|
การเดินทางของต้นสัก
โดย
ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
เกสรสักร่วงกราวบนพื้นถนน ในเส้นทางสู่พื้นที่ตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ก่อนเข้าหมู่บ้านทาป่าเปา แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ได้ชื่อว่ามีการอนุรักษ์ป่าชุมชนดีเด่น ในระดับรางวัลลูกโลกสีเขียว จากเกสรเล็กๆ อาจจะทำให้ใครหลายคนย้อนนึกได้ว่าในอดีตดินแดนภาคเหนือของไทย เคยเป็นถิ่นที่หนาแน่นไปด้วยต้นสักและป่าเบญจพรรณ จนในอดีตไทยเคยมีไม้สักเป็น 1 ใน 3 สินค้าส่งออก นอกเหนือจากข้าวและยางพารา แต่สภาพป่าในวันนี้ หาต้นสักธรรมชาติสักต้นก็ยากเย็น เว้นเสียแต่ป่าปลูกหรือไม้สักที่มีคนนำมาปลูกประดับไว้ริมทาง เหมือนที่บ้านทาป่าเปาแห่งนี้
เสาชิงช้า สัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร คือตัวแทนความสวยงามและคุณค่า ของต้นสัก ที่ยังคงเป็นสัญลักษณ์โดดเด่นเห็นชัดถึงปัจจุบัน ทำจากต้นสักทองที่มีลักษณะเป็นไม้เนื้อแข็งที่คงทนและเหยียดตรง
เสาชิงช้าต้นที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน กทม.เพิ่งเปลี่ยนต้นใหม่เมื่อ พ.ศ.2547 เพราะ ต้นเดิมที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงก่อสร้างไว้เพื่อประกอบพระราชพิธีตรียัมปวาย เมื่อ พ.ศ.2327 ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา
เสาต้นสักที่ได้มาแทน คัดมาได้จากไม้สักต้นตรงที่มีลักษณะตรงตามแบบต้นเดิม อายุ 99 ปี ไม่เคยถูกแมลงทำลาย และก่อนที่ต้นสักลักษณะนี้จะหาไม่ได้อีกแล้วในเมืองไทย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กรมป่าไม้ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงดำเนินการเพาะเลี้ยง เนื้อเยื่อจากต้นสัก เพื่อนำไปขยายพันธุ์ และวางแผนจะนำออกปลูกให้กลับคืนสู่ธรรมชาติป่าไทยอีกครั้ง เรียกปฏิบัติการนี้ว่า การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไม้สักมงคล
จาก พ.ศ.2551 เริ่มเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป้าหมายคือเพื่อส่งต้นกล้าที่เพาะได้นี้ กระจายให้ประชาชนนำไปปลูกทั่วประเทศภายใน พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา หรือ 7 รอบพระชันษา
เป็นการย้อนสู่คุณค่าแห่งอดีต ด้วยเป้าหมายที่จะนำสิ่งมีค่าของธรรมชาติกลับคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง
200 กว่าปีมาแล้ว ที่ต้นตระกูลชาวไทลื้อจากสิบสองปันนาจำนวนหนึ่ง แยกตัว จากไทลื้อที่อพยพมาด้วยกันจากสิบสองปันนา ประเทศจีน ปล่อยให้ส่วนหนึ่งปักหลักตั้งถิ่นฐานที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ แล้วจับกลุ่มพ่อเฒ่า 8 คน เดิน ทางมาเลือกตั้งถิ่นฐานกันที่ตำบลทาปลาดุก บนที่ตั้งที่ต้องตามหลักฮวงจุ้ย หลังติดเขาที่เต็มไปด้วยป่าสัก ป่าเปา และไม้เต็งรัง ส่วนด้านหน้าเป็นพื้นราบเหมาะกับ ทำนา เพราะถัดไปมีห้วยแม่ทาไหลผ่าน
