|
ภารกิจที่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
หากเข้าใจว่ากระบวนการทำเหมืองถ่านหินมีแค่การขุดถ่านหินขึ้นมาแล้วก็ขนออกไปขาย คงไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะเหมืองแต่ละแห่งมีขั้นตอนที่ต้องพิจารณาลงในรายละเอียด ซึ่งทั้งลึกซึ้ง อ่อนไหว และต้องติดตามงานต่อเนื่อง แม้ว่าเหมืองแห่งนั้นจะปิดตัวลงไปแล้วหลายปี
สิทธิชัย เตชาธรรมนันท์ เพิ่งเดินทางกลับถึงบ้านที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ในช่วงหัวค่ำ
เช้าวันนั้น เขาเพิ่งเดินทางไปปรึกษากับทีมงานเกี่ยวกับการจัดหาครูชาว ต่างประเทศให้กับโรงเรียนบ้านสระ ตำบลบ้านสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา เพื่อเป็นการสนับสนุนการเรียนภาษาอังกฤษให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียน แห่งนี้
ก่อนหน้านั้น 1 สัปดาห์ สิทธิชัยเพิ่งไปร่วมกิจกรรมในโครงการพัฒนาอาชีพ ให้กับชาวบ้านในอำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง เขาใช้เวลาอยู่ที่นั่น 2-3 วัน
สิทธิชัยเป็นผู้จัดการเหมืองของบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน)
ด้วยความที่สิทธิชัยเป็นคนผิวขาว คนที่เพิ่งพบกับเขาเป็นครั้งแรก มักเข้าใจว่าเขาเป็นคนเหนือ
แต่ที่จริง สิทธิชัยเป็นชาวภูเก็ต เขาเดินทางไกลขึ้นมาทำงานในภาคเหนือ ตั้งแต่เมื่อ 20 ก่อน จนได้ลงหลักปักฐาน สร้างครอบครัวอยู่ที่นี่
สิทธิชัยเรียนจบด้านวิศวกรรมเหมืองแร่จากภูเก็ตโดยตรง เริ่มงานกับบ้านปู ในปี พ.ศ.2532
ตอนที่เขาเลือกเรียนสาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ใหม่ๆ เขาตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยม ว่าจะเข้าไปทำงานในบริษัทไทยแลนด์ แทนทาลัม โรงงานผลิตแทนทาลัม (ตะกรัน ดีบุก) แห่งเดียวและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะภูเก็ต
แต่ยังไม่ทันที่เขาจะเรียนจบ ปรากฏว่าโรงงานแห่งนี้ถูกกระแสต่อต้านจาก ชาวภูเก็ตที่รุนแรงถึงขั้นจัดมวลชนบุกเข้าไปเผาโรงงาน
(รายละเอียดเรื่องโรงงานไทยแลนแทนทาลั่ม สามารถหาอ่านได้จากเรื่อง “แค้นสั่งฟ้าที่ภูเก็ต” นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2529 หรือใน www. gotomanager.com)
สิทธิชัยเลยต้องเบนเข็มชีวิตใหม่ เดินทางขึ้นเหนือเพื่อมาทำงานกับบ้านปู ซึ่งขณะนั้นเพิ่งเริ่มทำเหมืองถ่านหินในพื้นที่สัมปทานแห่งแรก ณ หมู่บ้าน “บ้านปู” อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ได้เพียง 6 ปี
ถือได้ว่าสิทธิชัยเป็นพนักงานรุ่นแรกๆ ของบ้านปูที่มองเห็นและเข้าใจภารกิจของบ้านปูเป็นอย่างดี รวมถึงรู้จักพื้นที่และเข้าใจความรู้สึกของผู้คนที่อยู่ในชุมชนรายรอบบริเวณแหล่งสัมปทานถ่านหินของบ้านปูมากที่สุด ผู้หนึ่ง
แม้ออฟฟิศของสิทธิชัยจะอยู่ที่อำเภอลี้ แต่โดยหน้าที่การงานแล้ว เขาต้อง เดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างลี้ เชียงม่วน และสบปราบอยู่เป็นประจำ ตามพันธกิจที่บ้านปูมีอยู่กับชุมชนที่อยู่ใน 3 พื้นที่นี้
นั่นคือการดูแลโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คน และสังคมของชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ซึ่งเคยถูกใช้เป็นเหมืองถ่านหินของทั้ง 3 อำเภอ ซึ่งอาจมีทั้งคนที่ได้รับผลกระทบจาก เหมืองโดยตรง และคนที่ไม่ได้รับผลกระทบ ใดๆ เลย
