|
ทีโอทีปรับ 3G ใช้สถานีร่วม AIS หวังเอาใจ รมว.ไอซีที
ASTV ผู้จัดการรายวัน(30 สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
บอร์ดทีโอทีเห็นชอบแผน 3G ทั่วประเทศ เน้นใช้สถานีฐานร่วมกับเอไอเอส และกสท 4,000 สถานีฐาน หวังลดต้นทุนตามคำแนะนำของ รมว.ไอซีที พร้อมวางตัวเป็นเน็ตเวิร์ก โพรวายเดอร์ ให้เอกชนเช่าโครงข่ายให้บริการบนใบอนุญาต 3G ใหม่ของ กทช. คาดเสนอ ครม.อนุมัติสัปดาห์นี้
นายวรุธ สุวกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ดทีโอทีเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมามีมติเห็นชอบแผนธุรกิจการให้บริการระบบ 3G ทั่วประเทศ มูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาทเรียบร้อยแล้วโดยเน้นการใช้สถานีฐานร่วม (Co-site) กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำนวน 4,000 สถานีฐานจากจำนวนสถานีฐานที่ต้องลงทุนทั้งหมดกว่า 5,000 สถานีฐาน เพื่อช่วยลดการลงทุนซ้ำซ้อน
นอกจากการใช้สถานีฐานร่วมกันแล้ว ทีโอทียังเตรียมแผนการรองรับหลังเอกชนได้รับใบอนุญาตให้บริการ 3G จากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งทีโอทีได้วางตำแหน่งตัวเองเป็นผู้ให้บริการด้านโครงข่าย หรือเน็ตเวิร์ก โพรวายเดอร์ โดยคาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 7 ปี มีลูกค้า 3G ประมาณ 7.2 ล้านรายในเวลา 15 ปี
ทั้งนี้ การปรับแผนธุรกิจและการใช้สถานีฐานร่วมกับผู้ให้บริการรายอื่นเป็นการปฏิบัติตามข้อเสนอของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่เสนอมาให้ทีโอทีทั้งหมด 5-6 ข้อเพื่อเตรียมความพร้อมรับการแข่งขัน โดยทีโอทีจะเสนอแผนทั้งหมดกลับไปให้ไอซีทีเพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติในสัปดาห์นี้
‘คาดว่าแผนการลงทุน 3G ทั่วประเทศของทีโอที ครม.จะอนุมัติได้ไม่เกินเดือนก.ย.นี้ เพื่อช่วยให้ทีโอทีสามารถลงทุนควบคู่ไปกับการประมูล 3G ของ กทช.และเปิดโอกาสให้ทีโอทีมีโครงข่าย 3G ให้เอกชนมาเช่าใช้ตามแผนที่ต้องการเป็นเน็ตเวิร์ก โพรวายเดอร์ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับทีโอทีอีกทางหนึ่ง’
แหล่งข่าวจากบอร์ดทีโอทีกล่าวว่า สิ่งที่ทีโอทีต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้ คือ การเตรียมแผนรองรับสัญญาสัมปทานของเอไอเอสที่จะหมดอายุลงในปี 2558 ทั้งในเรื่องบุคลากร การบำรุงรักษาโครงข่ายที่เอกชนจะคืนให้ตามสัญญาสร้าง-โอน-ให้บริการ หรือบีทีโอ เพราะหากล่าช้ารอให้สัมปทานหมดอายุ โดยไม่มีการเตรียมการล่วงหน้า ทีโอทีจะอยู่ในสถานะลำบาก
ทั้งนี้ เป็นเพราะหากสัมปทานใกล้หมดอายุ เอกชนจะหยุดบำรุงรักษาโครงข่ายและทรัพย์สินที่มีอยู่ ซึ่งจะทำให้ทรัพย์สินเสื่อมมูลค่าเมื่อสัมปทานหมดลง ส่งผลให้ในอนาคตสภาพของทีโอทีจะไม่แตกต่างจากองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.)
นอกจากนี้ ในวันที่ 30 ส.ค.ที่จะถึงนี้ บอร์ดจะประชุมเพื่อสรุปโมเดลธุรกิจทั้งหมดว่าจะไปในทิศทางใด ทั้งเรื่อง 3G และการเปลี่ยนสัมปทานมือถือเป็นใบอนุญาต 2G ตามแนวทางกระทรวงการคลัง
‘ครม.ไม่มีเหตุผลที่จะดองโครงการ 3G ทั่วประเทศของทีโอที เพราะก่อนหน้านี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เคยบอกว่าที่ต้องทบทวนโครงการ 3G ของทีโอทีเพราะต้องการให้เกิดความชัดเจนในเรื่องการประมูล 3G ของ กทช.ก่อน ตอนนี้เรื่องประมูล 3G ของ กทช.ชัดเจนจนไม่รู้จะชัดอย่างไรแล้ว ก็ไม่ควรจะดึงเรื่องไว้’
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|