายความรับผิดชอบในการตัดสินใจและการดำเนินการให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในระดับต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
8)หลักนิติธรรม (Rule of Law) ต้องใช้อำนาจของกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับในการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัดด้วยความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ
9)หลักความเสมอภาค (Equity) ต้องให้บริการอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการแบ่งแยกถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล
10)หลักมุ่งเน้นฉันทามติ (Consensus Oriented) ในการปฏิบัติงานต้องมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง
การปฏิบัติตามหลักการเหล่านี้จะช่วยให้เกิดผลดีต่อผู้เกี่ยวข้องและองค์กรซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|