|
Toyota Go to the Future ปูฐานผลิตภัณฑ์รับตลาด 1 ล้านคัน
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
-โตโยต้ามองข้ามช็อต หวังกลืนตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือก
-เพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์รถไฮบริด ยึดตลาดไฮบริด
-เดินหน้าสู่เป้าหมาย กินตั้งแต่แชมป์ตลาดรถยนต์ทุกเซกเมนต์ในประเทศ ยันตลาดส่งออก
นอกจากการประเมินยอดขายรถยนต์ในปีนี้ ที่ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย คาดว่าจะสูงถึง 750,000 คันแล้ว ยังมองข้ามไปถึงตัวเลขยอดขาย 1,000,000 คัน เคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เชื่อว่าโอกาสที่ตลาดรถยนต์เมืองไทยจะเติบโตดังกล่าว มีความเป็นไปได้ เพียงแต่จะใช้เวลานานเพียงใดเท่านั้น แต่สัญญาณการเติบโตของตลาดในปีนี้เป็นสัญญาณที่ดี เพราะยอดขาย 7 แสนกว่าคัน น่าจะเป็นตัวเลขสูงที่สุดของประวัติศาสตร์ตลาดรถยนต์เมืองไทย
ปัจจุบัน โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ครองส่วนแบ่งตลาดราว 40% ตัวเลขนี้ติดอยู่กับโตโยต้ามาหลายปีแล้ว รวมถึงยอดขาย 6 เดือนแรกของปีที่เพิ่งผ่านไป เป็นการครองตลาดรถยนต์อันดับ 1 ในทุกเซกเมนต์ใหญ่ๆ ตั้งแต่ ตลาดรถยนต์รวม, รถยนต์นั่ง, รถปิกอัพขนาด 1 ตัน และรถเพื่อการพาณิชย์ ที่สำคัญคือ ทุกเซกเมนต์โตโยต้ามีส่วนแบ่งตลาดไม่ต่ำกว่า 40%
ในปีนี้ก็เช่นกัน โตโยต้าตั้งเป้าจะครองส่วนแบ่งตลาดให้ได้ 40% จาก 750,000 คัน "ด้วยตลาดรถยนต์ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจึงมุ่งมั่นและนับเป็นการท้าทายในการขายให้มากขึ้น โดยจะพยายามสร้างยอดขายให้บรรลุสถิติเดิมที่เคยทำไว้ในปี 2549 และคาดว่าจะสูงถึง 300,000 คัน" ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อน
สัดส่วนการขายนั้นแบ่งเป็นรถปิกอัพจะมียอดที่ 130,000 คัน รถยนต์นั่งมียอดขายที่ 130,000 คัน ส่วนที่เหลือประมาณ 40,000 คัน จะเป็นรถยนต์ในส่วนของรถตู้และปิกอัพดัดแปลง
อย่างไรก็ดี หากมองไปถึงตัวเลขที่ 1 ล้านคัน ส่วนแบ่งตลาดอย่างน้อยที่สุดของโตโยต้า ก็คงไม่ต่ำกว่า 40% อีกเช่นกัน
มีความเป็นไปได้ขนาดไหนที่ตลาดรถยนต์เมืองไทยจะทะยานไปถึงตัวเลขที่โตโยต้าวาดฝันไว้ นอกจากเรื่องสภาวะเศรษฐกิจในประเทศแล้ว องค์ประกอบในเรื่องการก่อกำเนิดตลาดรถยนต์เซกเมนต์ใหม่ๆ มีความน่าสนใจยิ่ง ที่เห็นได้ชัดเจนแล้วคือ ตลาดรถยนต์นั่งอีโคคาร์ ซึ่ง นิสสัน มอเตอร์ส ประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดดังกล่าวแล้ว ด้วยยอดขายเดือนละกว่า 2,000 คัน หรือปีละประมาณ 24,000 คัน และอันที่จริงตัวเลขน่าจะสูงกว่านี้ เนื่องจากกำลังการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ของค่ายนิสสันในช่วงแรกมีอยู่จำกัด และกำลังการผลิตส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก
ดังนั้น หากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อื่นๆ เริ่มผลิตรถยนต์อีโคคาร์ออกมาจำหน่าย น่าจะทำให้ตลาดรถยนต์เซกเมนต์นี้เติบโตมากขึ้นเป็นทวีคูณ และตามเงื่อนไขที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนนั้น ผู้ผลิตรถยนต์ต้องผลิตรถให้ได้ปีละ 100,000 คัน ทั้งการจำหน่ายในประเทศและการส่งออก โครงการนี้ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้รับการส่งเสริมการลงทุนด้วยเช่นกัน แต่จากท่าทีของบริษัทรถยนต์อันดับ 1 ของไทยและของโลก ดูเหมือนจะยอมเปิดตัวเป็นบริษัทท้ายๆ ที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการจากภาครัฐ
"โตโยต้าเราน่าจะเป็นค่ายสุดท้ายวันนี้ โตโยต้ายอมรับว่ายังไม่เข้าใจสภาพตลาดของอีโคคาร์กับกลุ่มลูกค้าชาวไทย ว่าแท้ที่จริงแล้วสภาพตลาดเป็นอย่างไร ดังนั้นโตโยต้าคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกับเรื่องนี้ บวกกับรถยนต์นั่งของเรา อาทิ ยาริส และวีออส ก็ยังคงได้รับการตอบรับที่ดีอยู่" เคียวอิจิ ทานาดะ กล่าว
ตลาดรถยนต์ในพลังงานทางเลือก และรถยนต์ไฮบริด เป็นอีกเซกเมนต์หนึ่งที่น่าจับตามอง และเป็นตัวผลักดันให้ตลาดรถยนต์ไทยเติบโตมากขึ้น ทั้งรถยนต์ที่ติดตั้งระบบก๊าซซีเอ็นจี หรืออีกชื่อคือ เอ็นจีวี เป็นตลาดที่สดใสและมีความต้องการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับโตโยต้าเอง แม้จะมีรถยนต์รุ่นอัลติส แอดวานซ์ซีเอ็นจีออกมาก็ไม่สามารถตอบสนองได้ทันกับความต้องการ จนเวลานี้มีการรอรถนานกว่า 5 เดือน โดยกำลังการผลิตของโตโยต้ามีเพียง 500-600 คันต่อเดือนเท่านั้น ขณะเดียวกับความต้องการรถยนต์ติดตั้งก๊าซเอ็นจีวี มีการขยายตัวไปสู่กลุ่มรถปิกอัพ ซึ่งมีผู้ผลิตค่ายรถยนต์ขนาดกลางเริ่มเข้ามารุกตลาดบ้างแล้ว และทางโตโยต้าเองบอกว่าอยู่ระหว่างศึกษาตลาดด้วยเช่นกัน
เซกเมนต์ที่ดูตื่นเต้น และเป็นตลาดเดียวของโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ทำตลาดแบบไร้แรงกดดันจากคู่แข่งคือ รถยนต์ไฮบริด ปัจจุบันโตโยต้าส่งรถยนต์คัมรี่ไฮบริด เป็นตัวบุกเบิกตลาด รถยนต์รุ่นนี้ได้รับการตอบรับจากตลาดดีในระดับหนึ่ง โตโยต้ามีการผลิตรถยนต์รุ่นนี้เดือนละประมาณ 1,200 คัน เป็นการขายในประเทศราวๆ 700 คันต่อเดือน ที่เหลือเป็นการส่งออก เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฮบริด อันดับ 3 ของโตโยต้า รองจากสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สื่อหนังสือพิมพ์นิกเกอิและสำนักข่าวจิจิเพรสของญี่ปุ่น ยืนยันว่า โตโยต้า มอเตอร์ เตรียมจะออกรถพรีอุสใหม่ในไทย ซึ่งเป็นรถเครื่องยนต์ไฮบริดคันที่ 2 ต่อจากรถซีดาน รุ่นคัมรี่ ที่ออกตัวไฮบริดมาก่อนหน้านี้
ขณะที่กระแสข่าวเรื่องดังกล่าว มีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์ เอง ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวด้วยเช่นกันว่า โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จะเลือกเอาช่วงไตรมาสสุดท้ายในการเปิดตัวรถยนต์รุ่นดังกล่าว
