Wealth Management ธุรกิจที่ต้องจับตา


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

สำหรับในประเทศไทยนั้น ธุรกิจ Wealth Management ถือเป็นตลาดที่ทั้งสถาบันการเงินและผู้เล่นประเภทอื่นๆ ให้ความ สนใจมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้โดยทั่วไป Wealth Management คือบริการทางการเงินให้กับลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง โดยส่วนใหญ่จะมีสินทรัพย์เพื่อการลงทุนไม่น้อยกว่า 1,000,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 32 ล้านบาท) โดยมีกระบวนการในการจัดการ ให้เกิดความยั่งยืนของความมั่งคั่งสุทธิ (Net assets or Wealth) ในปี 2552 สินทรัพย์ของผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง (High Net Worth Individuals: HNWIs) ขยายตัว 18.9% โดยมีมูลค่าประมาณ 39 ล้านล้านดอลลาร์ สำหรับประเทศไทยนั้นมีการประมาณว่าประชากรที่มีความมั่งคั่งสูงมีจำนวนประมาณ 42,000 คน โดยมีทรัพย์สินครอบครองประมาณ 190 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6.1 ล้านล้านบาท) ในปี 2551 ซึ่งแม้จะคิดเป็น 2.6% ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (0.58% จากทั่วโลก) แต่ประชากรกลุ่มดังกล่าวมีขนาดของความมั่งคั่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 70% ของ GDP และมีขนาด 0.97 เท่าของขนาดของตลาดหุ้นไทยจำนวนประชากรที่มีความมั่งคั่งสูงและสินทรัพย์ในครอบครองปี 2552 ตลาด Wealth Management มีความน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผลตอบแทนจากการทำธุรกิจ Wealth Management ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยมีการทำการศึกษา 2 ซึ่งพบว่ากลุ่มลูกค้า HNWIs สามารถสร้างรายได้สุทธิต่อลูกค้าโดยเฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ 1 ของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ ซึ่งทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ขนาด/ทิศทางผลตอบแทนของธุรกิจ Wealth Management ในไทยน่าจะอยู่ในลักษณะใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า HNWIs ในภูมิภาคเอเชียรวมถึงในประเทศไทยยังคงเน้นลงทุนในลักษณะระมัดระวัง (Conservative) โดยนิยมถือครองผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเงินสด เงินฝาก และตราสารหนี้เป็นหลักรายได้ และรายได้ต่อทรัพย์สินภายใต้การบริหารของธุรกิจ Wealth Management สำหรับธุรกิจ Wealth Management ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 นั้น ความมั่งคั่ง (Wealth) ของลูกค้า HNWIs น่าจะเติบโตในอัตราที่เร่งขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นชัดเจนขึ้นจากปีก่อน ซึ่งส่งผลดีต่อกระแสรายรับเชิงธุรกิจ (Revenue) ของลูกค้ากลุ่มนี้ หลังจากที่ภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในช่วง 1-2 ปีก่อนหน้า มีผลกดดันความมั่นคั่งของลูกค้าดังกล่าวให้ลดลง

ทั้งนี้ ความมั่งคั่งที่เติบโตเร่งขึ้นดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลดีกับขนาดสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (Asset Under Management: AUM) ของธุรกิจ Wealth Management ให้เร่งขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

กระนั้นก็ดี รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจ Wealth Management นั้นแม้จะได้รับผลดีจาก AUM ที่เติบโตขึ้น แต่ก็น่าจะเผชิญแรงกดดันจาก 3 ปัจจัยหลัก อันได้แก่ ประการแรก อำนาจการต่อรองของลูกค้ากลุ่มนี้ยังอยู่ในระดับสูง ประการที่สอง ผลิตภัณฑ์ที่เสนอแก่ลูกค้ายังคงค่อนข้างจำกัด โดยส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายในปัจจุบันยังเป็นผลิตภัณฑ์พื้นฐานและไม่ซับซ้อน (Plain Vanilla Products) และประการสุดท้าย พฤติกรรมของลูกค้าที่มักเน้นการลงทุนแบบระมัดระวัง (Conservative) ซึ่งทำให้การสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์จากคู่แข่งในธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมทำได้ยาก

