สิ่งแวดล้อมของชาวกรุง-ไม่ยากเกินแก้

โดย พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา บรรยากาศในกรุงเทพฯ ดูจะคึกคักไปด้วยการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ก. ส.ข.

ส.ก. ส.ข. คืออะไร ชาวกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังเข้าใจกันไม่ถ่องแท้นัก ทั้งๆ ที่ เป็นอะไรที่อยู่ใกล้ตัว เกี่ยวข้องกับชีวิตความ เป็นอยู่และการทำมาหากินโดยตรง แต่เท่าที่ผ่านมา ชาวกรุงก็ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส.ก. ส.ข. กันน้อยมาก สถิติโดยเฉลี่ยเพียง 37% เท่านั้น

ส.ก. ส.ข. สำคัญอย่างไร

สภากรุงเทพมหานครเป็นองค์กรนิติบัญญัติของเมือง ซึ่งเป็นตัวแทนในการแสดงเจตจำนงของประชาชน มีอำนาจหน้าที่ในการตราข้อบัญญัติของกรุงเทพฯ พิจารณางบประมาณโครงการต่างๆ และตรวจสอบควบคุมการบริหารงานของคณะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

หากเปรียบเทียบกับการบริหารประเทศ ผู้ว่า กทม.ก็คือนายกรัฐมนตรี คณะผู้บริหาร กทม.ก็คือคณะรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ กทม.ก็คือข้าราชการในกระทรวง ทบวงกรมต่างๆ เขตก็คือจังหวัด ฉะนั้น ส.ก. (สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร) จึงมีศักดิ์และสิทธิ์เทียบได้กับ ส.ส.มีหน้าที่โดย ตรงในการออกเทศบัญญัติ และตรวจสอบการบริหารงานของผู้ว่า กทม. ส่วน สข. (สมาชิกสภาเขต) ก็เทียบเท่ากับสมาชิกของ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของประชาชนในท้องถิ่น ดำเนินงาน โครงการต่างๆ ร่วมกับผู้อำนวยการเขต อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชนและมีการใช้งบประมาณอย่างโปร่งใส

กรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร-จริงหรือ

กรุงเทพฯ มีอายุย่างเข้า 228 ปีแล้ว จากที่เคยเป็นเมืองแห่งสายน้ำคูคลองในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชผักผลไม้ สองฟากฝั่งคลองเต็มไปด้วยวัดวาอารามที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมประเพณีอันน่าชื่นชม ประชาชนมีวิถีชีวิตผูกพันกับสายน้ำ ณ บัดนี้ กรุงเทพฯ ได้พัฒนาไปเป็นเมืองทันสมัย แต่ตามมาด้วย ปัญหาขยะ น้ำเสีย น้ำท่วม

เพราะว่ากรุงเทพฯ คือศูนย์กลางทุกๆ อย่างของประเทศไทย กิจกรรมและปัญหาต่างๆ ทุกรูปแบบจึงมารวมตัวกันอยู่ ที่กรุงเทพฯ ภาษีที่ประเทศเก็บได้ส่วนใหญ่ ก็มาจากคนกรุงเทพฯ งบประมาณการใช้จ่ายของกรุงเทพฯ จึงมีมูลค่าสูงถึง 4-5 หมื่นล้านบาท

ทุกวันนี้ กรุงเทพฯ แม้ว่าจะมีความ ทันสมัยไม่แพ้เมืองใหญ่อื่นๆ แต่ก็เป็นเมือง ที่ร้อนระอุไปด้วยตึกใหญ่โตสูงระฟ้า เต็มไปด้วยเครือข่ายถนนและพื้นคอนกรีต มีพื้นที่สีเขียวและคูคลองเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย ในช่วง 50-60 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ขยายตัวอย่างไม่มีขอบเขตและไร้ทิศทาง เพราะผังเมืองและการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวด ล้อมตามมามากมาย หนักหน่วงไม่น้อยไปกว่าปัญหาสังคมและปัญหาจราจร

ตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมานี้ ผู้เขียน ได้มีโอกาสร่วมทีมหาเสียงเลือกตั้ง สก. สข. ได้สัมผัสเข้าถึงผู้อยู่อาศัยและร้านค้าย่อยในชุมชนที่ตั้งอยู่ในตรอกซอกซอยของเขตบางพลัด จึงได้รู้ได้เห็นถึงสภาพพื้นที่จริงและกิจกรรมความร่วมมือของชุมชน ในอัน ที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพื้นที่เขตให้ดีขึ้น บางอย่างได้ส่งผลดีขึ้น แต่บางอย่างก็ยังต้องการความช่วยเหลือและงบประมาณจาก กทม.เพิ่มเติม จึงเห็น ได้ว่า สก. สข. มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการเป็นกลุ่มผู้แทนที่สามารถจะเชื่อมโยงความต้องการของประชาชนกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ กทม.ให้มีการดำเนินงาน อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส มิปล่อยให้ ผู้บริหาร กทม.วิเคราะห์ปัญหาและวางแผน กันอยู่แต่บนโต๊ะและในห้องประชุมเท่านั้น

ปัญหาสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่ได้พบเห็น ผู้เขียนเห็นว่าไม่ยากเกินไปที่จะแก้ไขให้ดีขึ้น ถ้ากลไกการบริหารจัดการถูก นำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีความร่วมมือจากคณะผู้บริหาร สภากรุงเทพฯ สำนัก งานเขต และประชาชนในท้องที่ ตลอดจน ร้านค้าเจ้าของกิจการต่างๆ

