ลืมแล้ว “เชียงอินทร์”... เหลือเพียง “D2 เชียงใหม่”

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

กว่า 5 ปีที่ “โรงแรม D2” แห่งแรกบนถนนช้างคลานของเครือดุสิตเปิดให้บริการ ทุกวันนี้ “D2” กลายเป็นโรงแรมในใจของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่ตั้งใจไปพักในเมืองเชียงใหม่ พร้อมกับภาพและชื่อ “เชียงอินทร์” อดีตโรงแรมชื่อดังของเชียงใหม่ที่ค่อยๆ ถูกลืมเลือน ด้วยการตกแต่งและบริการที่ทันสมัยของ D2

โรงแรมสไตล์ลอฟต์เน้นโทนสีส้มสดใส ทำให้อาคารแลดูทันสมัย โรงแรม “D2” ตั้งตระหง่านอยู่บนถนนช้างคลาน ถนนที่ได้ชื่อว่ามีกระแสเงินสดจากการท่องเที่ยวสะพัดมากที่สุด ย่านหนึ่งของเชียงใหม่ โรงแรมยิ่งถูกขับให้ดูโดด เด่นขึ้นเมื่อตั้งอยู่ในทำเลท่ามกลางโบราณสถาน สำคัญของเมืองเชียงใหม่ ประตูท่าแพ และไนท์บาร์ซา

ภายในล็อบบี้เพดานสูง ดูสะดุดตาด้วยเฟอร์นิเจอร์หวายทรงสวย และของประดับสีส้ม รวมทั้งดอกไม้ประดับเก๋ไก๋ เข้ากันกับความกิ๊บเก๋ ของเวลคัมดริงค์ที่เสิร์ฟมาในแก้วทรงแปลกที่ก้นแก้วไม่เรียบทำให้แก้วหมุนไปหมุนมาอยู่บนโต๊ะกระจกตลอดเวลา

ยิ่งเมื่อบวกกับอายุเฉลี่ยลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ ภาพบรรยากาศเหล่านี้ก็แทบจะทำให้หลายคนลืมไป เลยว่า D2 ตั้งอยู่บนโครงสร้างตึกเดิมของอดีตโรงแรมชั้นนำของเชียงใหม่ที่ชื่อ “เชียงอินทร์”

นอกจากโรงแรมเชียงอินทร์ บริเวณติดกันยังมีอดีตศูนย์การค้าชื่อดังของเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ ศูนย์การค้าเชียงอินทร์ (เดิม) หรือที่นักท่องเที่ยวมักคุ้นเคยในชื่อ “เชียงอินทร์ พลาซ่า” โดยทั้งโรงแรมและศูนย์การค้าถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งในพอร์ตอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของตระกูล “กิติบุตร” ตระกูลเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่

สำหรับศูนย์การค้าเชียงอินทร์ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “เดอะพลาซ่า เชียงใหม่” และถูกเปลี่ยนมือกลายมาเป็นสินทรัพย์ของ “เสี่ยเจริญ” เจ้าสัวแห่งเบียร์ช้าง ขณะที่โรงแรมเชียงอินทร์ก็ถูกขายให้กับกลุ่มดุสิตเพื่อเปลี่ยนเป็น “D2” ทุกวันนี้ ตั้งแต่หลายปีก่อนนั้น

ประวัติการก่อสร้างโรงแรมเชียงอินทร์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2514 โดยมีสถาปนิกผู้ออกแบบ ได้แก่ จุลทัศน์ กิติบุตร ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประยุกต์ศิลป์) สาขาย่อยสถาปัตยกรรม (แบบร่วมสมัย) แห่งปี 2547 โดยเริ่มเปิดให้บริการในปี 2517 ว่ากันว่า ในช่วงเริ่มต้นกลุ่ม

กิติบุตรได้เปิดโอกาสให้กลุ่มว่องกุศลกิจเช่าที่ดินตรงนี้เพื่อก่อสร้างและดำเนินกิจการโรงแรมเชียงอินทร์แห่งนี้

ด้วยความใหญ่โตโอ่อ่าของตัวสถาปัตยกรรม จึงไม่แปลกที่ในยุคนั้น โรงแรมเชียงอินทร์ จะกลายเป็นโรงแรมชั้นนำชื่อดังของเมืองเชียงใหม่ แต่เมื่อผ่านกาลเวลาไปหลายสิบปีชื่อเสียง ของโรงแรมเชียงอินทร์ดูจะค่อยๆ ถูกลบเลือนออกจากใจนักท่องเที่ยว

และแทบไม่เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักท่องเที่ยวยุคหลังที่มีความต้องการมากกว่า และมอง “โรงแรม” เป็นมากกว่าแค่ที่ซุกหัวนอนในแต่ละคืน

ด้วยทำเลบนถนนช้างคลานที่ถือว่ามีศักยภาพอย่างสูง กลุ่มดุสิตจึงตัดสินใจอย่างไม่ลังเลในการทุ่มทุนร่วม 600 ล้านบาท เพื่อซื้อโรงแรมเชียงอินทร์เดิมและนำมาปรับปรุงใหม่เกือบ ทั้งหมด โดยใช้ทีมงานมืออาชีพอย่าง “P49” เข้ามาช่วยดูแลในการก่อสร้างและตกแต่งใหม่ โดยใช้โครงสร้างหลัก ของตึกเดิม แต่เน้นปรับปรุงและเปลี่ยน แปลงการตกแต่งภายใน

