การ์เดียน - อาซาฮี…การตลาดภาค "มองต่างมุม"

โดย ชาย ซีโฮ่
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

การเกิดกระจกสยามการ์เดียนของเครือซิเมนต์ไทย อาจจะไม่เป็นเรื่องใหญ่โตนัก หากผู้ผลิตรายเดิมที่ผูกขาดในไทยมิใช่กระจกไทย-อาซาฮีของตระกูล "ศรีเฟื่องฟุ้ง-พานิชชีวะ" อันเป็นตระกูลที่มีบุญมีคุณกับพรรคชาติไทยมาตลอด เรื่องราวของการเกิดขึ้นของโรงงานกระจกใหม่เมื่อ 3-4 ปีก่อน เป็นเรื่องที่ดังมากในยุคนั้น ถึงขั้นมีการโยกย้ายรัฐมนตรีเพื่อให้เกิดโรงงานนี้ แต่จากนี้ไป เรื่องที่จะเกิดขึ้นอาจจะสนุกกว่านี้แน่นอน ในเมื่อปูนซิเมนต์ไทยยินยอมที่จะขาดทุนถึง 5 ปีเพื่ออยู่รอดในตลาดนี้

"เราเสียแชร์ไปแล้วประมาณ 20%…"

คำกล่าวนี้ สำหรับวงการธุรกิจดูจะเป็นเรื่องหนักใจพอสมควร กับการดำเนินงานทางธุรกิจของบริษัทที่ต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไป และการสูญเสียถึง 20% ก็นับเป็นสัดส่วนที่มากพอสมควร

ยิ่งหากบอกว่า ผู้ที่กล่าวประโยคดังกล่าวเคยเป็นผู้ผูกขาดมาก่อน น้ำหนักของคำกล่าวดังกล่าวยิ่งดูจะมีน้ำหนักมากขึ้น

มากพอที่จะเริ่มเป็น "สงครามธุรกิจ" ครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง !!!

เพราะผู้กล่าวประโยคนี้ คือ สมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการบริษัทกระจกไทย-อาซาฮี ผู้ผลิตกระจกรายใหญ่ที่บริษัทถูกคู่ต่อสู้เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดไป ในระยะเวลาแค่กระพริบตาเพียงปีเดียว

หากเป็นคู่ต่อสู้อื่น ๆ เรื่องราวที่มีการกล่าวถึงอาจจะไม่น่าสนใจมาก แต่เนื่องเพราะผู้ที่เข้ามาแข่งขันในครั้งนี้ คือ ปูนซิเมนต์ไทยเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวงการกระจกนับจากวันวานถึงวันพรุ่งนี้ จึงดูเป็นเรื่องใหญ่พอที่จะต้องเอ่ยถึง

เพราะการเข้ามาในตลาดกระจกของเครือซิเมนต์ไทยในครั้งนี้ สมบัติ พานิชชีวะ เคยกล่าวเอาไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นการเข้ามาทำธุรกิจแบบ "ไม่มีปรัชญาในการทำธุรกิจ"

ที่สำคัญก็คือ ผลจากการถูกแบ่งมาร์เก็ตแชร์ไปประมาณ 20% นั้น ประธานกรรมการกระจกไทย-อาซาฮียังเสริมว่า จะทำให้กำไรลดลงมาจากปีก่อนถึง 25-30% โดยเหลือกำไรเพียงประมาณ 600 ล้านบาท

จู่ ๆ เงินหายไปจากกระเป๋าเป็นร้อยล้าน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กแน่นอน !!!

คราวที่ปูนซิเมนต์ไทย คิดจะตั้งโรงงานกระจกเมื่อปี 2532 นั้น เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องค่อนข้างใหญ่โตพอสมควร อันเนื่องมาจากเหตุผลเดียว คือ ที่ผ่าน ๆ มา อุตสาหกรรมกระจกในประเทศไทย แทบจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการผูกขาดมาโดยตลอด

การเป็นผู้ผูกขาดเพียงรายเดียวของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทย อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่ประการใด เพราะที่ผ่าน ๆ มานั้น อุตสาหกรรมในประเทศของไทยมักจะเริ่มต้นด้วยการอิงอำนาจของรัฐหรือผู้ปกครองประเทศในแต่ละยุคแล้วค่อย ๆ ขยายตัวจนใหญ่และกลายเป็นผู้ผูกขาดในเวลาต่อมา

แต่สำหรับอุตสาหกรรมกระจกมีเหตุผล 2 ประการที่ทำให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในการขออนุมัติตั้งโรงงานกลายเป็นเรื่อง "การเมือง" จนได้

เหตุผลประการแรกก็คือ อุตสาหกรรมกระจกในไทยนั้น ผู้ผูกขาดคือกระจกไทย-อาซาฮี ซึ่งเป็นธุรกิจในตระกูล "ศรีเฟื่องฟุ้ง-พานิชชีวะ" ยักษ์ใหญ่วงการอุตสาหกรรมไทยอีกตระกูลและเพิ่งฉลองครบรอบการตั้งบริษัทมา 30 ปีเมื่อเดือนมิถุนายนนี้เอง

ประการที่สองก็คือ ตระกูล "ศรีเฟื่องฟุ้ง-พานิชชีวะ" เจ้าของธุรกิจกระจกไทย-อาซาฮี คือ ตระกูลที่ร่วมก่อตั้งพรรคชาติไทย ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลในช่วงที่ปูนซิเมนต์ไทย ยื่นเรื่องขอตั้งโรงงานกระจำร่วมกับการ์เดียนแห่งสหรัฐอเมริกา

สมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการกระจกไทย-อาซาฮีก็เป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคชาติไทยและเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พลเอกชาติชาย) และเป็นวุฒิสมาชิกในยุคดังกล่าวด้วย

ที่สำคัญก็คือ คนของพรรคชาติไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เป็นผู้ชี้ขาดว่าจะอนุมัติให้ตั้งโรงงานกระจกเพิ่มหรือไม่ จนดูเหมือนว่าโอกาสการเกิดโรงงานกระจกแห่งใหม่แทบจะไม่มีเลย

เพราะ "ตัวละคร" ของพรรคชาติไทย ที่บังเอิญต้องมาเกี่ยวข้องกับโครงการนี้มีถึง 3 คนอันประกอบด้วย พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย (ประธานที่ปรึกษาพรรคในขณะนั้น) บรรหาร ศิลปอาชา เลขาธิการพรรค และกร ทัพพะรังสี กรรมการบริหารพรรคที่ลาออกจากพรรคชาติไทยตามอดีตหัวหน้าพรรค คือ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ไปอยู่พรรคชาติพัฒนาที่ตั้งขึ้นมาใหม่

กระทั่งพลเอกชาติชายในฐานะหัวหน้าพรรคและหัวหน้ารัฐบาลในตอนนั้น ก็ต้องลงมาเกี่ยวข้องกับการเกิดของกระจกสยามการ์เดียนด้วยอีกคนอันเชื่อกันว่า มาจากการร้องขอจากทางการของอเมริกาที่ต้องการให้โรงงานที่บริษัทอเมริกันลงทุนสามารถที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย

เชื่อกันว่า ตัวละครในรัฐบาลที่เกี่ยวข้องข้างต้น ล้วนแต่เป็นตัวละครที่เอนความเห็นไปในทำนองที่น่าจะเอื้อประโยชน์ต่อกระจกไทย-อาซาฮีมากกว่าปูนซิเมนต์ไทยแน่นอน

เหตุการณ์ในตอนเริ่ม บรรหาร ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยว่า กระทรวงจะไม่มีการอนุมัติให้มีการตั้งโรงงานกระจกเพิ่มขึ้น เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมศึกษาพบว่า ตัวเลขในขณะนี้ (เวลาที่ศึกษา) ปริมาณการผลิตมากกว่าความต้องการในตลาด (OVER SUPPLY) และเพื่อป้องกันการอนุมัติที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหลัง ในวันที่ 14 เมษายน 2532 กระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้ออกประกาศกระทรวงห้ามตั้งและขยายโรงงานกระจกเป็นเวลา 5 ปี คือ ระหว่างปี 2532-2537 ด้วยเหตุผลว่ากำลังการผลิตในขณะนั้นมีมากกว่าความต้องการในประเทศ

ส่วนเหตุผลที่ปูนซิเมนต์ไทยเสนอที่จะลงทุนนั้น พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ไทยในตอนนั้น กล่าวว่า เนื่องจากการศึกษาของปูนซิเมนต์ไทยพบว่า ความต้องการกระจกมีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มีงานก่อสร้างคอนโดมิเนียมมาก ความต้องการกระจกยิ่งมีมาก

การประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม ดูเหมือนจะปิดทางตั้งโรงงานของการ์เดียนสนิท จนถึงพารณกล่าวในตอนนั้นว่า ทุกอย่างจบ เพราะกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศห้ามตั้งโรงงาน แต่ไม่ได้หมายความว่า ปูนซิเมนต์จะล้มโครงการ เพียงแต่ต้องรอให้พ้นกำหนดระยะเวลาการห้ามตั้งโรงงานก่อน

แต่ต้องยอมรับว่า ปูนซิเมนต์ไทยไม่ใช่ตะเกียงไร้น้ำมัน !!!~

เมื่อไม่สามารถที่จะโน้มน้าวความคิดที่จะให้กระทรวงอุตสาหกรรมอนุมัติการตั้งโรงงานกระจกแห่งใหม่ได้ ปูนซิเมนต์ไทยก็มองว่า ยังมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งอยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีพอที่จะช่วยเหลือได้

กร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกแห่งพรรคชาติไทยในขณะนั้น คือ ผู้ดูแลเรื่องของการบริหารงานของบีโอไอที่ปูนใหญ่ยื่นเรื่องของส่งเสริมการลงทุน โดยให้ตัวเลขถึงความต้องการกระจกในประเทศว่ายังมีความต้องการเหลืออยู่สำหรับโรงงานที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ในอนาคต ขณะเดียวกันการ์เดียนแห่งอเมริกาก็พร้อมที่จะดูเรื่องการส่งออก

"ความคิดของคุณกรเริ่มมองเห็นที่จะให้มีการหนุนการลงทุนของการ์เดียน เพราะในการไปเยือนอเมริกาของนายกชาติชาย นายโรเบิร์ต มอสลาเซอร์ รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐอเมริกาก็พูดเรื่องนี้กับคุณกร" แหล่งข่าวที่รู้เรื่องกล่าว

ว่ากันว่า ในยุคที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานบีโอไอโดยตำแหน่งนั้น โครงการของปูนวิเมนต์ไทยที่ยื่นต่อบีโอไอ ไม่เคยได้รับการปฏิเสธ เพราะในคณะกรรมการบีโอไอ (ชุดดังกล่าว) มี "ผู้ใหญ่" ที่ปุนซิเมนต์ไทยน่าจะได้รับความช่วยเหลืออยู่ 2 คน คือ สมหมาย ฮุนตระกูล และบุญมา วงศ์สวรรค์ ซึ่งต่างก็เคยเป็นอดีต รมต.คลัง และอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ไทยทั้งคู่

