|
จีนยังไม่ครองโลก
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ทำไมการครองโลกของจีนจึงยังเป็นเพียงแค่ความฝัน
ใครๆ ก็ว่าจีนกำลังจะครองโลก จีนกำลังจะเป็น “Chimerica” แต่สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปในข้อมูลข่าวสารมากมายนับไม่ถ้วนที่เขียนถึงจีนคือ จีนจะสามารถแซงหน้าสหรัฐฯ และก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลกแทนที่สหรัฐฯ ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ยังตามหลังสหรัฐฯ เกือบทุกฝีก้าว
ข่าวจีนทุ่มลงทุนในอภิมหาโครงการยักษ์หรือทำข้อตกลงซื้อวัตถุดิบอย่างใหญ่โต กลายเป็นพาดหัวข่าวไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งๆ ที่ชาติตะวันตกก็ลงทุนมหาศาลในโครงการที่คล้ายกัน แต่กลับไม่ได้ รับความสนใจจากสื่อเท่ากับจีน ความจริง หากจะวัดกันจริงๆ โดย การเปรียบเทียบตัววัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญต่างๆ และอำนาจอิทธิพลประเภท soft power เช่นอิทธิพลทางวัฒนธรรม และการ ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม จะพบว่า แม้จีนจะเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของโลก และเมื่อเดือนกรกฎาคมก็เพิ่งจะแซงหน้า ญี่ปุ่น กลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก รอง จากอเมริกา แต่อำนาจอิทธิพลของจีนยังคงสะเปะสะปะและยังคงด้อยกว่าและถูกข่มทับโดยสหรัฐฯ อยู่
แม้จีนจะทำการค้ากับแอฟริกาและละตินอเมริกันเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ แต่ก็ยังคงตามหลังสหรัฐฯ ส่วนในเอเชีย จีนเป็นประเทศ คู่ค้าอันดับหนึ่งก็จริง แต่สินค้าที่จีนเกี่ยวข้อง มักเป็นสินค้าในระดับ low-end ในขณะที่สหรัฐฯ ครอบครองตลาดสินค้าระดับบน ความ ช่วยเหลือและการลงทุนโดยตรงของสหรัฐฯ ในทวีปเหล่านั้นยังคง เหนือกว่าจีนอย่างลิบลับ ซึ่งหมายความว่า สหรัฐฯ ยังคงมีอิทธิพล สูงกว่าจีน เช่นเดียวกับอำนาจทางทหาร แม้ว่าจีนจะพยายามเสริม สร้างกองทัพอย่างรวดเร็วก็ตาม
“อำนาจทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ไม่อาจทำให้ประเทศใด มีอิทธิพลเลยออกไปจากเขตพรมแดนของตนได้” Charles Onyango-Obbo นักข่าวจากแอฟริการะบุ เขาชี้ว่า การศึกษา เทคโนโลยี วัฒนธรรมอย่างเช่นภาพยนตร์ฮอลลีวูดและเพลง ธุรกิจ และกีฬา เหล่านี้ต่างหากที่ทำให้สหรัฐฯ มีอำนาจอิทธิพลที่แผ่ไพศาล แม้ว่าจีนจะเป็นประเทศมหา อำนาจแล้ว แต่จะไม่ได้ครองโลกอย่างสหรัฐฯ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดอาจเป็นในแอฟริกา ซึ่งจีนกำลังได้รับความชื่นชมว่าเป็นผู้ชนะอันชาญฉลาด จีนให้ความช่วยเหลือ ด้านการพัฒนาแก่แอฟริกา ในรูปของสินค้าอุตสาหกรรมราคาถูก การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยไม่ พ่วงเงื่อนไขว่า ต้องเคารพสิทธิมนุษยชนแบบชาติตะวันตก แลกกับการที่จีนสามารถเข้าถึงวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติของแอฟริกา ซึ่งจีนนำไปใช้สร้างความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ เหล่านี้ทำให้อิทธิพลของจีนในแอฟริกาขยายตัวอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของแอฟริกา มีสัดส่วน 15% ของการค้าทั้งหมดของแอฟริกา เทียบ กับจีนซึ่งมีสัดส่วนเพียง 10% ทั้งๆ ที่การค้ากับแอฟริกา แทบไม่มี ความสำคัญกับสหรัฐฯ เลย โดยมีสัดส่วนเพียง 2% ของการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับโลกเท่านั้น
