เศรษฐกิจกัมพูชา ในบรรยากาศการฟื้นฟูชาติ

โดย ทรงฤทธิ์ โพนเงิน
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

สำหรับนักธุรกิจการค้า และการลงทุน ชาวต่างประเทศในกัมพูชาแล้ว จะมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในนิยามของคำกล่าวที่ว่า "เสี่ยงและไม่นอน แต่ก็มีความหวัง"

เสี่ยงและไม่แน่นอนก็เพราะว่า แม้พรรคการเมืองทั้งสี่ของเขมรจะสามารถตกลงในการจัดตั้งรัฐบาลผสมชั่วคราวใดก็ตาม แต่เขมรแดงที่เป็นตัวแปรสำคัญทางการเมืองยังคงอยู่นอกวงเจรจาทั้งยังไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นของการจัดตั้งกองทัพแห่งชาติ อันเป็นสิ่งที่จะชี้วัดถึงความเป็นไปของกัมพูชา

ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ยังคงรอคอยให้รัฐบาลแห่งชาติกัมพูชาดำเนินการบูรณะและฟื้นฟู เพื่อความอยู่รอดของประเทศและชาวเขมรทั้งในระยะเฉพาะหน้าและระยะยาวก็คือ ความทรุดโทรมของชาติทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ดำรงสภาพมาอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ทศวรรษ โดยในสายตาของนักธุรกิจที่หวังผลในระยะสั้นต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่าเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง

แต่สำหรับนักธุรกิจการค้าและการลงทุนที่หวังผลในวันข้างหน้าแล้ว แม้จะรู้ว่าเสี่ยงและไม่แน่นอนในขณะนี้ แต่ก็ยังมีความหวังอยู่ว่า "กัมพูชา" คือ แดนสวรรค์ที่ควรค่าแก่การลงทุน เพราะถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเมือง หรือการลงทุน ล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายเพื่อ "ความอยู่รอดและผลประโยชน์" ควบคู่กันไป

การเลือกตั้งสมาชิกสภารัฐธรรมนูญของชาวกัมพูชาที่ดำเนินการ โดยองค์การบริหารชั่วคราว แห่งสหประชาชน เพื่อการถ่ายโอนอำนาจในกัมพูชาหรืออันแทค ระหว่างวันที่ 23-28 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยพรรคฟุนซินเปก (FUNCINPEC) ภายใต้การนำของสมเด็จนโรดม รณฤทธิ์ โอรสของเจ้าสีหนุ ประมุขแห่งรัฐในฐานะประธานสภาสูงสุดแห่งชาติ (SUPREME NATIONAL COUNCIL : SNC) มีชัยชนะในการเลือกตั้งเหนือพรรคการเมืองอื่น ๆ โดยมีจำนวนสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งจำนวน 58 ที่นั่ง

ในขณะที่พรรคประชาชนกัมพูชา (CAMBODIAN PEOPLE PARTY : CPP) ของรัฐบาลฝ่ายพนมเปญ ซึ่งเป็นพรรคคู่แข่งทางการเมืองของพรรคฟุนซินเปก ได้รับเลือกตั้งจำนวน 51 ที่นั่ง พรรคประชาธิปไตยเสรีพระพุทธศาสนา (BUDDHIST LIBERAL DEMOCRATIC PARTY : BLDP) ของนายซอน ซานน์ อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคโมลีนาคา (MOLINAKA) ซึ่งเป็นพรรคนิยมระบอบกษัตริย์ ได้รับเลือกตั้งจำนวน 10 ที่นั่ง และ 1 ที่นั่งตามลำดับ จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 120 ที่นั่ง ทั้งนี้โดยประชาชนชาวกัมพูชาได้ออกมาใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงถึงร้อยละ 90 ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ทั้งสิ้น 4.7 ล้านคน

แต่เนื่องจากผลการเลือกตั้งดังกล่าว ไม่มีพรรคการเมืองใดที่ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง และถึงแม้ว่าเมื่อรวมจำนวนสมาชิกของพรรคฟุนซินเปกเข้ากับพรรคประชาธิปไตยเสรีฯ และพรรคโมลีนาคา ซึ่งเป็นพรรคพันธมิตรทางการเมืองแล้ว จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก็ตาม แต่ประเด็นทางการเมืองของกัมพูชาที่มีความสำคัญยิ่งกว่าการจัดตั้งรัฐบาลก็คือ การร่างรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศและการผ่านร่างรัฐธรรมนูญออกมาบังคับใช้ ซึ่งการที่จะทำเช่นนั้นได้ จำเป็นต้องได้รับการรับรองจากสมาชิกสภาฯ ด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมด 120 ที่นั่ง

