การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

วิกฤติเศรษฐกิจมิใช่เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่เกิดจากการสะสมตัวของปัญหาที่มาจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในเศรษฐกิจโลก การใช้นโยบายผิดพลาดของแต่ละประเทศ หรือการตัดสินใจผิดพลาดของนักลงทุนเป็นเวลานานหลายๆ ปี หรือแม้แต่หลายๆ ทศวรรษ อย่างไรก็ตาม มีบางครั้งที่วิกฤติอาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน อย่างเช่นวิกฤติการเงินสหรัฐฯ เมื่อปี 1929 วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 ล่าสุดก็คือวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 70 ปี ซึ่งมีชนวนจากวันที่ 15 กันยายน 2008 เมื่อ Lehman Brothers ยื่นขอล้มละลาย ทำให้ธนาคารทั่วโลกต้องตั้งคำถามที่เป็นอันตรายที่สุดต่อเสถียรภาพทางการเงินของโลก นั่นคือ หากแม้กระทั่งวาณิชธนกิจที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงอย่าง Lehman ยังล้มได้ แล้วจะมีสถาบันการเงินใดปลอดภัยได้อีก และหลังจากนั้นทุกอย่างก็ดิ่งลงสู่วิกฤติ

เมื่อธนาคารต่างตื่นตระหนกจนหยุดปล่อยกู้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกก็หยุดชะงัก การค้าโลกตกต่ำ เกิดการประท้วงใน ไอซ์แลนด์ ประเทศแรกที่ล้มละลาย แม้กระทั่งประเทศที่เศรษฐกิจ แข็งแกร่งอย่างจีน ยังต้องอกสั่นขวัญหาย เมื่อรัฐบาลจีนกลัวว่า จะเกิดการจลาจลครั้งใหญ่ จากคนงานหลายล้านคนที่ถูกลอยแพ เนื่องจากโรงงานผลิตสินค้าส่งออกของจีนต้องปิดตัวลงเป็นแถวๆ เกิดการคาดการณ์ไปต่างๆ นานาว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งนี้จะเป็นรูปตัว U หรือตัว V หรือจะเป็น W แต่บางคนกลัวว่า จะเป็นตัว L ซึ่งหมายถึงการถดถอยที่ยืดเยื้อยาวนาน ด้วยอัตราการเติบโตที่น้อยมากหรือไม่โตเลย เหมือนที่ญี่ปุ่นประสบมาแล้วเกือบ 20 ปี

โชคดีที่ความกลัวนั้นไม่ได้กลายเป็นจริง เพียง 1 ปีหลังจาก การล่มสลายของ Lehman เศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ อย่างญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ กลับฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง ส่วนจีนหลังจากที่หยุดชะงักไปเพียงช่วงเดียว ก็กลับมาเติบโตอย่างร้อนแรงได้เหมือนเดิม และพลอยช่วยฉุดดึงเอเชียทั้งทวีปให้พ้นจากการถดถอยด้วย การคาดการณ์ในแง่ร้ายสุดๆ ที่ว่าทั้งเศรษฐกิจโลกและระบบการเงินโลกจะพังทลาย ไม่ได้เกิดขึ้นจริง และเศรษฐกิจ โลกฟื้นตัวจากการถดถอยพร้อมกันทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโลกกำลังฟื้นตัว แต่วิกฤติเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้ไม่เหมือนกับครั้งที่แล้วๆ มา วิกฤติครั้งนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากต่ออนาคตของเศรษฐกิจโลก โลกยุคหลัง “เศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่” (Great Recession) ในครั้งนี้ จะไม่ใช่โลกใบเดิม เหมือนที่มันเคยเป็นอีกต่อไป

ในบรรดาการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนั้น การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด อาจเป็นบทบาททางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจ โลก ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผู้บริโภคในสหรัฐฯ คือตัวขับเคลื่อนหลักที่ทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโต แต่วิกฤติการเงินครั้งนี้ทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันซึ่งก่อหนี้เกินตัว ต้องหยุดการบริโภค โลกจึงจำต้องแสวงหาตัวขับเคลื่อนใหม่มาแทนที่

เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองจากนักออมมาเป็นนักชอป จีนถึงกับ แจกเงินอุดหนุนให้ประชาชนของตน เพื่อกระตุ้นการซื้อรถยนต์และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ส่วนไต้หวัน ซึ่งเป็นประเทศที่เติบโตเพราะการส่งออก จึงได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกมากที่สุดประเทศหนึ่ง รัฐบาลต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ คือการท่องเที่ยวภายในประเทศ ประธานาธิบดี Ma Ying-jeou ของไต้หวันกล่าวว่า เศรษฐกิจไต้หวันกระทบอย่างหนักจากการหดตัวของตลาดส่งออกในสหรัฐฯ ดังนั้น บทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ที่ไต้หวันได้รับในครั้งนี้ จึงเป็นการกระจายตลาดส่งออกให้หลากหลาย

