ชื่อของ "จุลดิศ" ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
กำลังถือเป็นดาวรุ่งในวงการพัฒนาที่ดิน เพราะเริ่มมีโครงการต่าง ๆ มากมายทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดแต่สำหรับความคิดของธีรพจน์
จรูญศรี ประธานกรรมการบริหารจุลดิศ เขากลับมองว่า จุลดิศจะไม่อยู่เพียงแค่นั้น
เพราะธีรพจน์มองว่า ยังมีธุรกิจอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมาก แม้งานหลักของจุลดิศจะยังคงเป็นธุรกิจพัฒนาที่ดินก็ตาม
มองไปมองมา ธีรพจน์เลือกที่จะลงทุนในธุรกิจการสัมมนาและฝึกอบรม
แต่การสัมมนาหรืออบรมแบบที่จุลดิศจะดำเนินการนั้น ไม่ใช่แบบที่เห็น ๆ กันดาษดื่นทั่วไปที่ยังคงเน้นการอยู่ในห้องเรียนหรืออย่างดีก็เป็น
WALKING RALLY อย่างที่หลาย ๆ แห่งดำเนินการอยู่ หากแต่เป็นการสัมมนารูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทย
เพราะพาร์ทเนอร์ที่ธีรพจน์เลือกมาร่วมทุนในครั้งนี้ก็คือ บริษัทรับพัฒนาคนหรือจัดสัมมนาชื่อก้องโลก
คือ "อิมแพค" แห่งอังกฤษมาร่วมทุนด้วยกับบริษัทจุลดิศเขาใหญ่ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือจุลดิศ
"เราเลือกที่จะจอยน์กับอิมแพคเพราะหลักสูตรการอบรมของเขาดี" ธีรพจน์กล่าว
สำหรับอิมแพคนั้น ถือเป็นบริษัทสัมมนาระดับโลกที่ใหญ่มาก ๆ มีลูกค้าเป็นบริษัทใหญ่
ๆ ของโลกมากมาย เช่น เชลล์ ไอบีเอ็ม องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศอังกฤษ (BT)
สายการบินบริติชแอร์เวยส์ สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ สายการบินคาร์เธย์แปซิฟิค
บริษัทจีเอ็ม มิตซูบิชิ โซนี่ ซัมซุง เมอร์ซิเดสเบนซ์ ใช้บริการในการอบรมพัฒนาผู้บริหารของบริษัท
รูปแบบการสัมมนาที่อิมแพคทำมาทั่วโลกนั้น ส่วนใหญ่เป็นการสัมมนา "ภาคสนาม"
ที่มีทั้งการเดินป่า ไต่ภูเขาโหนหน้าผา ว่ายน้ำจนถึงเล่นเกมส์ เพื่อเน้นในเรื่องการตัดสินใจของผู้เข้าร่วมการอบรมเป็นหลัก
"เหตุที่การอบรมต้องมีหลายอย่าง ก็เพื่อให้มีการตัดสินใจว่าจะเสี่ยงหรือไม่
เพราะหากล้มเหลวอาจจะส่งผลกระทบถึงธุรกิจได้ เช่นเดียวกับที่มีการเน้นเรื่องการทำงานเป็นทีม"
ครูฝึกชาวอังกฤษคนหนึ่งของอิมแพคบอกกับ "ผู้จัดการ" ถึงเป้าหมายของการฝึกอบรมที่เน้นในบุคลากรระดับผู้บริหารเป็นหลัก
"เป็นการสัมมนาที่สนุกมาก เพราะเขาสอนเราทุกอย่างให้มีการตัดสินใจ
อย่างเช่นให้เราตัดสินใจว่า จะปีนเขาหรือไม่ เพื่อนำเงินที่ได้เป็นรางวัลมาใช้ในกิจการของกลุ่มต่อไป
เพราะหากทำไม่สำเร็จอาจจะล้มเหลวในเรื่องการดำเนินธุรกิจ" การุณย์ สุวรรณปัทมะ