พรรคพันธมิตรทางการเมืองทั้ง 3 พรรค จึงต้องอาศัยคะแนนเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาฯ ของพรรคประชาชนที่คุมอำนาจทางการเมืองและการบริหารกัมพูชามาเป็นเวลาเกือบ 14 ปี

ฉะนั้น รูปลักษณ์ของการจัดตั้งรัฐบาลกัมพูชา จึงปรากฏออกมาในรูปของรัฐบาลชั่วคราวที่เป็นการผสมระหว่าง 4 พรรคการเมืองที่เป็นการถ่างดุลอำนาจการบริหารงานชั่วคราว ระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคฟุนซินเปกกับพรรคประชาชน โดยการเห็นชอบร่วมกันให้เจ้ารณฤทธิ์กับนายฮุน เซน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสันติสุข (มหาดไทย) ร่วมกัน ในขณะเดียวกันก็มีการจัดแบ่งความรับผิดชอบในการบริหารงานกระทรวงที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการต่างประเทศให้เป็นโควต้าของพรรคฟุนซินเปก ส่วนพรรคประชาชนได้รับโควต้าในกระทรวงที่เกี่ยวกับกิจการภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่

สภาพเช่นนี้ยังคงจะดำรงต่อไป จนกว่าจะมีการผ่านร่างรัฐธรรมนูญและประกาศบังคับใช้ภายในเดือนกันยายน โดยหลังจากนั้น รูปลักษณ์ทางการเมืองและรัฐบาลของกัมพูชาจะเป็นเช่นใด ย่อมขึ้นอยู่กับบทบัญญัติและข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญอันจะเกิดขึ้นด้วยการตกลงและการต่อรองระหว่างพรรคพันธมิตร 3 พรรคกับพรรคประชาชนของฝ่ายพนมเปญ

ประเด็นการต่อรองที่มีความสำคัญต่ออำนาจทางการเมืองระหว่างพรรคการเมืองในขณะนี้ก็คือ ประเด็นในการรวมกองทัพแห่งชาติที่พรรคพันธมิตรทั้ง 3 เสนอให้มีการรวมกองกำลังของฝ่ายเขมรแดงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพแห่งชาติด้วย ในขณะที่พรรคประชาชนต้องการให้การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติจำเป็นต้องได้รับการรับรองจากสมาชิกสภาฯ ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสภาฯ ทั้งหมด

"แม้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะมีข้อเสนอที่แตกต่างกันแต่ก็เพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ การรักษาอำนาจทางการเมืองของฝ่ายตนให้ได้มากที่สุด โดยการที่พรรคฟุนซินเปก และพรรคพันธมิตรต้องการให้มีการรวมกองกำลังฝ่ายเขมรแดงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพแห่งชาติ ก็เพื่อให้เป็นการดุลอำนาจทางการทหารกับฝ่ายพนมเปญ ในขณะที่ฝ่ายพนมเปญก็ต้องการดำรงบทบาทและฐานะอำนาจทางการเมืองของพรรคต่อไป ฉะนั้นข้อเสนอให้มีการกำหนดลงในรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียงรับรองจากสมาชิกสภาฯ 2 ใน 3 นั้นนับเป็นหลักประกันอนาคตทางการเมืองของพรรคประชาชน ไม่ว่าพรรคจะตกอยู่ในสถานะผู้ชนะหรือผู้แพในการเลือกตั้ง" แหล่งข่าวนักการฑูตอาวุโสในกรุงพนมเปญฯ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

แนวโน้มทางการเมืองของกัมพูชาในระยะเฉพาะหน้าเป็นสิ่งที่ยากยิ่งสำหรับการทำความเข้าใจกับสภาพการณ์ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากเป็นช่วงเวลาของการต่อรองเพื่อการจัดสรรและจัดระบบอำนาจทางการเมือง ฉะนั้นภาพของความเคลื่อนไหวและเงื่อนไขที่ปรากฏออกมาอย่างต่อเนื่องจึงเป็นภาพลักษณ์ของ "ความไม่แน่นอน" ทางการเมือง

