|

บริหารความเสี่ยง อุดช่องโหว่....ธุรกิจครอบครัว
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(7 กันยายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
๐ เตือน ! ผู้ประกอบการธุรกิจครอบครัวระวังภัยใกล้ตัว
๐ ผู้รู้เปิด 10 หลุมพรางที่ถูกมองข้าม
๐ ไขทางออกป้องกันความเสี่ยง
๐ สร้างรากฐานจากรุ่นสู่รุ่นอย่างยั่งยืน
การศึกษาในเรื่องการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรจะให้ความสนใจเพราะมีส่วนสำคัญในการที่จะทำให้ธุรกิจแข็งแรงหรือล้มเหลวได้ อย่างไรก็ตาม หากได้เรียนรู้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ แม้ว่าในวันนี้ธุรกิจที่ทำอยู่อาจจะมีขนาดไม่ใหญ่ แต่หากในอนาคตมีโอกาสเติบโต การได้เรียนรู้ตั้งแต่วันนี้จะทำให้การส่งต่อและถ่ายทอด ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ ความรู้ หรือค่านิยม สู่รุ่นต่อไปได้ง่ายขึ้น
๐ รู้ทันหลุมพราง
ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการศึกษาธุรกิจครอบครัวมาอย่างต่อเนื่อง พบว่า จุดเล็กๆ ที่มักจะถูกมองข้ามหรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นหลุมพรางที่ธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่มักจะพบเจอและสามารถส่งผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจ จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการฯ ควรจะให้ความสำคัญ โดยได้จัดลำดับหลุมพราง 10 ข้อที่มีอยู่ในธุรกิจครอบครัวจากมากไปหาน้อย เพื่อให้ผู้ประกอบการฯ ได้ตระหนัก
หลุมพรางแรก การพูดกันน้อยลง เกิดจากเพราะพ่อแม่คิดไปเองว่าลูกเข้าใจว่าพ่อแม่ต้องทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยขนาดไหน ทำให้พ่อแม่พูดคุยกับลูกน้อย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงลูกอาจจะไม่เข้าใจ หรืออาจจะเข้าใจ แต่อยากจะให้พ่อแม่พูดคุยหรือบอกอยู่ดี เช่น พ่อแม่คิดในเรื่องนี้อย่างไร มีหลักการอย่างไร หรือในอนาคตอยากจะทำแบบไหน คาดหวังอะไร ในทางกลับกัน พ่อแม่อยากให้ลูกบอกว่าอยากจะทำอะไร ชอบหรือไม่ในธุรกิจที่ครอบครัวกำลังทำอยู่ มีแผนในอนาคตอย่างไรเกี่ยวกับธุรกิจของครอบครัว เมื่อต่างคนต่างคิดว่าฝั่งตรงข้ามรู้ แต่จริงๆ ไม่รู้ ที่สำคัญเมื่อพูดกันน้อยลงทำให้ความเข้าใจกันน้อยลงตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย วิธีการทำงาน ความคาดหวัง ทัศนคติ ฯลฯ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน
หลุมพรางที่สอง ให้ความสำคัญกับธุรกิจมากเกินไปจนลืมครอบครัว อย่างที่ได้ยินบ่อยๆ ว่าพ่อแม่ทำงานหนักมากจนไม่มีเวลาดูแลลูกจนลูกขาดความอบอุ่นและเกิดเป็นปมด้อย ในที่สุดจึงต่อต้านสิ่งที่พ่อแม่ทำอยู่ เรื่องนี้มักจะเกิดในช่วงที่พ่อแม่เป็นผู้ก่อตั้งกิจการทำให้ต้องทุ่มเทเวลากับงานมากกว่าครอบครัว และโดยส่วนใหญ่ลูกมักจะอยู่ในช่วงวัยเด็ก และอาจจะเกิดการฝังใจเมื่อโตขึ้นจึงต่อต้านธุรกิจของครอบครัว