สมบัติ พานิชชีวะ ยังให้ความเห็นว่า เขาเชื่อว่า คณะกรรมการบีโอไอคงจะให้การส่งเสริมการลงทุนโครงการนี้อย่างแน่นอนเพราะ… "เขามีเส้นสายในบีโอไอ"

แต่การเปลี่ยนนายกฯ จากพลเอกเปรม มาเป็นพลเอกชาติชายในปี 2531 ความหวังของกระจกไทย-อาซาฮียังพอมีอยู่บ้าง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการในบีโอไอหลายคน รวมทั้งสมหมายและบุญมาก็พ้นตำแหน่ง ซึ่งปูนซิเมนต์ไทยเองก็คงจะรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพรรคชาติไทยกับ "ศรีเฟื่องฟุ้ง-พานิชชีวะ" ดังนั้น ปูนซิเมนต์ไทยจึงไม่มีการเคลื่อนไหวอะไร ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นหน้าที่ของการ์เดียนอินดัสตรีแห่งอเมริกาทำหน้าที่ล้อบบี้

ในวันที่ 28 เมษายน 2532 ดาเนียล โอ. ดอนโนฮิว เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย (ขณะนั้น) ได้มีหนังสือถึงกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีผู้ดูแลสำนักงนบีโอไอ เพื่อขอให้มีการพิจารณาเรื่องส่งเสริมการลงทุนโรงงานกระจกที่จะมีการร่วมทุนระหว่างบริษัทปูนซิเมนต์ไทย กับบริษัทการ์เดียนอินดัสตรีของสหรัฐอเมริกา โดยในหนังสือให้เหตุผลว่า การให้การส่งเสริมการลงทุนที่กำหนดให้มีการส่งออกครึ่งหนึ่งนั้นจะไม่ทำให้กระจกที่ผลิตออกมาล้นตลาดในประเทศอย่างแน่นอน

การมีจดหมายของฑูตอเมริกาถึงรัฐมนตรีกรในครั้งนั้นก็เนื่องจากในเดือนมีนาคม โครงการร่วมทุนดังกล่าวได้ถูกยื่นเรื่องขอรับการส่งเสริมการลงทุน แต่ยังไม่ได้มีการพิจารณา และบรรหารก็แย่งชิงโอกาสด้วยการออกประกาศห้ามตั้งและขยายโรงงานก่อน

นั่นหมายความว่า การยื่นขอส่งเสริมบีโอไอไม่มีทางเป็นไปได้แน่นอนในสถานการณ์นั้น สหรัฐอเมริกาจึงต้องวิ่งโดยผ่านฑูตด้วยตนเอง เพื่อขอให้มีการพิจารณาใหม่

"การ์เดียนนั้น ไม่ได้เป็นบริษัทใหญ่มากก็จริง แต่คือผู้สนับสนุน (อดีต) ประธานาธิบดีจอร์ช บุช ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา" คนในวงการเล่าให้ฟัง

ขณะเดียวกัน ไทย-อาซาฮีเองก็ไม่ได้นิ่งเฉยเรื่องนี้ จึงมีการยื่นเรื่องขอส่งเสริมการลงทุนด้วยการตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่อันเป็นการชิงตลาดกับปุนใหญ่อีกรูปแบบ

ในที่สุด กระจกสยามการ์เดียนก็สามารถที่จะตั้งโรงงานได ภายหลังจากที่พลเอกชาติชายนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา และได้พบกับ (อดีต) ประธานาธิบดีจอร์ช บุช ในเดือนมิถุนายน 2533

"รัฐบาลไทยพยายามที่จะดำเนินการในเรื่องที่อเมริกาขอร้อง เช่น การตั้งโรงงานกระจกของการ์เดียนในไทย…" ดร.สุวิทย์ ยอดมณี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรัฐบาลพลเอกชาติชาย กล่าวแถลงภายหลังการกลับจากการเดินทางไปเยือนอเมริกาของนายกชาติชาย ท่ามกลางความเชื่อกันว่า หากไทยไม่ยินยอมที่จะดำเนินการตามคำขอร้องของฝ่ายอเมริกา รัฐบาลอเมริกาก็อาจจะมีการนำมาตรการ 301 มาใช้กับไทย อันดูจะกลายเป็นมาตรการที่ใช้ได้เสมอในยามที่สหรัฐอเมริกาต้องการที่จะให้ไทยดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามข้อเสนอแม้กระทั่งในวันนี้

แต่ในที่สุด ในเดือนกรกฎาคม 2533 การร่วมทุนระหว่างบริษัทปูนซิเมนต์ไทย กับบริษัทการ์เดียนอินดัสตรี เพื่อตั้งบริษัทกระจกสยามการ์เดียน ด้วยทุนจดทะเบียน 950 ล้านบาท และวงเงินลงทุนสำหรับผลิตที่โรงงานในเขตอุตสาหกรรมเครือซิเมนต์ไทย อำเภอหนองแค สระบุรี ประมาณ 3,000 ล้านบาทก็เป็นผลสำเร็จ

ประวัติศาสตร์จะต้องบันทึกเอาไว้อย่างหนึ่งว่า การเกิดขึ้นมาของกระจกสยามการ์เดียนนั้น ถือว่า "ไม่ธรรมดา" เพราะถึงขั้นมีการเปลี่ยนรัฐมนตรี โดยบรรหารไปดูแลกระทรวงมหาดไทย ขณะที่ พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร กลับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อ "ผ่าน" โครงการของกระจกสยามการ์เดียน ด้วยการออกประกาศกระทรวงฉบับใหม่ ห้ามตั้งโรงงานกระจกแค่ 3 ปี คือ ระหว่างปี 2532-2535 แทนที่จะห้ามถึงปี 2537 ตามประกาศเดิม

3 ปีภายหลังการตั้งบริษัทโรงงานกระจกใหม่ล่าสุดของประเทศที่มีกำลังการผลิตปีละ 131,000 ตันก็เริ่มดำเนินการในปี 2536 นี้เอง อันเป็นการเปิดสงครามกระจกอย่างเป็นทางการ

สงครามครั้งนี้…แน่นอน ต่างก็แพ้ไม่ได้ !!!

