“ผ้าห่อศพ” ศิลปะแห่งการปล่อยวาง

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ศิลปะเป็นผลผลิตทางความคิดที่รังสรรค์ขึ้นเพื่อมีหน้าที่รับใช้ในสิ่งที่ศิลปินศรัทธา ศิลปะบางชิ้นอาจสร้างขึ้นเพียงเพื่อรับใช้กลไกธุรกิจ บ้างก็เพื่อรับใช้สังคม ในแง่สุนทรียภาพทางอารมณ์ ขณะที่บางชิ้นหวังขับเคลื่อนสังคมในบางแง่มุม แต่จะมีงานศิลปะสักกี่ชิ้นที่ตั้งใจรับใช้ศาสนา เพื่อนำพาผู้ชมเข้าถึงแก่นแห่งพุทธปรัชญา

ผืนภาพโทนสีน้ำตาลหมองขับกับสีเหลืองทอง สีแดง และสีดำที่ใช้เป็นหลัก เป็นจิตรกรรมเล่าเรื่องผ่านภาพคนสัตว์สิ่งของด้วยรูปทรง พื้นผิว คราบและ ร่องรอยของสี แต่ทว่าก็เป็นภาพที่ดูคลุมเครือ เพราะเห็นเพียงเค้าโครงที่เลือนลาง บ้าง แจ่มชัดบ้าง คุ้นตาบ้าง แปลกตาบ้าง ด้วยการสร้างร่องรอยของเทียนไขให้ เห็นแต่เงาและเส้นรอบนอกของรูปทรงที่ดูไม่ใคร่จะใส่ใจในรายละเอียดนัก

เค้าโครงของลายเส้นที่อ่อนช้อยพอเห็นเป็นภาพร่างต่างๆ อาทิ เทวดากำลังเหาะเหิน ปลาตะเพียนตัวเท่าคน ปลากรายนอนหงาย ปลาเสือบินมากินแมลง พญาช้างในชาดก ดอกบัวใหญ่ลอยคว่ำ ซุ้มเรือนแก้วว่างเปล่า ชาวบ้านตีกลองมโหระทึกโบราณ และพระพุทธรูปกลับหัว ฯลฯ

องค์ประกอบเหล่านี้ผสมปนเปสะเปะสะปะแต่ก็ดูลงตัวบนความสับสน เพียงแต่คลุมเครือจนผิดวิสัยเมื่อเทียบกับจารีตการนำเสนอภาพจิตรกรรมไทยที่หลายคนเคยคุ้น

ยิ่งเข้าไปพิจารณาใกล้ๆ ยิ่งได้เห็นชัดถึงภววิสัยของผืนภาพ พื้นผิวดูแตก ระแหงด้วยคราบเทียนไข บางจุดก็เห็นเป็นรอยด่างดวงที่เกิดจากการหลุดร่อนหรือ การหลอมเหลวของคราบเทียน อันเป็นผลมาจากเทคนิคการเขียนภาพด้วยเทียนไขในเทคนิคมัดย้อมแบบบาติก ซึ่งผิดแผกไปจากธรรมเนียมปฏิบัติแบบเดิม

รอยแตกที่ให้กลิ่นอายความเก่าและผุพัง บวกกับรอยต่อของผืนผ้าที่ใช้วาด อันเกิดจากรอยตะเข็บผ้าจีวร ดูรบกวนสายตา ยิ่งทำให้รู้สึกถึงความไม่สมบูรณ์ตามนัยแห่งความเป็นศิลปะในสายตาและความนึกคิดของบางคน แต่ก็นับเป็นความแปลกใหม่ในมุมมองของอีกหลายคน


แต่ไม่ว่าจะเป็นความคุ้นชินหรือความแปลก ล้วนไม่ใช่บรรทัดฐานตัดสินความงาม เพราะความงามเป็นอัตวิสัยที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์และรสนิยมส่วนบุคคล จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาพเดียวกัน ผู้ชมบางคนไม่เข้าใจว่าความสวยงามของภาพนี้อยู่ที่ใด ขณะที่ผู้ชมอีกคนยืนชื่นชมหลงใหลในความงามของภาพนั้นอยู่นานสองนาน

อย่างไรก็ดี “ความงาม” ก็หาใช่สารัตถะของการแสดงผลงานศิลปะทั้ง 10 ชิ้นในชุด “ผ้าห่อศพ” ชุดนี้