ในทางกลับกัน เมื่อลูกเติบโตอยู่ในช่วงวัยรุ่นมักจะให้ความสำคัญกับเพื่อนมากกว่าพ่อแม่หรือครอบครัว พ่อแม่จึงไม่มั่นใจว่าลูกจะสืบทอดกิจการต่อไปได้หรือไม่ ยิ่งกว่านั้น เมื่อวันเวลาล่วงเลยไปกลายเป็นการเสียโอกาสในการถ่ายทอดสิ่งต่างๆ ในธุรกิจให้กับลูก ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ แนวคิด และมุมมองต่างๆ นอกจากนี้ ลูกอาจจะไปทำงานที่อื่นและอาจจะไม่กลับมาช่วยดูแลกิจการของครอบครัวอีกเลย ทำให้ธุรกิจที่พ่อแม่ทุ่มเทกำลังใจและแรงกายไม่สามารถสืบทอดต่อไปได้ เพราะมีทัศนคติที่ไม่ดีในสิ่งที่พ่อแม่ทำ ซึ่งจะเป็นปัญหามากกับธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเนื่องจากธุรกิจเติบโตเร็วทำให้ไม่มีเวลาให้กัน
หลุมพรางที่สาม การหลงลืมในบทบาท เพราะธุรกิจครอบครัวแตกต่างจากธุรกิจทั่วไปที่มีลักษณะของหุ้นส่วน เนื่องจากมี 3 ส่วนที่เกี่ยวข้องคือ 1.บทบาทของคนที่เป็นเจ้าของหรือผู้ก่อตั้ง ซึ่งมีหุ้นมีสิทธิมีเสียง 2.บทบาทของการเป็นผู้บริหาร สำหรับเจ้าของซึ่งมีบทบาทเป็นผู้ถือหุ้นสามารถจะเข้ามาบริหารหรือไม่บริหารธุรกิจของตัวเองก็ได้ ถ้ามีทั้งสองบทบาทโดยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และตำแหน่งบริหารระดับสูงด้วยจะยิ่งมีอำนาจมาก และ3.บทบาทของความเป็นสมาชิกของครอบครัว
สำหรับทั้ง 3 บทบาทดังกล่าว ซึ่งในบางรายเกิดขึ้นพร้อมกัน คือเป็นทั้งผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และยังเป็นคนในครอบครัวอีกด้วย ยกตัวอย่าง ทายาทซึ่งเป็นลูกเจ้าของมักจะคิดว่าอยากทำอะไรก็ได้ เพราะรู้สึกว่ามีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น เช่น มาทำงานสาย ไม่เคยเคารพกฎของบริษัท ใช้เงินบริษัทโดยไม่ดูความถูกต้องว่าใช้ได้หรือไม่ หากมีตำแหน่งในระดับบริหารย่อมจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของพนักงานที่ร่วมงานด้วย เนื่องจากในบางครั้งมีความหลงในบทบาทของตัวเอง ในขณะที่ พ่อแม่บางคนยังคงคิดว่าเป็นลูก ทั้งที่ลูกเปลี่ยนบทบาทมาเป็นพนักงานบริษัทแล้ว ยังคงปฏิบัติต่อกันเหมือนเป็นพ่อแม่กับลูกเหมือนอยู่ที่บ้าน กลายเป็นคนที่ส่งเสริมให้ลูกใช้อภิสิทธิ์ ทำให้การสื่อสารหรือประสานงานในลักษณะเพื่อนร่วมงานหรือผู้ร่วมงานได้รับผลกระทบไปด้วย
หลุมพรางที่สี่ การปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล เหมือนเมื่ออยู่กับครอบครัว
พ่อแม่กับลูกต่อว่ากันทำให้เกิดความน้อยใจ ทั้งๆ ที่ถ้าเป็นคนอื่นต่อว่าในเรื่องเดียวกันกลับไม่รู้สึกอะไรเพราะมองว่าเป็นการทำงานในแบบของมืออาชีพ เช่น เวลาที่ลูกเสนอโครงการกับเจ้านายซึ่งคือพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่แค่ขอให้หาข้อมูลเพิ่มเติมหรือบอกให้ไปแก้ไขข้อบกพร่อง ลูกจะรู้สึกน้อยใจทันที เพราะคิดว่าตั้งใจทำอย่างมากแต่ยังไม่ถูกใจพ่อแม่ ในขณะที่ จะเป็นเรื่องปกติมากหากลูกทำงานกับคนอื่นที่เป็นเจ้านายแล้วถูกให้ไปแก้ไขก็รู้สึกเฉยๆ เห็นเป็นเรื่องธรรมดา