รวมถึงการดูแลงานปรับสภาพพื้นที่ เหมืองเดิมซึ่งปิดไปแล้ว ให้กลับมามีสภาพ ที่ดี บางแห่งมีการนำต้นไม้ไปปลูกไว้เพื่อเป็นป่า บางแห่งกำลังถูกปรับแต่งพื้นที่ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และบางแห่งใช้เป็น ศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับถ่านหิน และไดโนเสาร์
“ที่ด้านหลังพระธาตุภูปอ พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของเชียงม่วน เพิ่งมีการขุดค้น พบซากฟอสซิลของไดโนเสาร์เมื่อไม่นานมานี้ ทางจังหวัดพะเยาจะนำมาโปรโมต เป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยว เพราะเป็น การพบกระดูกไดโนเสาร์ครั้งแรกในภาคเหนือ เราก็เลยร่วมมือกับจังหวัด โดยให้ใช้ สถานที่บริเวณเหมืองเก่าทำเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์ไปพร้อมๆ กับถ่านหิน” สิทธิชัยบอก
ภารกิจของสิทธิชัย ดูไม่เหมือนเป็น ภารกิจของบริษัทที่ประกอบกิจการเหมืองถ่านหิน ตามความเข้าใจของคนทั่วๆ ไป
แต่งานในส่วนนี้ ชนินทร์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ้านปู ได้บอกไว้ ระหว่างการสนทนากับผู้จัดการ 360 ํ เมื่อกลางเดือนมิถุนายนว่า เป็นงานที่ถูกกำหนดน้ำหนักในการประเมินผลงาน (KPI) ไว้เท่ากับ หรืออาจจะมากกว่าผลการทำงานในเชิงธุรกิจของเหมืองทุกๆ แห่งที่บ้านปูมี
“ถ้าเราเข้าไปแล้ว เขาควรจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในเรื่องของสุขภาพ วิชาชีพ ความรู้ การศึกษา อะไรต่างๆ โครงสร้างพื้นฐาน ศาสนาต่างๆ ที่เราเข้าไปช่วย พัฒนาได้ในทุกๆ เรื่อง ลักษณะนั้นจะเป็นทุกที่เลยที่เราเข้าไป เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าไปแล้ว 15 ปี 20 ปีก็ไม่ดีขึ้น แสดงว่าเราแย่มาก” ชนินทร์ย้ำ
เหมืองที่ “บ้านปู” อำเภอลี้ มีปริมาณถ่านหิน 15.9 ล้านตัน บ้านปูเริ่มขุดมาตั้งแต่ปี 2526 ถัดจากนั้นในปี 2534 บ้านปูได้พื้นที่สัมปทานเพิ่มที่อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง ซึ่งมีปริมาณถ่านหิน 27 ล้านตัน และพื้นที่สัมปทานในประเทศไทยแหล่งสุดท้ายที่บ้านปูมีในไทย คือที่อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา มีปริมาณถ่านหิน 4.6 ล้านตัน บ้านปูได้มา เมื่อปี 2539
ปัจจุบันเหมืองถ่านหินจากทั้ง 3 แหล่งของบ้านปูในประเทศไทย อยู่ในสถานะที่ปิดเหมืองไปแล้ว เพราะได้ขุดถ่านหินขึ้นมาจนเกือบหมดแล้ว
เหมืองที่อำเภอลี้ปิดไปตั้งแต่ปี 2548 ที่อำเภอสบปราบปิดในปี 2550 และเหมืองล่าสุดที่เพิ่งปิดไปในปี 2551 คือที่เชียงม่วน
แต่สิทธิชัยยังต้องอยู่ในพื้นที่นี้ต่อ เพราะภารกิจของบ้านปูยังไม่จบ
เหมืองถ่านหินทั้ง 3 แห่งของบ้านปู เป็นเหมืองแบบเปิด ซึ่งหมาย ความว่าต้องขุดดินลงไปในพื้นที่ที่เป็นแหล่งถ่านหิน นำถ่านหินดังกล่าวขึ้นมา ผ่านกระบวนการล้าง บดละเอียด ก่อนส่งไปขายให้กับลูกค้า
ฟังจากขั้นตอนดูเหมือนง่าย แต่ความจริงยังมีกระบวนการทำงานที่ลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน และต้องให้ความสำคัญในอีกหลายๆ จุด
ยกตัวอย่างคร่าวๆ...
