|
ผลศึกษาชี้ธุรกิจครอบครัวไทยเสี่ยงล่มสลายชู 'เซ็นทรัล-มิตรผล' ต้นแบบธุรกิจยั่งยืน!
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
มหาวิทยาลัยหอการค้า ชี้ธุรกิจครอบครัวในไทยมีสัดส่วนกว่า 90% ของจีดีพี แต่กว่า 90% ยังไม่มีการปรับตัวขาดแผนสืบทอดธุรกิจที่ชัดเจน เสี่ยงต่อการล่มสลายในอนาคต และส่งผลต่อเศรษฐกิจชาติมหาศาล ชู 'เซ็นทรัล-มิตรผล' ต้นแบบธุรกิจครอบครัวที่ยั่งยืน แนะตระกูลใหญ่ตั้งกฎกติกาและสภาครอบครัว เพื่อวางทายาทธุรกิจชัดเจน ลดความขัดแย้ง แบ่งปันผลประโยชน์ลงตัว พร้อมจี้รัฐเก็บภาษีมรดก ส่งเสริมธุรกิจครอบครัวแข็งแกร่ง
ปัจจุบันภาคเอกชนเป็นหัวจักรที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยทั้งในด้านการสร้างเม็ดเงิน และการจ้างงานอย่างมหาศาล ก่อให้เกิดการพัฒนาในทุกๆด้าน ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ยังมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมอยู่สูงโดยความมั่งคั่งของประเทศทั้งหมดกระจุกตัวในกลุ่มตระกูลใหญ่ไม่เกิน 50 ตระกูลที่มีอำนาจกุมเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งกว่า 90% จะเป็นลักษณะธุรกิจครอบครัว ที่มีการบริหารงานภายในตระกูลจากรุ่นสู่รุ่น
ดังนั้นหากการวางระบบธุรกิจครอบครัวที่ไม่เป็นสากล ก็อาจจะทำให้ธุรกิจเหล่านี้ถึงการล่มสลาย และกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ตัวอย่างที่ปรากฎเด่นชัดจากบริษัท Reliance ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ยิ่งใหญ่ในอินเดีย ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวตระกูล Ambani ที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุพี่น้องในตระกูลนี้ทะเลาะกันส่งผลกระทบทำให้ตลาดหุ้นร่วงลงมาถึง 12% ภายในวันเดียว กระทบกับจีดีพีของอินเดียถึง 3% และยังมีกรณีที่คล้ายคลึงกับบริษัทนี้อีกมากมายในหลายประเทศ โดยในส่วนของประเทศไทยมีเพียงไม่กี่ตระกูลที่กุมเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหากเกิดปัญหาความแตกแยกอาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและศักยภาพการแข่งขันของประเทศได้
ธุรกิจครอบครัวมีกำไรสูงกว่าบริษัททั่วไป
จีรเดช อู่สวัสดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากสถิติของธุรกิจทั่วโลกในโลกเสรี แบ่งเป็นธุรกิจครอบครัวประมาณ 80-98% สร้างรายได้ 49% ของ จีดีพี ในสหรัฐ ส่วนในประเทศต่างๆไม่รวมสหรัฐธุรกิจครอบครัวจะมีสัดส่วนสร้างรายได้สูงถึง 75% ของจีดีพี และว่าจ้างแรงงานไม่ต่ำกว่า 85% ของแรงงานทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทยมากกว่า 90% ของจีดีพี มาจากธุรกิจครอบครัว นอกจากนี้ 37% ของบริษัทในฟอร์จูน 500 เป็นธุรกิจครอบครัว 60% ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯเป็นธุรกิจครอบครัว
ทั้งนี้จากการศึกษาของ Leach and leahy ได้สำรวจ 325 บริษัทที่มีขนาดใหญ่ในสหราชอาณาจักรพบว่าธุรกิจครอบครัวมีผลกำไรสูงกว่า มีผลตอบแทนสูงกว่า และมีอัตราการเติบโตสูงกว่าบริษัททั่วไป ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ Forbes ที่ระบุว่ากว่า 800 บริษัทที่ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์พบว่ามี 31 บริษัทที่มีซีอีโอมาจากครอบครัวที่ควบคุมธุรกิจโดยเฉลี่ยจะมีผลกำไรสูงกว่า 15% มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 14%
