“สงคราม” ยังไม่ยุติที่ Ground Zero


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

การเสนอสร้างมัสยิดใกล้กับที่ที่เคยเป็นตึก World Trade Center ซึ่งราพณาสูรเพราะฝีมือผู้ก่อการร้ายมุสลิม กำลังสร้างความแตกแยกครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ

Sally Regenhard และ Adele Welty ต่างเป็นแม่ที่สูญเสียลูกชายเจ้าหน้าที่ดับเพลิงไปกับเหตุก่อการร้ายช็อกโลก “9/11” ซึ่งถล่มตึกแฝด World Trade Center ในสหรัฐฯ จนไม่เหลือแม้แต่ซากเมื่อ 9 ปีก่อน Welty ขณะนี้เป็นหญิงชราสูงวัยถึง 74 ปี แล้ว Timmy ลูกชายวัย 34 ของเธอเหลือแต่เพียงชิ้นส่วนศพ ส่วน Christian ลูกชายวัย 28 ปีของ Regenhard ไม่พบแม้แต่ศพ

แม้ทั้งสองจะเป็นแม่ผู้สูญเสียเช่นเดียวกัน แต่ทั้งคู่กลับยืนอยู่ตรงกันข้าม เกี่ยวกับข้อเสนอสร้างมัสยิดและศูนย์วัฒนธรรมมุสลิม ใกล้กับสถานที่ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งตึก World Trade ซึ่งขณะนี้ เรียกว่า Ground Zero

Welty สนับสนุนการสร้างมัสยิด เธอเชื่อว่า มัสยิดและศูนย์วัฒนธรรมชุมชนมุสลิม จะเป็นการให้ สิทธิ์ให้เสียงแก่ชาวมุสลิมสายกลางทั่วไปที่รักสงบ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดง การต่อต้านการก่อการร้าย และการใช้ ความรุนแรงของมุสลิมอีกพวก “อยาก ให้โลกเห็นเราเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ เราไม่ได้เพียงสักแต่พูดว่าเชื่อในเสรีภาพของศาสนา แต่เราทำได้อย่างที่พูด” Welty กล่าว

แต่ Regenhard คัดค้าน เธอเห็นว่ามันยังเร็วเกินไป และอยู่ใกล้ Ground Zero มากเกินไป ห่างไปเพียง 2 ช่วงตึกเท่านั้น เป็นการ ทำร้ายจิตใจของคนที่ต้องสูญเสียเช่นเดียวกับเธออีกจำนวนมาก ที่ยังไม่พบแม้แต่ศพของบุคคลอันเป็นที่รัก มันเจ็บปวดที่คิดว่าร่างของพวกเขายังคงอยู่ที่นั่น Regenhard บอกว่า หากคนที่เสนอ ให้สร้างมัสยิด ต้องการสันติภาพจริงๆ อย่างที่กล่าวอ้าง พวกเขา ก็ควรจะย้ายไปสร้างที่อื่น หากพวกเขาเคารพในความศักดิ์สิทธิ์ของ Ground Zero “คุณไม่สามารถจะเปลี่ยนหัวใจและความคิดของคนอื่นได้ด้วยการยัดเยียดศาสนาของคุณใส่คนอื่น” Regenhard กล่าว

กลุ่มผู้เสนอสร้างมัสยิดคือผู้นำทางจิตวิญญาณและนักเคลื่อนไหวด้านความสมานฉันท์ระหว่างศาสนา Imam Feisal Abdul Rauf ผู้มีชื่อเสียง ภรรยาของเขา Daisy Khan และ Sharif El-Gamal นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใน Manhattan ในตอนแรก พวกเขาตั้งชื่อโครงการนี้ว่า Cordoba House ซึ่งตั้งตามชื่อเมือง หนึ่งในสเปน ในยุคที่เกิดความสมานฉันท์ทางศาสนามากที่สุดยุค หนึ่งในประวัติศาสตร์ แต่หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ชื่อนี้มีนัยว่าศาสนาอิสลามเหนือกว่าศาสนาอื่น กลุ่มของ Imam Rauf จึงเปลี่ยนชื่อโครงการนี้ไป Park51 ตามชื่อถนนที่ตั้ง

