อ้อยหวาน-น้ำตาลขม?


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ตามที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลได้กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2552/2553 ที่ตันละ 965 บาท ล่าสุดจากการประเมินสถานการณ์ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายราคาเฉลี่ยจะสูงกว่าตันละ 1,000 บาทอย่างแน่นอน โดยประเมินจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 32.75 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และราคาน้ำตาลทรายดิบส่งออก (โควตา ข.) ที่ 19.91 เซ็นต์/ปอนด์ ซึ่งราคาอ้อยในระดับนี้น่าจะสร้างความพึงพอใจให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย

ประกิต ประทีปะเสน ประธาน คณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคม โรงงานน้ำตาลทราย ระบุว่า ทางกลุ่ม ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลมีความหวังและจะพยายามผลักดันให้ราคาอ้อยของฤดูการผลิตปี 2553/2554 อยู่ในระดับ 1,000 บาท ต่อตัน เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยรู้สึกมั่นคงในอาชีพ ป้อนผลิตผล ให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลต่อไป

ทั้งนี้ จากการสำรวจพื้นที่ปลูกอ้อยในปัจจุบันพบว่า มีพื้นที่ เพาะปลูกอ้อยเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 3 แสนไร่ ทำให้ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยทั้งประเทศรวมประมาณ 6.7-7 ล้านไร่ ซึ่งหากฝนตกตามปกติควรจะได้ปริมาณอ้อยประมาณ 74-75 ล้านตัน แต่ในช่วงต้นฤดูเพาะปลูกปีนี้ เกิดปัญหาภัยแล้ง กระทบต่อผลผลิตอ้อยด้วย จึงคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบเท่าๆ กับปีที่ผ่านมา คือ ประมาณ 68 ล้านตัน

อย่างไรก็ตาม ราคาอ้อยต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐ เพราะน้ำตาลทรายที่ผลิตได้ในแต่ละปีจะส่งออกไปขายต่างประเทศประมาณ 2 เท่าของการบริโภคในประเทศ “นอกเหนือจากราคารับซื้ออ้อยในระดับ 1,000 บาทต่อตัน ทางฝ่ายโรงงานน้ำตาลก็พยายามส่งเสริมให้ได้คุณภาพอ้อยที่ดีขึ้น โดยการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ การเตรียมดิน การให้ปุ๋ย ให้น้ำ กำจัดศัตรูพืช กระทั่งการเก็บเกี่ยว ซึ่งหากคุณภาพดีค่าความหวานดี ก็จะได้ราคาอ้อยที่ดีด้วย”

ประกิตกล่าวย้ำว่า หากทำเต็มที่แล้วราคายังไม่เป็นไปตาม เป้าหมาย ก็อาจต้องพึ่งการสนับสนุนจากกองทุนอ้อยและน้ำตาล ทรายด้วย ตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนฯ ที่ให้รักษาเสถียร ภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อผลประโยชน์ของ ชาวไร่อ้อยและโรงงาน เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจัยที่มีผลต่อราคาอ้อยในปี 2553/2554 ประการหนึ่งอยู่ที่ การจัดสรรน้ำตาลทรายที่จำหน่ายในประเทศ (โควตา ก.) กับส่งออก (โควตา ค.) ซึ่งปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายใน ตลาดโลกโดยเฉลี่ยสูงกว่าราคาน้ำตาลทรายในประเทศ ทำให้น้ำตาลทรายในประเทศบางส่วนถูกนำออกไปนอกประเทศตามแนวชายแดน และผู้ผลิตสินค้าส่งออกที่ต้องใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ ก็หันมาใช้น้ำตาลโควตา ก. ด้วย

กรณีดังกล่าวทำให้น้ำตาลทรายภายในประเทศไม่เพียงพอ ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 18 เซ็นต์ ต่อปอนด์ เมื่อแปลงเป็นเงินบาทแล้ว ราคาจะต่ำกว่าราคาน้ำตาล ทรายในประเทศ ดังนั้น หากในรอบปีนี้จัดสรรโควตา ก. มากขึ้น ก็จะทำให้ราคาอ้อยอยู่ในระดับที่ดี แต่ก็ไม่ควรให้มากจนเกินพอดี เพราะอาจจะทำให้น้ำตาลล้นตลาดและต้องขอส่งออกอีก

ความผกผันของราคาอ้อยและน้ำตาลดูเหมือนจะเป็นเรื่อง ที่หลีกเลี่ยงได้ยาก การรักษาดุลยภาพของ 2 อุตสาหกรรมที่เกี่ยว เนื่องกันนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญจำเป็นที่ต้องคำนึงถึงทั้งในส่วนของเกษตรกร ผู้ประกอบการ รวมถึงผู้บริโภคด้วย

ก่อนที่กรณีดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์อ้อยหวาน-น้ำตาลขมในอนาคต


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.