“แก่นที่อยากให้คนดูได้รับรู้จากงานแสดงชุดผ้าห่อศพ คือเรื่องของการ ปล่อยวาง ส่วนจะมีความงามหรือไม่ถือเป็นผลที่ตามมาเอง แต่ขณะที่ทำงานชุดนี้ ผมทิ้งเรื่องความงาม ไม่ยึดติด เพราะไม่ใช่สาระของสิ่งที่นำเสนอ”

อนุโรจน์ จันทร์โพธิ์ศรี ศิลปินวัย 40 ปี เจ้าของผลงานศิลปะชุด “ผ้าห่อศพ” ซึ่งถูกจัดแสดงเดี่ยวเป็นครั้งแรก ณ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

แม้ชื่อชุดผลงานจะฟังดูน่ากลัว ทว่า ผลตอบรับจากการแสดงชุดนี้ถือว่า ดีมาก จากจำนวนผู้ชมของหอศิลป์จามจุรีที่ปกติมีผู้ชมราว 200 คน ก็นับว่าเยอะแล้ว แต่ผู้เยี่ยมชมผลงานชุดผ้าห่อศพที่ลงชื่อไว้มีกว่า 400 คน ส่วนหนึ่ง น่าจะมาจาก “ความแรง” ของชื่อ “ผ้าห่อศพ”

ความน่าสนใจของชื่อ “ผ้าห่อศพ” ทำให้ศิลปินดังอย่าง ศ.ชลูด นิ่มเสมอ ถึงกับเอ่ยปากชมว่า เป็นชื่องานที่ดีที่ทำให้คนได้กลับมาคิด เพราะในไม่ช้า ทุกคนก็ได้ใช้ผ้าผืนนี้กันทุกคน เป็นการเตือนให้ทุกคนมีสติก่อนได้ใช้

“ผ้าห่อศพคือ ผ้าที่ห่อผู้หมดแล้วซึ่งกิเลส มนุษย์เราที่มีลมหายใจ ต่าง มีกิเลสที่เบาบางต่างกัน” อนุโรจน์ตีความ

เขาเล่าว่า แรกเริ่มเขาตั้งใจจะนำผ้าห่อศพมาใช้เป็นพื้นสำหรับวาดภาพ แต่เมื่อพระบางท่านคัดค้านว่าการเอาผ้าห่อศพจริงมาใช้ อาจจะไม่ถูกสุขลักษณะ สำหรับศิลปินและผู้ชมงาน ในที่สุด “ผ้าห่อศพ” จึงเป็นเพียงชื่อของงานแสดงครั้งนั้น ส่วนวัสดุที่ถูกนำมาใช้แทน ได้แก่ จีวรพระสงฆ์ที่ใช้แล้ว ซึ่งกลายเป็นแกนกลางของแนวความคิดหลักในผลงานชุดนี้

“จากผ้าห่อศพที่เป็นผ้าดีผ้างามได้นำมาย้อมสีฝาดแล้ว นำมาเป็น “จีวร” หรือเครื่องนุ่งห่มสำหรับพระสงฆ์ ในสมัยพระพุทธกาล อุปมาได้ว่าเป็นดั่งราคะที่ฝังแน่น และอาจเป็นการ เตือนให้คนเราได้หมั่นซักถอนกิเลสออกจากจิตใจของผู้ครองจีวร หรือผู้ที่นำผ้าห่อศพมาห่มกายนั้น” เขาตีความ

อนุโรจน์นำจีวรมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะตั้งแต่ในการแสดงผลงานเดี่ยวครั้งแรกของเขา เมื่อปี 2549 ในชื่อชุด “การเดินทางของความคิด ความรู้สึก และศรัทธา” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทั้งของเขาและเหล่าลูกศิษย์ที่เป็นพระและเณรจากวัดมหาสวัสดิ์ จังหวัดนครปฐม โดยเป็นการแสดงภาพที่เชื่อมโยงกันระหว่างผลงานของอาจารย์ และลูกศิษย์ โดยเริ่มมีการนำเทคนิคมาใช้ในการสร้างงานบ้างแล้ว

การนำผ้าจีวรมาใช้ในผลงานชุดแรกยังไม่มีการให้ความหมาย เชิงปรัญชา เช่นเดียวกับเทคนิคผ้าบาติกที่ไม่ถูกให้ความหมายในเชิงความคิดที่ลึกซึ้ง เขามองเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความพยายามแสวงหาเทคนิคใหม่ๆ