ความขัดแย้งนี้กลายเป็นสงครามน้ำลายที่เผ็ดร้อน และประเด็นการเมืองร้อนแรงในระดับชาติว่าด้วยคุณค่าที่อเมริกายึดถือ โดยเฉพาะหลังจาก Sarah Palin อดีตผู้สมัครรองประธานาธิบดีพรรครีพับลิกัน ต่อต้านโครงการนี้อย่างเปิดเผย ฝ่ายที่คัดค้านการ สร้างมัสยิดด่ากราดฝ่ายที่สนับสนุนด้วยถ้อยคำที่เหยียดเชื้อชาติ ส่วนฝ่ายนักการเมืองที่สนับสนุนการสร้างมัสยิด ด่ากลับฝ่ายคัดค้านว่าเป็นพวกดื้อหัวชนฝาและจิตใจเต็มไปด้วยความเกลียดชัง ฝ่าย ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ย้ายมัสยิดไปให้ ไกลจาก Ground Zero โยนคำถาม ว่า การเป็นอเมริกันหมายความว่า ต้องยอมให้ความเจ็บปวดส่วนบุคคล อยู่เหนือสิทธิทางรัฐธรรมนูญของคนกลุ่มอื่น อย่างนั้นหรือ หรือหมาย ความถึงการมองเห็นอเมริกาเป็นประเทศที่มีอำนาจยิ่งใหญ่ที่ได้รับมอบ หมายภารกิจจากพระเจ้าให้ช่วยโลกให้พ้นจากการเห็นผิดเป็นชอบ

พรรครีพับลิกันซึ่งหมายมั่นจะเอาชนะศึกเลือกตั้งรัฐสภาปลายปีนี้ ฉวยโอกาสใช้ความขัดแย้ง เรื่องมัสยิด และ Imam Rauf กล่าวโจมตีประธานาธิบดี Obama อ่อนแอในการรับมือภัยคุกคามจากการก่อการร้าย Newt Gingrich อดีตประธานสภาผู้แทนสหรัฐฯ และหนึ่งในตัวเต็งผู้สมัครประธานา ธิบดีสหรัฐฯ ของพรรครีพับลิกัน สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดี สหรัฐฯ ครั้งหน้าในปี 2012 กล่าวโจมตีผู้สนับสนุนการสร้างมัสยิด ซึ่งอาจรวมถึงประธานาธิบดี Barak Obama ที่แสดงท่าทีเป็นเชิง ยอมรับว่า การยอมให้สร้างมัสยิดที่ริมสนามรบที่กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงเป็นผู้สร้างขึ้น นับเป็นความยโสโอหังและมือถือสาก ปากถือ ศีล ส่วน Imam Rauf เคยกล่าวว่า เขาเชื่อว่านโยบายต่างประเทศ ของสหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 และยังไม่ยอมรับว่ากลุ่มติดอาวุธมุสลิมปาเลสไตน์ Hamas เป็นกลุ่มก่อการร้าย อย่างไรก็ตาม เขาปฏิเสธไม่เคยเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการ ร้ายใดๆ และประณามการก่อการร้ายทุกรูปแบบ

ส่วนนักการเมืองสายกลางอย่าง Michael Bloomberg นายกเทศมนตรีนิวยอร์ก เมืองที่ตั้งของ Ground Zero เสนอมุมมองเกี่ยวกับคุณค่าของอเมริกันว่า การเป็นอเมริกันหมายถึงการ ยึดมั่นในเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งในเวลาที่ถูกกดดันอย่างหนักให้ละทิ้งคุณค่าทั้งสอง แต่ดูเหมือน ว่าจุดยืนของพ่อเมืองนิวยอร์กจะอยู่คนละด้านกับชาวเมือง ผลสำรวจความคิดเห็นชาวนิวยอร์กโดย Quinnipiac University พบว่า ชาวนิวยอร์กส่วนใหญ่ 52 ต่อ 31 คัดค้านการสร้างมัสยิด