ขยะ: เก็บอย่างไรก็ไม่หมด

เมื่อเรารับรู้ปัญหาแล้ว เราก็ต้องมา วางแผนร่วมกัน ตามหลักแล้วควรจะมีการ วางเส้นทาง กำหนดจุดเก็บขยะ จุดรวมขยะ มีการแยกขยะ Recycle อย่างเป็นระบบ

เริ่มที่พ่อแม่พี่น้องช่วยกันแยกขยะ ทำให้ขยะที่จะต้องเก็บไปกำจัดลดน้อยลง ส่วนที่จะเอากลับไปทำประโยชน์และขายได้ ก็ช่วยกันคิดช่วยกันทำ สิ่งใดที่จะต้องนำไปแปรรูปหมุนเวียน ก็ต้องจัดหาผู้รับช่วงต่อไปดำเนินการ

ถ้าพวกเรา พ่อแม่พี่น้อง มีผู้นำผู้วางระบบที่ดีก็สามารถดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ขยะเศษอาหารมีการแยกออกมาและนำไปหมัก ขยะหมุนเวียน เช่น กระดาษ แก้ว ขวดพลาสติก แยกเอาไปขายหรือแปรรูป ผลกำไรจากการขายก็ตกกับชุมชน ส่วนปริมาณขยะที่จะต้องเก็บไป กำจัดก็จะลดลง

น้ำเสีย: แหล่งกลิ่นและโรคร้าย

การแก้ปัญหา-ตามหลักน้ำเสียควรมีการบำบัดก่อนไหลทิ้งลงสู่คูคลอง พ่อแม่ พี่น้องอาจร่วมมือในการบำบัดเบื้องต้นได้ด้วยการ

ไม่ปล่อยน้ำเสียจากส้วมลงคลองโดยตรง ต้องผ่านถังหมักก่อน

พยายามเก็บเศษอาหาร เศษไขมัน แยกออกจากน้ำชะล้าง น้ำชะล้างจะได้ไม่สกปรกมาก ทำให้บำบัดได้ง่ายขึ้น

ส่วนที่เป็นตึกใหญ่ เช่น อาคารคอนโดมิเนียม จะต้องมีระบบบำบัดของตนเองก่อนปล่อยน้ำเสียลงคูคลองสาธารณะ

พ่อแม่พี่น้องต้องไม่ทิ้งขยะลงคูคลอง

หากเราช่วยกันทำแล้ว น้ำในคลอง ยังเน่าเสียอยู่อีก เราก็จำเป็นต้องบำบัดเพิ่ม เติมด้วยการติดตั้งระบบเติมอากาศในบริเวณที่น้ำขังนิ่ง หรือทำให้น้ำมีการไหลถ่ายเทระหว่างคูคลอง ส่วนที่สกปรกมากก็อาจใช้น้ำหมัก (น้ำอีเอ็ม) ช่วยบำบัด

น้ำท่วม: ปัญหาเรื้อรัง

ปัญหานี้ค่อนข้างยากหน่อย เพราะ เกี่ยวกับการระบายน้ำที่เชื่อมโยงกับสาเหตุ หลายประการ ได้แก่ ฝนตกหนัก สภาพความสูงต่ำของพื้นที่ น้ำทะเลหนุน ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ก็สามารถบรรเทาจากหนักเป็นเบาได้ โดยการขุดลอกคูคลอง เปิดปิดประตูระบายน้ำ ให้เหมาะสม เอาเครื่องกีดขวางทางระบาย น้ำออก

และถ้าเป็นไปได้ สงวนพื้นที่สีเขียว ไว้ให้เป็นแหล่งรองรับซึมซับน้ำ อย่างน้อยชุมชนหนึ่งควรจะสงวนพื้นที่สีเขียวไว้บ้าง อาจเป็นพื้นที่สาธารณะ เช่น พื้นที่บ้านเดี่ยว ที่มีพื้นดินต้นไม้

พื้นที่สีเขียวมีประโยชน์หลายอย่าง หน้าร้อนเป็นแหล่งฟอกอากาศ ให้ร่มเงา ให้ความสวยงาม เพิ่มคุณภาพชีวิต หน้าฝน เป็นแหล่งซึมซับน้ำ ในการสงวนพื้นที่สีเขียว อาจใช้วิธีการออกเทศบัญญัติมากำหนดโซนนิ่ง

ในชุมชนบางพลัด มีวัดอยู่หลายแห่ง ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบคือเป็นแหล่งวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ เป็นแหล่งการศึกษาทั้ง ในระบบและแหล่งความรู้เพิ่มเติม นอก จากนั้น วัดยังเป็นสถานที่จัดงานศพ ซึ่งควรจะมีการจัดการที่ดี สร้างเมรุเผาศพให้ ถูกแบบมาตรฐาน มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศได้ จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ มาตรวจสอบสม่ำเสมอ

สำหรับโครงการพัฒนาใหม่ๆ เราอาจจะเสนอแผนงานขึ้นมาโดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน - ส.ก. ส.ข. ควรรับฟังปัญหาและความต้องการของชุมชน บริหารจัดการโครงการและงบประมาณอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นชุมชนท้องถิ่นอาจจะก้าวขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เสนอโครงการริเริ่มที่เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาของประเทศ เช่น รณรงค์การใช้จักรยานในซอยแทนการใช้มอเตอร์ไซค์ ส่งเสริมการศึกษาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน เป็นต้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.