การค้าระหว่างจีนกับแอฟริกาส่วนใหญ่ยังเป็นการที่จีนซื้อ น้ำมันจาก 5 ชาติในแอฟริกา ซึ่งว่ากันว่าเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้จีนต้องรุกเข้าไปในแอฟริกา แต่การนำเข้าน้ำมันจากแอฟริกาของ จีน ก็ยังมีสัดส่วนเพียง 17% ของน้ำมันทั้งหมดในแอฟริกาเท่านั้น เทียบกับสหรัฐฯ ซึ่งนำเข้าน้ำมันจากแอฟริกาถึง 29% บริษัทจากชาติตะวันตกยังเป็นหุ้นส่วนต่างชาติอันดับหนึ่ง ที่ลงทุนในโครงการ ผลิตน้ำมันในไนจีเรีย ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดในแอฟริกา ซับซาฮารา รวมทั้งในกานาและอูกันดา ประเทศผู้ผลิตน้ำมันหน้า ใหม่รายใหญ่สุดในแอฟริกาด้วย
จีนจะยังไม่สามารถแย่งแอฟริกาไปจากสหรัฐฯ ได้ เนื่อง จากชาติแอฟริกากำลังไม่พอใจ และกล่าวหาจีนคอร์รัปชั่น ในโครงการลงทุนด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานทั่วแอฟริกา โครงการเคเบิลใยแก้วนำแสงของจีนในอูกันดา และโครงการสร้างถนนและเหมืองมูลค่า 8,000 ล้านดอลลาร์ของจีนในคองโก ซึ่งเคยถูกขนานนามว่า เป็นแผนการมาร์แชลแห่งแอฟริกา ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่น ผลการศึกษาของ African Labor Research Network ล่าสุดระบุว่า สภาพการทำงานในบริษัทจีนใน 10 ชาติแอฟริกา จัดว่าอยู่ในขั้นเลวร้ายที่สุด ในโลก
ชาติแอฟริกาที่ไม่พอใจจีนมากที่สุด อาจเป็นแองโกลาและ ไนจีเรีย ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีก่อนยังชื่นมื่นกับจีน เพราะถูกล่อด้วยเงินกู้เพื่อการพัฒนาดอกเบี้ยต่ำที่ไม่มีเงื่อนไข เหมือนเงินกู้จากชาติตะวันตก และคำสัญญาว่าจะไม่แทรกแซงกิจการภายใน ทำให้การค้าระหว่างจีนกับไนจีเรียเพิ่มขึ้นสองเท่าเป็น 7,000 ล้านดอลลาร์ ระหว่างปี 2006-2008 แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ไนจีเรียได้สั่งยกเลิกโครงการที่สนับสนุนโดยจีนจำนวนมาก เนื่องจากเรื่องอื้อฉาว และความล่าช้า และผู้ที่เข้ามาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์แทนจีนอย่าง เงียบๆ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นสหรัฐฯ ซึ่งส่งออกไปยังไนจีเรียเพิ่มขึ้นถึง 48% และนำเข้าเพิ่มขึ้น 16%
ปัญหาคอร์รัปชั่นและการขาดความรับผิดชอบของจีน ในข้อตกลงต่างๆ ระหว่างจีนกับแองโกลา กระทบความสัมพันธ์ระยะยาวของประเทศทั้งสอง โรงพยาบาล General Hospital ในกรุง Luanda เมืองหลวงของแองโกลา ซึ่งสร้างโดยผู้รับเหมาของจีน และเป็นโรงพยาบาลใหม่แห่งแรกของแองโกลา นับตั้งแต่ ได้รับเอกราช กำลังจะพังถล่ม หลังจากใช้งานได้เพียง 4 ปี ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ต้องมีการอพยพคนไข้และเจ้าหน้าที่ออกจากโรงพยาบาล เพราะปัญหาด้านความปลอดภัย และอีกครั้งที่สหรัฐฯ เข้าไปเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากความไม่พอใจจีน โดยดอดเจรจากับแองโกลาในเดือนมิถุนายน เพื่อขยายการค้าและผลักดันให้แองโกลาทำข้อตกลงกับ IMF เพื่อขอรับเงินกู้ก้อนใหม่จากธนาคารในตะวันตก