โตโยต้า พรีอุส จะเป็นรถยนต์ไฮบริดที่มียอดขายสูงที่สุดในโลก และการเปิดตัวในเมืองไทย จะเป็นการส่งสัญญาณขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ของรถยนต์ไฮบริด ที่เริ่มตั้งเครื่องยนต์ลูกผสม ระหว่างเครื่องยนต์น้ำมัน และมอเตอร์ไฟฟ้า ในรถยนต์ขนาดเล็กลงมา หลังจากที่เริ่มติดตั้งและทำตลาดในรถยนต์นั่งขนาดกลางอย่าง โตโยต้า คัมรี่
โตโยต้า มอเตอร์ ระบุว่า ถึงเวลานี้บริษัทขายรถยนต์ไฮบริดได้ทั่วโลกกว่า 2.68 ล้านคัน ส่วนในญี่ปุ่นเอง เฉพาะเดือนกรกฎาคมเพียงเดือนเดียว สามารถขายโตโยต้า พรีอุสไปแล้ว 34,456 คัน จนถึงปัจจุบันโตโยต้าขายรถยนต์ไฮบริดในญี่ปุ่นไปแล้วกว่า 1 ล้านคัน เป็นการแสดงให้เห็นถึงความต้องการและความนิยมรถยนต์ไฮบริดในญี่ปุ่นเอง
โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย มองว่า พรีอุส น่าจะทำยอดขายได้สูงกว่า คัมรี่ ไฮบริด เนื่องจากราคาที่ต่ำกว่า และเป็นรถยนต์ในขนาดคอมแพกต์ ซึ่งราคาที่ใกล้จะเปิดตัวอีกไม่กี่เดือนของรถรุ่นนี้น่าจะอยู่ที่คันละล้านเศษๆ
เมื่อเทียบกับตลาดญี่ปุ่น และสหรัฐฯ รถยนต์ไฮบริดในไทยอาจเป็นเพียงส่วนน้อย ทั้งการผลิตและยอดขาย แต่ในอนาคตอันใกล้ ไทยจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฮบริดที่สำคัญของโตโยต้าในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดรถยนต์ไฮบริดในเมืองไทยแล้ว โตโยต้าจะมีผลิตภัณฑ์อยู่ในตลาดถึง 2 รุ่น ใน 2 ขนาดเซกเมนต์ ขณะที่คู่แข่งที่มีรถยนต์ไฮบริดในตลาดทั่วโลกอย่างฮอนด้า ยังไม่มีแผนจะนำรถยนต์ไฮบริดเข้ามาทำตลาดแข่งในช่วงเวลาอันใกล้
อีกเซกเมนต์หนึ่งที่น่าจะหนุนให้โตโยต้าสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นได้ พอๆ กับการขยายตัวของตลาดรถยนต์ คือ รถยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทนอย่าง E85 ซึ่งมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 85% และเบนซินอีก 15% และมีราคาถูกกว่าแก๊สโซฮอล์ E10 โตโยต้าสามารถพัฒนาเครื่องยนต์จากรถยนต์ในผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เกือบทุกรุ่นให้สามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชนิดนี้ได้ โดยจะส่งผลให้ยอดขายรถยนต์แต่ละรุ่นที่ใช้เชื้อเพลิง E10 ไปจนถึง E85 เพิ่มขึ้นด้วย
หากเทียบกองทัพด้านผลิตภัณฑ์ของโตโยต้าในวันนี้ที่มีอยู่เกือบทุกเซกเมนต์ ทั้งในกลุ่มรถปิกอัพ, รถยนต์นั่ง รถอเนกประสงค์ และผลิตภัณฑ์ที่มาจากการแลกกับโรงงานโตโยต้าในกลุ่มอาเซียน ซึ่งใช้ประโยชน์จากอาฟตา รวมถึงรถยนต์ในเซกเมนต์ใหม่ๆ ที่เตรียมจ่อเข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานทางเลือกอย่างที่กล่าวมา คือ รถยนต์ซีเอ็นจี, รถยนต์ที่ใช้ E85, รถยนต์ประหยัดพลังงานหรืออีโคคาร์ และรถยนต์ไฮบริด
ต้องบอกว่ากลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ของโตโยต้าพร้อมรับกับการเติบโตของตลาดรถยนต์เมืองไทย โดยเฉพาะหากถึงวันที่ยอดขายรถยนต์เมืองไทยแตะตัวเลข 1 ล้านคันอย่างที่คาดหวังไว้