“สมัยก่อนมีป่าทึบมีแต่ต้นไม้ใหญ่เต็มไปหมด จำได้เลยว่าพอมีบริษัทมาทำสัมปทานไม้ สี่สิบห้าสิบปี ก่อน สมัยนั้นรถไฟต้องใช้ฟืนเพราะเป็นรถจักรไอน้ำ บริษัทตัดไม้ขนไม้ออกจากป่าไปทำฟืนรถไฟ ไม้เนื้อแข็ง ก็เอาไปทำเฟอร์นิเจอร์สร้างบ้าน” อดีต พ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) สุวรรณ ปุละเปา วัย 65 ปีเล่าย้อนอดีต
ชาวบ้านแถบนั้นก็หันไปเป็นลูกจ้างบริษัททำไม้ บางคนยังเก็บไม้ไว้ปลูกบ้านของตัวเอง บ้านหลายหลัง ที่เห็น จึงทำมาจากไม้ในป่าหลังหมู่บ้านนั่นเอง
เงินค่าจ้างจากปางไม้ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตชาวบ้านดีอยู่ได้นาน เพราะเมื่อไม้หมดป่า บริษัทก็ถอนตัวออกไป แต่ชาวบ้านยังคงต้องอยู่ในที่ดินของตัวเอง ทำนาทำไร่ในพื้นที่เดิม แต่ผลผลิตที่ได้กลับต้องได้มาด้วยความยากลำบากอย่างคิดไม่ถึง แถมชีวิตความเป็นอยู่ก็เปลี่ยนไป
ไม่มีป่า น้ำก็ขาดแคลน
ยามใดมีฝนห่าใหญ่ น้ำก็ไหลบ่าท่วมหมู่บ้าน ท่วมไร่นา
ไม่มีความพอดีของธรรมชาติ เพราะทุนธรรมชาติถูกปล้นไปแล้วด้วยคนต่างถิ่นกับความร่วมมือบางส่วนของคนในหมู่บ้านเอง
แต่คนที่รับรู้และต้องเผชิญกับปัญหา คือคนที่เหลืออยู่ คนที่จะต้องแก้ปัญหา จึงหนีไม่พ้นคนที่ยัง ต้องอาศัยในแผ่นดินนี้ต่อไป
“แล้งมากทำมาหากินลำบาก คนก็เริ่มย้ายไปหางานทำที่อื่น”
พ่อเฒ่าสุวรรณคิดได้ว่า ต้องทำอะไรสักอย่าง ก่อนที่หมู่บ้านทาป่าเปาจะต้องกลายเป็นหมู่บ้านร้าง จึงรวบรวมสมัครพรรคพวกในหมู่บ้าน ช่วยกันฟื้นฟูป่า
สภาพที่เกิดขึ้นกับบ้านทาป่าเปา ก็ไม่ต่างอะไร กับกระจกเงาเล็กๆ ที่สะท้อนความเป็นไปของโลกใบนี้ ที่เดี๋ยวแล้ง เดี๋ยวน้ำท่วม เสี่ยงกับดินถล่ม เพราะเหลือ แต่พื้นที่สูงที่เคยเป็นเขา ร่องลึกในพื้นดินที่เคยเป็นลำธาร ไม่มีป่าไว้เรียกฝนหรืออุ้มน้ำไว้ยามฝนลงหนัก
เหตุผลที่ทำให้ทุกคนในชุมชนพร้อมใจช่วยกันฟื้นฟูป่าในหมู่บ้าน เพราะต่างก็มีประสบการณ์รับรู้ปัญหาร่วมกัน ไม่นาน เนินเขาด้านหลังที่เคยเป็นป่าทึบ ที่ถูกทำลาย ก็ค่อยๆ กลับมาเขียวครึ้ม มีทั้งเห็ดป่า สมุนไพร ไม้ใหญ่ นอกจาก แก้ปัญหาธรรมชาติยังช่วยเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจ และไม่ใช่แค่กับคนในชุมชน แต่ยังเผื่อแผ่ไปถึงชุมชนใกล้ไกลที่ได้มาอาศัยป่าแห่งนี้หากิน หารายได้ โดยเฉพาะ ในฤดูฝนอีกด้วย
“ถ้าเป็นหน้าฝน รอบป่านี้มีมอเตอร์ไซค์จอดเป็น 400-500 คันเลยล่ะ มา กันแต่เช้า มาเก็บเห็ด” พ่อเฒ่าประเสริฐ ปุละเปา น้องชายพ่อเฒ่าสุวรรณให้ข้อมูล
