OPEN-MARKET OPERATIONS เครื่องมือที่จำเป็นของแบงก์ชาติภายใต้ระบบการเงินเสรี


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

และแล้วก็ถึงยุคที่อำนาจของแบงก์ชาติในการกำหนดทิศทางทางการเงินของประเทศเริ่มถูกตั้งถามว่า ยังศักดิ์สิทธิ์อยู่หรือไม่ จากกรณีที่ใช้วิธี "การขอความร่วมมือ" จากธนาคารพาณิชย์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาเมื่อสองเดือนที่แล้ว กว่าที่แบงก์พาณิชย์จะยอมลดดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าทั่วไปลง 0.25% ทางแบงก์ชาตต้องทำสงครามเย็นหรือสร้างแรงกดดันกับบรรดานายแบงก์เป็นเวลานานกว่า 3 อาทิตย์

เครื่องมือที่แบงก์ชาติจะใช้สำหรับการบริหารนโยบายทางการเงินภายในประเทศที่สำคัญ ภายใต้ระบบการเงินที่มีแนวโน้มเสรีมากขึ้น ได้แก่ การปรับอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (BANK RATE) การเปลี่ยนแปลงอัตราเงินสำรองตามกฎหมาย (LIGVIDITY RATIO) และการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล (OPERN-MARKET OPERATIONS)

การใช้เครื่องมือข้างต้นจะมีผลกระทบต่อปริมาณเงินในระบบ จึงถือเป็นเครื่องมือการควบคุมเชิงปริมาณ ต่างจาก "การขอความร่วมมือ" ที่เป็นการควบคุมเชิงคุณภาพ

การประกาศลดแบงก์เรตจาก 11% เป็น 10% เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา แบงก์ชาติมีเจตนาสำคัญที่จะลดต้นทุนการกู้เงินของแบงก์พาณิชย์ เพื่อที่แบงก์พาณิชย์จะได้ลดดอกเบี้ยเงินให้กู้กับประชาชนทั่วไป แต่เนื่องจากวงเงินกู้ที่กำหนดไว้ต่ำเพียง 1% ของยอดเงินรับฝากและต้องเป็นการกู้สำหรับการขาดดุลหักบัญชี หรือเพื่อดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเท่านั้น เครื่องมือดังกล่าวจึงไม่มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่การกู้เงินจากต่างประเทศสามารถกระทำได้อย่างสะดวกยิ่ง ไม่จำเป็นต้องอาศัยเงินจากแบงก์ชาติเป็นแหล่งพึ่งพิงสุดท้าย

ขณะที่การเปลี่ยนแปลง LIGVIDITY RATIO จะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อการขยายตัวของเงินฝากและสินเชื่อ จึงทำให้หลายประเทศปฏิเสธที่จะใช้เครื่องมือดังกล่าว

"แบงก์ชาติจะใช้ LIGVIDITY RATIO เป็นเครื่องมือก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจช่วงนั้นต้องการได้รับการเยียวยาอย่างฉับพลัน เช่น การเพิ่ม LIGVIDITY RATIO จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 8 เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ภายหลังวิกฤติการณ์น้ำมันครั้งที่ 1" เจ้าหน้าที่ฝ่ายการธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

แต่คงจำได้ว่า การเพิ่ม LIGVIDITY RATIO ในครั้งนั้นได้ส่งผลให้เกิดภาวะเงินตึงในปีถัดมา และทางการต้องปรับลดเหลืออัตราร้อยละ 7 ตามเดิมในปีถัดมาทันที

OPEN-MARKET OPERATIONS จึงเป็นเครื่องมือเดียวของทางการที่ทำให้ดอกเบี้ยมีการเปลี่ยนแปลงตามกลไกตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับประเทศไทยการใช้เครื่องมือดังกล่าวจะกระทำผ่านตลาดซื้อคืน โดยทางการเข้าทำการซื้อหลักทรัพย์ ซึ่งคือการอัดฉีดเงินเข้าระบบเมื่อต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวและจะกระทำตรงกันข้ามในกรณีที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ

ทำไมแบงก์ชาติไม่ใช่ OPEN-MARKET OPERATIONS เป็นเครื่องมือแทรกแซงให้ดอกเบี้ยลดลงในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อสอดคล้องกับบรรยากาศระบบการเงินเสรีในปัจจุบัน

