สาละวิน ลุ่มน้ำแห่งความหวังที่กว้างใหญ่

โดย เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ต้นปี 2552 ผู้จัดการ 360 ํ ได้นำเสนอเรื่องราวของ “เต๋อหง” ว่าเป็นหัวเมืองหนึ่งของหยุนหนันที่กำลังขยายบทบาทมากขึ้นอย่างน่าจับตาในภูมิภาคนี้ และจะก่อผลกระทบต่อไทยในอนาคตอย่างเลี่ยงไม่พ้น ขณะนี้ “เต๋อหง” กำลังแสดงศักยภาพออกมาให้เห็นแล้ว

“เรามีเป้าหมาย มีความหวังที่กว้างใหญ่”

เมิ่ง ตี้ กวง ผู้ว่าการเขตปกครองตนเองชนชาติไต-จิงโพ่แห่งเต๋อหง มณฑลหยุนหนัน สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือจังหวัดปกครองตนเองไต้คง บอกกับผู้จัด การ 360 ํ ระหว่างเดินทางมาร่วมสัมมนาวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่จัดขึ้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

พร้อมกับตระเวนเยี่ยมเยียน-ผูกสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องกับเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก สุโขทัย พิษณุโลก ระหว่างวันที่ 8-14 สิงหาคมที่ผ่านมา

เมิ่ง ตี้ กวง เป็นชาวไต หรือไทยใหญ่ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของเขตปกครอง ตนเองฯ เต๋อหงก็มีเชื้อชาตินี้

คณะของผู้ว่าฯ เต๋อหงที่ประกอบไป ด้วยรองผู้ว่าฯ, ทีมเจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์, นักวิชาการด้านภาษาไทยของมหาวิทยาลัย ชนเผ่า รวมถึงนักวิชาการด้านชนชาติไตได้ แสดงให้เห็นถึงนัยของคำกล่าวข้างต้น ตลอดระยะเวลาที่เดินทางมาเยือนภาคเหนือ ของไทย

นอกจากจะใช้โอกาสนี้พบปะ-เสนอผูกสัมพันธ์เป็นบ้านพี่เมืองน้องกับจังหวัดเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน และเยี่ยมญาติ-กระชับไมตรีกับจังหวัดตาก ที่ลงนามเป็นบ้านพี่เมืองน้องร่วมกันเมื่อปีกลาย (2552) ให้แนบแน่นยิ่งขึ้นแล้ว

ผู้ว่าฯ เต๋อหงพร้อมคณะยังใช้โอกาส นี้เดินทางสำรวจเส้นทางเชื่อมโยงตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East- West Economic Corridor; EWEC) บางส่วนในเขตไทย (แม่สอด ตาก สุโขทัย พิษณุโลก) ด้วย

เพราะเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่แห่งความหวังและโอกาส

เมิ่ง ตี้ กวงบอกว่าในพื้นที่แถบนี้ ไม่เพียงแต่จะมีแม่น้ำสาละวิน หรือที่คนจีน เรียกว่า “นู่เจียง” สายน้ำที่มีความยาวกว่า 2,800 กม.ที่มีต้นกำเนิดในจีนเชื่อมโยงอยู่เท่านั้น แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมี “ความเป็นคนไต” ผูกโยงเข้าด้วยกันอย่างลึกซึ้งและยาวนาน

และ “คนไต” ที่ว่านี้เองที่เขามองว่า จะเป็นจุดเริ่มต้น นำไปสู่การแสวงหาความสัมพันธ์ที่แนบแน่น ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดีร่วมกันของทั้ง 3 ประเทศ คือ พม่า ไทย จีน ในอนาคต อันจะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนความอยู่เย็นเป็นสุขของผู้คนในลุ่มน้ำสายนี้

โดยเริ่มต้นพัฒนาจากพื้นฐานวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันของ “คนไตแห่งลุ่มสาละวิน” และการท่องเที่ยวไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืนต่อไป

เมิ่ง ตี้ กวงย้ำกับผู้จัดการ 360 ํ ว่า ด้วยความเป็นคนไตที่มีวัฒนธรรมคล้าย คลึงกันมายาวนาน ทุกฝ่ายสามารถนำมาเป็นจุดเริ่มต้นในความร่วมมือทางวัฒนธรรม นำไปสู่การเรียนรู้และความเข้าใจกัน อันเป็นพื้นฐานไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และภาคการผลิตอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน ในอนาคต

“แนวคิดนี้ทางการจีนทั้งระดับรัฐบาลกลาง-มณฑล มีความคิด และทำมา ตลอด”

