โครงข่ายคมนาคม 3 ชาติ ที่เพิ่มความหลากหลายมากขึ้น

โดย เจษฎี ศิริพิพัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

โครงข่ายเส้นทางคมนาคมทางบกที่เชื่อมระหว่างไทย ลาว และเวียดนาม กำลังมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางหลวงสาย 8A และ 12 ที่ได้เพิ่มบทบาทมากขึ้น จนใกล้จะทัดเทียมกับเส้นทางหมายเลข 9 ที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดีอยู่แล้ว

หนังสือพิมพ์ชายแดนอาณาเขตของเวียดนาม มีรายงานเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่าคณะกรรมการประชาชนจังหวัดห่าติ๋ญพร้อมกับแขวงบอลิคำไซ (สปป.ลาว) ได้จัดพิธีเปิดหลักเขตชายแดนที่ 476 ที่ช่องทางนานาชาติเกิ่วแตรว-น้ำพาว

ผู้เข้าร่วมพิธีมีตัวแทนคณะกรรมการ ชายแดนแห่งชาติ (กระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม) แกนนำจังหวัดห่าติ๋ญ พร้อมกับตัวแทนสถานกงสุล สปป.ลาวประจำด่าหนัง และกงสุลเวียดนามประจำแขวงบอลิคำไซ

ตามความตกลงระหว่างรัฐบาลเวียดนามและรัฐบาลลาว จังหวัดห่าติ๋ญ และแขวงบอลิคำไซ มีหน้าที่ก่อสร้างหลักเขตจำนวนรวม 24 หลัก (1 หลักใหญ่ 3 หลักกลาง และ 20 หลักเล็ก)

หลังปฏิบัติงาน 5 เดือน หลักเขตที่ 476 ได้แล้วเสร็จ รับรองคุณภาพทางเทคนิค ศิลปะ ตามความต้องการที่กำหนด ไว้

หลักเขตใหญ่สูง 1.6 เมตร น้ำหนัก 1 ตัน ทำด้วยหินแกรนิตขนาดใหญ่ บนแต่ละด้านที่หันไปทางฝ่ายเวียดนามและฝ่ายลาว มีการติดตราประจำชาติสองประเทศ หมายเลขหลักเขตและปีที่ก่อสร้าง การออกแบบมีลักษณะหนักแน่น และมีเอกลักษณ์เฉพาะด้วยลานหลักเขต สวนไม้ดอก-ไม้ประดับ

หลักเขตตั้งอยู่ที่กึ่งกลางช่องทางนานาชาติเกิ่วแตรว (ในตำบลเซินกิม 1 อำเภอเฮืองเซิน จังหวัดห่าติ๋ญ เวียดนาม) และน้ำพาว (บ้านเติง เมืองคำเกิด แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว) ตั้งอยู่ข้างทางหลวงหมายเลข 8A ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีฐานะทาง ยุทธศาสตร์สำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม การป้องกันประเทศรักษาความมั่นคงของสองประเทศ เวียดนาม-ลาว

หลักเขตใหญ่ 476 เป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคี ไว้วางใจ เข้าใจซึ่งกันและกัน แสดงถึงความสัมพันธ์ มิตรภาพ ประเพณีพิเศษเวียดนาม-ลาว ตั้งใจก่อสร้างแนวชายแดนสันติภาพ เสถียรภาพ มิตรภาพ ความร่วมมือ และการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน เปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของสองประเทศเวียดนาม-ลาว

มองจากทางฝั่งเวียดนาม ทางหลวง หมายเลข 8A มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่เมืองโห่ง หลิญ (กม.482 ของทางหลวงหมายเลข 1A) ผ่านอำเภอดึ๊กเถาะ (ข้ามสะพานด่อตราย สามแยกหลากเถี่ยน สี่แยกบ่าเวียน) สะพานลิญก๋าม ขึ้นอำเภอเฮืองเซิน (เหนิ่ม เมืองโฝเจิว สะพานห่าเติน เมืองเตยเซิน) ถึงช่องทางเกิ่วแตรว (ชายแดนเวียดนาม-ลาว) รวมระยะทาง 85.3 กิโล เมตร

ผิวถนนกว้าง 6-16 เมตร ปูด้วยคอนกรีต ลาดยาง

ตลอดแนวถนนในเวียดนามจะผ่าน สะพานใหญ่-เล็ก 36 แห่ง ในจำนวนนี้มีสะพานใหญ่ 2 แห่งคือสะพานลิญก๋าม ยาว 228.8 เมตร และสะพานห่าเตินยาว 171.7 เมตร

ช่วงกิมเซิน-ชายแดนเวียดนาม-ลาวทางลาด หน้าผาสูง เหวลึก หรือดินถล่มหลายแห่ง

(อ่านเรื่อง “เส้นทางฝัน อันดามัน-อินโดจีน” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2553 หรือใน www.goto manager.com ประกอบ)

เมื่อเข้ามาในเขตลาว ทางหลวงหมายเลข 8A จะวิ่งมาทางตะวันตกเพื่อบรรจบกับถนนสาย 13 ใต้ ที่แยกบ้านเหล่า แขวงบอลิคำไซ หากเลี้ยวขวาสามารถเลียบ แม่น้ำโขงไปถึงนครหลวงเวียงจันทน์

ช่วงก่อนถึงเวียงจันทน์ เส้นทาง 13 ใต้จะผ่านเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ ซึ่ง อยู่ตรงข้ามกับบึงกาฬ อำเภอหนึ่งของจังหวัดหนองคาย ที่กำลังได้รับการยกระดับขึ้นเป็นจังหวัดใหม่ลำดับที่ 77 ของประเทศไทย และมีการตั้งความหวังไว้ว่าจะมีการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-ปากซัน) ขึ้นที่นี่

แต่หากเลี้ยวซ้ายที่แยกบ้านเหล่า จะผ่านแขวงบอลิคำไซลงไปยังเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจังหวัดนครพนมของไทยได้

โดยที่จังหวัดนครพนมปัจจุบันกำลังมีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 ที่คาดว่าจะเปิดใช้งานได้ประมาณปลายปีหน้า (2554)

เมื่อสะพานแห่งนี้สร้างเสร็จจะเป็นเส้นทางจากไทยผ่านลาวทางถนนหมายเลข 12 ที่สามารถเชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 8A หรือเข้าสู่เวียดนามโดยตรงไปเลยก็ได้ โดยระยะทางจากชายแดนไทย ผ่าน สปป. ลาวไปถึงชายฝั่งทะเลเวียดนามจากจุดนี้ ยาวไม่ถึง 300 กิโลเมตร

(อ่านเรื่อง “เส้นทางสู่ทะเลเวียดนาม ที่สั้นที่สุด” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนมกราคม 2552 หรือ www.goto manager.com ประกอบ)

ทั้งทางหลวงหมายเลข 8A และหมายเลข 12 ถือเป็นโครงข่ายการคมนาคมทางบกที่กำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือจากเส้นทางหมายเลข 9 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต-เว้) เพราะปลายทางของถนนทั้ง 2 เส้น คือภาคกลางตอนบนของเวียดนาม ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังมณฑลกว่างสีของจีนได้ไม่ไกลนัก นอกจากนี้ยังมีท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๊างและเซินเยือง ซึ่งเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเวียดนามอีกด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.