หลุมพรางที่ห้า ความประมาท เนื่องจากไม่ได้จัดทำระบบบริหารของธุรกิจครอบครัวเอาไว้ก่อน เช่น การหาผู้สืบทอดกิจการ การจัดการเงินกองกลางของครอบครัว การแบ่งสรรปันส่วนผลประโยชน์ต่างๆ ในรูปของพินัยกรรม หุ้นบริษัท หรืออะไรก็ตาม หรือในบางครั้งไม่มีแผนในการฟูมฟักหรือพัฒนาคนที่จะมาเป็นผู้บริหารคนต่อไป ไม่ได้เตรียมแผนการสืบทอดกิจการเอาไว้ เพราะเห็นว่ายังมีเวลาในอนาคต มักจะใช้เวลาไปกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและมุ่งเน้นไปที่การสร้างการเติบโตของธุรกิจเท่านั้น โดยลืมไปว่าทุกคนมีชีวิตของตนเอง เมื่อถึงเวลาอาจจะไม่มีผู้สืบทอด
หลุมพรางที่หก จัดลำดับความสำคัญของชีวิตผิดไป ปล่อยให้ผลประโยชน์อยู่เหนือความรักความสามัคคีของคนในครอบครัว เกิดการแย่งชิงผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินหรือหุ้น หรืออภิสิทธิ์ต่างๆ โดยลืมความเป็นคนในครอบครัวเดียวกันไป ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการได้รับการอบรมสั่งสอนไม่ดีจากพ่อแม่ เพราะความสามัคคีกันของคนในครอบครัวเป็นรากฐานให้เกิดความมั่งคั่ง เนื่องจากมีการสร้างค่านิยมให้คนในครอบครัวแข่งขันกันเอง มีการเปรียบเทียบกันระหว่างพี่กับน้อง ซึ่งก่อให้เกิดการไม่รักกัน
หลุมพรางที่เจ็ด คนในครอบครัวเชื่อคนนอกมากกว่าคนใน ทั้งๆ ที่คนในครอบครัวมีความสามารถ ทำให้คนในครอบครัวเกิดการน้อยเนื้อต่ำใจ เช่น พ่อแม่เชื่อที่ปรึกษาข้างนอกมากกว่าเชื่อลูก หรือลูกเชื่อคนอื่นมากกว่าพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกิจการมาด้วยซ้ำไป หรือเมื่อคนในครอบครัวมีความสนิทสนมกันมากทำให้ให้เกียรติกันน้อยกว่าคนอื่น โดยไม่ได้ดูจากเหตุผล
หลุมพรางที่แปด คิดว่าเงินทองไม่ใช่เรื่องสำคัญ ทั้งที่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องสำคัญ เช่น ลูกหลานที่เคยได้เงินเดือนมากมายเมื่อไปทำงานอยู่ที่อื่นเพราะเป็นคนเก่ง แต่เมื่อกลับมาทำให้กับธุรกิจครอบครัวกลับได้รับค่าตอบแทนไม่มากพอ โดยพ่อแม่หรือคนในครอบครัวลืมคิดไปว่าเขาต้องทิ้งอนาคตหรือรายได้ที่เคยสูง ทำให้เกิดความลังเลใจที่จะเข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัว และเมื่อเขาคิดว่าได้รับการดูแลอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้การทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำเท่าที่อยากจะทำเพราะได้รับค่าตอบแทนน้อย
ยิ่งกว่านั้น อาจจะเกิดการหาประโยชน์อันไม่ควรเพื่อให้ตนเองเพื่อมาชดเชยให้เพียงพอกับรายจ่ายที่จำเป็นต้องใช้ หรือทำให้คนในครอบครัวไม่ยอมเข้ามาทำงานให้ธุรกิจครอบครัว หวังรอเงินปันผลอย่างเดียวเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเสียสละตนเอง ซึ่งในที่สุดธุรกิจครอบครัวต้องพังทลายเพราะไม่มี่คนในครอบครัวคนไหนจริงจัง
