การนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานของกรมตำรวจ กำลังเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่มีส่วนในการบุกเบิกผลักดัน
คือ พ.ต.อ.ไพรัช พงษ์เจริญ รองผู้บังคับการศูนย์ข้อมูลข้อสนเทศสำนักงานแผนงานและงบประมาณแห่งกรมตำรวจ
พ.ต.อ.ไพรัช สอบได้ที่หนึ่งทั้ง 4 ปีจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และได้ทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อปริญญาโทและเอกที่สหรัฐอเมริกาในสาขาการบริหารงานกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
ในขณะที่เรียนทางปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแซมฮุสตันสเตทนี้เอง เขาได้สัมผัสกับคำว่า
"เทคโนโลยี" และ "คอมพิวเตอร์" เป็นครั้งแรก เพราะเป็นวิชาบังคับที่นักศึกษาปริญญาทุกคนต้องเรียน
และเป็นวิชาเดียวกับที่ พ.ต.อ.ทักษิณ ชินวัตร ได้เรียนเช่นเดียวกันในฐานะศิษย์ผู้พี่
เรียกว่าทั้งสองคนจบปริญญาเอกจากสถาบันนี้เหมือนกัน และมีอาจารย์ที่ปรึกษาคนเดียวกันด้วย
ไพรัช เพิ่งจะมาสัมผัสกับงานเทคโนโลยีของกรมตำรวจเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน
2534 โดยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ ทำหน้าที่หัวหน้าศูนย์คอมพิวเตอร์ของกรมตำรวจ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาปีเศษที่ผ่านมา เขาได้ทำทุกอย่างเพื่อยกฐานะและภาพพจน์การทำงานของกรมตำรวจ
ในด้านการพัฒนางานเทคโนโลยีจนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ของคนทั่วไป
แม้จะมีพื้นฐานความรู้ด้านคอมพิวเตอร์อยู่บ้าง แต่คำว่าเทคโนโลยีกับงานตำรวจได้ซึมซับในแนวคิดของ
พ.ต.อ.ไพรัช อย่างจริงจัง ก็เมื่อเขาได้มีโอกาสเข้าเรียนในหลักสูตรเอฟบีไอ
ที่รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อกลางปี 2534 ทำให้เห็นความสำคัญ และได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสามารถในการใช้ระบบข้อมูลอาชญากรรมในการทำคดีสำคัญต่าง
ๆ มากมายของเอฟบีไอ และนั่นคือจุดเริ่มต้นขอกงารนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมการปฏิบัติงานของตำรวจไทย
"สายตรวจคอมพิวเตอร์" คือ ความพยายามล่าสุดในการติดอาวุธทางเทคโนโลยีให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เขาใช้เวลาไม่น้อยกว่าครึ่งปี เพื่อผลักดันรถสายตรวจคอมพิวเตอร์ "ต้นแบบ"
ออกมาจนเป็นผลสำเร็จและสามารถทำงานได้อย่างเป็นรูปธรรม
สายตรวจคอมพิวเตอร์เป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายจากระบบฐานข้อมูลอาชญากรรม ที่บันทึกอยู่ในศูนย์คอมพิวเตอร์ของกรมตำรวจเข้าสู่คอมพิวเตอร์แบบกระเป๋าหิ้ว
ซึ่งติดตั้งอยู่ในรถสายตรวจ โดยผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่เซลลูล่า 900 มีผลทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในรถสายตรวจตำรวจทางหลวงสามารถเรียกข้อมูลผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์
ซึ่งติดตั้งในรถมาใช้ได้โดยตรงตลอด 24 ชั่วโมง และในทุกเส้นทางทั่วประเทศรวม
5 ระบบฐานข้อมูล คือ ฐานข้อมูลรถยนต์ รถจักรยานยนต์ทั่วประเทศ ฐานข้อมูลรถหาย
ฐานข้อมูลใบขับขี่ ฐานข้อมูลใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน และสุดท้ายเป็นระบบฐานข้อมูลใบสั่งจราจร
จากรถสายตรวจคอมพิวเตอร์ "ต้นแบบ" คันแรกนี้ ซึ่งตามแผนงานนั้นจะนำไปสู่การติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ในรถตำรวจสายตรวจทางหลวงคันอื่น
ๆ ต่อไปอย่างไม่จำกัดรวมทั้งสายตรวจของตำรวจ 191 และสายตรวจของสถานีตำรวจต่าง