แต่สำหรับการวิเคราะห์ในวงการฑูตและวงการนักธุรกิจการค้าการลงทุนแล้ว ต่างมีความเชื่อมั่นว่า การเมืองของกัมพูชาจะมีพัฒนาการไปในแนวทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะยาว

เพราะอย่างน้อยการที่พรรคการเมืองทั้ง 4 พรรคสามารถตกลงในการจัดตั้งรัฐบาลผสมชั่วคราวได้นั้น นับได้ว่าเป็นความสำเร็จในการประนีประนอมทางการเมืองขั้นแรกของกัมพูชาที่ไม่เคยเกิดขึ้นในความเป็นจิรงมาเป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ และถึงแม้ว่าความสำเร็จทางการเมืองในครั้งนี้จะปราศจากการเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงของฝ่ายเขมรแดงก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ในทางอ้อมระหว่างพรรคฟุนซินเปกและฝ่ายซอน ซานน์ที่มีต่อฝ่ายเขมรแดงในฐานะพันธมิตรทางการเมืองแล้ว ย่อมถือได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ไม่ได้ตีกันและโดดเดี่ยวฝ่ายเขมรแดงออกไปจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองของกัมพูชา ทั้งยังเป็นหลักประกันสำหรับการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของฝ่ายเขมรแดงในอนาคตที่ไม่นานเกินรอ

"ผมมีความเชื่อมั่นว่า ปัญหาต่าง ๆ ในทางการเมืองของกัมพูชาทุกฝ่ายจะสามารถจัดสรรอำนาจระหว่างกันได้อย่างลงตัวก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในเดือนกันยายน เพราะในขั้นตอนของการร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญนี้ ในความเป็นจริงแล้วก็คือ ขั้นตอนของการเจรจาต่อรองเพื่อการจัดระบบความสัมพันธ์และการจัดสรรอำนาจทางการเมืองในระยะยาว" นายไมเคิล วอร์ด นักวิชาการอาวุโสประจำสำนักงานแผนการบูรณะฟื้นฟูกัมพูชาของอันแทค กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ที่กรุงพนมเปญ

ซึ่งในที่สุดแล้ว การประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญก็คือ การประกาศรับรองสถานภาพอย่างเป็นทางการของรัฐบาลแห่งชาติที่แปรสภาพมาจากรัฐบาลชั่วคราว รับรองสภาแห่งชาติที่แปรสภาพมาจากสภารัฐธรรมนูญรับรองการดำรงอยู่ของประธานาธิบดี หรือประมุขแห่งรัฐที่แปรสภาพมาจากประธานสภาสูงสุดแห่งชาติ ซึ่งต้องหมดภาระและบทบาทลงด้วยการถูกแทนที่โดยสภาแห่งชาติ (NATIONAL ASSEMBLY) และรับรองการจัดตั้งกองทัพแห่งชาติที่เกิดจากการรวมกองกำลังทหารของเขมรทั้ง 4 ฝ่าย ทั้งนี้อยู่ภายใต้อำนาจบัญชาการสูงสุดของประมุขแห่งรัฐ ซึ่งในที่นี้หมายถึงสมเด็จนโรดม สีหนุ นั่นเอง

โดยจุดเปลี่ยนที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการทางการเมืองของกัมพูชาดังกล่าว นับเป็นผลโดยตรงที่มีสาเหตุมาจากแรงกดดันทั้งภายในและภายนอกประเทศที่กัมพูชาจำเป็นต้องดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อการบูรณะและฟื้นฟูประเทศชาติทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคมให้ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางการเมือง ซึ่งการที่จะสามารถกระทำได้เช่นนั้นทั้งในระยะเฉพาะหน้าและระยะยาว กัมพูชาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยแรงหนุนและความช่วยเหลือตลอดจนความร่วมมือจากต่างประเทศในทุก ๆ ด้าน เฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจของชาติ

เนื่องจากในช่วงตั้งแต่ปี 2522 - 2534 ที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาภายใต้อำนาจการบริหารทางการเมืองการปกครองของรัฐบาลฝ่ายพนมเปญ ที่มีนายฮุนเซน เป็นนายกรัฐมนตรีได้นำระบบเศรษฐกิจของชาติไปผูกติดและพึ่งพาทางเศรษฐกิจโดยตรงกับระบบเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ ทำให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนมีพัฒนาการในวงจำกัด ไม่ว่าจะเป็นระบบตลาดรองรับการส่งสินค้าออก และแหล่งสินค้านำเข้า ตลอดจนแหล่งความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนทางการทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพาจากสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ด้วยกันทั้งสิ้น