หลุมพรางที่เก้า เลือกคนมากกว่าความสามารถ ซึ่งอาจจะทำให้ไม่ได้คนที่ดีมีความสามารถเหมาะสมที่สุดเข้ามาทำงาน เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเกือบทุกธุรกิจครอบครัว เพราะเป็นการทำลายกำลังใจพนักงานที่เป็นมืออาชีพและยังเกิดการขัดกันในเรื่องของผลประโยชน์ เช่น สามีภรรยาอยู่ในสายงานเดียวกัน ทำให้ไม่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน หรือหากสมาชิกครอบครัวร่วมกันคิดทำเรื่องที่ไม่ดีจะก่อให้เกิดเสียหายได้อย่างมาก
หลุมพรางที่สิบ การยึดมั่นถือมั่นมากเกินไป เชื่อในความคิดของตนเอง และยังไม่เชื่อความคิดของคนอื่น เช่น พ่อแม่เชื่อในประสบการณ์ของตนเองเพราะประสบความสำเร็จ ขณะที่ลูกเชื่อมั่นในความรู้ของตัวเองที่ทันสมัยกว่า เป็นต้น ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน พ่อแม่มักจะพูดถึงความสำเร็จของตนเอง ขณะที่ ลูกพูดถึงสิ่งใหม่ๆ ที่ตัวเองได้เรียนมา ทั้งสองฝ่ายพูดกันคนละเรื่อง พยายามนำสิ่งที่ตัวเองเชื่อมาใส่ในบริษัท ทำให้ไปกันคนละทิศละทาง
๐ ชี้ทางออกก่อนเจ๊ง
อย่างไรก็ตาม หลุมพรางดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาใหญ่ซึ่งแก้ไขไม่ได้ เพียงแต่บางครั้งคนในครอบครัวไม่ได้รับความสำคัญหรือให้ความสำคัญน้อยเกินไป การที่คนในครอบครัวได้รู้ว่าเรื่องเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ในธุรกิจครอบครัว จะทำให้เกิดความระมัดระวังและช่วยลดปัญหาเหล่านี้ลงไปได้ ยิ่งกว่านั้น ทางออกทั้ง 10 ข้อนี้จะช่วยให้ธุรกิจครอบครัวรอดพ้นจากหลุมพราง
ทางออกแรก อย่าคิดว่าอีกฝั่งหนึ่งจะเข้าใจเรา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าพูดกันให้เข้าใจ อธิบายกันให้ชัดเจน หรือจะให้ดีกว่านั้น ให้มีช่วงเวลาหนึ่งที่คนในครอบครัวมีโอกาสได้มาอยู่รวมกัน เพื่อให้ได้พูดคุยในเรื่องที่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใจกันหรือเรื่องที่ทำให้แตกแยกกัน เช่น ช่วงเวลาทานข้าวเย็น และอาจจะมีผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสเพื่อให้เป็นคนที่คอยลดความขัดแย้งและให้ทิศทางที่ถูก
ทางออกที่สอง ต้องไม่คิดว่าธุรกิจสำคัญกว่าครอบครัว ต้องเข้าใจว่าแม้ธุรกิจเป็นเรื่องที่ต้องทุ่มเทให้ความสำคัญ แต่ขณะที่ธุรกิจรอไม่ได้ ครอบครัวก็รอไม่ได้เช่นกัน เพราะเวลาผ่านไปทุกวัน ข้อแนะนำคือ ควรใช้เวลากับงานให้เต็มที่ แต่เมื่อเป็นเวลาของครอบครัวอย่าเอางานมาเกี่ยวข้อง เช่น ทำงานในวันจันทร์ถึงเสาร์อย่างเต็มที่ ส่วนวันอาทิตย์อยู่กับครอบครัวอย่างเดียว กำหนดเวลาไปเที่ยวกับครอบครัวอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นต้น