การปิดกั้นไม่ใช่การปกป้อง เมื่อคนนอกพื้นที่เข้ามาหาประโยชน์ เพราะถือว่าเป็นป่าสาธารณะ ชาวบ้านทาป่าเปาก็ใจกว้าง เพียงแต่บอกว่าให้เคารพกติการ่วมกัน ไม่โลภ และอย่าทำลายธรรมชาติ
พ่อเฒ่าประเสริฐเป็นผู้ใหญ่บ้านต่อจากพ่อเฒ่าสุวรรณที่ลาออกไป เพื่อจัดการเป็นตัวหลัก ผลักดันให้เกิดป่าชุมชนในพื้นที่โดยเฉพาะ เป็นชาวไทลื้อเช่นเดียวกับทุกคนในหมู่บ้าน มีความสามารถเป็นหมอยาสมุนไพร ซึ่งป่าที่กลับมา สมบูรณ์กลายเป็นประโยชน์โดยตรงที่จะทำให้ภูมิปัญญาทางการแพทย์สมุนไพรของพ่อเฒ่าประเสริฐมีโอกาสได้สืบทอดต่อให้กับคนรุ่นหลัง เพราะสมุนไพรเป็นพืชที่ชอบอาศัยป่าใหญ่ในการเติบโตและมักจะหาได้ในป่าสมบูรณ์
การตระหนักในคุณค่าของป่าของชาวบ้านทาป่าเปา ทำให้ที่นี่พร้อมตอบรับทุกกิจกรรมที่เกี่ยวกับป่าโดยไม่ลังเล
เมื่อกระทรวงพลังงานริเริ่มโครงการปลูกต้นสักเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และให้บริษัทและรัฐวิสาหกิจในเครือเข้ามาสนับสนุนกิจกรรม บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จึงมีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ การนำกล้าสักมงคลจากเสาชิงช้า มาร่วมปลูกป่าในครั้งนี้จำนวน 99,784 ต้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีความหมายถึงรัชกาลที่ 9 ซึ่งจะมีพระชมมายุครบรอบ 7 รอบ 84 พรรษา
“เดิมบริษัทก็มีโครงการปลูกป่าของตัวเอง ชื่อโครงการคนรักป่า ป่ารักชุมชน หรือกล้ายิ้ม ซึ่งเน้นเรื่องป่าชุมชน เพราะเรามองว่าจะปกป้องการรุกเข้าไปถึงป่าใหญ่ได้ก็ต้องสร้างแนวป้องกันด้วยป่าชุมชน โครงการปลูกสักทีแรกเราไม่ได้คิดจะทำที่บ้านทา ป่าเปา เพราะเขาทำกันได้ดีอยู่แล้ว แต่เมื่อเห็นเราทำเขาก็อยากมีส่วนร่วมด้วย ส่วนหนึ่งของ โครงการจึงมาปลูกที่นี่” ประยุทธ ธงสุวรรณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เท้าความ
นอกจากที่บ้านทาป่าเปา ต้นกล้าสักจากเสาชิงช้าที่บริษัทรับหน้าที่หาพื้นที่ปลูกใน 5 พื้นที่ อีก 4 แห่ง ได้แก่ ที่โรงไฟฟ้าราชบุรี แม้ไม่ใช่ถิ่นกำเนิดของสัก แต่เพื่อเป็นสัญลักษณ์ จึงเริ่มต้นที่นั่น ที่จังหวัดนครราชสีมา ที่จังหวัดสุโขทัย และที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
ถึงแม้จะทำตามโครงการ แต่โดยสำนึกของพนักงานบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ ก็ตั้งเป้า ที่จะเห็นกล้าสักทุกต้นที่ปลูกเติบโต 100% เพราะฉะนั้นเมื่อป่าไม้ให้ข้อมูลว่าโอกาสของต้นสัก หากพ้น 6 ปีแรกไปได้ โอกาสรอดก็เกือบร้อย ดังนั้นกล้าที่ปลูกที่ไหน ก็จะได้ชุมชนแถวนั้นรับผิดชอบดูแลไปอีก 6 ปี โดยบริษัทสนับสนุนค่าดูแลรักษา และจะลงตรวจเช็กผลงานเป็นรายปี
“เราไม่ได้ทำโครงการเพื่อเป็นแค่สัญลักษณ์ว่ามีกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เราเองก็เคย สงสัยมาก่อนว่าทำแล้วได้ผลจริงไหม ไม่ใช่ต้องการแค่จัดพิธี จัดเวที แล้วจบ แต่เรามีคนอยู่เฝ้าดูแลและมีการตรวจสอบ”