ขณะที่ม.หอการค้าไทย ได้ศึกษาและติดตามการดำเนินธุรกิจในครอบครัวของประเทศไทย พบว่ามีปัญหาและอุปสรรคหากจะทำให้ธุรกิจครอบครัวยั่งยืนได้นั้น กิจการครอบครัวจะต้องยืนอยู่บนสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็งจึงจะสามารถรอดพ้นสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงได้
สถิติธุรกิจครอบครัวจบสิ้นในรุ่นที่4
อย่างไรก็ตามแม้ว่าธุรกิจครอบครัวจะมีผลประกอบการที่ดี มีความคล่องตัวในการทำงาน รักษาคุณภาพและชื่อเสียงวงศ์ตระกูล เน้นรักษาลูกค้าและรักษาตลาด มีสมาชิกครอบครัวให้การสนับสนุน และถ่ายทอดความรู้ความชำนาญ แต่ในตัวของธุรกิจครอบครัวก็มีปัญหาเกาะกินโครงสร้างภายในเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะขาดความคล่องตัวในการตีราคาหุ้น เข้าถึงตลาดทุนได้ยาก มีความเสี่ยงในการสืบทอดธุรกิจ เกิดความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในครอบครัว มืออาชีพที่ดีจะไม่สนใจจะเข้ามาร่วมงาน ควบคุมต้นทุนได้ยาก และการลงทุนวิจัยพัฒนาจะน้อยกว่าบริษัททั่วไป โดยผลสำรวจพบว่าในธุรกิจครอบครัวรุ่นแรก 100% ผ่านมาในรุ่นที่ 2 จะมีธุรกิจอยู่รอดเพียง 30% ในรุ่นที่ 3 จะอยู่รอด 12% และในรุ่นที่ 4 จะเหลือเพียง 3% สอดคล้องกับความเชื่อที่ว่าธุรกิจครอบครัวจะอยู่ได้ไม่เกิน 3 ชั่วคน
โดยปัญหาหลักของธุรกิจครอบครัวอยู่ที่ผู้บริหารเบอร์1 หรือซีอีโอ จะสวมหมวกอยู่ถึง 3 ใบ ได้แก่ 1.เป็นสมาชิกครอบครัว 2.มีความเป็นเจ้าของ และ3.เป็นฝ่ายบริหาร ซึ่งถ้าหากซีอีโอบริหารงานอย่างไม่สมดุลเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งจนเกินไปก็จะเกิดปัญหาในที่สุด เช่น หากซีอีโอ เน้นการบริหารเป็นหลัก ก็จะทำให้ธุรกิจตกไปสู่คนนอกตระกูลได้ง่าย เพราะ จะไม่สนับสนุนสมาชิกในครอบครัวเข้ามาทำงานในบริษัท หรือถ้าจะเข้ามาทำงานจะต้องมีประสบการณ์การทำงานมาก่อน โดยจะมีสิทธิและการประเมิณผลเท่าเทียมกันทั้งหมด ผลตอบแทนยุติธรรมต่อทุกคนในองค์กร และการสืบทอดธุรกิจจะขึ้นอยู่กับผลงาน ซึ่งหากเอียงข้างในแนวนี้แน่นอนสมาชิกครอบครัวและผู้ถือหุ้นจะต้องไม่เห็นด้วย และจะเกิดความแตกแยกขึ้นอย่างรุนแรง
สำหรับถ้าผู้บริหารเน้นในเรื่องของผลประโยชน์ให้กับผู้ถือหุ้นเป็นหลัก การบริหารจะเน้นผลกำไรตอบแทน จะมุ่นเน้นทำกำไรระยะสั้นมากกว่าระยะยาว ให้ความสำคัญกับการปันผลมากกว่าการวางแผน การมีส่วนร่วมของครอบครัวในกลยุทธจะมีน้อย และครอบครัวจะเป็นผู้ลงทุนมากกว่า ซึ่งในแนวทางนี้ก็จะทำให้ธุรกิจขาดการวางแผนที่ดีเสี่ยงต่อการปิดกิจการในระยะยาว ส่วนถ้าผู้บริหารจะเน้นในเรื่องของครอบครัวเป็นหลัก จะทำให้ลูกจ้างส่วนใหญ่จะเป็นคนในครอบครัว การแต่งตั้งผู้บริหารจะเน้นที่นามสกุลเป็นหลัก ไม่สามารถรักษามืออาชีพที่ดีได้ ผลประโยชน์ของบริษัทจะย้ายไปสู่สมาชิกในครอบครัว ระบบการเงินจะคลุมเครือไม่แม่นยำ มีความลับเกิดขึ้นในระบบ และวัฒนธรรมองค์กรจะขึ้นอยู่กับวิธีชีวิตของครอบครัว ซึ่งการบริหารแนวนี้ก็จะนำไปสู่การล้มละลายได้ง่าย ดังนั้นจึงเห็นว่าการดำเนินธุรกิจครอบครัวให้คงอยู่รอดได้ภาวะการแข่งขันในปัจจุบันและอนาคตจึงเป็นเรื่องยาก
แนะตระกูลใหญ่ตั้งธรรมนูญครอบครัว