ในช่วง 10 ปีแรกของการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองในกัมพูชา (2523-2533) ภายหลังจากที่เวียดนามได้ส่งกำลังทหารเข้ามาช่วยฝ่ายพนมเปญในการขับไล่และยึดอำนาจทางการเมืองจากฝ่ายเขมรแดงเป็นผลสำเร็จในปี 2522 รัฐบาลพนมเปญสามารถส่งสินค้าออกไปยังตลาดของสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 57,694,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกันก็มีการนำสินค้าเข้าเพื่อการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และสินค้าประเภทเครื่องจักรกล คิดเป็นมูลค่าถึง 75,720,300 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้กัมพูชาต้องประสบกับภาวะขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องจำนวน 18,026,300 ดอลลาร์สหรัฐ

และในช่วงเวลาเดียวกันนี้ รัฐบาลพนมเปญได้กู้ยืมเงินจากต่างประเทศสำหรับใช้เป็นงบประมาณในการบริหารและพัฒนาประเทศมีมูลค่ารวมถึง 2,420 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ขีดความสามารถของรัฐบาลพนมเปญในการชำระหนี้คืนมีอยู่อย่างจำกัด ทั้งนี้ในช่วงระหว่างปี 2525-2533 ที่ผ่านมา รัฐบาลพนมเปญสามารถชำระหนี้คืนได้เพียง 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ฉะนั้นหนี้ต่างประเทศที่รัฐบาลพนมเปญยังคงค้างชำระจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะตกเป็นภาระความรับผิดชอบของรัฐบาลใหม่หรือรัฐบาลแห่งชาติในการชำระคืน มีมูลค่าถึง 2,392 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยยังไม่รวมหนี้อันเนื่องมาจากการขาดดุลการค้าจำนวน 18,026,300 ดอลลาร์สหรัฐ

ปัญหาการขาดดุลการค้า ภาระหนี้สินมหาศาลเป็นเสมือนแอกอันหนักอึ้งที่กดทับกัมพูชาไว้กับความยากเข็ญ ทำให้รัฐบาลพนมเปญจำต้องดำเนินนโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจในปี 2531 ทั้งนี้โดยการเปิดประเทศเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบกลไกตลาดและการค้าภายในประเทศให้เสรีมากขึ้น พร้อมกันนั้นก็มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ประสบกับภาวะขาดทุนมาเป็นเวลากว่า 10 ปีให้เอกชนต่างประเทศเข้าไปบริหารอย่างกว้างขวาง

การดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลพนมเปญดังกล่าว ได้กลายเป็นปัจจัยดึงดูดให้นักธุรกิจการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมากถึง 599 บริษัทหลั่งไหลเข้าไปประกอบธุรกิจการค้าและการลงทุนในกัมพูชาทั้งในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ตลอดจนการเช่าสิทธิหรือซื้อสิทธิในการบริหารรัฐวิสาหกิจจากรัฐบาลพนมเปญ และได้ส่งผลให้การขยายตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาที่เคยติดลบมาตลอดระยะเวลา 10 ปีเริ่มที่จะขยายการเติบโตมากขึ้น

ผลผลิตมวลรวมทางเศรษฐกิจภายในประเทศได้ปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2530 ถึงร้อยละ 16.2 ในปี 2531 ร้อยละ 2.4 ในปี 2532 ร้อยละ -0.1 ในปี 2533 และร้อยละ 13.5 ในปี 2534 หรือคิดเป็นมูลค่า 241.5 พันล้านเหรียญ 247.3 พันล้านเหรียญ 247 พันล้านเหรียญ และ 280.3 พันล้านเหรียญตามลำดับ ทั้งนี้โดยคิดจากค่าคงที่ของผลผลิตมวลรวม 207.9 พันล้านเหรียญในปี 2530