สิ่งที่ประยุทธสัมผัสได้กับตัวจากการตระเวนทำโครงการเกี่ยวกับป่ามาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ปี 2551 เขาสังเกตเห็นว่าชาวบ้านเริ่มตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ป่ามากขึ้น ยิ่งเมื่อได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนเข้าไปสร้างแรงจูงใจด้วยวิธีการต่างๆ ยิ่งทำให้เกิดการแข่งขัน ของแต่ละพื้นที่ในการสร้างป่าของตัวเองให้สมบูรณ์เพื่อมาแข่งขันกับป่าอื่นๆ ซึ่งส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมโดยรวม
“ส่วนที่เราสนับสนุนป่าชุมชน อาจจะไม่เกี่ยวกับการปลูกต้นสัก แต่ด้านหนึ่งมันเสริมซึ่งกันและกัน เราทำจริงถึงขนาดถูกป่าไม้แซวว่าจะทำหน้าที่แทนป่าไม้แล้วนะ แต่อย่างไรเราก็เป็นผู้ตามที่ต้องฟังคำแนะนำจากป่าไม้อยู่ดี”
ประยุทธยอมรับว่า แม้จะรู้เรื่องป่ามากขึ้น แต่ก็ไม่ลึกมากในรายละเอียด แต่ถ้าเอาแง่ บริหารที่เกี่ยวกับการเกิดป่า เขามองว่า ผู้นำมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ถ้าผู้นำเข้มแข็งดูแลลูกบ้านได้ก็มีโอกาสที่จะจัดการโครงการต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จ
“การรู้จักต้นไม้มากขึ้น ไม่ได้ช่วยทำให้ป่าดีขึ้น แต่การจัดการกับคนเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการป่า ทาป่าเปาเป็นตัวอย่างที่ดี พอเขาเริ่มทำกันจริงจังทุกอย่างก็กลับมา การดูแลจัดการกับคนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ทำให้ป่ากลับมา”
“ทุกวันนี้คนที่เคยย้ายไปก็กลับมาอยู่ มาทำกินที่บ้านเหมือนเดิม เราอยู่กันอย่างพอเพียง ทำนาไว้กิน ว่างจากนาก็เข้าป่า ปลูกผัก” พ่อเฒ่าสุวรรณบรรยายถึงสภาพของบ้านทาป่าเปา ในปัจจุบัน และนี่ยังไม่รวมรายได้เสริมจากการปรับบ้านเป็นโฮมสเตย์ ที่มีชาวบ้านเข้าร่วมเกือบ 30 หลัง ก็เป็นรายได้อีกทางที่นอกจากเสริมสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชน แต่ยังเสริมความรู้ความ เข้าใจถึงคุณค่าแห่งป่าให้กับคนมาเยี่ยมเยือนได้อีกนับพันนับหมื่น
ภาพของป่าที่ให้ประโยชน์กับชุมชน ภาพของคนที่อยู่อย่างอาศัยป่า จากตัวอย่างเล็กๆ ที่ทาป่าเปา ถือเป็นตัวอย่างของแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และหวังว่าจะเป็นภาพสะท้อนให้คนที่ยังคิดทำลายกลับใจมาหวงแหนธรรมชาติให้ทัน ก่อนสิ้นสูญสมดุลแห่งชีวิต
ภาพแห่งความสมบูรณ์ที่เพิ่มความเข้มข้นขึ้นทุกวันนี้แหละ คือจุดปลายทางของกล้าสักนับหมื่นนับแสนที่กำลังทยอยปกคลุมลงสู่ผืนดินไทยอีกครั้งในเวลาอันใกล้นี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|