สำหรับปูนใหญ่แล้ว การเตรียมตั้งโรงงานกระจกมูลค่า 3,000 ล้านบาทในครั้งนี้ พวกเขาถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

แหล่งข่าวในปูนซิเมนต์ไทย อรรถาธิบายให้ฟังถึงเรื่องการที่ปูนซิเมนต์ไทยยื่นเรื่องที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมกระจกว่า มาจากเหตุผลหลัก 2 ประการ คือ ประการแรก ในบรรดาวัสดุก่อสร้างมีเพียงกระจกเท่านั้นที่ปูนซิเมนต์ไทยยังไม่ลงทุน ในขณะที่แนวโน้มความต้องการและการใช้มีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เพราะอาคารต่าง ๆ จะเริ่มหันมาใช้กระจกมากขึ้น ทั้งเพื่อความสวยงามแะลเพื่อความประหยัด

สบสันติ์ เกตุสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ผู้ดูแลโครงการนี้ และเป็นประธานกระจกสยามการ์เดียน กล่าวถึงการตั้งโรงงานกระจกแห่งนี้ขึ้นมาว่า เป็นเพราะเครือซิเมนต์ไทยศึกษาพบว่า กระจกมีความต้องการสูงกว่าการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง

"เราตั้งกระจกสยามการ์เดียนขึ้นมาเพื่อเป็นการขยายฐานทางธุรกิจ" สบสันติ์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ในวันเปิดตัวที่โรงแรมฮิลตัน อินเตอร์เนชั่นแนลบางกอก ณ ปาร์คนายเลิศและย้ำว่า การร่วมทุนกับการ์เดียนนั้น จะช่วยในเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยได้ดี

ประการต่อมาก็คือ ปูนซิเมนต์ไทยเริ่มเข้ามาในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์มากขึ้น ทั้งมีการลงทุนในชิ้นส่วนเครื่องยนต์ จนถึงเครื่องยนต์ที่ยังไม่นับรวมถึงยางรถยนต์ แบตเตอรี่ ดังนั้นในอนาคตปูนซิเมนต์ไทยยังใฝ่ฝันที่จะก้าวเข้าไปยังอุตสาหกรรมรถยนต์แบบครบวงจร ด้วยการเป็นผู้ผลิตกระจกรถยนต์ด้วย แม้จะต้องใช้เวลานานก็ตาม (อุตสาหกรรมผลิตกระจกรถยนต์ของการ์เดียนก็นับเป็นแผนกที่มีชื่อเสียงแผนกหนึ่งของกลุ่มการ์เดียน)

ความมุ่งมั่นของปูนใหญ่เรื่องกระจกจึงไม่ได้เป็นเรื่องเล็ก ๆ

"เรามีแผนงานที่จะผลิตกระจกทุกแบบในอนาคต ทั้งเพื่อการก่อสร้างและเพื่ออุตสาหกรรมรถยนต์" เจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการฝ่ายของปูนซิเมนต์ไทยคนหนึ่งกล่าว

ทั้ง ๆ ที่อุตสาหกรรมนี้ พวกเขาเชื่อว่า สามารถที่จะแทรกตลาดซึ่งมีการผูกขาดมานานได้ยาก มิหนำซ้ำการลงทุนในครั้งนี้เป็นการลงทุนที่ทำให้ปูนซิเมนต์ไทยจะมีปัญหาในการดำเนินงานของตนเองด้วย

ต้นปีที่ผ่านมา เรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาเรื่องหุ้นของปูนใหญ่จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก !!

โดยเฉพาะเรื่องผลการดำเนินงาน !!!

"เงินกำไรหายไปกว่า 400 ล้านบาท…"

นั่นคือ สรุปใจความเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับหุ้นบริษัทปูนซิเมนต์ไทยในการรายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2535 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคมนี้

เป็นเรื่องที่นักลงทุนเสียความรู้สึกอย่างยิ่งกับผลการดำเนินงานของปูนใหญ่ อันได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือสูงที่ผลการดำเนินงานไม่ตรงกับการประมาณการเบื้องต้นของผู้ตรวจสอบบัญชี

ทั้งนี้ รายละเอียดก็คือ ผลกำไรสุทธิของปูนซิเมนต์ไทยในงบการเงินประจำปี 2535 ฉบับก่อนผ่านการสอบทาน ระบุว่ามีกำไร 3,981,470,000 บาท แต่ปรากฏว่า กำไรสุทธิในงบการเงินฉบับตรวจสอบแล้ว กำไรสุทธิลดลงเหลือเพียง 3,562,109,000 บาท หรือวงเงินที่หายไปจำนวน 419,370,000 บาท หรือกว่า 10% ของประมาณการ

วงเงิน 400 ล้านบาทนั้นไม่น้อยเลยกับผลการดำเนินงานของบริษัท !!!

จึงเป็นปริศนาได้ว่า ปูนซิเมนต์ไทยยังสนใจจะอุ้มสยามการ์เดียนนานแค่ไหน ?

เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเอสจีวี ณ ถลาง ซึ่งสำนักงานตรวจสอบบัญชีของปูนซิเมนต์ไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เหตุผลที่งบการเงินฉบับตรวจสอบ มีกำไรลดลงมากว่า 400 ล้านบาทนั้นก็เนื่องจากมีการตั้งสำรองเผื่อมูลค่าหุ้นของบริษัทย่อยที่เปิดดำเนินการใหม่ในช่วงปลายปี 2535 และคาดว่าจะขาดทุน เช่น บริษัทสยามการ์เดียน บริษัทไทล์เซอราอิงค์ บริษัทเหล็กก่อสร้างสยาม เป็นต้น

กรณีดังกล่าว นับเป็นนัยยะของการให้ความสำคัญมากของปูนซิเมนต์ไทย กับการประกาศว่าเป็นนโยบายในการให้บริษัทในเครือสามารถที่จะอยู่รอดในตลาดการแข่งขัน ดังเช่นทั้ง 3 บริษัทข้างต้น

ในกรณีของไทล์เซอราอิงค์ นั่นเป็นบริษัทแรกของปูนซิเมนต์ไทยในการขยายขอบข่ายการลงทุนไปต่างประเทศ (สหรัฐอเมริกา) ด้วยการร่วมทุนกับบริษัทของอิตาลี ระยะเวลาที่ผ่านมา 2-3 ปีที่ยังไม่สามารถที่จะสร้างกำไร จึงไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับปูนใหญ่ในการปักฐานของการลงทุนในต่างประเทศ

ในส่วนของเหล็กก่อสร้างสยาม ซึ่งเพิ่งตั้งโรงงานที่มาบตาพุดเพื่อผลิตเหล็กเส้นก็เป็นอีกบริษัทที่ปูนใหญ่จำเป็นที่จะต้องหนุนต่อไป ไม่ว่าจะขาดทุนเท่าไร เพราะเป็นบริษัทผู้ผลิตเหล็กก่อสร้างที่ใหญ่มากแห่งหนึ่ง รวมทั้งจะเป็นฐานในการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งปูนใหญ่มองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคตมาก ดังจะเห็นได้จากการขยายโรงปูนซิเมนต์ของเครือซิเมนต์ไทยในภูมิภาคต่าง ๆ

เช่นเดียวกับสยามการ์เดียนปูนซิเมนต์ไทยย่อมไม่ปล่อยให้อ้างว้างแน่นอน ในยามที่การขยายสินค้าวัสดุก่อสร้างของเครือมีมากและการเข้าไปในอุตสาหกรรมยานยนต์ของปุนใหญ่ยังมีมาก การทุ่มในเรื่องอุตสาหกรรมกระจกของปูนใหญ่จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลและสมควรอย่างยิ่ง

คนในเครือซิเมนต์ไทย อรรถาธิบายให้ฟังว่า ปูนใหญ่มองว่า อุตสาหกรรมกระจกกำลังจะกลายเป็นวัสดุก่อสร้างตัวสำคัญของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย

"ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมกระจกถูกผูกขาด บางครั้งขาดแคลนจนไม่สามารถที่จะนำมาใช้ในงานก่อสร้างได้เต็มที่อย่างที่วางแผนไว้" สถาปนิกรายหนึ่งกล่าวเสริมให้เห็นถึงความต้องการกระจกในอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทยที่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนในบางช่วง พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นว่า ที่ผ่านมาก็มีการนำกระจกมาใช้ในงานก่อสร้างมากมาย อย่างเช่นอาคารการบินไทย อาคารธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย เป็นต้น

"ความต้องการกระจกในงานก่อสร้างมีมากจริง ๆ เพราะสร้างความสวยงามและประหยัดกว่าวัสดุก่อสร้างบางตัว" สถาปนิกคนเดิมให้ความเห็นซึ่งตรงกับที่ดุสิต นนทะนาคร กรรมการผู้จัดการกระจกสยามการ์เดียนที่กล่าวว่า เขามองเห็นว่าความต้องการกระจกในอุตสาหกรรมก่อสร้างมีมากกว่าที่คาดจริง ๆ

นั่นหมายความว่า ปูนซิเมนต์ไทยมองเห็นแล้วว่า อุตสาหกรรมกระจกเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่มีอนาคตดีมาก และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในเรื่องการลงทุน แม้ว่าอาจจะขาดทุนนานถึง 5 ปีก็ตาม

"ผมเชื่อว่า อุตสาหกรรมกระจกเป็นอุตสาหกรรมที่ปูนซิเมนต์ไทยตัดสินใจไม่ผิด เพราะในระยะยาวแล้ว อุตสาหกรรมนี้ดีแน่ เพราะโครงการก่อสร้างยังจะมีอย่างต่อเนื่อง" ดุสิต นนทะนาคร กล่าวเมื่อคราวนำคณะสื่อมวลชนชมโรงงานที่สระบุรี พร้อมทั้งยอมรับว่า 2-3 ปีแรกนั้น กระจกสยามการ์เดียนขาดทุนแน่นอน

"ช่วงแรกเราขาดทุนแน่นอนประมาณปีที่ 3 หรือ 4 เราจึงจะเริ่มคุ้มทุน แต่ระยะยาวแล้วดีแน่นอน"

ความจริงจังที่จะทำธุรกิจอุตสาหกรรมกระจกของปูนซิเมนต์ไทยนี้ เห็นได้ชัดเจนดังคำประกาศในวันเปิดตัวของโรงงานที่ว่า บริษัทพร้อมที่จะขายสินค้าในราคาต่ำประมาณ 3 ปี เพื่อให้สินค้าติดตลาดและอยู่รอดต่อไป

แต่ไม่ได้หมายความ กระจกสยามการ์เดียนจะขายราคาต่ำกว่าคนอื่น โดยเฉพาะรายเดิมที่ขายอยู่แล้ว เพียงแต่จะเน้นการขายเพื่อเป็นการวางฐานในสินค้าที่ปูนใหญ่มองว่าเป็นสินค้าในอนาคต

"การลดแลกแจกแถมยังเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ง่ายที่สุดในการเจาะตลาดสำหรับสินค้าใหม่" นักการตลาดให้คอมเมนต์ขณะที่เสริมว่า ยิ่งหากเข้าเจาะตลาดที่มีการผูกขาดมานาน การลดแลกแจกแถมดังกล่าวจะต้องมากกว่าการเจาะตลาดทั่วไป

แต่อย่างไรก็ตาม ดุสิตกล่าวว่า กระจกสยามการ์เดียนจะไม่ใช้กลไกด้านราคาเป็นตัวกำหนดเพราะเขาเชื่อว่า การลดราคานั้นเป็นหนทางสุดท้ายที่จะเข้าตลาดได้ ซึ่งหมายความว่า หากจำเป็นจริง ๆ กระจกสยามการ์เดียนก็จะใช้ราคาเป็นเครื่องมือในการเจาะตลาดกระจก

"เราเน้นเรื่องการขยายเครือข่ายมากกว่า" กรรมการผู้จัดการกระจกสยามการ์เดียนกล่าวขณะที่เชื่อกันว่า เครือข่ายวัสดุก่อสร้างของปูนซิเมนต์ไทยกว่า 600 รายทั่วประเทศ คงจะไม่สามารถที่จะช่วยเหลือกระจกสยามการ์เดียนได้มากนัก เพียงแต่การที่กระจกสยามการ์เดียนเป็นหนึ่งในเครือข่ายของปูนซิเมนต์ไทยก็เป็นประโยชน์มาก เพราะเป็นที่เชื่อกันว่าสินค้าในเครือซิเมนต์ไทยเป็นิสนค้าที่มีคุณภาพ

ดุสิตยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่า เขาเชื่อว่า กระจกสยามการ์เดียนสามารถที่จะติดตลาดได้ในเวลา 5 ปี ซึ่งนับว่าเร็วมากสำหรับสินค้าที่จะต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันทั้งผู้ที่เคยผูกขาดในประเทศ และจากคู่แข่งต่างประเทศ อย่างเช่น อินโดนีเซียที่มีข่าวว่ามีการส่งเข้ามาดัมพ์ราคาในไทยแล้ว

ปูนใหญ่เปิดเกมส์รุก มีหรือที่ไทย-อาซาฮีจะตั้งรับเพียงฝ่ายเดียว

ประสบการณ์ 30 ปีในการเป็นเจ้าตลาดกระจกของไทย-อาซาฮี จึงถูกนำมาใช้ในงานนี้อย่างเต็มที่

"แผนงานขั้นแรกของเราก็คือ การเพิ่มตัวแทนจำหน่ายและขยายคลังสินค้าทั่วประเทศ โดยเฉพาะในหัวเมืองใหญ่ ๆ " ชาติชาย พานิชชีวะ กรรมการบริหารกระจกไทย-อาซาฮี กล่าวถึงการเตรียมตัวของบริษัทเพื่อรับการเข้ามาของกระจกสยามการ์เดียน ที่กระจกไทย-อาซาฮีมองว่า ยังไงการแข่งขันระหว่าง 2 ค่ายยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมกระจกตะวันตกกับตะวันออก จะเป็นการแข่งขันเรื่องการตลาดมากกว่าคุณภาพที่ไม่ต่างกันมาก

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ปูนใหญ่รู้อยู่แล้วว่า จะต้องเกิดขึ้น และดุสิตก็เชื่อว่า เป็นเรื่องที่ทำให้ฝ่ายบริหารหนักใจมาก "เราเสียเปรียบเพราะเขาอยู่ในธุรกิจนี้มา 30 ปีแล้ว เมื่อเราเข้ามาก็เหมือนถูกบังคับให้วิ่งทั้ง ๆ ที่เรายังไม่เริ่มหัดเดินเลย"

แผนการตลาดของกระจกสยามการ์เดียน จึงเป็นแผนเดียวกับไทย-อาซาฮี คือ การขยายเครือข่ายตลาดด้วยการตั้งเอเย่นต์กระจกขึ้นมารองรับตลาดในทุกภูมิภาค โดยมีการเปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้ตั้งผู้แทนจำหน่ายแล้วจำนวน 33 รายเพื่อกระจายสินค้าที่เริ่มผลิตมาตั้งแต่ต้นปี โดยแบ่งเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล 10 ราย ภาคเหนือ 7 ราย ภาคกลาง 6 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 ราย และภาคใต้ 6 ราย

เครือข่ายเอเย่นต์ 33 รายนี้ กฤช กุลเนตุ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดกระจกสยามการ์เดียน อรรถาธิบายว่า น่าจะเพียงพอในการทำตลาดในระยะเริ่มต้น

แต่ขึ้นชื่อว่าสงครามไม่ว่าสมรภูมิไหนก็ย่อมเป็นสงคราม !??