และหากพิจารณาถึงอัตราการเติบโตในแต่ละภาคเศรษฐกิจแล้ว พบว่าอัตราการเติบโตของผลผลิตในภาคการเกษตรจะปรับการขยายตัวในอัตราการเติบโตที่คงที่ โดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2530-2534 ร้อยละ 5.3 ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการกลับมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2534 ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 15.6 กับร้อยละ 37.5 ของผลผลิตรวมทั้งประเทศ หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2533 ในอัตราร้อยละ 8.4 และร้อยละ 11.1 โดยในภาคอุตสาหกรรมนั้นคิดเป็นสัดส่วนของการขยายตัวของผลผลิตหัตถอุตสาหกรรมร้อยละ 54 อุตสาหกรรมก่อสร้างร้อยละ 38 อุตสาหกรรมเหมืองแร่ร้อยละ 7 และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและแก๊สร้อยละ 1

ส่วนในภาคบริการนั้น คิดเป็นสัดส่วนของการขยายตัวของบริการทางการค้าร้อยละ 48 การคมนาคมขนส่งร้อยละ 7 การบริหาร-การศึกษาและสาธารณสุขร้อยละ 10 บริการบ้านเช่าร้อยละ 15 โรงแรม-ร้านอาหาร ร้อยละ 1 และบริการอื่น ๆ ร้อยละ 18

"การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในลักษณะก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วเช่นนี้ มีปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นในแง่จิตวิทยาการลงทุน 4 อย่าง กล่าวคือ ข้อตกลงสันติภาพระหว่างเขมร 4 ฝ่ายที่กรุงปารีส การอนุมัติงบประมาณเพื่อการดำเนินการถ่ายโอนอำนาจในกัมพูชาโดยสหประชาชาติจำนวนกว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การเสด็จกลับกัมพูชาของเจ้าสีหนุ และการดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจโดยรัฐบาลพนมเปญ ซึ่งทั้ง 4 ปัจจัยได้กลายเป็นปัจจัยดึงดูดให้นักธุรกิจการค้าและการลงทุนหลั่งไหลเข้ามาในกัมพูชามากเป็นประวัติการณ์" พจน์ บุณยรัตพันธุ์ กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกร กัมพูชา กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนในธุรกิจภาคบริการได้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2535 - กลางปี 2536 มีจำนวนถึง 243 ราย แบ่งออกเป็นการโรงแรม-ท่องเที่ยว 87 ราย การขนส่ง-โทรคมนาคม 55 ร่น ประกันภัย 13 ราย โฆษณา-บันเทิง 13 ราย การเงินการธนาคาร 47 ราย ร้านอาหาร-ภัตตาคารและบริการอื่น ๆ 28 ราย ซึ่งคิดเป็นอัตราการเพิ่มของการขยายตัวจากปี 2530 ร้อยละ 69.5 ในปี 2535 และร้อยละ 83.9 ในกลางปี 2536 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตของภาคบริการในปี 2535 ร้อยละ 11.9 และในกลางปี 2536 ร้อยละ 8.5 ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลพนมเปญ ได้พยายามที่จะลดการขาดทุนของการประกอบการในรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ทั้งหมด 224 แห่ง โดยในปี 2534 รัฐบาลพนมเปญได้ขายรัฐวิสาหกิจจำนวน 33 แห่ง ให้เช่า 44 แห่ง และเป็นการร่วมทุนกับเอกชน 8 แห่ง ทั้งยังปรากฏว่า รัฐบาลพนมเปญและอำนาจการปกครองท้องถิ่นได้ตัดสินใจขายที่ดิน อาคาร และบ้านที่เป็นทรัพย์สินของรัฐให้กับเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศไปกว่า 100,000 หลังในราคาอย่างต่ำ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อหลังขายที่ดินของรัฐเฉพาะในพนมเปญให้กับเอกชนอย่างน้อย 10,000 แปลงในราคาเฉลี่ย 5 - 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อตารางเมตร

ทั้งนี้มีสาเหตุ เนื่องมาจากการที่รัฐบาลพนมเปญถูกตัดความช่วยเหลือในด้านงบประมาณจากสหภาพโซเวียต และกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ที่ประสบความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ อันนำไปสู่การล่มสลายทางการเมืองและระบอบการปกครองในปี 2534 ทำให้รัฐบาลพนมเปญจำเป็นต้องพึ่งตนเอง ในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ด้วยเหตุที่ขาดประสบการณ์ในการบริหารและการจัดการในระบบเศรษฐกิจเสรี ทำให้ต้องประสบกับปัญหาความไม่สมดุลในภาพรวมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความล้มเหลวในการบริหารการคลังและการใช้จ่ายงบประมาณแห่งชาติ

