เซอร์เคิ้ล คอมพิวเตอร์ สินค้าไอบีเอ็มมือสอง


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

"ธุรกิจของเรา คือ ขายแลกเปลี่ยนเครื่องอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทุกชนิดของไอบีเอ็ม "วิโรจน์ ว่องธนาการ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทเซอร์เคิ้ล คอมพิวเตอร์ซิสเต็ม (ประเทศไทย) จำกัด ให้คำจำกัดความของกิจการที่เขาเป็นผู้บริหารอยู่

ธุรกิจขายคอมพิวเตอร์มือสองซึ่งผ่านการใช้งานแล้วในประเทศไทยยังเป็นเรื่องที่ไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก เซอร์เคิ้ลคอมพิวเตอร์ นับเป็นรายแรกและรายเดียวในปัจจุบัน บริษัทแห่งนี้เป็นของชาวสิงคโปร์ชื่อ ชัว เคง ฮอก ซึ่งเข้ามาเมืองไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ในชื่อของเซอร์เคิ้ล คอมพิวเตอร์ รีมาร์เก็ตเตอร์ โดยร่วมทุนกับนักธุรกิจในวงการคอมพิวเตอร์ของไทยคนหนึ่ง แต่หลังจากนั้นอีก 5 ปี ธุรกิจร่วมทุนนี้ก็จบสิ้นลง ชัว เคง ฮอก ซึ่งมีบริษัทชื่อเดียวกันนี้อยู่ในสิงคโปร์และกัวลาลัมเปอร์ด้วย จึงตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท แล้วเปลี่ยนชื่อท้ายจากรีมาร์เก็ตเตอร์เป็น "ซีสเต็ม" โดยวิโรจน์ซึ่งทำงานอยู่กับบริษัทเดิม ตามมาดูแลกิจการในชื่อใหม่ให้

เมื่อพูดถึงสินค้ามือสองหรือของเซ็คกั้นแฮนด์ โดยทั่วไปก็หมายถึงของเก่าใช้แล้วที่คุณภาพหรือประสิทธิภาพย่อมไม่ดีเท่าของใหม่ แต่สำหรับคอมพิวเตอร์มือสองนั้นไม่เหมือนรถเก่า คือ ประสิทธิภาพการใช้งานนั้นยังเหมือนของใหม่ เพราะถ้ามีปัญหาแม้แต่เพียงนิดเดียว เครื่องก็จะไม่ทำงาน

"คนที่เขาขายไม่ใช่เพราะว่ามันเสีย หรือใช้แล้วมีปัญหา แต่ขายเพราะว่าต้องการจะเปลี่ยนรุ่นไปใช้รุ่นใหม่กว่า แต่บ้านเรายังคงใช้รุ่นนั้นอยู่ เราก็เอาเข้ามาขาย" วิโรจน์กล่าว

เซอร์เคิ้ล คอมพิวเตอร์ขายเฉพาะคอมพิวเตอร์ยี่ห้อไอบีเอ็มเท่านั้น ประการที่หนึ่งเป็นเพราะเป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันแพร่หลายมากที่สุด ประการที่สองซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจนี้อยู่ได้ก็คือ ไอบีเอ็มมีพันธะที่จะต้องให้การซ่อมบุรง ดูแลรักษาเครื่องไอบีเอ็มทุกเครื่อง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกนี้ และไม่ว่าเครื่องที่ซื้อไปนั้นจะถูกเปลี่ยนมือไปอยู่ที่ใคร

คอมพิวเตอร์ไอบีเอ็มทุกเครื่องจะมีข้อตกลงเรื่องการบำรุงรักษาที่ผู้ขายรายแรกสุดทำกับผู้ซื้อ ซึ่งข้อตกลงนี้ จะมีผลบังคับต่อสาขาไอบีเอ็มทั่วโลกที่จะต้องให้การบำรุงรักษาคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นตลอดไป

นี่คือจุดขายที่เซอร์เคิ้ลคอมพิวเตอร์ฯ สร้างความมั่นใจให้ผู้ซื้อได้ว่า ถึงจะเป็นคอมพิวเตอร์มือสองก็จะได้รับการบริการจากไอบีเอ็มเหมือนเครื่องใหม่ที่ซื้อจากดีลเลอร์ของไอบีเอ็มโดยตรงทุกประการ โดยที่เซอร์เคิ้ลคอมพิวเตอร์จะทำหน้าที่ติดตั้งและติดต่อไอบีเอ็มประเทศไทย ให้รับทราบและปฏิบัติตามข้อตกลงในการบำรุงรักษา

"ไอบีเอ็มเขาถือว่าเราเป็นคู่แข่ง ในแง่ที่ว่า ถ้าไม่มีเราเขาก็จะขายของใหม่ได้มากขึ้น" วิโรจน์กล่าว

คอมพิวเตอร์มือสองที่ขายกันนั้นมีเฉพาะเครื่องและอุปกรณ์ที่ใช้กับเครื่องระดับเมนเฟรม กับมินิคอมพิวเตอร์เท่านั้น ไม่รวมถึงพีซี เนื่องจากเครื่องพีซีมีราคาไม่สูงนัก ราคาที่ลูกค้าจะประหยัดจากการซื้อเครื่องเก่า เมื่อคิดเป็นเม็ดเงินแล้ว ซื้อของใหม่คุ้มกว่า

"เครื่องเมนเฟรมราคาจะถูกกว่าของใหม่ประมาณ 30% ส่วนเครื่องมินิถูกกว่า 50%" วิโรจน์พูดถึงอัตราที่ผู้ซื้อจะประหยัดได้หากใช้บริการของเขา ซึ่งในระดับราคานี้ เซอร์เคิ้ลคอมพิวเตอร์จะได้กำไรประมาณ 15% ของราคาขาย

ในระดับมินิ คอมพิวเตอร์เซอร์เคิ้ล ขายซีพียู เทป และอุปกรณ์ต่อพ่วงอื่น ๆ ของระบบไอบีเอ็ม AS/400 และไอบีเอ็มซีสเต็ม /36 ให้กับผู้ใช้ในเมืองไทยประมาณ 10 ราย เช่น โรงแรมเมอริเดียน ภูเก็ต สุรพลซีฟู้ดส์ และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอ็มซีซี เป็นต้น ส่วนในระดับเมนเฟรมมีลูกค้าในขณะนี้ 15 ราย เช่น บริษัทประกันชีวิตเอไอเอ โรงกลั่นบางจาก เอสโซ่ เชลล์ ธนาคารนครหลวงไทยพาณิชย์ และการบินไทย จำกัด

ปีที่แล้ว เซอร์เคิ้ล คอมพิวเตอร์ มียอดขายประมาณ 15 ล้านบาท ซึ่งวิโรจน์บอกว่า ยังไม่มากพอเมื่อเทียบกับกิจการที่กัวลาลัมเปอร์ที่มียอดขายสูงถึง 300 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในประเทศไทยมากนัก และคอมพิวเตอร์มือสองที่เป็นสินค้าของเซอร์เคิ้ลฯ นั้น ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ทั้งระบบ แต่เป็นอุปกรณ์เครื่องพ่วงที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเท่านั้น ซึ่งมีมูลค่าไม่สูงมากนัก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.