ถ้าดูจากประสบการณ์ทำงาน ชื่อของวีระชัย เตชะวิจิตรไม่เคยปรากฏอยู่ในวงการธุรกิจสายแบงก์มาก่อน
แม้ว่าพื้นฐานการศึกษาของเขาจะจบปริญญาเอกสาขาบัญชี/ธุรกิจระหว่าปงระเทศ
จากมหาวิทยาลัยมิสซูรี่-โคลัมเบียก็ตาม
แต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้ วิเชียร เตชะไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่
แบงก์ศรีนคร ก็ประกาศข่าวใหญ่ถึงการดึงวีระชัยเข้ามารับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่
ดูแลฝ่ายการพนักงาน สำนักฝึกอบรม ฝ่ายระบบสารสนเทศ ฝ่ายการบัญชี ฝ่ายธุรกิจ
และฝ่ายบริการ
ปัญหาการสูญเสียมืออาชีพระดับสูงในแบงก์ศรีนครที่ลาออกไปอยู่กิจการแบงก์อื่น
ๆ และไฟแนนซ์ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมาบูมมาจากตลาดหุ้น เช่น กรณีสมเด็จเชตุพน
ผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อบุคคลลาออกไปเป็นผู้จัดการฝ่ายสินเชื่ออุตสาหกรรม
แบงก์ทหารไทยแทนชัยยศ สัชฌะไชย (กรรมการผู้จัดการใหญ่ บง.ไทยธนากร) และสุธีร์
สหัสรังษี ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารการเงินที่ย้ายไปเป็นกรรมการผู้จัดการ บงล.มหานครทรัสต์
ซึ่งทำธุรกิจซับโบรกเกอร์ประสบปัญหาขาดทุนสั่งสมมีหนี้มหาศาล จนแบงก์ศรีนครผู้ถือหุ้นใหญ่ที่แบกอุ้มหนี้มานานก็เริ่มทยอยขาหยุ้นแก่สถาบันการเงินญี่ปุ่น
เพื่อลดสัดส่วนถือหุ้นจาก 74% ของทุนจดทะเบียน 1,805 ล้านบาทตามข้อบังคับแบงก์ชาติ
กรณีล่าสุด สมชัย โสภาเสถียรพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการและสาขาต่างประเทศ
ได้ยื่นจดหมายลาออกที่มีผลในวันที่ 26 กรกฎาคม สมชัยได้ถูกสุรศักดิ์ นานานุกูล
ประธานกรรมการ บง.บางกอกเงินทุนทาบทามให้รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่นั่น
การลาออกของผู้บริหารเหล่านี้ ได้ส่งผลกระทบต่อแผนการดำเนินงานในระยะยาวที่ต้องการสร้างภาพพจน์ของการบริหารแบบมืออาชีพให้เกิดขึ้นพร้อม
ๆ กับประสิทธิผลที่ต้องปรับปรุงตามเงื่อนไขของแบงก์ชาติ โดยเฉพาะกรณีที่แบงก์ศรีนครติดเงื่อนไขในการประกอบกิจการวิเทศธนกิจ
(BIBF) ที่ต้องเร่งปรับระบบบริหารด้วยการดึงมืออาชีพเข้ามา
ดังนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ แบงก์ศรีนครจึงเร่งให้มีการปรับโครงสร้างการบริหารใหม่
โดยมีรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สองคน วีระชัย เตชะวิจิตร กับอีกคนคือ วีรมิตร
เตชะไพบูลย์ น้องชายวิเชียร ผู้มีมาดนักวิชาการสไตล์ตะวันตกขึ้นดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่
ดูแลสายงานบริหารการเงินและสายพัฒนาธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม เพื่อลดภาพพจน์ธุรกิจครอบครัว เจ้าของแบงก์ศรีนครจึงต้องซื้อตัวมืออาชีพจากที่อื่น
ๆ เข้าเสริมด้วยที่ผ่านมา ปัญหา ตันติยวรงค์ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่
แบงก์กรุงไทย เข้ามาเป็นใหญ่ในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ จักรเพ็ชร จันทรวิสูตร
อดีตผู้จัดการสาขานิวยอร์คของแบงก์กรุงไทย มารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกิจการ
และสาขาต่างประเทศแทนสมชัย โสภาเสถียรพงษ์ และดึงเอ้งฮัก นนธิการมาดูแลฝ่ายบริหารการเงิน