รัฐบาลพนมเปญต้องเผชิญปัญหาการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 53.6 ในปี 2533 ร้อยละ 50.2 ในปี 2534 และร้อยละ 48.2 ในปี 2535 โดยในขณะที่รัฐบาลพนมเปญมีรายรับจากการส่งสินค้าออกและการเก็บภาษีอากรจำนวน 23,271.7 ล้านเรียล, 58,849.4 ล้านเรียล และ 96,500 ล้านเรียล กลับต้องใช้จ่ายงบประมาณไปในการบริหารการปกครอง การป้องกันประเทศและเป็นเงินเดือนข้าราชการจำนวนถึง 50,208.5 ล้านเรียล, 118,110.6 ล้านเรียล และ 186,367 ล้านเรียลในปี 2533, 2534 และ 2535 ตามลำดับ

ภาพที่ขัดแย้งกันในทางเศรษฐกิจมหภาคของกัมพูชาก็คือ ในขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในภาครัฐกลับมีพัฒนาการไปในทิศทางตรงกันข้าม ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า กลไกควบคุมและดำเนินการในนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐทั้งในด้านธุรกิจการค้าและการลงทุน เฉพาะอย่างยิ่งกลไกในการจัดเก็บภาษีการค้าและการลงทุนเป็นกลไกที่ขาดประสิทธิภาพและประสบการณ์ในการบริหารและการปฏิบัติที่เป็นจริง

ทั้งยังปรากฏด้วยว่า การใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาระบบกลไกสำหรับเป็นการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เมื่อเปรียเบทียบกับการใช้งบประมาณไป เพื่อการบริหารการปกครองและการป้องกันประเทศแล้ว พบว่างบประมาณรายจ่ายในปี 2535 ร้อยละ 84 หรือ 155,717 ล้านเรียล ถูกใช้ไปเพื่อการบริหารการปกครองและการป้องกันประเทศมีเพียงร้อยละ 16 หรือ 27,650 ล้านเรียลเท่านั้นที่ใช้เพื่อการพัฒนาระบบกลไกและโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ

ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจก็อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมอย่างหนัก เพราะขาดแคลนทั้งงบประมาณและวิทยาการสมัยใหม่ที่จะปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ดีขึ้น ประกอบกับความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตท่เคยมีอย่างต่อเนื่องต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากการล่มสลายทางการเมืองและเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตในปี 2534

ระบบการคมนาคมขนส่งทางบกในกัมพูชาที่มีพื้นที่ผิวถนนทั่วประเทศ 34,100 กิโลเมตร แบ่งออกเป็นทางหลวงขนาด 2 ช่องทางเดินรถเชื่อมต่อระหว่างจังหวัด 3,000 กิโลเมตร ถนนภายในตัวเมือง 3,100 กิโลเมตร และถนนดินลูกรังในเขตชนบท 28,000 กิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นถนนที่สร้างเมื่อปี 2463-2473 โดยฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ในสภาพที่ชำรุดมาตั้งแต่ปี 2513 เนื่องจากขาดการซ่อมบำรุงจนไม่อาจสามารถใช้การได้มากกว่า 20,460 กิโลเมตร เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน ถนนดินลูกรังไม่สามารถใช้การได้เลย

ส่วนถนนที่สามารถใช้การได้ก็สามารถขับขี่ยานยนต์ในอัตราความเร็วเฉลี่ย 20-25 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ทำให้จำเป็นต้องใช้เส้นทางคมนาคมขนส่งทางน้ำแทน ซึ่งมีระยะทางยาวตามแม่น้ำโขงและแม่น้ำบาสัค 1,750 กิโลเมตร แต่ที่สามารถใช้การได้ตลอดปีมีระยะทางเพียง 580 กิโลเมตรเท่านั้น