ดูเหมือนตัวตนและความลุ่มลึกทางความคิดเชิงพุทธปรัชญา ของอนุโรจน์จะเบิกบานและเติบโตอย่างรวดเร็วบนรากแก้วที่หยั่งลึก ขึ้นเรื่อยๆ ตลอดช่วงเวลา 2 ปีที่ศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่สาขาจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เห็นได้จากพัฒนาการการแสดง ออกผ่านผลงานศิลปะชุด “ความเคลื่อนไหวของจิต” ชุด “บัวสี่เหล่า” ชุด “สัจธรรม” จนถึงชุดผลงานวิทยานิพนธ์ ว่าด้วยหัวข้อ “วิราคะแห่งการดับทุกข์” ที่มีเนื้อหาเด่นชัดในเรื่องของการปล่อยวาง

ศรัทธาในพุทธศาสนาและความชื่นชอบในศิลปะไทย โดย เฉพาะศิลปะที่มีกลิ่นอายความเป็นท้องถิ่น อันรากมาจากความเป็น ชาวมหาสารคาม บวกองค์ประกอบในช่วงชีวิตของอนุโรจน์ ล้วนหล่อหลอมและสั่งสมเป็นประสบการณ์ พร้อมก่อตัวเป็นผลึกทางความคิดเชิงปรัชญาที่รอคอยวันเปลี่ยนรูปไปเป็นผลผลิตทางความคิด ที่ปรากฏบนผืนภาพ

ในช่วงแรกของชีวิตการทำงานด้านศิลปะของอนุโรจน์ เขาก็เป็นหนึ่งในศิลปินรุ่นใหม่หลายคนที่เวียนว่ายอยู่ในกลเกมธุรกิจ แห่งพาณิชย์ศิลป์ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิตด้านศิลปะของเขามาจากการมองเห็นความทุกข์ภายในตนระหว่างที่เข้ารักษาอาการป่วยหนักจากโรคตับอักเสบ ซึ่งจุดประกายให้เขาเข้ามาใกล้ชิด ศาสนามากขึ้น และเริ่มมองงานศิลปะในเชิงพุทธศาสนาที่ละเมียดขึ้น

จุดเปลี่ยนทางความคิดทำให้อนุโรจน์หันมาสร้าง สรรค์งานศิลปะเพื่อรับใช้พุทธศาสนามากขึ้น แต่นี่ก็ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เขากลายเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าจับตา ถึงขนาดที่ผู้บริหารของหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ฯ ต้องโทรเชิญให้เขาไปจัดแสดงผลงานเดี่ยวที่หอศิลป์พระนางเจ้าฯ ขนาดที่ปรมาจารย์ทางศิลปะอย่าง ถวัลย์ ดัชนี ชวนเขานำผลงานไปจัดแสดงที่ “บ้านดำ” ณ เชียงราย อาศรมศิลป์ของศิลปินขั้นเทพผู้นี้

ความโดดเด่นของการเขียนภาพด้วยเทียนไขในเทคนิคมัดย้อมแบบบาติก ที่อาจเรียกได้ว่า “ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน” กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ผลงานของเขาได้รับความสนใจจากผู้คนในวงการศิลปะ โดยอนุโรจน์ตั้งชื่อเทคนิคนี้ว่า “เทคนิคผสม” อันเป็นการผสมผสานระหว่างเทคนิคบาติกกับเทคนิคบางอย่างที่ได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปะพม่าโบราณ

“เราพยายามเลียนแบบศิลปะที่เห็นจากพม่าเมื่อหลายสิบปีก่อน แล้วเราก็เก็บมาถอดรหัสผ่านทางจินตนาการและการทดลองจนได้ลักษณะที่ใกล้เคียง โดยไม่รู้หรอกว่า จริงๆ แล้วคนพม่าใช้เทคนิคอะไรหรือ ทำยังไง ผมแค่เลียนแบบด้วยสิ่งที่ผมรู้กับเทคนิคที่เคยเรียนผ่านการทดลองทั้งวิธีการและตัววัสดุ เพื่อให้ได้ความเก่าแบบศิลปะพม่านั้น”

ขณะที่ขนบของศิลปะบาติกคือเส้นสายของน้ำตาเทียนที่เสมอไม่แตกหรือหลุดร่อน แต่สำหรับงานศิลปะของอนุโรจน์รอยแตกและร่องจากการหลุดร่อน ก็ถือเป็นความงามตามสัจธรรมแห่งกาลเวลา

“เพียงแค่เราไม่เอาความสมบูรณ์เป็นที่ยึดมั่นถือมั่น ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่เป็นปัญหา เป็นแค่การสร้างสรรค์จากธรรมชาติ ฉะนั้นรอยแตกของน้ำตาเทียนในงานบาติกก็สวยได้ มันอยู่ที่มุมมองและทัศนคติที่เราอยากให้เป็น”

