มาม่าปักฐานผลิตตปท. อั้นราคาถึงปีหน้า-ซุ่มขยายปีกสู่ธุรกิจใหม่


ASTV ผู้จัดการรายวัน(7 กันยายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

“พิพัฒ” เตรียมวางมือ “มาม่า” เปิดตัว บอสใหม่ วางแนวทางรุกต่างประเทศ ทั้งส่งออก และร่วมทุนผุดโรงงาน ขยายตลาดหลังสัญญาณบะหมี่ในไทยอิ่มตัวมาหลายปีแล้ว ซุ่มสยายปีกสู่ธุรกิจใหม่ แย้มปีหน้าเห็นแน่ เผยต้นทุนผลิตพุ่งขึ้น ยันไม่ปรับราคาแบกไหวถึงสิ้นไตรมาสแรกปีหน้าว่ากันใหม่

นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่า เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ปรับตำแหน่งโดยเลื่อนตนขึ้นมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว และได้แต่งตั้ง นายสุชัย รัตนเจียเจริญ ขึ้นดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาอย่างเป็นทางการ

“จากนี้ผมจะดูเรื่องนโยบายและทิศทางรวมทั้งการพัฒนาธุรกิจใหม่ให้กับบริษัทฯ เพื่อสร้างรายได้และศักยภาพให้มากขึ้น และยังเป็นช่วงที่เรียกว่า สเต็ปดาวน์ (Step Down) อีกด้วย หรือค่อยๆวางมือเรื่อยๆ หลังจากที่ผมทำงานกับมาม่าและเครือสหพัฒน์มานานกว่า 50 ปีและเป็นกรรมการผู้อำนวยการมานานกว่า 36 ปีแล้ว”

นโยบายจากนี้ไปนอกจากจะสร้างการเติบโตให้กับผลิตภัณฑ์มาม่าแล้วยังต้องสร้างธุรกิจใหม่ด้วยเช่นสินค้าใหม่ที่ไม่ใช่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยตลาดใหม่ที่จะเข้าไปลงทุนนั้น คำนึง 4 ปัจจัยหลักคือ 1.มูลค่าของตลาดนั้นใหญ่พอหรือไม่ (Market Size) 2.การเจริญเติบโตของตลาดนั้น (Growth Rate) 3.มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคหรือไม่ (Benefit for Consumer) และ 4.ผลกำไรจากการทำธุรกิจ (Benefit)

“ในปีหน้าอาจจะได้เห็นธุรกิจตัวใหม่ของเรา ซึ่งอะไรที่เราชำนาญเราก็จะทำเอง อะไรที่เราไม่ถนัดก็จะร่วมทุนกับคนอื่น ซึ่งเราจะเน้นธุรกิจที่เป็นอาหาร เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่ตายอยู่แล้ว ตอนนี้เราก็มีพวกบิสกิต เวฟเอร์แล้ว และผมตั้งเป้าหมายไว้ว่า สิ้นปีหน้า บริษัทฯจะต้องมีรายได้แตะหมื่นล้านบาทให้ได้ จากปีที่แล้วที่มีรายได้ประมาณ 7,000 กว่าล้านบาท”

สำหรับแผนธุรกิจผลิตภัณฑ์มาม่านั้น จะขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้น ใน 2 แนวทางคือ 1.การขยายตลาดส่งออก จากปัจจุบันมีรายได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท หรือสัดส่วน 20% ตลาดหลักเช่น อเมริกาและยุโรป 2.การลงทุนผลิตมาม่าในต่างประเทศ ปัจจุบันลงทุนแล้ว 2 ประเทศคือ ที่พม่าและเขมร มีรายได้ประมาณ 60 ล้านบาท

ล่าสุดคือ การลงทุนในประเทศบังคลาเทศ โดยทางบริษัทฯถือหุ้น 60% และบริษัท Kallol ของบังคลาเทศถือหุ้น 40% จากทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 50 ล้านบาท คาดว่าลงทุน 100 ล้านบาทสร้างโรงงานผลิตแบรนด์มาม่า กลางปีนหน้าเริ่มผลิตได้ 50,000 ซองต่อวัน คาดว่าจะทำรายได้ 30 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเจ้าตลาดเวลานี้คือ แบรนด์แม็กกี้ของเนสท์เล่ นอกนั้นอยู่ระหว่างการเจรจากับผูสนใจประมาณ 3 รายในอินเดีย ที่จะสร้างโรงงานผลิต