กัมพูชามีท่าเรือขนาดใหญ่ 2 แห่งที่กรุงพนมเปญและจังหวัดกัมปงโสม ท่าเรือที่กัมปงโสมนั้นถือเป็นท่าเรือน้ำลึกเพียงแห่งเดียวของประเทศที่สามารถรับน้ำหนักได้เพียง 45,000 เมตริกตันในปัจจุบัน จากที่เคยสามารถรับน้ำหนักได้ 954,000 - 1.2 ล้านเมตริกตันในปี 2512 ท่าเรือน้ำลึกที่กัมปงโสมนี้จะเป็นที่ขนถ่ายสินค้า เพื่อลำเลียงเข้ามาที่ท่าเรือในกรุงพนมเปญ ส่วนในด้านการขนส่งทางอากาศนั้น มีสนามบินที่สามารถใช้การได้ 4 แห่ง คือ ที่กรุงพนมเปญ พระตะบอง เสียมราฐ และสตึงแตรง โดยที่กรุงพนมเปญเป็นสนามบินนานาชาติเพียงแห่งเดียวที่มีทางวิ่งยาว 3,000 เมตร สามารถรับน้ำหนักได้เพียงเครื่องบินโบอิ้ง 737 แต่ก็ขาดแคลนระบบการสื่อสารและควบคุมภาคพื้นดินและอากาศ

ในขณะเดียวกัน กัมพูชายังต้องประสบกับปัญหาขีดจำกัดในการขนส่งทางรถไฟ แม้ว่าในช่วงปี 2474-2513 กัมพูชาจะมีหัวจักรรถไฟถึง 30 คัน มีความยาวของรางรถไฟ 650 กิโลเมตร แต่นับจากปี 2522 เป็นต้นมา หัวจักรรถไฟที่สามารถใช้การได้มีเพียง 5 คัน วิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ย 25-30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถบรรทุกน้ำหนักได้เพียง 850 ตันเท่านั้น

และในส่วนของความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อสนองความต้องการภายในประเทศนั้น ปรากฏว่าสามารถสนองความต้องการในการใช้กระแสไฟฟ้าได้เพียงร้อยละ 16 หรือ 59 เมกะวัตต์ หรือ 165,000 ยูนิตในปี 2535 ที่ผ่านมา

ส่วนทางด้านการโทรคมนาคมนั้น กัมพูชามีโทรศัพท์จำนวน 4,000 หมายเลขในกรุงพนมเปญ แต่สามารถใช้การได้ 3,000 หมายเลข โทรศัพท์ติดต่อภายในประเทศระบบอัตโนมัติจำนวน 500 หมายเลข และโทรศัพท์ติดต่อระหว่างประเทศระบบช่องสัญญาณดาวเทียม 7 ช่องสัญญาณ INTELSAT ของออสเตรเลีย ติดต่อระหว่างพนมเปญ - ซิดนีย์ และ 5 ช่องสัญญาณของดาวเทียม INTERSPUTINK ของโซเวียต ติดต่อระหว่างพนมเปญ - ฮานอย - โฮจิมินห์ - มอสโคว์ การบริการโทรศัพท์ที่มีอยู่น้อยมากเช่นนี้ ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้เมื่อเทียบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและส่งผลให้ราคาและค่าบริการอยู่ในอัตราที่สูง อันเป็นผลโดยตรงที่ทำให้มูลค่าของการลงทุนต่อหน่วยสูงเกินระดับปกติ

จากสภาพที่โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจมีอยู่อย่างจำกัดดังกล่าว ทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขยายตัวของการค้าและการลงทุน เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังจากที่อันแทคเข้าไปดำเนินการถ่ายโอนอำนาจ ตั้งแต่ต้นปี 2535 เป็นต้นมา ที่สภาวะของการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศในกัมพูชาต้องชะลอตัวลง และตกอยู่ในสภาวะชะงักงันในช่วงของการเลือกตั้งและการจัดสรรอำนาจทางการเมือง เมื่อเดือนพฤษภาคมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีบริษัทลงทุนจากต่างประเทศจำนวนอย่างน้อย 350 บริษัทหยุดดำเนินการทางธุรกิจชั่วคราว และมีบริษัทมากกว่า 200 บริษัทไม่เปิดดำเนินการ แม้ว่าจะได้รับใบอนุญาตประกอบการแล้วก็ตาม

"นักธุรกิจส่วนใหญ่ที่หยุดหรือชะลอการดำเนินการทางการค้าและการลงทุน เนื่องจากทุกคนต้องการรอดูสถานการณ์ทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง เพื่อให้แน่ใจว่า สถานการณ์จะดีขึ้นหรือไม่ ทั้งยังต้องการทราบถึงนโยบายเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ จะมีทิศทางเช่นใด" วรรณกิตต์ วรรณศิลป์ กรรมการผู้จัดการธนาคารกัมพูชาพาณิชย์จำกัด ให้ความเห็น