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ยังมีส่วนสำคัญอย่างมากในการดึงลูกค้า โดยอาศัยความสัมพันธ์และความ เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาในการบริหารสินทรัพย์ อันมีอิทธิพลต่อความไว้วางใจของลูกค้าให้ดูแลจัดการความมั่งคั่ง

นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญ (ส่วนตัว) ให้คำแนะนำปรึกษากับลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี (Relationships) กับลูกค้า อันจะนำไปสู่การได้รับความไว้วางใจให้ดูแลธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น สินเชื่อ และบริการทางการเงินสำหรับบริษัทที่ลูกค้าเป็นเจ้าของกิจการ ในปัจจุบันสภาวะการแข่งขันธุรกิจในไทยจะมาจากผู้เล่นหลักในธุรกิจนี้ประมาณ 3-4 กลุ่ม

โดยมีธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทยที่เน้นการบริการทางการเงินอย่างครบวงจร (Universal Banking) ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3-4 แห่ง เป็นผู้เล่นหลัก ผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายจะเป็นผลิตภัณฑ์ของธนาคารเอง หรือเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทลูกในเครือรวมถึงพันธมิตร ซึ่งได้แก่ ผลิตภัณฑ์เงินฝาก กองทุนต่างๆ หุ้น และประกันชีวิต

ขณะเดียวกันยังมีสาขาธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศ 2-3 แห่ง ซึ่งจะเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนมากขึ้นตามความเชี่ยวชาญ รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ (Broker) ที่เน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับตลาดทุนและบริษัท ประกันชีวิตที่มุ่งเน้นไปในผลิตภัณฑ์ประกันเป็นหลักด้วย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แนวโน้มของธุรกิจ Wealth Management ในช่วงที่เหลือของปี 2553 ต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปีข้างหน้า ยังมีอนาคตที่ค่อนข้างสดใสเนื่องจากเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทยที่ยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ทำให้ประชากรในภูมิภาคดังกล่าวน่าจะมีความมั่งคั่งมากขึ้น พิจารณาได้จากจีดีพีของประเทศในภูมิเอเชียและประเทศไทยที่ยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งกว่าภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนความมั่งคั่งของลูกค้า HNWIs ในภาพรวม

ประกอบกับความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่น่าจะลดระดับลงใน อีก 1-2 ปีข้างหน้า จะเป็นตัวส่งเสริมให้ตลาดทุนกลับมาคึกคักขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่ปัญหาหนี้ของยุโรป และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อ อุตสาหกรรม Wealth Management เนื่องจากนักลงทุนมีทางเลือกในการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินที่มีความคาดหวังในผลตอบแทนที่มากขึ้น

นอกจากนี้ นโยบายการขยายเพดานการลงทุนในต่างประเทศของ ก.ล.ต. ธปท. รวมถึงแผนพัฒนาตลาดทุนไทยจะมี ส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นควบคู่กับการขยายช่องทางการลงทุนในต่างประเทศให้กว้างขึ้นด้วย อันจะเพิ่มโอกาสการเติบโตให้กับรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจ Wealth Management ตามไปด้วย

การทยอยลดความคุ้มครองเงินฝากแบบเต็มจำนวนของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) โดยการคุ้มครองแบบเต็มจำนวนดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 11 สิงหาคม 2554 โดยในวันที่ 11 สิงหาคม 2554 DPA จะลดการคุ้มครองแบบเต็มจำนวน ลงเหลือ เพียง 50 ล้านบาทต่อบัญชีต่อสถาบันการเงิน