ขณะที่การส่งออกของโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เป็นอีกส่วนหนึ่งของการเติบโตในประเทศ และเป็นส่วนที่ทำให้โตโยต้ามีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปีนี้ โตโยต้ามีเป้าหมายส่งออกรถยนต์รวม 330,0000 คัน แบ่งออกเป็น รถกระบะ 270,000 คัน และรถยนต์นั่งอีก 60,000 คัน มีมูลค่าในการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนรวม 195,000 ล้านบาท ตัวเลขนี้เพียงพอจะส่งให้โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย เป็นบริษัทผู้ส่งออกที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับหนึ่ง และเชื่อว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า มูลค่าการส่งออกของโตโยต้าจะแซงหน้าบริษัทอิเล็กทรอนิกส์
กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย บอกว่า มีการเจรจากับบริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่น ในการขยายกำลังการผลิตโรงงานเกตเวย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา สำหรับผลิตรถยนต์นั่ง รวมทั้งขยายกำลังการผลิตที่โรงงานบ้านโพธิ์ ฉะเชิงเทรา ซึ่งปรกติเป็นโรงงานผลิตรถกระบะเพื่อส่งออกให้สามารถผลิตรถยนต์นั่งได้อีกด้วย อีกทั้งปัจจุบันประเทศไทยจะผลิตรถยนต์นั่งเพื่อส่งออกไปภูมิภาคเอเชียเท่านั้น แต่สิ่งที่โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กำลังดำเนินการคือ ขอให้โตโยต้า คอร์ปอเรชั่น ญี่ปุ่นตัดสินใจเลือกใช้ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตรถยนต์นั่งเพื่อการส่งออกไปยัง 100 ประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกับการที่บริษัทแม่ตัดสินใจเลือกใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถปิกอัพขนาด 1 ตัน ที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของโตโยต้าก่อนหน้านี้
สิ่งที่ เคียวอิจิ ทานาดะ บอกคือ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กำลังเป็นที่อิจฉาของสำนักงานสาขาโตโยต้าในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการผลิตที่มีทั้งปริมาณการผลิตและเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ขั้นสูงอย่างไฮบริด นั่นเอง
นอกจากนี้ในขณะที่แผนการผลักดันยอดขาย ด้วยกลยุทธ์ด้านผลิตที่วางไว้อย่างครอบคลุมทั้งตลาดแล้ว โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ยังเตรียมความพร้อมในด้านบริการ และบริการหลังการขายให้เหมาะสมกับยอดขายที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
เคียวอิจิ ทานาดะ บอกว่า โตโยต้าไม่นีนโยบายจะเพิ่มตัวแทนจำหน่ายให้มากกว่าที่มีอยู่ในเวลานี้คือ 119 รายทั่วประเทศ แต่สิ่งที่จะต้องดำเนินการในเรื่องเครือข่ายการจำหน่ายคือ การเพิ่มโชว์รูมและศูนย์บริการของตัวแทนจำหน่ายที่มีอยู่ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มโชว์รูมอีก 10% จากที่มีอยู่แล้วในเวลานี้ 320 แห่ง
ทั้งนี้ เครือข่ายโชว์รูม และศูนย์บริการของโตโยต้า เป็นจุดแข็งสำคัญอีกประการหนึ่ง ด้วยปริมาณที่มากกว่า นั่นหมายถึงพื้นที่ให้บริการครอบคลุมเหนือกว่าคู่แข่งนั่นเอง
