|
ชงรัฐตั้งแบงก์ท่องเที่ยว หวังปล่อยกู้ธุรกิจโรงแรม-ใช้ภาษีพันล.ลงทุน
ASTV ผู้จัดการรายวัน(30 สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ส.อุตฯ ท่องเที่ยว เตรียมชงรัฐจัดตั้งกองทุน หรือธนาคาร เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว เสนอรูปแบบนำเงิน 1-2% จากการจัดเก็บภาษีนิติบุคคล ภาษีท้องถิ่น และภาษีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นำมาใช้ในการก่อตั้ง เบื้องต้นคาดใช้เงินลงทุน 1 พันล้านบาท ลั่นเป็นธุรกิจที่ทำรายได้เข้าสูงสุดเกือบ 1 ล้านล้านบาท แต่ไม่มีความช่วยเหลือจริงจัง
นายศักรินทร์ ช่อไสว ผู้อำนวยการ สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า สมาคมโรงแรมมีแนวคิดในการตั้ง กองทุนเพื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หรือ ธนาคารเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆ โดยรูปแบบของกองทุนฯ จะใช้เงินทุนของรัฐบาลเพียง 1-2% ที่ได้จากการจัดเก็บภาษีนิติบุคคล ภาษีท้องถิ่น และภาษีต่างๆของอุตสาหกรม ซึ่งแต่ละปีมีมูลค่าจำนวนมาก ซึ่งหากมีการตัดตั้งได้จริงกองทุนฯดังกล่าวจะมีขนาดเงินทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และจะสูงถึงหลัก 10,000 ล้านบาทได้
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมากเป็นอันดับ 1 โดยปี 2553 คาดว่าจะมีรายได้กว่า 9.57 แสนล้านบาท แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 14 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 5.25 แสนล้านบาท และนักท่องเที่ยวในประเทศ 91 ล้านคนครั้ง คิดเป็นกว่า 4.32 ล้านบาท และปี 2554 คาดการณ์อยู่ที่กว่า 1 ล้านล้านบาท
“ท่องเที่ยวทำรายได้ให้ประเทศจำนวนมาก แต่เมื่อเกิดวิกฤตและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกลับไม่มีเงินทุนเพื่อช่วยเหลือโดยเฉพาะ และต้องไปขอความช่วยเหลือจากคนอื่น และวันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะมีกองทุน หรือธนาคารเพื่อการท่องเที่ยวเป็นของกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเอง เพราะที่ผ่านมามีเพียงธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. จึงต้องการให้หันมามองภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นบ้าง” นายศักรินทร์กล่าว
สำหรับแนวคิดในการให้อัตราดอกเบี้ยมองว่าควรจะเป็นอัตราพิเศษ เพราะเป็นธนาคารที่สร้างขึ้นมาเฉพาะกลุ่ม ส่วนหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ หรือความเข้มงวดนั้นจะใช้หลักเกณฑ์เดียวกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เกิดขึ้น หรือการไม่ชำระหนี้
ทั้งนี้ ช่วงที่ยังไม่มีกองทุนหรือธนาคารดังกล่าวรัฐบาลควรเสนอนโยบายให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการโรงแรมในระยะเวลาที่ยาวขึ้นเหมือนกิจการอื่นที่ 15-30 ปี จากปัจจุบันระยะเวลาอยู่ที่ 7-10 ปีเท่านั้น ซึ่งการศึกษาในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ถ้าเป็นกิจการโรงแรมที่อยู่ในทำเลดีจะมีการให้กู้ระยะยาวถึง 30 ปี
“ถ้าธนาคารในประเทศไทยทำได้ด้วยการให้ผู้ประกอบการโรงแรมกู้ระยะเวลา 15 ปี ปัญหาด้านการเงินของโรงแรมก็จะลดลงมาก ขณะเดียวกันจะทำให้มีเงินมาพัฒนาหมุนเวียนกิจการมากขึ้น และมีโอกาสผ่อนชำระได้เร็วมากขึ้น เพราะไม่มีใครอยากเป็นหนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่าโรงแรมขนาดใหญ่ก็จะแบกรับการเงินจำนวนมากอยู่แล้ว เมื่อได้รับผลกระทบก็จะหนักกว่าขนาดเล็ก” นายศักรินทร์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ต้องการให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมทั้งสมาชิกในสมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย (เฟสตา) มีส่วนร่วมกับกองทุนดังกล่าวด้วย ขณะที่แนวคิดดังกล่าวจะมีการขยายผลอีกครั้งในวันที่ 15-16 กันยายน 2553 โดยนายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรม และจะมีการลงลึกในรายละเอียดอีกครั้ง
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวช่วง 4 เดือนที่เหลือ ยอมรับว่ายังไม่เห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจน แต่หากการเมืองนิ่งจริงๆ คาดว่าภายใน 6 เดือนจะฟื้นตัวได้ปกติ ซึ่งทุกอย่างยังขึ้นอยู่กับภาวะทางการเมือง เพราะมีผลต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ขณะที่ธุรกิจโรงแรมปรับตัวดีขึ้นในบางจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว เช่น ภาคเหนือดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่กรุงเทพฯลดลง อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการชุมนุมทางการเมืองที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 กันยายนนี้ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ รุนแรงแค่ไหนจนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่กำลังจะฟื้นตัว
“ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว หรือไฮซีซันนี้ ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะดีหรือไม่ เพราะยังไม่มีการจองห้องพักล่วงหน้าเข้ามาเลย จากปกติช่วงนี้จะต้องมีจองเข้ามาแล้วจำนวนมาก โดยเฉพาะตลาดเอเชีย” นายศักรินทร์ กล่าว
น.ส.วิไล ลิ่วเกษมศานต์ ผู้อำนวยการ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า หากผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือด้วยการตั้งกองทุนฯหรือธนาคารเพื่อการท่องเที่ยว ควรเปิดเผยข้อมูลทั้งระดับเงินทุนหมุนเวียน ภาระหนี้สินกับสถาบันการเงิน รวมทั้งข้อมูลด้านการทำธุรกิจต่างๆ ของบริษัทให้ทราบด้วย เพื่อให้รัฐบาลประเมินปัญหาโดยรวมได้ เพราะที่ผ่านมาบริษัทขนาดใหญ่มักไม่ให้ข้อมูลทำให้ไม่ทราบปัญหาที่แท้จริง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|