ทางออกที่สาม กำหนดบทบาทหน้าที่ในแต่ละส่วนให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นส่วนของผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร หรือสมาชิกครอบครัว โดยที่ผู้นำในธุรกิจครอบครัวต้องเป็นคนแรกที่จำเป็นต้องเข้าใจเรื่องนี้ และถ่ายทอด ซึ่งบางครอบครัวเรียกว่าเป็นธรรมนูญครอบครัวหรือข้อกำหนดของครอบครัว เช่น ใครจะเข้าทำงานในธุรกิจของครอบครัวได้บ้าง และมีเงื่อนไขอย่างไร ซึ่งการกำหนดบทบาทเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนและอธิบายกันจนเป็นที่เข้าใจ และทำให้ทุกคนเห็นชอบในเรื่องนี้ จะทำให้ไม่เกิดการหลงในบทบาท เช่น เมื่อเราเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และคนอื่นเป็นผู้บริหารเราต้องปล่อยให้เขาทำโดยไม่แทรกแซง เพียงแต่ดูด้านนโยบายและเงินปันผล เพราะอาจจะมีบางช่วงที่คนในครอบครัวยังไม่พร้อมจะบริหารจำเป็นต้องให้คนนอกมาทำจนเมื่อพร้อมจึงเปลี่ยนแปลง
ทางออกที่สี่ ต้องตระหนักและเตือนตัวเองว่า การบริหารที่มีความเกี่ยวข้องกับคนที่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวมีโอกาสที่จะใช้อารมณ์ระหว่างกัน ต้องเข้าใจว่าคนข้างนอกมีทัศนคติต่อธุรกิจครอบครัวในแง่ลบอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ต้องทำให้เห็นว่าเป็นผู้บริหารมืออาชีพ หากรู้สึกว่าบางเรื่องเป็นเรื่องสำคัญที่อาจจะใช้อารมณ์ต่อกันอยู่บ่อยๆ อาจจะให้บุคคลที่สามที่ได้รับการยอมรับมาร่วม เช่น การคัดเลือกทายาทธุรกิจ เป็นต้น เพราะหากพ่อแม่เลือกน้อง อาจจะทำให้พี่น้อยใจ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าน้องเก่งกว่า
ทางออกที่ห้า วางระบบบริหาร เมื่อการบริหารธุรกิจมีความไม่แน่นอนสูง จึงจำเป็นต้องวางระบบการบริหารธุรกิจครอบครัวเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการด้วยการจัดทำธรรมนูญครอบครัว เช่น จัดให้มีระบบบริหารเงินกองกลางอย่างชัดเจน และการมีคณะกรรมการครอบครัวซึ่งเป็นตัวแทนเพื่อเป็นแกนกลางในการดำเนินการเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว มีแผนสืบทอดทายาทธุรกิจ เป็นต้น เพราะนอกจากจะช่วยลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จะกลายเป็นปัจจัยหนึ่งในการผลักดันให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตไปได้รวดเร็วมาก เพราะการประสานงานต่างๆ จะทำได้ดีขึ้น
ทางออกที่หก การอบรมสั่งสอน เพราะการจัดลำดับความสำคัญในชีวิตผิดไป เป็นเรื่องของอุปนิสัยที่จำเป็นต้องได้รับการบ่มเพาะ เพราะแม้ว่าจะใช้กฎระเบียบ แต่ลดปัญหาได้เพียงระดับหนึ่ง ส่วนที่จะได้ผลมากคือ คนในครอบครัวควรจะได้รับการอบรมสั่งสอนที่ดี ควรจะได้รับการถ่ายทอดค่านิยมที่ถูกต้อง เช่น ถ้าทุกคนในครอบครัวมีนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไม่รักความรุนแรง การขัดแย้งกันย่อมจะมีน้อย เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ตัวบุคคลซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมและวิธีการทำงานของเขา แต่ถ้าเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ควรจะหาคนกลางที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับเพื่อมาช่วยกันไกล่เกลี่ยให้ปัญหาน้อยลง หรือถ้าไปด้วยกันไม่ได้จริงๆ อาจจะต้องแยกกันในแง่ธุรกิจไม่ทำร่วมกันอีกต่อไป เพื่อรักษาความสัมพันธ์ของครอบครัว
