อารีย์ ชุ้นฟุ้ง ยังหายใจเป็นน้ำตาล


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

"คุณอารีย์เป็นคนเก่ง…" คนในวงการน้ำตาลหลายคนยอมรับกับ "ผู้จัดการ" เมื่อถามถึงบุคคลที่ชื่อ อารีย์ ชุ้นฟุ้ง กรรมการผู้จัดการบริษัทน้ำตาลวังขนาย ยักษ์ใหญ่วงการอุตสาหกรรมน้ำตาล เพราะในขณะที่นักอุตสาหกรรมน้ำตาลต่างก็ไม่มีกิจกรรมเนื่องเพราะภาวะการผลิตน้ำตาลตกต่ำ แต่กลุ่มวังขนาย ยังมีการขยายงานสม่ำเสมอ

แต่ในประโยคต่อมาของหลาย ๆ คนก็คือ ความเป็นคนเก่งกับคนดี เป็นคนละเรื่องกัน !!!

เพราะจนวันนี้ ประวัติของอารีย์ยังเป็นปริศนาให้งงกันเล่น

มีหลายคนจำได้เพียงว่า ครั้งหนึ่งในวิถีชีวิต อารีย์ ชุ้นฟุ้ง เคยเป็นหัวหน้ายามอยู่ที่บริษัทสยามคราฟท์ ในจังหวัดราชบุรี ที่เป็นบริษัทผู้ผลิตกระดาษรายใหญ่ของเครือซิเมนต์ไทยในวันนี้ ก่อนที่จะผันตัวเองมาทำธุรกิจด้านน้ำตาล

อารีย์ไม่ปฏิเสธ แต่ไม่เอ่ยถึงเรื่องดังกล่าวมากนักเมื่อถูกถามถึงประวัติ เขามักจะปฏิเสธที่จะเอ่ยถึง เพียงแต่จะบอกเพียงสั้น ๆ ว่า เขาเกิดที่บ้านโป่ง-ราชบุรี ครอบครัวมีอาชีพทางการเกษตรกรเรียนหนังสือมาน้อย ประสบการณ์ในการทำธุรกิจมาจากการเรียนรู้โดยหนังสือและลงมือทำ ขณะที่ย้ำว่า การเข้าสู่ธุรกิจน้ำตาลของเขานั้น เป็นเรื่องที่เขามีแผนตั้งแต่ยังทำไร่อ้อย ไม่ได้เข้าสู่ธุรกิจนี้ด้วยความบังเอิญ

และอารีย์พอใจที่จะเล่าถึงอนาคตมากกว่าอดีต

"ผมมีแผนที่จะขยายงานในเรื่องน้ำตาล" อารีย์เล่าให้ฟังพร้อมทั้งขยายถึงแผนงานว่า แผนของกลุ่มวังขนายในอนาคตจะอยู่ในภาคอีสาน ที่เขาเริ่มแผนนิคมอุตสาหกรรมไว้ที่นครราชสีมาแล้ว

แผนงานดังกล่าวนั้นเชื่อว่า จะเป็นฐานในอนาคตของกลุ่มวังขนาย ในธุรกิจที่กล่าวกันว่า เป็น SUNSET BUSINESS ในประเทศในวันนี้

แม้จะเป็นธุรกิจที่จะตกดินในวันสองวันนี้ แต่วังขนายไม่มีวันหยุด

"วังขนายยังทำธุรกิจน้ำตาล เพราะช่องว่างของตลาดน้ำตาลยังมีมาก อย่างช่วงนี้ ออร์เดอร์มาก่อนที่จะมีการผลิต" กรรมการผู้จัดการวังขนายกล่าว พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงการย้ายฐานไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า เป็นเพราะภูมิอากาศของอีสานเหมาะสมที่จะปลูกพืชทนแล้งอย่างอ้อยที่จะป้อนโรงงานน้ำตาลในเครือวังขนาย

โรงงานแรกของวังขนายในการขยับตัวไปยังอุตสาหกรรมน้ำตาลในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ โรงงานบริษัทน้ำตาลราชสีมา มีทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท จะเริ่มทำการผลิตในฤดูการผลิตปี 2537 ด้วยกำลังการผลิต 40,000 เมตริกตันอ้อย/วัน

ปัญหาของวังขนายในวันนี้ไม่ใช่เรื่องธุรกิจ แต่เป็นเรื่องหนี้สินที่อาจจะมีปัญหาต่อการขยายงาน

โดยเฉพาะปัญหาของหนี้ที่วังขนายมีกับธนาคารทหารไทย

อารีย์เล่าให้ฟังว่า หนี้ของกลุ่มวังขนายมีประมาณ 10,000 ล้านบาท เป็นส่วนของธนาคารทหารไทยมากที่สุดประมาณ 5,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นธนาคารอื่น ๆ เช่น ธนาคารกรุงเทพ

แต่ดูเหมือนว่า ธนาคารทหารไทยเองก็มองหาลู่ทางที่จะแก้ปัญหาหนี้ตัวนี้อยู่ จึงมีการส่งกรรมการจากแบงก์เข้าไปเป็นกรรมการในวังขนายเพื่อช่วยแก้ปัญหา