ฐานิสร์ จาตุรงคกุล (นักเศรษฐศาสตร์การเงิน) ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ ที่ติดตามการดำเนินงานของแบงก์ชาติมานานได้ตั้งข้อสังเกตให้ "ผู้จัดการ" ฟังอย่างสนใจว่า "จำนวนพันธบัตรที่เหลือในระบบมีไม่มากเพียงพอที่แบงก์ชาติจะเข้าทำการซื้อ (OPEN MARKET PURCHASE) แล้วจะส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ย…แบงก์ชาติจึงไม่ทำเพราะทำไม่ได้"

ปัจจุบันแบงก์พาณิชย์ต้องดำรงสินทรัพย์ตามกฎหมายในอัตราร้อยละ 7 ของยอดเงินรับฝากในรูปลักษณ์ต่าง ๆ คือ (1) เงินฝากที่แบงก์ชาติไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ของยอดเงินฝาก (2) ถือไว้ไม่เกินร้อยละ 2.5 ของยอดเงินฝาก และ (3) หลักทรัพย์รัฐบาลไทยที่ปราศจากภาระผูกพัน

โดยทั่วไป แบงก์พาณิชย์จะถือพันธบัตรในสัดส่วนที่จะทำให้การดำรงสินทรัพย์ครบร้อยละ 7 ของยอดเงินฝากตามกฎหมายเท่านั้น เพราะไม่เพียงผลตอบแทนที่ต่ำ แต่ตลาดรองที่แทบจะไม่มีสภาพคล่องเลย ทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะถือพันธบัตรไว้ แบงก์พาณิชย์จะเลือกถือพันธบัตรในสัดส่วนสูงที่สุดที่สามารถทำได้ คือ ประมาณร้อยละ 3-4 ของยอดเงินฝากเท่านั้น

แม้ทางการจะประกาศยกเลิกให้ธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องถือหลักทรัพย์ร้อยละ 5.5 เพื่อการเปิดสาขาในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หาได้ช่วยให้จำนวนพันธบัตรในระบบเพิ่มเท่าจำนวนดังกล่าวไม่ เพราะไม่ทุกประเภทของพันธบัตรที่สำรองเพื่อการเปิดสาขาจะสามารถนำมาซื้อขายในตลาดซื้อคืนกรณีพันธบัตรไอเอฟซีทีเป็นตัวอย่างได้ชัดเจน

ขณะเดียวกัน แบงก์พาณิชย์ต้องนำพันธบัตรจำนวนร้อยละ 1 ของยอดเงินฝากไปไว้ที่แบงก์ชาติเพื่อเป็นหลักประกันในการกู้เสมอ ดังนั้นด้วยปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ จำนวนพันธบัตรรัฐบาลที่อยู่ในมือธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันมีไม่มากพอ ที่แบงก์ชาติจะเข้าทำการซื้อ (OPEN-MARKET PURCHASE) เพื่อเพิ่มปริมาณเงินในตลาด แล้วจะส่งผลให้ดอกเบี้ยลดลง

หนทางเดียวที่แบงก์ชาติจะใช้เครื่องมือได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงต้องพัฒนาตลาดรองพันธบัตรให้มีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องมากขึ้น

"ตลาดรองเรายังเล็กมากต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน นอกเหนือจากระบบการโอนเงินที่ยังไม่สะดวก ซึ่งขณะนี้ทางแบงก์ชาติก็เร่งทำอยู่" ศิริชัย สาครรัตนกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของแบงก์ชาติที่ดูแลเรื่องการพัฒนาตราสารหนี้มาเป็นเวลานานกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ความจำเป็นที่ต้องแก้ไขข้อกำหนดตามกฎหมาย มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาตลาดรอง เพื่อขจัดอุปสรรคในการใช้เครื่องมือดังกล่าว

เพราะตามข้อกฎหมายระบุเฉพาะ 1. พันธบัตรรัฐบาล 2. พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่แบงก์ชาติเป็นนายทะเบียน และกระทรวงการคลังค้ำประกันทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเท่านั้นที่สามารถทำการซื้อขายในตลาดซื้อคืน

ที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง คือ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องพิจารณาอนุญาตให้เปิดธนาคารพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ระบบการเงินมีการแข่งขันกันอย่างเสรีจริง ๆ เป็นการลดอำนาจการตั้งราคาตามใจชอบของแบงก์พาณิชย์ในปัจจุบันไปในตัว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.