การได้มาของเอเย่นต์แต่ละราย จึงเป็นเรื่องยากมาก เพราะหลายรายเคยเป็นผู้ค้ากระจกมาก่อน จึงถูกปฏิเสธจากผู้ผลิตรายเดิมในการส่งสินค้าให้ระหว่างที่รอสินค้าจากกระจกสยามการ์เดียน

การแย่งชิงเอเย่นต์กระจกจึงเกิดขึ้นจนได้ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ใต้ ตะวันออก หรือตะวันตก ดังเช่นเรื่องที่เกิดขึ้นในภาคเหนือที่กระจกไทยอาซาฮี ปฏิเสธที่จะส่งสินค้าให้กับเอเย่นต์ที่จำหน่ายกระจกของการ์เดียน

"เราไม่ได้บังคับ แต่เป็นการขอร้องมากกว่า" ชาติชาย พานิชชีวะ กล่าวพร้อมทั้งเปิดเผยตัวเลขว่า บริษัทได้ตั้งเอเย่นต์เพิ่มอีก 22 รายทั่วประเทศ เพื่อรองรับการทำตลาดของกระจกสยามการ์เดียนพร้อมทั้งเพิ่มคลังสินค้าเพื่อสำรองผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 ภาค

แผนงานดังกล่าวของกระจกไทย-อาซาฮีนั้น เป็นแผนที่วางไว้ในระยะเวลา 8 ปี แต่เพราะการรุกตลาดของปูนใหญ่ แผนงานนี้จึงถูกเร่งเร็วขึ้นมา 2 ปี

คนที่หนักใจตอนนี้จึงกลายเป็นกระจกสยามการ์เดียน เพราะจะต้องเปิดศึกทั้งในและต่างประเทศ มิหนำซ้ำในตลาดในประเทศนั้นกระจกสยามการ์เดียนจะต้องเจอทั้งผู้ผลิตในและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากอินโดนีเซียที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย

ผู้บริหารบริษัทนำเอกค้ากระจก ผู้ผลิตกระจกรายใหญ่ของภาคใต้ด้วยการนำกระจกจากผู้ผลิตมาเพิ่มมูล กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงการมีกระจกสยามการ์เดียนขึ้นมาว่า เป็นเรื่องดีที่ผู้บริโภคสามารถที่จะเลือกซื้อจากผู้ผลิตรายอื่น

"การเปลี่ยนตลาดจาก MONOPOLY มาเป็นการแข่งขันย่อมดีกว่าเดิม เพราะเรามีทางเลือกมากขึ้นในการซื้อสินค้า" ผู้บริหารคนเดิมกล่าว

ปัญหาตลาดต่างประเทศ ซึ่งกระจกสยามการ์เดียนจะต้องส่งออก 50% ของกำลังการผลิตหรือจำนวนปีละ 65,000 ตันนั้น ไม่น่าจะเป็นปัญหามาก เพราะการ์เดียนจะเป็นผู้ช่วยในเรื่องการจำหน่ายด้วยเครือข่ายจำนวน 13 แห่งทั่วโลก

"ตลาดต่างประเทศ คงจะเป็นสิงคโปร์และฮ่องกงมากที่สุด รองมาก็เป็นอินโดนีเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เป็นต้น" ดุสิตกล่าวถึงตลาดเป้าหมายของกำลังการผลิตครึ่งหนึ่งของโรงงานที่เขาอาจจะต้องแข่งขันกับการ์เดียนอินเดียในบางตลาดที่อินเดียเป็นผู้ส่งออกอยู่เดิม ส่วนตลาดในอินโดจีนที่มีอนาคตนั้นจะให้ค้าสากลซิเมนต์เป็นผู้ดูแลให้เนื่องจากมีความพร้อมและความชำนาญในเรื่องการขาย รวมทั้งเพิ่งตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศขึ้นในกรุงพนมเปญ ด้วยการร่วมทุนกับรัฐวิสาหกิจของกัมพูชา

เป็นการประกาศว่า อุตสาหกรรมกระจกนั้นสำหรับเครือซิเมนต์ไทยแล้ว พวกเขาจะรุกในเรื่อง "การตลาด" มากกว่า "การผลิต" ที่จะเป็นหน้าที่ของการ์เดียนแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเจ้าของโนว์อาว อันเป็นความเหมาะสมยิ่งที่คณะจัดการปูนซิเมนต์ไทยเลือกดุสิตมารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เนื่องจากเคยผ่านงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการค้าสากลซิเมนต์ (SCT) มาก่อน

แต่ปัญหาก็คือ ที่ผ่านมานั้น เครือซิเมนต์ไทยค่อนข้างที่จะผิดหวังกับงานด้านการค้าของเครือมาโดยตลอด ถึงขั้นตัดสินใจขายหุ้นในบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลเอ็นจิเนียริ่ง (IEC) ให้กับผู้บริหารที่ตัดสินใจลาออกมาดำเนินงานต่อ

อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของคนปูนซิเมนต์ไทยในเรื่องกระจกก็ยังมี ด้วยเหตุผลที่อรรถาธิบายได้ว่า การตลาดของกระจกนั้น แม้จะไม่เหมือนกับงานขายวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ซึ่งปูนใหญ่ประสบความสำเร็จมาโดยตลอด แต่ก็ไม่แตกต่างกันนักเพราะถือได้ว่า เป็นสินค้าวัสดุก่อสร้างชนิดหนึ่งเพียงแต่เป็นสินค้าพิเศษที่ต่างกับปูนซิเมนต์ เหล็ก หรือเครื่องสุขภัณฑ์เท่านั้น

ประการที่สองก็คือ งานการตลาดกระจกครั้งนี้ ปูนซิเมนต์ไทยแม้จะไม่ใช่ผู้ดูแลเรื่องการผลิตทั้งหมด แต่ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ พวกเขาจะรับรู้เรื่องการผลิตได้ตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพหรือเรื่องปริมาณ ทำให้สามารถที่จะวางแผนการตลาดได้ง่าย รวมทั้งเรื่องระบบสต็อคหรือการขนส่ง ซึ่งต่างจากบริษัท IEC ที่พวกเขาขายสินค้าที่ไม่ได้ผลิตเอง