และในวันที่ 11 สิงหาคม 2555 DPA จะลดการคุ้มครองลงเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อสถาบันการเงิน ซึ่งการลดเพดานการประกันเงินฝากอาจกระตุ้นให้ลูกค้า HNWIs มีแนวโน้มที่จะกระจายความมั่งคั่งออกจากเงินฝากมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวก ต่อการเติบโตของสินทรัพย์และรายได้ค่าธรรมเนียมของอุตสาหกรรม Wealth Management

พฤติกรรมของลูกค้าที่น่าจะเปลี่ยนแปลงไป ในปัจจุบันกลุ่มลูกค้า HNWIs ส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยกลางคน แต่ในอนาคตข้างหน้า ลูกค้า HNWIs ในรุ่นต่อไปจะเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งลูกค้ากลุ่มดังกล่าวน่าจะมีความคุ้นเคยและตอบสนองในเชิงบวกต่อผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจ Wealth Management

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องติดตามคือ จำนวนผู้เล่นในอุตสาหกรรม Wealth Management ที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต แม้ว่าในปัจจุบันธุรกิจ Wealth Management ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยมีธนาคารพาณิชย์เป็นผู้เล่นหลักในตลาด

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่มีสาขาในเมืองไทย บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทประกันภัย กำลังเริ่มมีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากผลตอบแทนจากลูกค้ากลุ่มนี้อยู่ในระดับสูง จากขนาดของสินทรัพย์ที่ค่อนข้างใหญ่และมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะช่วยชดเชยผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคาที่น่าจะรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้นจึงน่าจะกระตุ้นให้มีผู้เล่นในปัจจุบันรุกตลาดนี้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน ทางการก็อาจจะเปิดโอกาสให้กับผู้เล่นรายใหม่เพิ่มเติมอีกด้วย โดยภายใต้แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่ 2 ธปท.อาจออกใบอนุญาตในธุรกิจ Trust Bank และ Investment Bank ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป ซึ่งผู้เล่นใหม่เหล่านี้ ก็คงให้ความสนใจในธุรกิจ Wealth Management เช่นกัน นอกจากนี้ยังอาจมีได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการเงินที่อาจหลีกเลี่ยงได้ยากในอนาคต กระนั้นก็ดี ผู้เล่นเดิมในตลาดก็อาจมีการปรับกลยุทธ์เช่นกัน โดยอาจมีการหาพันธมิตรทางธุรกิจ (Partners) ที่มีความเชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงในด้านผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนมากขึ้นซึ่งน่าจะช่วยให้สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดเอาไว้ได้

นอกจากนี้ ปัญหาบุคลากร (Financial Advisor: FA) ยังเป็นความท้าทายของธุรกิจ Wealth Management โดยเฉพาะเมื่อภาวะการแข่งขันในธุรกิจนี้รุนแรงขึ้นในอนาคต เนื่องจากหนึ่งในกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ (Key Success Factor) ที่สำคัญของธุรกิจนี้อยู่ที่ FA ซึ่งแม้ว่าผู้ให้บริการทางการเงิน มีแนวทางที่จะเพิ่มจำนวน FA ในอนาคต แต่ FA ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า (โดยส่วนมากลูกค้า HNWIs มักใช้บริการกับสถาบันทางการเงินหลายแห่ง) ตลอดจนมีความเชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำในผลิตภัณฑ์ที่อาจจะมีความซับซ้อนมากขึ้น ยังคงเป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาด

ธุรกิจ Wealth Management ในประเทศไทย นอกจากจะต้องพึ่งพิงบุคลากรเพื่อทำหน้าที่เป็น FA แล้ว ยังต้องเผชิญความท้าทายจากแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่ 2 และการเปิดเสรีทางการเงินที่อาจส่งผลให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในธุรกิจนี้มากขึ้นอีกด้วย

นี่เป็นโจทย์สำคัญที่ผู้เล่นปัจจุบันอาจต้องขบคิดเพื่อหาแนวทางรับมือ และเสริมศักยภาพในการแข่งขันในอนาคต


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.