เขาขยายความให้ฟังอีกว่าที่เห็นชัด และใกล้ตัวมากที่สุดก็คือ ถนนคุน-มั่น กงลู่ หรือคุนหมิง-กรุงเทพฯ 1,800 กว่ากิโลเมตร ที่วันนี้...ทะลุแล้ว แม้จะเหลือบางช่วงที่กำลังปรับปรุงเพิ่มเติม แต่ก็อีกเพียงเล็กน้อย เท่านั้น ซึ่งเส้นทางสายนี้ทำให้พื้นที่ภาคกลาง-ใต้ของมณฑลหยุนหนัน เชื่อมโยงกับ สปป.ลาวและไทย

ซึ่งเส้นทางสายนี้กำลังก่อให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่แถบนี้

(อ่านเรื่อง “เปิดตลาด (อินโด) จีน” นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2550, “คุน-มั่ง กงลู่ เส้นทางจีนสู่อาเซียน” นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2551 และ “พม่า จุดเปลี่ยน “อาเซียน”?” นิตยสาร ผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2553 หรือใน www.goto manager.com ประกอบ)

ขณะที่เขตปกครอง ตนเองฯ เต๋อหงที่มีพรม แดนติดกับภาคเหนือของพม่า 543 กิโลเมตร ก็ใช้ยุทธศาสตร์นี้ในการพัฒนา ความร่วมมือด้านต่างๆ กับ พม่ามาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา

โดยทางเต๋อหงได้ร่วมมือกับพม่า จัดงาน “เป้าพอ” หรืองานญาติมิตร จีน-พม่าขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมของทุกๆ ปี ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลอย่างมีนัยสำคัญทำให้เกิดความร่วมมือทางการค้าระหว่างกัน จนทำให้มูลค่า การค้าระหว่างประเทศของ เต๋อหงสูงถึง 70,000 กว่าล้านบาทต่อปี

“ครึ่งแรกของปี 2010 ยอดการค้าต่างประเทศของเต๋อหงเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 50% แล้ว” เมิ่ง ตี้ กวงกล่าวย้ำ

(อ่านเรื่อง “น่งเต่า: หนองเตา หมู่บ้านที่ไทยน่าจะดูเป็นเยี่ยงอย่าง” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ)

เป้าหมายของเขตปกครองตนเองฯ เต๋อหง-บ้านแห่งนกยูง มณฑลหยุนหนันที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 800-1,300 เมตร อุณหภูมิตลอดทั้งปีเฉลี่ย 18-24 ํC และมี ดอกไม้ตลอดทั้งปีนั้น ผู้ว่าฯ เมิ่ง ตี้ กวง บอกว่าจะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ เอเชียใต้ในอนาคต โดยปี 2009 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าเต๋อหงประมาณ 4 ล้านกว่าคน ทำให้มีเม็ดเงินเข้าประมาณ 3,500 ล้านบาท

แน่นอน...ยุทธศาสตร์นี้ เขามุ่งมั่นที่จะใช้ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์แห่งชนชาติไตในลุ่มสาละวิน และเส้นทางการค้าสมัยโบราณ จาก “ไต้คง” เมืองเอกของ เขตปกครองตนเองฯ เต๋อหง ผ่านรุ่ยลี่-มูเซ (พม่า) เป็นเครื่องมือสำคัญมาเกื้อหนุน

ซึ่งเมื่อธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา ผู้จัดการ 360 ํ เคยเดินทางไปร่วมงานแสดงสินค้าพม่า-จีน 2008 ที่จัดขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษมูเซ ประเทศพม่า ตรงข้าม เขตเศรษฐกิจเจียก้าว เขตปกครองตนเองชาติไต-จิงโพ่ แห่งเต๋อหง จีนร่วมกับคณะของจังหวัดตาก

งานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความ พยายามของจีนที่จะเปิดเส้นทางเชื่อมพรมแดนของเต๋อหงลงสู่พม่า ออกสู่มหาสมุทรอินเดียกับเส้นทางตามระเบียงเศรษฐกิจ EWEC ตลอดจนการใช้ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติ มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจการค้าระหว่างกันได้เป็นอย่างดี

(อ่านเรื่อง “เต๋อหง” ช่องทางสินค้า จีนที่ไทยไม่อาจมองข้าม นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ)

ผู้ว่าฯ เมิ่ง ตี้ กวงบอกว่าภายใต้ยุทธศาสตร์นี้เต๋อหงได้รับงบประมาณสนับสนุนกว่า 10,000 ล้านหยวน ในการพัฒนาระบบคมนาคมภายในประเทศ ทั้งสนามบินพาณิชย์หมานซื่อ, ถนนและเส้นทางรถไฟที่จะมุ่งไปสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษเจียก้าว (ตรงข้ามเขตเศรษฐกิจพิเศษมูเซ ของพม่า)