"เรื่องวังขนายนี่เป็นเรื่องหนักใจของคนในแบงก์ทหารไทยมาก คุณทนงเอง (ดร.ทะนง พิทยะ - กรรมการผู้จัดการใหญ่ แบงก์ทหารไทย) ตอนที่คุณประยุทธ์ (จารุมณี - ประธานแบงก์ทหารไทย) ทาบทามมารับตำแหน่งก็มีเงื่อนไขว่า เรื่องนี้จะต้องเป็นเรื่องของคณะกรรมการ ไม่ใช่เรื่องของกรรมการผู้จัดการใหญ่" คนในวงการเล่าให้ฟัง

ว่ากันว่า แบงก์ชาติเองก็หนักใจเรื่องหนี้วังขนาย แต่ไม่ถึงขั้นมองเป็นหนี้เสีย หากแต่คนในแบงก์ชาติยังงง ๆ กันว่า ทำไมแบงก์ทหารไทยถึงปล่อยสินเชื่อให้กับวังขนายมากทั้ง ๆ ที่แบงก์ทหารไทยได้ชื่อว่า เป็นแบงก์ที่มีการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้อย่างรอบคอบมากที่สุดแบงก์หนึ่ง

อารีย์ ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า ความสัมพันธ์นั้นเริ่มมาจากตัวบุคคล คือ ประยูร จินดาประดิษฐ์ ที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยประยูรยังนั่งทำงานอยู่ที่แบงก์ไทยพาณิชย์ เมื่อประยูรย้ายมาที่ทหารไทย วังขนายก็ย้ายการกู้เงินมาใช้ที่ธนาคารทหารไทย

แต่นั่นคือ เรื่องของวังขนาย ไม่ใช่เรื่องของกลุ่มวังขนาย !!!

แผนต่อจากนี้ของกลุ่มวังขนายก็คือ การออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเป้าหมายในตอนนี้ก็คือ การลงทุนในสาธารณรัฐประชาชนลาวและเวียดนาม

อารีย์เปิดเผยถึงการเข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนามว่า วังขนายเข้าไปด้วยการร่วมทุนกับคู่ค้าจากญี่ปุ่น คือ กลุ่มนิโช-อิวาย เพื่อตั้งโรงงานผลิตน้ำตาล ขณะที่ในสาธารณรัฐประชาชนลาวนั้น การร่วมทุนกับอนุสรณ์ วงศ์วรรณ ก็มีการเริ่มทำการผลิตน้ำตาลแล้ว

เป็นเครื่องชี้ว่า กลุ่มวังขนายไม่ทิ้งอุตสาหกรรมน้ำตาลแน่นอน

แม้วันนี้ของวังขนายจะมีเครือข่ายมากมายก็ตาม

อารีย์ ยอมรับว่า ธุรกิจของเขาในวันนี้มีมากมายในหลาย ๆ สาขา มีจำนวนบริษัทอยู่ประมาณ 40 บริษัท ซึ่ง "ผู้จัดการ" ศึกษารายชื่อและธุรกิจแล้วพบว่า เครือข่ายของอารีย์ในปัจจุบัน นอกเหนือจากน้ำตาลแล้ว ก็มีอีกหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจรถยนต์ ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งการตั้งบริษัทอิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ตด้วย

"หลายบริษัทไม่เกี่ยวกับวังขนาย วังขนายเป็นเพียงบริษัทแม่เท่านั้น" อารีย์บอก

แต่อารีย์ยังฝันที่จะเป็นเจ้าพ่อในวงการอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำตาลที่เขาวาดฝันถึงขั้นการสร้างระบบสหกรณ์ขึ้นในภาคอีสาน เพื่อรองรับโครงการขยายฐานของกลุ่มวังขนายไปจากภาคตะวันตก

ขณะเดียวกัน ในส่วนของอุตสาหกรรมที่อีสานนั้น อารีย์ยังวาดฝันที่จะมีการตั้งโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อย โรงงาผนลิตปาร์ติเกิ้ลจากต้นอ้อย หลังจากที่มีการผลิตน้ำตาลแล้ว

แผนงานนิคมอุตสาหกรรมรวมที่นครราชสีมาของเขา จึงเป็นแผนรองรับงานต่าง ๆ ในสมองของเขานั่นเอง

วันนี้ของวังขนายจึงเป็นวันที่น่าศึกษาต่อไป กับการ DIVERSIFY ไปยังหลาย ๆ ธุรกิจทั้ง ๆ ที่ตัวของวังขนายเองมีหนี้สินมาก

คนในอุตสาหกรรมน้ำตาล บอกว่า เรื่องของอารีย์เป็นเรื่องที่น่าศึกษาและเหมาะยิ่งที่บรรดาโครงการเอ็มบีเอสถาบันต่าง ๆ ควรนำมาเป็นกรณีศึกษาให้นักศึกษาเรียนรู้

กรณีศึกษาของเจ้าพ่อวงการน้ำตาลที่ชื่อ อารีย์ จึงอาจจะต้องมีภาคต่อไป !!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.