เพื่อให้เข้าถึงแก่นของการปล่อยวาง นอกจากผ้าจีวรใช้แล้วที่ขอมาจากพระวัดหนองซอ หัวหิน เทียนที่ใช้ในการเขียนรูปด้วยเทคนิคบาติก อนุโรจน์ก็รวบรวมมาจากเศษเทียนเหลือๆ ในพระอุโบสถ ด้วยแนวคิดที่ว่า ไม่มี สิ่งของที่หมดคุณค่าในตัวมันเอง หากแต่เราจะสามารถนำมาใช้ในรูปแบบใหม่อย่างไรให้มีประโยชน์สูงสุด

“จากผ้าจีวรที่เหมือนไม่มีประโยชน์ จากเศษเทียนที่ถูกทิ้ง ถ้าเราเห็นศรัทธา ก็สามารถนำกลับมาบอกเล่า เนื้อหาทางพุทธศาสนาเข้าไปใหม่”

หลังเสร็จสิ้นการจัดแสดงที่หอศิลป์ฯ ผลงานชุด “ผ้าห่อศพ” ก็ถูกนำไปติดตั้งในพระอุโบสถของวัดหนองซอ ที่หัวหิน ซึ่งเป็นวัดที่อดีตพระลูกศิษย์สมัยที่อนุโรจน์ไปสอนศิลปะที่วัดมหาสวัสดิ์ไปเป็นเจ้าอาวาส ด้วยเหตุผลเพื่อให้ชาวบ้านได้เสพงานศิลปะสมัยใหม่ ขณะเดียวกันก็ได้สัมผัสกับแก่นพุทธปรัชญาที่เป็นสาระของภาพ

“พอผลงานอยู่ในพระอุโบสถ มันให้ความรู้สึกที่ขลังกว่าอยู่ในหอศิลป์ฯ พอ เห็นชาวบ้านญาติโยมเกาะหน้าต่างพระอุโบสถแล้วแหงนมองผลงาน มันให้ความรู้สึกดี เหมือนว่าผ้าจีวรถูกนำกลับมาล้อมรอบพระอุโบสถ อันเป็นสถานที่ที่ภาพเหล่านี้ควรอยู่ ยิ่งกว่านั้นคือ ผลงานของเรา ไม่ใช่แค่งานศิลปะ แต่ยังได้รับใช้พระศาสนา” อนุโรจน์เล่าอย่างภาคภูมิใจ

หน้าที่รับใช้พุทธศาสนาของผลงาน ชุด “ผ้าห่อศพ” ทำให้ศิลปินใหญ่อย่างสุธี คุณาวิชยานนท์ ประทับใจขนาดเขียนไว้ใน สูจิบัตรใจความว่า จุดเด่นประการหนึ่งสำหรับผลงานชุดนี้คือ การที่พุทธศิลป์ร่วมสมัยได้สัญจรไปมา ระหว่างพื้นที่ทางโลกกับพื้นที่ทางธรรม จากโลกของพระธรรมมุ่งสู่ศิลปะร่วมสมัย แล้วหวนกลับคืน สู่ศาสนสถานในท้ายที่สุด

สำหรับคนที่พลาดการแสดงผลงานชุด “ผ้าห่อศพ” และไม่มีเวลาไปชื่นชมภาพเขียนเชิงพุทธศิลป์เหล่านี้ถึงหัวหิน ในระหว่าง 3-30 กันยายนนี้ ภาพเขียนทั้ง 10 ชิ้นจะนำกลับมาจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งในการจัดแสดงผลงานเดี่ยวครั้งที่ 3 ของอนุโรจน์ ภายใต้ชื่อ “กองผ้าห่อศพ” ณ หอศิลป์พระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ

สำหรับไฮไลต์ของงานแสดงชุด “กองผ้าศพ” นอกจากจะเป็นการนำเอาผลงานชุด “ผ้าห่อศพ” กลับมาจัดแสดงอีกครั้ง ในงานนี้ผู้ชมจะได้เห็นพัฒนาการทางความคิดและลูกเล่น ใน “เทคนิคผสม” ตลอดจนการไล่เนื้อ เทียนสีที่สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ โดยในงานนี้ จะมีกลุ่มงานที่ไม่เคยจัดแสดงในช่วงปริญญาโท และมีผลงานขนาดใหญ่สร้าง ใหม่อีก 3 ชิ้น เพื่อเพิ่มสีสันและแสดงให้ เห็นถึงพัฒนาการของเขาในปัจจุบัน