ส่วนการลงทุนในประเทศ มีแผนที่จะซื้อเครื่องจักรใหม่ทุกปีปีละ 2 ตัวเป็นอย่างต่ำ ซึ่งเครื่องจักรที่มีอยู่ส่วนใหญ่ใช้มานานกว่า 15 ปีแล้ว โดยปีนี้ลงทุนรวม 150 ล้านบาทซื้อเครื่องจักรใหม่ 2 ตัว ขยายกำลังผลิตแบบซอง เพิ่มอีก 10% เริ่มผลิตตุลาคมนี้ และปีหน้าจะลงทุนซื้อเครื่องจักรผลิตแบบถ้วยหรือคัพอีก 150 ล้านบาท เพิ่มกำลังผลิตแบบถ้วยอีก 45% เริ่มผลิตกลางปีหน้า

“ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเริ่มอิ่มตัวมานานกว่า 2-3 ปีแล้ว เติบโตอย่างเก่งแค่ 2% ตามอัตราการเติบโตของประชากร เราต้องหาตลาดใหม่ๆเช่นต่างประเทศ รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเพื่อสร้างการเติบโต เช่น การออกผลิตภัณฑ์แบบถ้วยซึ่งก็ทำมาระยะหนึ่งแล้ว 4 ปีที่ผ่านมาตลาดแบบถ้วยโตมากถึง 40% “

อย่างไรก็ตาม นายพิพัฒ ยืนยันว่า ขณะนี้มาม่ายังไม่มีการปรับราคาสินค้าแต่อย่างใด แม้ว่าต้นทุนวัตถุดิบจะสูงขึ้นเฉลี่ย 3% ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันปาลม์ ข้าวสาลี แต่ก็ยังไม่มากถึง 30% เหมือนเมื่อก่อน 3 ปีที่ผ่านมา ที่ครั้งนั้นมาม่าต้องปรับราคา เพราะถ้าไม่ปรับราคาขึ้น ป่านนี้ก็คงไม่มีวันนี้ให้เหลืออีกแล้ว มั่นใจได้ว่าวันนี้เราไม่ขึ้นราคาแน่นอนจนถึงสิ้นไตรมาสแรกปีหน้าต้องดูราคาวัตถุดิบอีกครั้งว่าเป็นอย่างไร

“ตอนนี้เราต้องบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยการเพิ่มยอดขาย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงไป จึงจะทำให้เราอยู่ได้ ล่าสุดยกเลิกรสชาติเย็นตาโฟธรรมดาไปแล้ว และออกใหม่คือรสชาติ เย็นตาโฟต้มยำหม้อไฟ”

สำหรับผลประกอบการของบริษัทฯครึ่งปีแรก 2553 พบว่า มีรายได้จากการขายรวม 3,663 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 192.425 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6% และสูงกว่าประมาณการ 1.02% และมีกำไรสุทธิใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาคือ 587.549 ล้านบาท

โดยที่ตลาดรวมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปครึ่งปีแรกนี้เติบโต 5% แต่ของบริษัทฯเติบโต 6% ทำให้มาม่ามีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 52.6% ของตลาดรวม 10,000 กว่าล้านบาท ในส่วนของบะหมี่แบบถ้วยมีการเติบโตสูงที่สุดทั้งในแง่มูลค่าและปริมาณ ซึ่งขณะนี้มาม่ามีส่วนแบ่งตลาดประเภทถ้วยประมาณ 61.2% ด้วยกำลังผลิตแบบถ้วยประมาณ 4 แสนหีบต่อเดือน ( 1 หีบเท่ากับ 36 ถ้วย)

อย่างไรก็ตามคาดว่าปีนี้ทั้งปีจะมีอัตราการเติบโตที่ 7% ส่วนผลกำไรก่อนหักภาษียังจะดีอยู่ไม่น่าจะต่ำกว่าปีที่แล้ว แต่กำไรหลังหักภาษีอาจจะต่ำกว่าปีปีที่แล้วเล็กน้อย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.