โดยแนวทางการปรับปรุงธุรกิจครอบครัวให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน จะต้องบัญญญัติกฏกติกาที่ชัดเจนของครอบครัว เพิ่อให้เกิดความชัดเจนในผู้สืบทอด นอกจากนี้ที่สำคัญพี่น้องเขยสะใภ้สมาชิกในครอบครัวจะต้องสามัคคี สมาชิกจะต้องถ่อมตนนอบน้อมไม่ฟุ้มเฟ้อ ไม่เช่นนั้นจะเกิดการขูดรีดผลประโยชน์ของบริษัท ต้องดูแลมืออาชีพที่จ้างมาร่วมงานอย่างยุติธรรม เพราะบริษัทยิ่งใหญ่มากขึ้นก็ต้องอาศัยมืออาชีพมากขึ้น มีการจัดการครอบครัวอย่างเป็นระบบ มีแผนสืบทอดธุรกิจที่ชัดเจน มีกลยุทธของบริษัทชัดเจน มีแผนที่สอดคล้องกับองค์กรที่ชัดเจน และที่สำคัญจะต้องมีบุคคลภานนอกครอบครัวที่เป็นที่เคารพของทุกฝ่ายเข้ามาเป็นกรรมการในบอร์ด 2-3 คน เพื่อป้องกันการทะเลาะเบาะแย้งภายในครอบครัว เพราะจะทำให้เกิดความเกรงในคนนอก นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี ซึ่งการทำธรรมนูญครอบครัวควรทำในขณะที่ครอบครัวอยู่ในภาวะปกติมีความกลมเกลียวกัน เพราะถ้าทำในขณะที่เกิดความขัดแย้งจะทำได้ยากมาก เกิดปัญหาแล้วจะแก้ไขยาก เพราะทุกฝ่ายจะไม่มีใครยอมกัน
ที่สำคัญธุรกิจครอบครัวจะต้องยืนอยู่บนสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง โดยจะต้องมีความสำพันธ์กันผ่านทางการสังสรรค์ของครอบครัว จะต้องมีการพบปะพูดคุยทานอาหารเย็นกันสม่ำเสมอ มีการพูดคุยเรื่องธุรกิจทั่วไป และหารือประเด็นต่างๆ ส่วนใหญ่สมาชิกที่เข้าร่วมจะเป็นรุ่นที่ 2-4 มีการประชุมปีละ 1-2 ครั้ง สมาชิก 30-40 คนมีผลประโยชน์ร่วมกัน เลือกตัวแทนที่ประชุม ให้ความเห็นในเอกสารสำคัญต่างๆ โดยกติกาของที่ประชุมครอบครัวจะต้องเป็นบุตรหลานสายตรงอายุมากกว่า 18ปี เขย/สะใภ้ที่แต่งงานเกิน 5 ปี
ทั้งนี้หากสมาชิกครอบครัวมีจำนวนมากขึ้นควรจะเลือกตัวแทนจากความสามารถ 5-8 คน ตั้งสภาครอบครัว และจะต้องไม่มีผู้บริหารที่เป็นสมาชิกครอบครัว โดยสภาครอบครัวจะมีหน้าที่เป็นจุดเชื่อมระหว่างครอบครัวกับกรรมการบริษัทและซีอีโอ ให้คำแนะนำผู้ที่จะเข้ามาเป็นซีอีโอ หรือกรรมการบริษัท ร่างและแก้ไขข้อบังคับต่างๆของครอบครัว
อย่างไรก็ตามธุรกิจครอบครัวของไทยมีเพียงไม่ถึง10% เท่าที่เห็นก็มีเพียงกลุ่มเครือเซ็นทรัลตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่สืบทอดธุรกิจครอบครัวยาวนานกว่า 70ปี และกลุ่มเครือมิตรผลของตระกูลว่องกุศลกิจ ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 50ปี ที่มีธรรมนูญครอบครัว มีการกำหนดกฎกติกาที่ชัดเจนในการสืบทอดธุรกิจ และขอบเขตหน้าที่ของสมาชิกในการเข้ามาบริหารธุรกิจครอบครัว ซึ่งบริษัทครอบครัวอีกกว่า 90% ยังไม่ได้วางระบบนี้ต่างจากในประเทศที่พัฒนาแล้วที่ตื่นตัวในเรื่องนี้มาก
เผยภาษีมรดกจะทำให้ธุรกิจครอบครัวเข้มแข็ง
นอกจากนี้การเก็บภาษีมรดก ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งทึ่จะช่วยเหลือให้ธุกิจครอบครัวมีความเข้มแข็ง เพราะในต่างประเทศโดยเฉพาะในสหรัฐฯ เก็บภาษีมรดกสูงถึง 50% ทำให้ผู้นำครอบครัวค่อยๆผ่อนถ่ายทรัพย์สินและอำนาจการบริหารธุรกิจให้กับคนในรุ่นลูกเข้ามามีอำนาจบริหารงานแทน ทำให้มีการสั่งสมประสบการณ์และแนวทางการทำธุรกิจจากรุ่รสู่รุ่นอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่รอให้เสียชีวิตก่อนแล้วค่อยถ่ายโอนอำนาจและทรัพย์สิน เพราะต้องเสียภาษีเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้การดำเนินธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นมีความราบรื่นมั่นคง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|