ขณะที่การแสดงเดี่ยวครั้งที่ 4 ณ “บ้านดำ” ของอาจารย์ถวัลย์ อนุโรจน์ ตั้งใจจะสร้างผลงานขึ้นใหม่ทั้งหมดแต่ยังใช้เทคนิคเดิม และยังย้ำสารัตถะเดิม ว่าด้วยเรื่องของการปล่อยวาง แต่อาจจะมีกลิ่นอายและจิตวิญญาณของภาคเหนือ ผสานกับองค์ประกอบเชิงศิลปะจากนานาชาติ เพื่อคลายความยึดติดใน กรอบจำกัดของเนื้อหาแบบไทย

“เพราะถ้าทำอย่างเดิม ต่อไปผู้ชม ก็ต้องเบื่อ ผมก็เลย ต้องพัฒนารูปแบบให้กว้างขึ้น จาก “ผ้าห่อศพ” ชุดแรกที่เป็นไทยเต็มที่ ชุด “ผ้าห่อศพ 2” ผู้ชมจะได้เห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากขึ้น”

หลังจากการแสดงชุด “ผ้าห่อศพ 2” อนุโรจน์วางแผน ว่าอาจจะหยุดงานกลุ่มภาพเขียนไว้ก่อน แล้วหันมาสร้างผลงานกลุ่มดินเผา ซึ่งเป็นผลงานชิ้นแรกๆ หลังจากที่เพิ่งเรียนจบ ปริญญาตรีสาขานฤมิตศิลป์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เขาเคยสร้างสรรค์ขึ้นภายใต้แนวคิดที่มองเห็นข้อผิดพลาดเป็นสัจธรรมที่สวยงาม แล้วพัฒนาข้อผิดพลาดนั้นให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างผลงานที่ไม่เหมือนใคร เช่นเดียวกับเทคนิคบาติก

ทั้งนี้ อนุโรจน์ได้เตรียมชื่อชุดผลงานดินเผาเอาไว้แล้วว่า “เผา” เพื่อเชื่อมโยงกับการแสดงงานทั้ง 4 ครั้ง โดยตีความ ว่า “เผา” หมายถึงการดับสูญ ไม่เหลือแม้กิเลสในเนื้อผ้าจีวร

ทุกวันนี้ นอกจากการสร้างสรรค์งานศิลปะเชิงพุทธศิลป์ เพื่อรับใช้พุทธศาสนาแล้ว ชีวิตการทำงานศิลปะอีกส่วนของอนุโรจน์ยังทุ่มเทให้กับการสอนลูกศิษย์ที่โรงเรียนเพาะช่าง แม้จะเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราว แต่เขาก็ยังรู้สึกมีความสุขกับชีวิต ด้วยความเข้าใจชีวิต และด้วยการปล่อยวางมากขึ้น

“แน่นอนว่า เมื่อยังมีลมหายใจ คนเราก็ยังคงต้องมีบางสิ่งที่ยังยึดติด แต่เมื่อเวลานานไปเราก็ต้องพัฒนาความคิดของเราไปเรื่อยๆ เมื่อมีพัฒนาการทางความคิดมากขึ้น เราก็จะเห็นว่าทุกสิ่งมีเกิดขึ้นและดับไป คลายความยึดถือก็ค่อยๆ คลายลงได้” อนุโรจน์ทิ้งท้าย

ทั้งเทคนิคการนำเสนอและสาระในภาพเขียน บวก กับการให้ความหมายแก่องค์ประกอบในกระบวนการต่างๆ ของอนุโรจน์ ล้วนเป็นความพยายามที่จะสื่อให้ผู้เสพผลงานได้พัฒนาทางจิตวิญญาณและเข้าถึงซึ่งการปล่อยวาง

และหากลดความยึดติดซึ่งกรอบนิยามตามโลกวัตถุแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียนสมัยใหม่ในพระอุโบสถ หรือ “ผ้าห่อศพ” ในห้องแสดงศิลปะ แม้แต่ลมหายใจ แห่งชีวิตบนท้องถนน และทุกภาพชีวิตที่โลดแล่น ก็แลเห็นถึงความงามเชิงพุทธศิลป์ที่แฝงไว้ซึ่งสัจธรรมเดียวกัน คือ “การปล่อยวาง”

...เพียงแต่ผู้เฝ้ามอง “ศิลปะแห่งชีวิต” ควรต้องเปิดใจและใช้ปัญญาพิจารณา เพื่อเข้าให้ถึงแก่นแท้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.