- ก่อนเปิดหน้าดิน ต้องสำรวจพื้นที่ของแหล่งที่ได้รับสัมปทานมาก่อนว่า มีชุมชนอยู่ในบริเวณนั้น หรือใกล้เคียงที่จะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองมากน้อยเพียงใด ต้องจัดประชุมทำความเข้าใจกับคนในชุมชน หรือต้องจัดหาที่อยู่ให้ใหม่ หากชุมชนเหล่านั้นอยู่ในพื้นที่ทำเหมืองโดยตรง สิ่งสำคัญที่สุด คือในการทำเหมือง ต้องไม่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เหล่านั้นแย่ลง ตรงกันข้าม จะต้องทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเหล่า นั้นดีขึ้น
- เมื่อเปิดหน้าดิน และเริ่มขุดดินขึ้นมาแล้ว เหมืองบางแห่งต้องขุด ดินลึกลงไปถึง 100-300 เมตร ความกว้าง ของปากหลุมยาวเป็นกิโลเมตร ดินที่ถูกขุด ขึ้นมาจึงมีปริมาณมหาศาล จำเป็นต้องสำรวจพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ว่ามีสถานที่ใด ที่สามารถใช้เป็นพื้นที่ “ทิ้งดิน” ที่ขุดขึ้นมา และหากพื้นที่เหล่านั้นมีประชากรอาศัยอยู่ ก็ต้องจัดการไม่แตกต่างจากกรณีแรก
- อุปกรณ์ เครื่องจักร และรถที่ใช้ระหว่างการทำเหมือง ส่วนมากมีขนาดใหญ่ รถขนถ่านหินบางคัน เฉพาะล้อก็สูงถึง 2-3 เมตร ถนนหนทางที่รถเหล่านี้จะใช้สัญจรระหว่างการทำงาน รวมถึงในการขนส่งถ่านหิน จำเป็นจะต้องสร้างขึ้นมาใหม่ หรือปรับสภาพของถนนเดิม เพื่อให้สามารถรองรับน้ำหนักได้และการขนส่ง หรือลำเลียง ถ่านหินและเครื่องจักร ต้องไม่ส่งผลกระทบ หรือรบกวนชาวบ้าน
แต่ขั้นตอนที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อย ได้รับรู้ หรือนึกไม่ถึงคือ หลังจากปิดเหมือง เพราะได้ขุดถ่านหินขึ้นมาขายจนหมดแล้ว จะต้องฟื้นฟูสภาพพื้นที่ซึ่งเคยเป็นเหมืองเดิม และพื้นที่บริเวณที่ทิ้งดินให้กลับมามีสภาพที่ดีขึ้น ไม่ใช่ปล่อยเอาไว้ให้ธรรมชาติ จัดการ รวมถึงปรับสภาพพื้นที่รายรอบ ชุมชนรอบข้างให้น่าอยู่และสวยงาม
ซึ่งเป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่อง และต้องใช้เวลาติดตามประเมินผลงานอีกหลาย ปี หลังจากที่ได้ปิดเหมืองไปแล้ว
เหมืองที่ลี้ ซึ่งบ้านปูปิดไปตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน เคยผ่านการฟื้นฟูสภาพมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ปัจจุบันบ้านปูกำลังเข้าไปปรับปรุงสภาพพื้นที่ใหม่ โดยการนำดินจาก ปากหลุมหนึ่งที่มีขนาดใหญ่กว่าไปถมกลบหลุมเหมืองอีกหลุมหนึ่ง ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า โดยในการขุดดินจากปากหลุมใหญ่เพื่อไปกลบหลุมเล็กนั้น พบว่าในดินที่ขุดขึ้นมายัง มีเศษถ่านหินที่ยังมีคุณภาพดีหลงเหลืออยู่ สามารถนำมาล้างและบดขายให้กับลูกค้าภายในประเทศได้อีกจำนวนหนึ่ง
การปรับปรุงสภาพของหลุมเหมืองทั้ง 2 หลุมนี้ เมื่อแล้วเสร็จ หลุมใหญ่ที่ได้รับการปรับแต่งปากหลุม น่าจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีทิวทัศน์สวยงาม พร้อมที่จะปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่น่าไปชมแห่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน
ขณะที่เชียงม่วนที่เพิ่งปิดไปล่าสุดเมื่อ 2 ปีก่อน ได้มีการก่อสร้างอาคารแสดงนิทรรศการเอาไว้บริเวณปากหลุม อาคารนี้ถูกใช้เป็นศูนย์การ เรียนรู้เรื่องถ่านหินและไดโนเสาร์ ส่วนบริเวณปากหลุมก็กำลังมีการปรับแต่งภูมิทัศน์ให้สวยงาม เพื่อเตรียมเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไป ชมเนื้อหาในอาคารแสดงนิทรรศการ
ในบริเวณที่เป็นหลุมเหมืองเดิม ซึ่งลึกประมาณ 80 เมตร มีการเจาะ เป็นทางน้ำ เพื่อผันน้ำจากลำน้ำบริเวณใกล้เคียงลงไปไว้ในหลุมนี้จนเต็ม เพื่อเปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของท้องถิ่นในอีก 1-2 ปีข้างหน้า
ส่วนเหมืองที่สบปราบ ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างบ้านปูกับปูนซิเมนต์ไทย (โรงงานปูนซีเมนต์ลำปาง) แม้ว่าเหมืองของบ้านปูได้ปิดตัวลงไปแล้วตั้งแต่ปี 2550 แต่สัมปทานระเบิดหินปูนของปูนซิเมนต์ไทยยังไม่หมด จึงได้มีการแบ่งงานดูแลพื้นที่ระหว่างทั้ง 2 บริษัท
ภารกิจในการปรับฟื้นฟูสภาพยังไม่สามารถทำได้เต็มที่นัก
ภารกิจที่สิทธิชัยรับผิดชอบอยู่ หากเปรียบเป็นกองกำลังในหน่วยทหารก็เหมือนหน่วยระวังหลังที่ต้องคอยทำหน้าที่ให้ดี เพื่อที่แนวหน้าและ กองกำลังหลัก ซึ่งก็คือหน่วยงานที่ดูด้านพัฒนาธุรกิจกับหน่วยงานด้านปฏิบัติการสามารถ บุกตลุย ขยายธุรกิจไปข้างหน้าได้อย่างราบรื่น ไม่มีภาพลักษณ์มัวหมอง หรือข้อกังขาจากสังคมมาคอยเป็นอุปสรรค
สต๊าฟของสิทธิชัยตอนนี้มีอยู่ไม่มาก แต่ละจุดมีประมาณไม่เกิน 20 คน ส่วนใหญ่ อยู่ในสายงานสิ่งแวดล้อม และพัฒนาชุมชน
จะมีที่ลี้เท่านั้นที่ยังมีคนในสายวิศวกรรมเหมืองแร่คงเหลืออยู่ เพราะบ้านปูเพิ่งนำ เครื่องจักรเข้าไปใช้สำหรับการนำเศษถ่านหินที่เหลืออยู่ในดินที่ขุดขึ้นมา นำไปล้างและบดขายใหม่ ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่เหมืองเดิม
บรรยากาศที่ลี้จึงยังมีกลิ่นอายของความเป็นเหมืองที่ยังไม่ปิด หลงเหลืออยู่บ้าง
ภารกิจของสิทธิชัยเป็นตัวอย่างหนึ่งของภารกิจหลักของบ้านปู ที่คนส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็น เพราะไม่ได้ถูกพูดถึงมากตามสื่อ เหมือนกับเรื่องราวการขยายกิจการ
และไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หน่วยปฏิบัติการทุกแห่งของบ้านปู ที่ออกไปลงทุนเอาไว้ในต่างประเทศ ก็ต้องทำภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด
หากวัดปริมาณถ่านหินที่บ้านปูได้มาจากทั้ง 3 แหล่งในประเทศไทยรวมกันจะเท่ากับ 47.8 ล้านตัน ยังไม่ถึง 1 ใน 5 ของปริมาณสำรองถ่านหินที่บ้านปูมีในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในอินโดนีเซีย จีน หรือออสเตรเลีย
ขนาดของเหมืองที่ยิ่งใหญ่ขึ้น ภารกิจของหน่วยระวังหลังก็ยิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|