เอเชียเป็นผู้นำที่ฉุดดึงให้โลกฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ที่สุดนี้ ด้วยความช่วยเหลือจากผู้บริโภคภายในเอเชีย 3 ชาติใหญ่สุดของเอเชีย คือจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย สามารถประคองตัวฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้ เนื่องจากความต้องการบริโภคภายในประเทศไม่ได้ลดลง อำนาจการใช้จ่ายของชาติร่ำรวยใหม่ในเอเชีย ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจทั่วทั้งเอเชียฟื้นตัว และการพยายามรักษาการฟื้นตัวนั้นให้ยั่งยืนต่อไป กลายเป็นนโยบายทางการของทุกประเทศในเอเชีย อย่างเช่นอินเดียรีบทำข้อตกลงการค้าเสรีกับเกาหลีใต้และ ASEAN ทันที จึงไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันที่จะบอกว่า เอเชียกำลังจะกลายเป็นเขตการค้าที่สามารถพึ่งตัวเองได้และกำลังสลัดหลุดจากการพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ยังกังวลกับปัญหาความไม่ สมดุลในเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ ความไม่สมดุลนั้นเกิดจากการที่สหรัฐฯ ขาดดุลงบประมาณและเป็นหนี้มหาศาล ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในโลกกลับมีเงินออมส่วนเกินมหาศาล ความไม่สมดุลดังกล่าวยังคงเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจโลกในอนาคต และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ มีแต่จะยิ่งทำให้ความไม่สมดุลนี้ คงอยู่ต่อไป เพราะ นโยบายเหล่านั้นยังคงไปส่งเสริมการบริโภคนิยมในสหรัฐฯ และจะทำให้โลกหวนกลับไปพึ่งพาสหรัฐฯ เพียงตลาดเดียวอีก นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า หากโลกยังไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง จากการพึ่งพาผู้บริโภคที่มากกว่าหนึ่งประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ก็จะอ่อนแอ

แต่ปัญหาต่อไปคือ โลกจะยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไร จึงจะไม่กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การที่โลกสามารถหลีกเลี่ยงความเลวร้ายที่สุดของวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย หรือ แม้กระทั่งวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำในครั้งนี้ได้นั้น เป็นเพราะการเข้าแทรกแซงของรัฐบาลและธนาคารกลางอย่างพร้อมเพรียงทั่วโลก อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การพร้อมใจกันลดอัตราดอกเบี้ยลงจนเกือบเหลือศูนย์ การตัดสินใจเข้าอุ้มธนาคารที่กำลังจะล้ม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านการคลัง และแม้แต่การเข้าอุ้มทั้งอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงของภาครัฐ หากใช้นานเกินไป กลับจะทำให้เกิดฟองสบู่ราคาสินทรัพย์และเกิดผลเสีย อื่นๆ ที่จะบั่นทอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้ แต่หากยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วเกินไป การถดถอยก็อาจจะกลับมาอีกครั้ง อย่างที่เรียกว่าเป็นรูปตัว W

เห็นได้ชัดว่าจีนเป็นชาติหนึ่งที่กำลังเผชิญปัญหากลืนไม่เข้า คายไม่ออกนี้ หลังจากเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้ง นโยบาย ดอกเบี้ยต่ำซึ่งเคยช่วยให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัว กำลังจะทำให้ราคาสินทรัพย์ในจีนแพงขึ้นจนเป็นอันตราย และยังกระทบกับผลประกอบการของธนาคาร แต่เพียงแค่มีข่าวลือว่า รัฐบาลจีนจะยกเลิกมาตรการดอกเบี้ยต่ำเท่านั้น ก็ทำให้ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ดิ่งเหว

และถึงแม้หากรัฐบาลต่างๆ สามารถยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยไม่กระทบกับการฟื้นตัวได้สำเร็จ แต่คาดว่า รัฐบาลอาจจะไม่เลิกแทรกแซงเศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลกไม่เคยเห็นการแทรกแซงครั้งใหญ่จากภาครัฐเท่ากับครั้งนี้ มาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 แล้ว วิกฤติเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้จะทำให้เกิดการโต้เถียงกันอีกครั้ง เกี่ยวกับบทบาทของรัฐบาลและบทบาทของกลไกตลาด ในยุคเศรษฐกิจสมัยใหม่

แต่ก่อนที่เราจะวิตกว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับไปถดถอยอีกครั้งหรือไม่ ซึ่งอาจจะเป็นการวิตกที่ข้ามขั้นไป ยังมีอีกปัญหาที่เราจะต้องแก้ไขให้ได้ก่อน แม้ว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะรอดพ้นจากสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว แต่สภาพเศรษฐกิจในตอนนี้ ยังคงห่างไกลจากสภาพเศรษฐกิจก่อนที่จะเกิดการถดถอยอย่างมาก สหรัฐฯ สูญเสียตำแหน่งงานไปถึง 6.7 ล้านคน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2007 เป็นต้นมา และคงจะต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดที่สูญเสียไปในช่วงวิกฤติถดถอยกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ไทม์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.