ทางออกที่เจ็ด ต้องให้โอกาสคนในครอบครัวทำดูก่อน โดยสร้างให้เกิดเป็นวัฒนธรรม เพราะคนในครอบครัวควรจะเชื่อกันด้วยการใช้เหตุและผล แต่ถ้าคนในครอบครัวทำไม่ได้ ไม่ชำนาญ ให้ลองหาคนนอกมาทำ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนนอกจะเก่งกว่าพ่อแม่ของเราหรือลูกของเรา
ทางออกที่แปด อย่าเห็นว่าเป็นคนกันเอง เป็นลูก เป็นญาติ แล้วดูแลไม่ดี เมื่อทุกคนเข้าสู่ระบบธุรกิจ ควรจะใช้ระบบของบริษัทเป็นแนวทางในการจ่ายค่าตอบแทนให้สมาชิกครอบครัว แต่ถ้าระบบของธุรกิจยังไม่สามารถดูแลเขาได้ดี เนื่องจากว่าไม่มีระบบเงินเดือนที่สามารถจ้างคนที่มีความสามารถสูงเข้าสู่ระบบได้ แต่เราดึงเขาเข้ามาเพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้งานหรือเพราะรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจครอบครัว เพราะฉะนั้น ครอบครัวอาจจะต้องยอมจ่ายเงินสนับสนุนเพื่อให้เขาในระดับที่ไม่ต่ำกว่าค่าตอบแทนที่เขาเคยได้มาก่อน เช่น ต้อง ดึงเงินกงสีหรือกองกลางมาสนับสนุนให้เขามีรายได้มากพอ
ทางออกที่เก้า เลือกคนที่ทำเรื่องนั้นๆ ได้ดีที่สุดหรือเหมาะสมที่สุดในตำแหน่งนั้นๆ เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเลือก โดยใช้เกณฑ์หรือวิธีการแบบมืออาชีพที่ใช้ในการคัดเลือก เพื่อลดข้อครหา และแน่ใจว่าบริษัทจะได้คนเก่งที่สุดไปทำงานในตำแหน่งนั้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งบริษัทและครอบครัวในระยะยาว
ทางออกที่สิบ ต้องเข้าใจว่าคนแต่ละรุ่นเดินมาด้วยเส้นทางที่แตกต่างกัน แต่เป็นเส้นทางที่มีคุณค่าทั้งคู่ สามารถนำมารวมกันและเสริมซึ่งกันและกันได้ เพราะการยึดมั่นถือมั่นเป็นธรรมชาติ ยิ่งคนเก่งและประสบความสำเร็จมากเท่าไร หรือพวกเด็กรุ่นใหม่ และคนที่ยิ่งเรียนสูงเท่าไร ก็เช่นเดียวกัน ยิ่งยึดมั่นถือมั่นกับตัวเอง
การที่ธุรกิจครอบครัวต้องรู้เท่าทันถึงหลุมพรางเหล่านี้ เพราะแม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สามารถนำไปสู่ปัญหาใหญ่ถึงขั้นทำลายธุรกิจครอบครัว เช่น หากพ่อแม่ไม่ให้ความสำคัญกับครอบครัว และเมื่อเกิดเป็นปมในใจของลูก อาจจะทำให้ลูกต่อต้านธุรกิจของครอบครัว และวิธีการทำงานของพ่อแม่ เพราะสิ่งเหล่านี้แย่งเวลาและความรักไปจากเขา จึงกลายเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนความคิด เพราะฉะนั้น วิธีการคือต้องเข้าใจหลุมพรางทั้งหมดนี้ และหาทางป้องกัน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|