อย่างไรก็ตาม Bloomberg ยังคงขอร้องให้ชาวอเมริกันเคารพหลักการอันสูงส่งของอเมริกา “เราจะทรยศต่อคุณค่าของเรา และเล่นตามเกมของฝ่ายศัตรู หากเรายอมให้มีการปฏิบัติต่อชาวมุสลิมอย่างไม่เท่าเทียม การยอมจำนนต่อแรงกดดันของคนหมู่มาก คือการหยิบยื่นชัยชนะให้แก่ผู้ก่อการร้าย”

Khan ภรรยาของ Imam Rauf ให้เหตุผลที่เลือกจะสร้างมัสยิด ใกล้กับ Ground Zero ว่า เพื่อแสดง การตอบโต้กลุ่มสุดโต่ง และยืนยันว่า “เรารักสันติภาพ และเราต้องการสันติภาพในที่ที่มีความหมายที่สุด และที่นี่คือที่ที่มีความหมายที่สุด” แม้รู้ว่าข้อเสนอนี้จะต้องถูกต่อต้านอย่างรุนแรง แต่ Khan บอกว่า พวก เธออาศัยอยู่ในย่านนี้มานานหลายทศวรรษแล้ว และรู้สึก “เป็นเจ้าของ” สถานที่แห่งนี้ด้วยเช่นกัน Khan บอก ว่า โศกนาฏกรรม 9/11 ก็เกิดกับชาว มุสลิมอย่างพวกเธอด้วย สมาชิกหลายคนในกลุ่มศาสนาของเธอ ตกเป็นเหยื่อสังหารของเหตุวินาศกรรมดังกล่าว แต่พวกเธอกลับไม่ได้รับอนุญาตให้อาลัยถึงคนเหล่านั้น ราว กับพวกเขามิได้ประสบชะตากรรมเดียวกับคนอื่นๆ “เราถูกกล่าวหาและถูกป้ายสีแบบเหมารวม ราวกับว่าเราเป็นพวกเดียวกับพวกผู้ก่อการร้าย” Khan ถือเป็นความรับผิดชอบของเธอที่จะต้องฟื้นฟูบูรณะบริเวณโดยรอบ Ground Zero

แต่ความรู้สึก “เป็นเจ้าของ” ก็เป็นเหตุผลที่ Regenhard แม่ผู้สูญ เสียใช้คัดค้านการสร้างมัสยิดเช่นกัน มิใช่หมายถึงความเป็นเจ้าของ ในแง่ของสินทรัพย์ แต่เธอรู้สึกว่า สถานที่แห่งความสูญเสียนี้ “เป็นของเธอ” และของทุกๆ คนที่เธอเรียกว่า “ครอบครัว” ทันทีที่ได้ยิน ข่าวว่าจะมีการสร้างมัสยิดและศูนย์วัฒนธรรมมุสลิม Regenhard บอกว่า เธอรู้สึกเหมือนถูกลอบทำร้าย รู้สึกช็อก และรู้สึกว่านี่เป็น เรื่องบ้าชัดๆ เป็นการทำร้ายจิตใจของคนที่สูญเสียอย่างที่สุด และ เธอยังไม่เคยหยุดค้นหาลูกชายนักดับเพลิงที่สูญหายไปในเหตุการณ์ 9/11 Regenhard บอกว่า เข้าใจดีและแยกแยะได้ว่า กลุ่มชาวมุสลิมที่ต้องการสร้างมัสยิดไม่ใช่พวกเดียวกับกลุ่มก่อการร้าย แต่ มันยังยากที่จะทำใจยอมรับ

ในความรู้สึกของ Regenhard Ground Zero คือสุสาน ซึ่งควรได้รับการเคารพเทียบเท่ากับสนามรบอื่นๆ ของสหรัฐฯ Regenhard สนับสนุนการสร้างพิพิธภัณฑ์ National September 11 Memorial and Museam ซึ่งมีกำหนดจะเปิดในอีก 2 ปี ซึ่ง จะมีการเก็บรักษาชิ้นส่วนศพของเหยื่อ 9/11 ที่ไม่สามารถพิสูจน์เอกลักษณ์ว่าเป็นใคร ไว้ที่พิพิธภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งจะเป็นเหมือนอนุสรณ์สถานอันศักดิ์สิทธิ์ Regenhard เชื่อว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือการคารวะต่อผู้เสียชีวิต