กรรมการบริหารคนหนึ่งของกลุ่มจุลดิศ ซึ่งเข้าร่วมอบรมในคอร์สนี้ครั้งแรกบอกกับ
"ผู้จัดการ"
ดูเหมือนว่า แนวทางที่ให้มีการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปีนเขา
ไต่หน้าผา หรือกระทั่งการว่ายน้ำเป็นเรื่องหลักอีกอย่างของารอบรมครั้งนี้
โดยครูฝึกผู้หนึ่งของอิมแพคอรรถาธิบายว่า เพื่อให้ผู้อบรมคำนึงว่า สุขภาพเป็นสิ่งสำคัญในการทำงาน
"คนไทยนี่นะ พออายุซัก 40 ปีก็เริ่มไม่สนใจเรื่องออกกำลังกาย ซึ่งผมมองว่าผิด
การอบรมของอิมแพคจึงมีเรื่องการออกกำลังกายรวมอยู่ด้วย เพื่อให้ร่างกายตื่นตัวพร้อมที่จะรับกับงานหนักได้"
ธีรพจน์ เล่าเสริมให้ฟัง
สำหรับธีรพจน์ จรูญศรี ประธานกรรมการบริหารจุลดิศ ให้เหตุผลกับ "ผู้จัดการ"
ว่า ก่อนที่จะเลือกอิมแพคมาร่วมทุนนั้น เขารู้จักกับกลุ่มนี้มาพอสมควร รวมทั้งเคยให้มาเป็นวิทยากรสัมมนาให้กับผู้บริหารของกลุ่มจุลดิศด้วย
"เรามองเห็นว่า อนาคตของโครงการ (อบรม) นี้ดี และเราเองก็มีความพร้อมมากในเรื่องทำเลของจุลดิศเขาใหญ่"
เจษฎา กาญจนโบษย์ กรรมการอีกคนของกลุ่มจุลดิศบอกกับ "ผู้จัดการ"
ปัจจุบันนอกเหนือจากในอังกฤษ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของบริษัทแล้ว เครือข่ายของอิมแพคยังมีสาขาในญี่ปุ่นที่เปิดดำเนินการมาประมาณ
6 ปีเป็นสาขาแรกในเอเชีย และไทยเป็นสาขาที่สองในเอเชีย
"เราเลือกไทยเป็นที่ตั้งสาขา เพราะหวังเป็นศูนย์กลางในการทำตลาดอาเซียน
และอินโดจีน" มาร์ค สกินเนอร์ กรรมการอำนวยการอิมแพคในไทย บอกกับ "ผู้จัดการ"
เพื่อเสริมการชี้แจงว่า ปัญหาเรื่องบุคลากรระดับผู้บริหารของประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในแถบนี้เริ่มมมองเห็นกันบ้างแล้ว
สาเหตุสำคัญที่อิมแพคเลือกจุลดิศเขาใหญ่เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมทุนกันในครั้งนี้
ก็เนื่องจากอิมแพคมองเห็นความเหมาะสมของจุลดิศเขาใหญ่ โดยเฉพาะในเรื่องทำเลที่จะใช้ในการสัมมนาที่มีทั้งภูเขา
ทะเลสาบ ป่า ที่จะใช้เป็นสถานที่ในการสัมมนา
ขณะเดียวกัน จุลดิศเองก็มองเห็นโอกาสที่จะเป็นการแนะนำโครงการให้กับผู้บริหารที่จะร่วมอบรมด้วย
อันเป็นประโยชน์ทางที่สองของจุลดิศ นอกเหนือจากรายได้ที่มาจากการเปิดการอบรม
เพราะในปลายปีนี้ โครงการอีกโครงการของจุลดิศที่เขาใหญ่ คือ จุลดิศเมาเท่นวิลเลจ
ซึ่งจะมีทั้งโรงแรมศูนย์อบรมสัมมนา ห้องประชุมรวมอยู่ด้วย
การเปิดทิศทางธุรกิจใหม่ของกลุ่มจุลดิศ โดยการให้จุลดิศเขาใหญ่เป็นแกนนำในครั้งนี้
ดูจะเป็นเรื่องท้าทายความรู้ความสามารถของธีรพจน์เป็นอย่างยิ่ง
และเขากำลังพิสูจน์ให้เห็นว่า เขามองถูกหรือมองผิด ?