ๆ ประเทศ เพื่อให้ตำรวจที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ใกล้ชิดกับปัญหาอาชญากรรมสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยมีข้อมูลที่ถูกต้องสมบูรณ์ และสามารถเรียกใช้ได้อย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของปัญหาการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และปัญหาอาชญากรรมอื่น
ๆ ด้วย
"ระบบฐานข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติงานมากขึ้น
ซึ่งตามวัตถุประสงค์ คือ ทางกรมฯ ต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดึงข้อมูลมาดูได้
ในขณะที่รถวิ่งอยู่ไม่ต้องย้อนกลับมายังส่วนกลาง สร้างให้ตำรวจเกิดความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง
เพื่อเปลี่ยนความคิด อย่างเช่น ในการตั้งด่านตรวจ หากมีข้อมูลที่แน่ชัดสามารถดึงมาดูผ่านจอคอมพิวเตอร์ได้ตลอดเวลา
ทำให้ไม่ไปรบกวนสุจริตชนให้เสียเวลาอย่างทุกวันนี้" รองผู้การวัย 37
ปี กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ตามแผนงานหลังจากส่งรถต้นแบบให้กับผู้ใหญ่แล้วในเดือนสิงหาคม จะมีรถที่ติดตั้งคอมพิวเตอร์นี้ออกมา
10 คันแรกที่จะมีทุกอย่างเหมือนกับรถต้นแบบออกทดสอบวิ่งทั่วทุกภาคทั่วประเทศ
ต่อจากนั้นจะทำการประเมินผลทั้งทางด้านข้อมูลและระบบเครือข่ายในระยะเวลา
6 เดือน เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง เพื่อนำเสนอต่ออธิบดีกรมตำรวจขออนุมัติติดตั้งได้ตามแผนงาน
และนโยบายดังกล่าว
"ตามแผนงานแล้ว จะมีรถสายตรวจคอมพิวเตอร์อย่างไม่จำกัดจำนวนทั้งรถสายตรวจทางหลวง
สายตรวจ 191 และสายตรวจของสถานีตำรวจปัจจุบันเราใช้เครือข่ายของเซลลูล่าร์
900 อยู่ ในขั้นนี้เรายังไม่รู้ว่า เมื่อมีการเชื่อมโยงเครือข่ายจากรถสายตรวจหลาย
ๆ คันเข้าด้วยกันแล้ว จะมีปัญหาหรือไม่ ในอนาคตอาจจะพัฒนาไปสู่การเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมต่อไป"
ไพรัชกล่าว
สำหรับงบประมาณในการใช้จ่ายสำหรับคอมพิวเตอร์ต่อรถสายตรวจหนึ่งคันจะตกประมาณ
125,000 บาทเป็นค่าโทรศัพท์มือถือกับคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว
นอกจาก "รถสายตรวจคอมพิวเตอร์" ซึ่งเป็นผลงานล่าสุดของนายตำรวจหนุ่มคนนี้แล้ว
ในช่วงระยะเวลาปีเศษที่ได้เข้ามาจับงานด้านนี้ เขาได้พัฒนา "ระบบฐานข้อมูลอาชญากรรม"
เพื่อใช้งานสืบสวนสอบสวน และป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลคดีอาชญากรรม
และผลการดำเนินคดี ข้อมูลรถหาย ข้อมูลผู้ต้องหา ผู้ต้องขังและบุคคลพ้นโทษ
ข้อมูลหมายจับ ข้อมูลทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ข้อมูลทะเบียนอาวุธปืน
ข้อมูลผู้ได้รับอนุญาตพกพาอาวุธปืน ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ตลอดจนตำหนิรูปพรรณผู้กระทำผิด
ข้อมูลพิมพ์นิ้วมือ และข้อมูลตำหนิรูปพรรณทรัพย์หาย และข้อมูลแผนประทุษกรรมคนร้าย
โดยข้อมูลเหล่านี้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานในท้องที่สามารถเรียกตรวจสอบได้ตลอด
24 ชั่วโมง
อีกส่วนหนึ่งที่นายตำรวจผู้นี้ได้มีส่วนร่วมและผลักดันมาคือ โครงการความร่วมมือทางด้านระบบฐานข้อมูลของตำรวจในกลุ่มอาเซียน
6 ประเทศ การดำเนินการตามโครงการนี้จะมีผลทำให้การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมระหว่างประเทศได้ผลดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างรูปแบบมาตรฐานของข้อมูลอาชญากรรมให้แก่ประเทศสมาชิกเหล่านี้
สามารถจัดเก็บไว้ในระบบคอมพิวเตอร์และมีการเรียกใช้ข้อมูลระหว่างกันได้อย่างรวดเร็ว
ถือได้ว่านี่คือการปรับปรุงงานของกรมตำรวจโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ
แต่ก็เทคโนโลยีเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานเท่านั้น
แต่ความสำเร็จของงานยังคงขึ้นอยู่กับมนุษย์ผู้ใช้เทคโนโลยีนั้น ๆ ด้วย