Adele Welty แม่ผู้สูญเสีย เข้าร่วมกับความขัดแย้งนี้ด้วย การเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ ร่วมกับ Talat Hamdano แม่ชาวมุสลิม ซึ่งสูญเสีย Mohammad บุตรชายนักเทคนิคการแพทย์ ผู้ทำงานอยู่ในตึก World Trade Center ซึ่งถูกถล่มราพ ณาสูรในเหตุการณ์ 9/11 แม่ทั้งสองสนับสนุนการสร้างมัสยิด และ เรียกร้องให้ชาวอเมริกันให้ความสำคัญกับการเป็นเพื่อนมนุษย์มากกว่าความแตกต่างของคน และขอให้ละทิ้งการใช้ถ้อยคำที่ตั้งใจจะสร้างความหวาดกลัว เพื่อจะจำกัดเสรีภาพของคนอื่น พวก เธอขอร้องให้ชาวนิวยอร์ก ซึ่งภาคภูมิใจกับการเป็นเมืองที่เป็น “เบ้าหลอม” ทางเชื้อชาติ จงอย่าลืมการเคารพความหลากหลายทางเชื้อชาติ

หลังสูญเสียบุตรชาย Welty พยายามเยียวยาจิตใจและทำให้การตายของเขาไม่สูญเปล่า ในปี 2003 เธอจึงตัดสินใจเข้าร่วมกับกลุ่มที่มีชื่อว่า September Eleventh Families for Peaceful Tomorrows ซึ่งมุ่งมั่นจะแก้ไขความขัดแย้งด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง ปีถัดมา เธอเดินทางไปอัฟกานิสถาน ด้วยหวังจะ เปลี่ยนความเข้าใจของคนที่นั่นเกี่ยวกับชาวอเมริกันและประเทศอเมริกา แต่แล้วกลับเป็นเธอเองที่เปลี่ยนเป็นคนใหม่เมื่อกลับบ้าน ที่อเมริกา ความเห็นอกเห็นใจและความห่วงใยที่เธอได้รับในฐานะ แม่ผู้สูญเสีย คือการเยียวยาทางจิตใจที่ดีที่สุดในชีวิตของเธอ Welty บอกว่าเธอไม่เคยถูกโกรธเกลียดใดๆ แม้แต่ครั้งเดียวจากชาวอัฟกานิสถาน “ทั้งๆ ที่ประเทศของฉันทำลายบ้านและครอบครัวของพวกเขาจนย่อยยับ”

Welty เห็นด้วยกับ Regenhard ที่ว่า Ground Zero คือ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่เธอไม่คิดว่า การย้ายมัสยิดไปให้ไกลจากที่นั่นคือคำตอบ “เราตำหนิชาวมุสลิมสายกลาง ที่ไม่กล้าทำหรือแม้แต่พูดอะไรเลย เกี่ยวกับการกระทำของพวกหัวรุนแรง แต่เมื่อพวกเขากล้าออกมาพูดและทำ เราก็กลับตำหนิพวกเขาอีก”

อีกสิ่งหนึ่งที่แม่ผู้สูญเสียทั้งสองเห็นพ้องกันอย่างแท้จริงคือ นักการเมืองทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านการสร้างมัสยิด ยังคงใช้ความขัดแย้งนี้ตอกลิ่มความแตกแยกและยั่วยุให้เกิดการใช้อารมณ์ “จงอย่าได้มาเปิดปราศรัยที่ Ground Zero และใช้ครอบครัวของผู้สูญเสียเป็นฉากหลังสำหรับถ่ายรูปเป็นอันขาด” ทั้งสองพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกนักการเมืองควรรู้จักละอายที่ใช้ผู้สูญเสียเป็นเครื่องมือสร้างประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.