ขณะเดียวกัน โตโยต้ามีการพัฒนามาตรฐานโชว์รูมและศูนย์บริการอย่างหนักในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งผลงานดังกล่าว เจ.ดี.พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิก ระบุผลการศึกษาวิจัยในปี 2553 นี้พบว่า จากผลการศึกษาวิจัยรถ 9 ยี่ห้อ คำนวณจากการให้คะแนนความพึงพอใจโดยมีคะแนนเต็ม 1,000 คะแนน ค่าดัชนียิ่งสูงยิ่งบ่งบอกว่าลูกค้ามีความพึงพอใจในขั้นตอนการขายและส่งมอบรถใหม่มากยิ่งขึ้น โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ครองคะแนนอันดับสูงสุด ด้วยคะแนน 890 คะแนน ในด้านการเริ่มต้นการขาย, สิ่งอำนวยความสะดวกของดีลเลอร์ การเจรจาตกลง และการจัดเตรียมเอกสาร โดยมีค่ายตรีเพชรอีซูซุเซลส์ ตามมาเป็นอันดับ 2 คือ 889 คะแนน คะแนนได้ดีเป็นพิเศษในด้านพนักงานขาย และกระบวนการส่งมอบ และฟอร์ด 888 คะแนน ในด้านระยะเวลาในการส่งมอบรถยนต์
เจ.ดี.พาวเวอร์ฯ ระบุว่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ความพึงพอใจของลูกค้าเพิ่มสูงขึ้นทั้ง 7 ปัจจัย การปรับปรุงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดได้แก่ การเริ่มต้นการขาย การเจรจาตกลง และการจัดเตรียมเอกสาร โดยเฉพาะในขั้นตอนการจัดทำสินเชื่อรถยนต์ ในปีนี้ดีลเลอร์มีการนำเสนอรถยนต์และเพิ่มทางเลือกในการชำระเงินให้กับลูกค้ามากขึ้น นอกจากนี้แล้วเราพบว่า ลูกค้ามีความพึงพอใจมากขึ้นกับคำอธิบายและการตอบคำถามของลูกค้าในหลาย ๆ ด้าน เช่น อุปกรณ์ในรถยนต์และประโยชน์, เงื่อนไขการขอสินเชื่อ, เอกสารการซื้อขาย และการส่งมอบรถยนต์
มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ต่างนำรถยนต์แบบประหยัดน้ำมันรุ่นใหม่ๆ ออกมาวางจำหน่ายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มรถขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมไปถึงรายการส่งเสริมการตลาด นอกจากนี้แล้วยังมีปัจจัยในด้านการผ่อนคลายเงื่อนไขการกู้เงิน มีผู้ปล่อยสินเชื่อรายใหม่ เช่น ธนาคารพาณิชย์ การลดดอกเบี้ย และการที่ดีลเลอร์คำนึงถึงความต้องการของผู้ซื้อมากขึ้น ล้วนส่งผลทำให้ยอดขายดีขึ้น
ถึงเวลานี้ ต้องยอมรับว่า โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย คือ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ที่จะครองความยิ่งใหญ่ในตลาดรถยนต์เกือบครบทุกเซกเมนต์ โดยเฉพาะการชิงจังหวะและโอกาสการตลาด ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในทุกสภาวการณ์ และหากไม่มีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้อีก สิ่งที่ เคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ทายอนาคตยอดขายไว้ที่ 1 ล้านคัน มีความเป็นไปได้สูง และในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อถึงเวลานั้น สิ่งที่โตโยต้าปูทางไว้ในวันนี้จะได้รับการเก็บเกี่ยวอย่างเต็มที่
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|