ขณะเดียวกันระยะที่ผ่านมา ระดับรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ คือจีนกับพม่า ก็ได้บรรลุความเข้าใจร่วมกันแล้วว่าจะดำเนินการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบก ทั้งถนน-ทางรถไฟ จากชายแดนฯ เจียก้าวเข้า สู่พม่า ซึ่งจะตัดผ่านเขตเศรษฐกิจมูเซ-มัณฑะเลย์-กรุงร่างกุ้ง

ซึ่งส่วนหนึ่งสนองยุทธศาสตร์ออกสู่ทะเลที่มหาสมุทรอินเดีย อีกส่วนหนึ่งจะเชื่อมโยงเข้ากับเส้นทางคมนาคมตามแนวระเบียบเศรษฐกิจ EWEC มาที่เมียวดี (พม่า)-แม่สอด (ไทย) หรือผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำ สาละวิน-สปป.ลาว-เวียดนาม รวมไปถึงการ ต่อเชื่อมเข้ากับเส้นทางคมนาคมจากพม่า-อินเดีย-บังกลาเทศ และยุโรป ที่กลุ่มประเทศภาคีกำลังดำเนินการตามขั้นตอนเจรจาระหว่างประเทศกันอยู่

ผู้ว่าฯ เขตปกครองตนเองฯ เต๋อหง ระบุว่าเฉพาะเส้นทางจากจีน จากเต๋อหง-พม่า เท่าที่ได้รับรู้ผ่านการประชุมร่วมทั้งระดับมณฑลและรัฐบาลกลาง ทราบ ว่าผู้นำทั้ง 2 ประเทศได้บรรลุความประสงค์ นี้ร่วมกันแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างวางแผนดำเนินการในรายละเอียด

“ตอนนี้จีนกำลังวางท่อส่งแก๊สจากพม่าเข้าคุนหมิงอยู่ ส่วนถนน-รถไฟในพม่า ก็ได้บรรลุความเข้าใจกันแล้ว” เขาย้ำ

ในเดือนกันยายน (2553) ทางการจีนจะส่งทีมเจ้าหน้าที่ภาคสนามเข้าไปสำรวจแนวเส้นทางทำถนน-เส้นทางรถไฟ จากชายแดนมูเซไปจนถึงมัณฑะเลย์และกรุงร่างกุ้ง

“ภายใน 3-5 ปีต่อจากนี้ โครงการก่อสร้างถนน และทางรถไฟจีน-พม่าที่ว่านี้ น่าจะเห็นเป็นรูปธรรมได้” เมิ่ง ตี้ กวงบอก พร้อมกับอธิบายอีกว่าแนวทางนี้จะทำให้เต๋อหงกลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญ เป็นจุดเชื่อมต่อเข้ากับพม่า มหาสมุทรอินเดีย, ไทย ผ่านเมียวดี-แม่สอด ทะลุไปถึงเวียดนาม ตลอดจนกลุ่มประเทศโซนบังกลาเทศ อินเดีย ฯลฯ ต่อไป

(อ่านเรื่อง “เส้นทางฝันอันดามัน-อินโดจีน” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2553 หรือ www.goto manager.com ประกอบ)

ผู้ว่าฯ เมิ่ง ตี้ กวงยังอธิบายถึงผลที่ จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน อีกว่า จะเป็นอีกก้าวกระโดดหนึ่งของการค้าจีน-พม่า หลังจากที่มีการขยายตัวมาอย่างต่อเนื่องตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา

เขามองว่า เส้นทางคมนาคมที่ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นนี้จะกระตุ้นให้เกิดการค้า การท่องเที่ยว การลงทุนในภาคการ ผลิตต่างๆ มากกว่าเดิมอีกมาก

ซึ่งเฉพาะระยะที่ผ่านมาก็มีบริษัทเอกชนของจีนเริ่มทยอยเข้าไปปักหลักลงทุนในพม่า ผ่านตามแนวเส้นทางคมนาคมสายนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดมีผู้ประกอบการ 21 รายที่เริ่มลงมือดำเนินการพัฒนาในภาคการเกษตร-การปลูกพืชแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ จากชายแดนเต๋อหงเข้าไปในพม่า

โดยมีแม่น้ำสาละวินเป็นตัวร้อยรัด และเชื่อมโยงผู้คนตลอดทั้งลำน้ำสายนี้เข้าด้วยกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.