|
"บีบี" ตกสวรรค์ มือถืออันตราย
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
"ภัยต่อความมั่นคงของประเทศ" กำลังเป็นบ่วงรัดคอแบล็กเบอร์รี่ หรือบีบี ให้มีอันต้องปิดฉากตัวเองในบางประเทศที่กำลังพยายามจะบีบบังคับให้ บริษัท รีเสิร์ช อินโมชั่น จำกัด (ริม) ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องและปฏิบัติตามกฎหมายในการเปิดเผยข้อมูลของการใช้งานบนบีบี เพื่อไม่ให้กลุ่มคนที่มุ่งร้ายต่อประเทศนั้นใช้บีบีเป็นเครื่องมือในการก่อการร้ายและเป็นภัยต่อความมั่นคง
กระแสที่ติดลมบนดัน "บีบี" ให้ก้าวขึ้นมาเป็นอุปกรณ์สื่อสารชิ้นหนึ่งที่ผู้คนทั่วโลกอยากมีไว้เป็นเจ้าของ จนเกิดเป็นกระแสบีบีฟีเวอร์ไปในทุกๆ ประเทศที่บีบีเข้าไปทำตลาด กำลังถึงจุดสะดุดขาตัวเองครั้งใหญ่ เมื่อบรรดาประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางและเอเชียใต้ นำโดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออี ที่ประกาศว่าตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้จะห้ามใช้บริการอีเมล การส่งข้อความและการใช้บริการเว็บเบราว์เซอร์ของแบล็กเบอร์รี่ หลังจากตรวจพบว่าอาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ
ตามมาด้วยซาอุดีอาระเบีย ที่ตัดสินสั่งผู้ให้บริการมือถือบล็อกการให้บริการแบล็กเบอร์รี่ทั่วราชอาณาจักร โดยให้มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2553 นี้ ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการโทรคมนาคมและข้อมูลข่าวสารเทคโนโลยีของซาอุดีอาระเบีย ได้แจ้งไปยังผู้ให้บริการมือถือในประเทศ เพื่อให้ระงับการให้บริการของแบล็กเบอร์รี่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยเหตุผลเนื่องจากการให้บริการของแบล็กเบอร์รี่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของทางการ
ไม่เพียง 2 ชาติดังกล่าวเท่านั้น ประเทศบาห์เรนและอินเดีย ก็เป็นอีก 2 ประเทศที่กำลังพิจารณาการระงับการให้บริการแบล็กเบอร์รี่ในประเทศเช่นกัน กระแสที่เกิดขึ้นดังกล่าวยังส่งผลไปทั่วและทำให้อีกหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศจีนที่มีผู้ใช้มือถือมากที่สุดในโลก กลับมานั่งพิจารณาการอนุญาตให้บริการแบล็กเบอร์รี่ในประเทศของตนเอง
สิ่งที่ประเทศต่างๆ กังวลคือรูปแบบข้อมูลที่แบล็กเบอร์รี่จัดเก็บนั้นอาจปูทางให้มีผู้นำไปใช้งานในทางที่ผิด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายใน รวมถึงสร้างความเสียหายทางสังคมและกระบวนการยุติธรรมได้
ทั้งหมดเป็นผลจากคุณสมบัติพิเศษของบีบี ที่กำหนดการส่งข้อมูลจะต้องทำผ่านรหัสเฉพาะส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์นอกประเทศในการดูแลของริม ทำให้ผู้ใช้บีบีสามารถมั่นใจได้ว่าข้อมูลที่ต้องการเก็บเป็นความลับจะไม่ตกไปอยู่ในมือผู้ไม่ประสงค์ดี ด้วยคุณสมบัติเด่นดังกล่าวถือเป็นจุดขายของบีบีที่ทำให้บรรดาสาวกบีบี ที่มีตั้งแต่ระดับประธานาธิบดี ดารา ไฮโซ นักธุรกิจ ไปจนถึงผู้บริโภคทั่วไป หลงใหลกับการใช้งานอุปกรณ์สื่อสารชิ้นนี้
อย่างไรก็ตาม หากบรรดาผู้ไม่หวังดีหรือผู้ก่อการร้ายนำเอาคุณสมบัติชั้นเลิศชิ้นนี้ไปใช้ในทางไม่ดี อุปกรณ์ชิ้นนี้ก็จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับบรรดาผู้ก่อการร้ายในการใช้เทคโนโลยีหลบหนีการติดตามของทางการในแต่ละประเทศ
และถ้าหากในช่วงเวลานี้เกิดมีการก่อการร้ายในบางประเทศขึ้น โดยมีการนำแบล็กเบอร์รี่มาใช้ประโยชน์รับรองว่าบีบีงานเข้าอย่างแน่นอน และย่อมจะกระทบถึงการเติบโตแบบก้าวกระโดดของบีบีจะต้องถูกคู่แข่งขันรายอื่นๆ ที่กำลังเบียดแย่งชิงตลาด หยิบชิ้นปลามันในส่วนแบ่งทางการตลาดที่บีบีจะต้องสูญเสียไปในประเทศที่มีการระงับการให้บริการแบล็กเบอร์รี่
ขณะนี้จึงต้องติดตามผลที่ตามมาอย่างใกล้ชิดว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อบีบีขนาดไหน และจะต้องมีการทบทวนถึงกฎเกณฑ์ที่แบล็กเบอร์รี่ยึดมั่นกับการให้บริการมาตลอดจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาทางริมก็ยังให้ความมั่นใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการแบล็กเบอร์รี่ ว่าข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้จะได้รับการรักษาจากระบบรักษาความปลอดภัยของบริษัทที่ออกมาเป็นอย่างดี โดยไม่ต้องกังวลว่าข้อมูลจะเสี่ยงต่อการรั่วไหลแต่อย่างใด
แต่กระแสอีกด้านหนึ่งอย่างสหรัฐอเมริกา มองเรื่องการปิดกั้นบริการแบล็กเบอร์รี่ในยูเออีและซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและไม่เป็นประชาธิปไตย
"สหรัฐฯ ผิดหวังกับคำสั่งของยูเออีอย่างมาก และจะสอบถามไปยังรัฐบาลยูเออีให้ชี้แจงต่อกรณีคำสั่งห้ามบริการแบล็กเบอร์รี่" ฟิลิป คราวลีย์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว
สหรัฐฯ มองว่าความเคลื่อนไหวของยูเออีเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของการสื่อสารข้อมูลในยุคศตวรรษที่ 21
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|