จากการสำรวจและประเมินเกี่ยวกับความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับปรุงและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถสนองตอบความต้องการทางการค้าและการลงทุน โดยสำนักงานเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของอันแทคพบว่า รัฐบาลใหม่ของกัมพูชาจำเป็นต้องจัดหางบประมาณอย่างน้อย 227 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อการบูรณะและปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่สามารถใช้การได้ และในขณะเดียวกัน ก็จำเป็นต้องจัดหางบประมาณจำนวน 25.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ทางเทคนิค ตลอดจนต้องจัดหางบประมาณจำนวน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลในระยะ 3 เดือนแรกของการดำเนินงาน

นั่นย่อมหมายความว่า รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องมีการจัดระบบในการจัดเก็บภาษีอากรใหม่ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจชาติของกัมพูชาเป็นระบบที่ผูกติดและพึ่งพาความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ ซึ่งขาดประสบการณ์และขาดประสิทธิภาพในการบริหารระบบจัดเก็บภาษีอากร ทำให้เกิดช่องว่างที่สามารถหลบเลี่ยงการชำระภาษีการค้าได้ ทั้งยังเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์ของเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ โดยปรากฏว่า นับตั้งแต่การดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจสู่ระบบตลาดเสรีเมื่อปี 2531 เป็นต้นมา ระบบการจัดเก็บภาษีการค้าของกัมพูชาสามารถปฏิบัติได้ในความเป็นจริงเพียงร้อยละ 20 ในขณะที่ร้อยละ 80 เป็นการหลบเลี่ยงภาษีด้วยความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ได้รับผลประโยชน์จากการหลบเลี่ยงนั้น แม้ว่ารัฐบาลพนมเปญจะประกาศใช้ระเบียบการจัดเก็บภาษีในอัตรา 15-25% สำหรับนิติบุคคล 5-10% สำหรับผลกำไร และ 2% สำหรับรายรับทั้งหมดในการประกอบการก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ในความเป็นจริง เพราะการชำระภาษีการค้ายังคงเป็นสิ่งที่สามารถเจรจาต่อรองผลประโยชน์กันได้ระหว่างผู้ประกอบการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

"ใครจะจ่ายมากจ่ายน้อยนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการประกอบการและผลกำไร หากแต่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการต่อรองผลประโยชน์และขึ้นอยู่กับว่า ผู้ประกอบการทางธุรกิจการค้าและการลงทุนนั้น มีระบบเครือข่ายโยงใยกับผู้ใหญ่คนไหนในประเทศนี้" เจ้าหน้าที่วางแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจกัมพูชาของอันแทค กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ฉะนั้น การที่จะสามารถสร้างประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มรายรับจากการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลได้นั้น ความจำเป็นในอันดับแรกก็คือ บรรดาผู้นำของเขมรฝ่ายต่าง ๆ จะต้องสามารถประนีประนอมในการจัดสรรอำนาจทางการเมือง และการทหารระหว่างกันให้ได้ ทั้งยังจะเป็นทิศทางที่นำมาซึ่งการลงทุนและความช่วยเหลือจากต่างประเทศจำนวนมหาศาลในอนาคต

"มีนักลงทุนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก คาดการณ์ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างทันทีทันใดที่การเลือกตั้งสิ้นสุดลง แต่สำหรับผมแล้ว มองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นจริงในทุกด้าน จนกว่าเดือนกันยายนที่จะมีการประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะเป็นมาตรชี้วัดได้ว่า เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของกัมพูชาจะเดินหน้าหรือถอยหลัง แต่ผมก็เชื่อมั่นว่า ทุกอย่างจะดีขึ้น เพราะถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเมืองหรือเศรษฐกิจล้วนแต่มีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์และความอยู่รอด และการที่จะสามารถประสบผลสำเร็จได้นั้นมีอยู่ทางเดียวเท่านั้น คือ การเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการมองถึงผลประโยชน์ในระยะยาว" จูเลส โธมัส ผู้จัดการทั่วไปบริษัท IMIC จำกัด ซึ่งคลุกคลีอยู่ในกัมพูชาเป็นเวลา 14 ปี กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ในที่สุด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.