ความแตกต่างตรงนี้ เอเย่นต์ใหญ่รายหนึ่งให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า เป็นเหตุผลที่ทำให้เขากล้าที่จะขายกระจกของสยามการ์เดียน ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าสินค้าจะออกมาดีหรือไม่ แต่เขาเชื่อว่า ชื่อเสียงของปูนซิเมนต์ไทย คือ หลักค้ำประกันอย่างดี มิหนำซ้ำ กระจกก็ถือว่าเป็นวัสดุก่อสร้างตัวหนึ่งที่แม้จะเป็นชนิด "พิเศษ" ที่ต่างจากวัสดุก่อสร้างตัวอื่น แต่เขาก็เชื่อว่า ปูนซิเมนต์ไทยสามารถที่จะดูแลเอเย่นต์ได้อย่างที่ปูนใหญ่เอาใจใส่เอเย่นต์ปูนซิเมนต์และวัสดุก่อสร้างทั้ง 600 รายได้ดี

ในเรื่องนี้ แหล่งข่าวในกระจกสยามการ์เดียน อธิบายถึงการให้บริการว่า จะมีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อประสานงานด้านการขาย การผลิต และการควบคุมสินค้าตามระบบที่การ์เดียนใช้ทั่วโลก อันเป็นเหตุที่พวกเขาเชื่อว่า แม้จะเพิ่งตั้งบริษัทแต่การขายสินค้าพวกเขาคงจะสามารถที่จะต่อกรกับผู้ชำนาญการในวงการได้ดี

สิ่งสำคัญที่เป็น "ความแตกต่าง" ระหว่างการทำตลาดของทั้ง 2 บริษัท คือ กระจกสยามการ์เดียน และกระจกไทย-อาซาฮีก็คือ การมองความเป็นสินค้าที่ต่างกัน !!!

กล่าวคือ สำหรับปูนซิเมนต์ไทยแล้ว กระจกจากสยามการ์เดียน พวกเขาจะมองเป็นวัสดุก่อสร้างตัวหนึ่ง ดังนั้น การทำตลาดแม้จะไม่เหมือนกับวัสดุก่อสร้างตัวอื่น ๆ แต่พวกเขาก็มองว่า เป็นการทำตลาดวัสดุก่อสร้างชนิดพิเศษในตลาดวัสดุก่อสร้าง ซึ่งตรงนี้คือความได้เปรียบของทีมบริหารปูนซิเมนต์ไทย ที่มักจะกล่าวย้ำเสมอว่า พวกเขาจะทำในสิ่งที่เขาถนัดในไม่กี่ประเภทที่จะครอบคลุมอยู่ในส่วนของวัสดุก่อสร้างและบรรจุภัณฑ์

การขายกระจกของปูนใหญ่จึงเป็นเหมือนการขายวัสดุก่อสร้างตัวหนึ่งที่พวกเขามีความชำนาญอยู่แล้ว จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่ผู้บริหารปูนใหญ่ผู้เริ่มโครงการนี้ คือ พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ จะกล่าวย้ำว่า ตลาดกระจกมีการขยายตัวและความต้องการมากกว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้าง

อันแตกต่างจากกระจกไทย-อาซาฮี ที่มองว่า การขายกระจกของบริษัทก็คือการขายกระจกเท่านั้น !!!

แต่ดุสิตก็ยืนยันว่า เขายังมองว่า การแข่งขันของเขาอยู่ในตลาดการขายกระจกที่ต้องแข่งกับผู้ค้ารายเดิมที่เป็นผู้ผูกขาดมานาน "เราขายสินค้าก่อสร้างในตลาดกระจก เราต้องรู้ว่า เราแข่งกับใครในตลาดไหนเพื่อไม่ให้หลงทาง"

เมื่อความคิดในเรื่องตลาดต่างกัน แนวคิดและกลยุทธ์การขายก็จึงแตกต่างกัน กล่าวคือ ปูนซิเมนต์ไทยมองว่า ตลาดกระจกที่เป็นหนึ่งในสินค้าวัสดุก่อสร้างนั้นเป็นสินค้าที่มีการขยายตัวในต่างจังหวัดมาก เอเย่นต์ของกระจกสยามการ์เดียนในตอนเริ่มแรกจึงเน้นการขยายเครือข่ายในต่างจังหวัดและชานเมืองมากกว่าในกรุงเทพฯ

"ที่ผ่านมา การขายกระจกยังเน้นเอเย่นต์ในกรุงเทพฯ แล้วให้เอเย่นต์ส่งต่อต่างจังหวัด แต่เราหันมาใช้การตั้งเอเย่นต์ในต่างจังหวัด เพราะเชื่อว่าตลาดต่างจังหวัดดี และเอเย่นต์ก็เข้าใจพื้นที่และตลาดดีกว่า" ดุสิตกล่าว

ที่สำคัญก็คือ แม้จะไม่เป็นเครือข่ายในเอเย่นต์ปูนซิเมนต์ไทย แต่ข้อมูลจากปูนใหญ่สามารถที่จะช่วยกระจกสยามการ์เดียนได้เป็นอย่างดี

กรรมการผู้จัดการกระจกสยามการ์เดียน กล่าวว่า ตลาดกระจกนั้นผูกพันกับการก่อสร้างมาก โดยหลังจากงานก่อสร้างเริ่มต้นแล้ว 6 เดือน งานการตลาดกระจกก็จะตามมา

การนำงานตลาดกระจกไปอิงกับงานการขายวัสดุก่อสร้างตัวอื่น จึงเป็นงานท้าทายทีมบริหารกระจกสยามการ์เดียนเป็นอย่างยิ่ง

งานนี้จึงเป็นการพิสูจน์สายงานการค้าของปูนซิเมนต์ไทยครั้งสำคัญ

เพราะหากล้มเมื่อไร คู่แข่งก็ถือกระจกรอที่จะเชือดอยู่แล้ว ?!!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.