นี่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและหลากหลายของสหรัฐฯ ที่ไม่เฉพาะต่อแอฟริกา แต่ยังรวมไปถึงทวีปอื่นๆ ด้วย โดยผ่านสถาบันระหว่างประเทศอย่าง IMF และการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม รวมถึงความช่วยเหลือทางทหาร จีนแทบไม่มีอิทธิพลทางทหารในแอฟริกาและละตินอเมริกาเลย และยังคงอยู่ใต้เงาของสหรัฐฯ แม้กระทั่งในถิ่นของจีนเอง นั่นคือเอเชีย ในการประชุม ASEAN Regional Forum ซึ่งเป็นการประชุมความ มั่นคงที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย เมื่อเดือนกรกฎาคมที่กรุงฮานอย เวียดนาม สหรัฐฯ ยังคงเป็นที่ต้อนรับเป็นอย่างดี เนื่องจากชาติเอเชียวิตกที่จีนกำลังเสริมสร้างกองทัพ จีนเป็นหนึ่งในชาติที่แย่งกันอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะ Paracel และ Spratly นอกเหนือจากไต้หวัน เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ รัฐมนตรีต่างประเทศ ASEAN ยังเชิญสหรัฐฯ เข้าร่วมหารือ East Asia Summit ซึ่งว่ากันว่า มีจุดประสงค์เพื่อคานอิทธิพลของจีนในเอเชีย
ส่วนสหรัฐฯ เพิ่งจะเพิ่มความช่วยเหลือทางทหารและมนุษยธรรมให้แก่ลาวและกัมพูชา และลบชื่อทั้งสองประเทศออกจากบัญชีดำทางการค้า สหรัฐฯ ยังลงนามข้อตกลงการค้ากับอินโดนีเซีย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ต่อไปนี้ ทั้งสามประเทศจะสามารถดึงดูดการลงทุนจากสหรัฐฯ ได้มากขึ้น สหรัฐฯ ยังกระชับสัมพันธ์ทางทหารและการค้ากับเวียดนาม ศัตรูเก่า ทำให้การค้าระหว่างสหรัฐฯ-เวียดนาม กระโดดขึ้นจาก 2,910 ล้านดอลลาร์ในปี 2002 เป็น 15,400 ล้านในปีที่แล้ว
แม้ว่าเอเชียจะยังคงเป็นภูมิภาคเดียวในโลกที่จีนครองอำนาจทางการค้าเหนือกว่าสหรัฐฯ โดยการค้าระหว่างจีนกับเอเชีย สูงถึง 231,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่สหรัฐฯ กับเอเชียอยู่ที่เพียง 178,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2008 แต่สินค้าที่ซื้อขายกันระหว่างจีน กับเอเชีย เป็นเพียงการค้าที่มีมูลค่าต่ำ กล่าวคือ จีนซื้อวัตถุดิบและชิ้นส่วนราคาถูก จากประเทศที่ยากจนกว่าในเอเชีย เพื่อนำมา ผลิตสินค้าสำหรับส่งออก ขณะเดียวกัน จีนก็ขายวัตถุดิบราคาถูก ให้แก่ชาติที่ร่ำรวยกว่าในเอเชียอย่างเกาหลีใต้
แต่การค้าแบบนี้ไม่ได้ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่าง ที่ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องการ เพื่อพัฒนาศักยภาพทาง เทคโนโลยีของตน ประเทศอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย จึงยังคงต้องพึ่งพิงทักษะด้านการประกอบการ เทคโนโลยี และการศึกษาจากสหรัฐฯ และสหรัฐฯ ก็ยังคงลงทุนโดยตรงในเอเชีย ในสัดส่วนที่มากกว่าจีนหลายเท่าคือ 8.5% ในขณะที่จีนลงทุนเพียง 3.8% หรือคิดเป็นมูลค่า 3,400 ล้านดอลลาร์ ต่อ 1,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2009 นักวิเคราะห์เชื่อว่า เอเชียจะยังคงร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มากกว่าจีนต่อไป ทั้งในทาง การเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง
