|

“บ้านปู” ณ ปัจจุบัน
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
“ทุกวันนี้ ทุกคนในหมู่บ้านสามารถรับผิดชอบตัวเองได้หมดแล้ว บริษัทไม่ต้องเข้าไปดูแลมากเหมือนช่วงแรกๆ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเราก็ยังดีอยู่เหมือนเดิม เวลาหน้าเทศกาลมีงานบุญแต่ละครั้ง เขาก็จะมาเชิญเราไปร่วมด้วยตลอด” สิทธิชัย เตชาธรรมนันท์ ผู้จัดการเหมือง บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) พูดถึงชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันของชาวบ้าน หมู่บ้าน “บ้านปู” หมู่บ้านที่เป็นพื้นที่สัมปทานทำเหมืองถ่านหินเหมืองแรกของบริษัทบ้านปูเมื่อ 27 ปีที่แล้ว
ประชากรของหมู่บ้าน “บ้านปู” ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 150 หลังคาเรือน เปลี่ยนแปลงไม่มากเมื่อเทียบกับเมื่อ 27 ปีก่อน ช่วงที่มีการอพยพโยกย้ายหมู่บ้านจากการเข้าไปทำเหมืองถ่านหินใหม่ๆ ที่มีอยู่ประมาณ 100 กว่าหลังคาเรือน
ถือเป็นประสบการณ์ครั้งแรกในการดูแลชุมชนรอบข้างที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าไปทำงานของบริษัทบ้านปู
และบริษัทบ้านปูก็ได้ประสบการณ์ ครั้งนี้มาพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนอื่นๆ ที่บริษัทต้องเข้าไปใช้พื้นที่ทำเหมืองต่อมาในภายหลัง
การโยกย้ายชุมชนในครั้งนั้น บริษัทบ้านปูต้องจัดหาพื้นที่ให้กับชาวหมู่บ้าน “บ้านปู” ทุกครอบครัวที่ยินยอมย้าย โดยแบ่งเป็นพื้นที่สำหรับใช้สร้างบ้านพักอาศัย ครอบครัวละประมาณ 200 ตารางวา มีการวางผังหมู่บ้าน สร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ การตัดถนน แบ่งแยกซอยต่างๆ ในหมู่บ้าน สร้างวัด และสร้างโรงเรียนให้กับหมู่บ้าน โดยบริษัทบ้านปูเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด
“งบประมาณส่วนใหญ่จะใช้มากที่สุดก็คือเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน สร้างถนน อาคาร งานอย่างนี้จะมีให้ลงอยู่เรื่อยๆ หรือบางทีก็ต้องเข้าไป upgrade แต่เราจะเน้นในเรื่องของ softside เพราะเราเอาความรู้เข้าไปให้ ไปสร้างการมีส่วนร่วมของทีมงาน ทำวิชาชีพเสริมขึ้นมา” ชนินทร์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบ้านปู บอก
หลังจากช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการดูแลและจัดการช่วงต้นๆ เมื่อ 15 ปีที่แล้ว บริษัทบ้านปูได้โอนเงินก้อนจำนวนหนึ่งให้กับโรงเรียนบ้านปู จัดตั้งเป็นมูลนิธิบ้านปูอุปถัมภ์ เพื่อให้โรงเรียนสามารถนำดอกผลจากเงินก้อนนี้ไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการด้วยตัวเอง
ปัจจุบันโรงเรียนบ้านปูเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงชั้นประถมปีที่ 6 มีนักเรียนซึ่งเป็นลูกหลานชาวบ้าน เข้าเรียนอยู่จำนวน 29 คน ส่วนพื้นที่ทำกิน บริษัทบ้านปูได้จัดหาพื้นที่สำหรับการทำสวนจำนวนหนึ่ง และจัดหาพื้นที่ทำนาให้กับชาวบ้าน “บ้านปู” อีกครอบครัวละประมาณ 2 ไร่ อยู่ห่างจากที่ตั้งหมู่บ้านออกไปไม่ไกลมากนัก
ในช่วงฤดูฝน หากเข้าไปในหมู่บ้าน “บ้านปู” ในช่วงเวลากลางวัน บรรยากาศในหมู่บ้านอาจดูเงียบเหงา เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่จะไปรวมตัวช่วยกัน “ลงแขก” ทำนายังพื้นที่ที่บริษัทบ้านปูจัดเตรียมเอาไว้
คงสภาพวิถีชีวิตเดิมๆ ของชาวชนบทไทยที่นับวันจะหาดูได้ยากขึ้นเรื่อยๆ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|