สิ่งที่ปรับเปลี่ยนหลักๆ ได้แก่ ล็อบบี้ใหม่ที่โปร่งโล่ง และต่อเนื่องไปยังบาร์และห้องอาหาร ผนังกระจกรับแสงเพื่อให้ความรู้สึกปลอดโปร่ง ชั้นใต้ล็อบบี้จากเดิมที่เคยเป็นดิสโก้เธค ปรับปรุงเป็นห้อง ประชุมที่มีหน้าต่างรับแสงและบ่อน้ำขนาดเล็กเพื่อบรรยากาศผ่อนคลาย พื้นที่ชั้น 3 ปรับ เป็นพื้นที่ของสปา พื้นที่ชั้น 7 ตกแต่งเป็นคลับเลาจน์ที่มีหน้าต่างเป็นกระจกขนาดใหญ่เพื่อให้เห็นทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่และดอยสุเทพ และพื้นที่ชั้น 10 ชั้นบนสุดของโรงแรมก็ปรับเป็นเฮลท์คลับเพดานสูง ผนังกระจกรอบทิศ เป็นต้น

ขณะที่ห้องพักแขกถูกปรับเปลี่ยนและตกแต่งใหม่ ใช้เฟอร์นิเจอร์บิลต์อินเพื่อให้เกิด พื้นที่ใช้สอยคุ้มค่า ห้องน้ำผนังกระจกใสเพื่อความรู้สึกโปร่งและเป็นกิมมิค นอกจากนี้ยังมีโซฟาเดย์เบดขนาดใหญ่ยิ่งเพิ่มความทันสมัย

ในปี 2548 อาคารเก่าหลังนี้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในรูปแบบใหม่ที่สดใสกว่า เดิมในรูปแบบของโรงแรมสไตล์ฮิพ (Hip Hotel) ซึ่งช่วงเวลานั้นตัวเมืองเชียงใหม่ยังไม่มีโรงแรม 4-5 ดาวผุดขึ้นมาเยอะเช่นปัจจุบัน ...ความโดดเด่นของคอนเซ็ปต์ใหม่ของ “D2” จึงจับตานักท่องเที่ยวที่ผ่านไปพบเห็นและกลายเป็น talk-of-the-town ในเวลาไม่นาน

นัยของการลงทุนของกลุ่มดุสิตครั้งนี้ นอกจากเพื่อชัยภูมิที่ดีในแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับโลกอย่างเชียงใหม่ เครือดุสิตยังใช้โอกาสนี้เปิดตัวแบรนด์ใหม่คือ “D2” ซึ่งมีคอนเซ็ปต์ แตกต่างและชัดเจน นั่นคือเป็นโรงแรม 5 ดาวกึ่งบูติก เพื่อตอบสนองกับไลฟ์สไตล์ทันสมัย ของคนรุ่นใหม่ แต่แฝงกลิ่นอายความเป็นไทยสไตล์ดุสิตธานี และบริการที่เป็นกันเองแบบค่อนข้างสนุกสนานตามสไตล์คนไทย

ตรงตามความหมายของแบรนด์ ที่ D ตัวแรกต้องการสื่อถึงความเป็น “ดุสิตธานี” ส่วนตัวเลข “2” เพื่อหมายถึงเจเนอเรชั่นที่ 2 ของเครือดุสิต

ด้วยประสบการณ์ในธุรกิจโรงแรมมากว่า 30 ปี กลุ่มดุสิตย่อมรู้ดีว่า เพียงแค่เปลี่ยนการตกแต่งภายนอกและภายในไม่พอที่จะ “ซื้อใจ” นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ การรีโนเวตครั้งนี้จึงหมาย รวมถึงการปรับปรุงบริการแบบไม่เห็นเค้าเดิม

เริ่มตั้งแต่ชุดพนักงานที่ถอดทิ้งความเป็น ทางการมาเป็นดีไซน์ที่ทันสมัยและทะมัดทะแมง ออกแบบโดยเกรย์ฮาว การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริการ บวกกับความเป็นกันเองที่เพิ่มขึ้น ทว่ายังคงมาตรฐานบริการในแบบของดุสิตไว้ทุกกระเบียดนิ้ว หรือแม้แต่การสร้าง ความประทับใจหลังการเข้าพักด้วยการส่งอีเมลถึงแขกแทบจะทันทีที่แขกเช็กเอาต์ เหล่านี้ ล้วนเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้ “ได้ใจ” คนรุ่นใหม่...แต่โรงแรมยุคเก่าหลายแห่ง ยังไม่เห็นความสำคัญ

ทั้งนี้ โรงแรมเชียงอินทร์อาจเป็นตัวอย่างของโรงแรมรุ่นเก่าที่ปรับตัวไม่ทันจนต้อง ล้มหายไป แต่ก็ปิดตำนานด้วยอายุกว่า 30 ปี ทว่า ท่ามกลางกระแสการแข่งขันที่รุนแรง ขึ้นทุกวัน อาจมีโรงแรมใหม่หลายแห่งที่ต้องปิดตัวลงก่อนเวลาอันควร หากผู้บริหารยังลังเลที่จะลุกขึ้นมาปรับตัวให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ และยังไม่กล้าพอที่จะสร้างสรรค์ความแตกต่างขึ้นมาเป็นจุดขายให้ตัวเอง

โดยเฉพาะในสนามเมืองเชียงใหม่ ที่เรียกได้ว่า การแข่งขัน ณ ตอนนี้ เบียดแน่นแล้วทุกตารางนิ้ว...ราวกับว่าจะหาพื้นที่ว่างได้ก็ต่อเมื่อคนเก่าต้องถูกถอดออกจากเกมไปเสียก่อน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.