อย่างไรก็ตาม จีนดูเหมือนจะทำได้ดีมากในละตินอเมริกา ปีที่แล้ว จีนสามารถแซงหน้าสหรัฐฯ กลายเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของบราซิล และเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 2 ของเวเนซุ เอลา ชิลี เปรู คอสตาริกา และอาร์เจนตินา แต่แม้ว่าการค้าโดยรวมระหว่างเอเชีย (ซึ่งส่วนใหญ่มาจากจีน) กับละตินอเมริกา จะ เพิ่มขึ้นถึง 96% แต่การค้าระหว่างสหรัฐฯ กับละตินอเมริกา กลับ เพิ่มมากยิ่งกว่าที่ 118% และการลงทุนสะสมของจีนในละตินอเมริกาเมื่อสิ้นปี 2008 มีเพียง 12,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น น้อย กว่าที่รัฐมิชิแกนของสหรัฐฯ เพียงรัฐเดียว ลงทุนในละตินอเมริกาเสียอีก
วัฒนธรรมและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เป็นอุปสรรคที่ทำให้จีน ไม่มีวันชนะสหรัฐฯ ในการสร้างอิทธิพลแบบ soft power ต่อละติน อเมริกา ในขณะที่สหรัฐฯ มีอิทธิพลดังกล่าวอย่างล้นเหลือ ไม่ว่าจะในด้านวัฒนธรรม ภาษา และอุดมการณ์ และชาติละตินอเมริกา ก็เป็นประชาธิปไตยเช่นเดียวกับสหรัฐฯ แม้จีนจะพยายามสร้างอิทธิพลทางด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน ผ่านสถาบันขงจื๊อ ซึ่งจีนก่อตั้งขึ้น 300 แห่งทั่วโลก และอยู่ในละตินอเมริกาถึง 21 แห่ง แต่มีชาวละตินเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่พูดภาษาจีนได้ แต่อิทธิพลทางวัฒนธรรมของอเมริกา มีตั้งแต่ภาพยนตร์ เพลง แฟชั่น และแม้แต่ประธานาธิบดี Obama ก็ยังมีเชื้อสายแอฟริกัน นักศึกษาแอฟริกันยังคงฝันจะไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ และภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ต้องเรียน
สหรัฐฯ ยังเป็นประเทศที่แอฟริกานึกถึงเป็นแห่งแรกยามเกิดปัญหา เหตุระเบิดก่อการร้ายที่อูกันดาเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งทำให้มี ผู้เสียชีวิตถึง 85 คน ทั้งๆ ที่อูกันดาเพิ่งทะเลาะกับสหรัฐฯ ที่เตือน เรื่องความล่าช้าของการปฏิรูปประชาธิปไตยในอูกันดา แต่ประธานา ธิบดี Yoweri Museveni ของอูกันดา ซึ่งมีสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับจีน ก็ยังหันไปขอความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ แทนที่จะเป็นจีน และได้รับความช่วยเหลือทางเทคนิคและผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ ทันที เป็นมูลค่า 24 ล้านดอลลาร์
จะเห็นว่าสหรัฐฯ ยังดูดีกว่าจีนมาก และยังถือไพ่เหนือกว่าจีนหลายใบที่สามารถงัดออกมาใช้ได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลทางวัฒนธรรม ทางทหาร วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจ และหลายอย่าง สหรัฐฯ ยังไม่ได้นำออกมาใช้อย่างเต็มที่ด้วยซ้ำ หรือยังใช้อย่างผิดๆ เนื่องจากตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวในโลกอย่างไร้คู่แข่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดมีผู้ท้าชิงอย่างจีนเกิดขึ้นมา ได้กลับกลายเป็นสิ่งกระตุ้นให้สหรัฐฯ ต้องตื่นตัว และกระตือรือร้นที่จะสานสัมพันธ์กับโลกอีกครั้ง
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|