โดยมีผู้บริหารระดับสูงอย่าง วีระชัย เตชะวิจิตร เป็นรองกรรมการผู้จัดการคนใหม่ดูแลสายงานสนับสนุน
โดยเฉพาะฝ่ายระบบสารสนเทศ ซึ่งวีระชัยมีความชำนาญอย่างมากจากประสบการณ์ในอดีต
ที่วีระชัยเคยเป็นประธานคณะทำงานโครงการจัดตั้งศูนย์ระบบข้อมูลข่าวสารการตลาดของหอการค้าไทย
เมื่อต้นทศวรรษที่แล้วในแวดวงการค้าระหว่างประเทศชื่อของ วีระชัย เตชะวิจิตร
ถูกจัดว่าเป็นนักบริหารรุ่นใหม่เนื้อหอม ผู้หอบดีกรีดอกเตอร์สอนมหาวิทยาลัยมิสซูรีและเนวาด้าลาสเวกัส
เข้ามาทำงานให้กับเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ตั้งแต่ปี 2524 - 28 ในระดับกรรมการผู้จัดการบริษัท
ซีพี อินเตอร์เทรด บริษัท ซีพี เอ็นจิเนียริ่ง และบริษัทกรุงเทพอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์
นอกจากนี้ยังรับเป็นผู้ช่วยพิเศษของ ธนินท์ เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านโครงการลงทุนในต่างประเทศ
โครงการปฏิบัติการในฮ่องกง และการแลกเปลี่ยนสินค้า COUNTER-TRADE
ความเชี่ยวชาญทางธุรกิจระหว่างประเทศของวีระชัยก่อให้เกิดสายสัมพันธ์ธุรกิจมากมายในรูปกิจกรรมสมาคมต่าง
ๆ โดยวีระชัยก้าวเข้ามาเป็นเลขาธิการและผู้อำนวยการบริหารสมาคมบริษัทการค้าระหว่างประเทศ
ในปี 2526 เป็นหนึ่งในคณะกรรมการพัฒนาการส่งออก และคณะกรรมการร่วมรัฐบาลและเอกชน
(กรอ.) ซึ่งเป็นศูนย์รวมผู้นำสภาหอการค้าสมาคมอุตสาหกรรมและสมาคมธนาคารไทย
นี่คือการเปิดโอกาสให้วีระชัยได้รู้จักกับวิเชียร เตชะไพบูลย์ขณะนั้นด้วย
แต่ขณะนั้น วีระชัย ได้รับโอกาสที่น้อยคนจะได้รับ คือ ความเชื่อถือจากรัฐบาลแคนาดาในการก่อตั้งบริษัทเวนเจอร์ส
อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อดำเนินการติดต่อประสานกิจการร่วมลงทุนของบริษัทเอกชนไทยและแคนาดาจำนวน
24 บริษัท
"ผมทำอยู่ซีพี 4 ปี ดูบริษัทการค้าระหว่างประเทศระหว่างนั้นก็เป็นเลขาธิการสมาคมบริษัทการค้าระหว่างประเทศ
บังเอิญตอนนั้นรัฐบาลแคนาดาให้ความสนใจไทยมากที่สุดในย่านนี้ ก็จึงคิดชักชวนให้เขามาลงทุนเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี
แต่เขามีความคิดแผลง ๆ คือ ให้งบประมณก้อนหนึ่ง ตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อเสาะแสวงหาโครงการดี
ๆ ที่แคนาดาสามารถร่วมลงทุนได้ ผมก็กะว่าจะดึงเข้าซีพี แต่เขาต้องการตัวผม
ผมจึงลาออกจากซีพี และคิดว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออกของไทย"
นี่คือแนวความคิดของวีระชัยที่ลาออกจากซีพีแล้วเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร
และกรรมการผู้จัดการบริษัทเวนเจอร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีธุรกิจหลักพัฒนาการส่งออกด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่
และแลกเปลี่ยนสินค้า โครงการลงทุนมูลค่านับพันล้านได้กระจายไปทั่วชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
เช่น โครงการผลิตไข่ผงของอาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่แปดริ้วฉะเชิงเทรา
ความชำนาญในสายการค้าระหว่างประเทศของวีระชัย ในอดีตไม่เป็นที่สงสัย แต่ในสายกิจการแบงก์พาณิชย์ยังเป็นเรื่องที่น่าจับตาถึงบทบาทของวีระชัย
เตชะวิจิตร ในอนาคตว่าจะสานสร้างอาณาจักรของคนในสกุลเตชะไพบูลย์สู่กลยุทธ์แข่งขันด้านบริการในนามของแบงก์ศรีนครได้สำเร็จหรือไม่
?