อเมริกัน เอ็กซเพรสยิ่งสูงเด่น ยิ่งหนาวเหน็บ ?!?


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

ในโลกของเงินพลาสติกคงจะเชยไม่เสร็จถ้าไม่รู้จักบัตรอเมริกันเอ็กซเพรส หรือที่มักเรียกสั้น ๆ ว่า "เอเม๊กซ์ "

ปริมาณเงินหมุนเวียนกว่า 4,000 ล้านบาทที่นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจต่างชาตินำเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทยโดยผ่านบริการบัตรเครดิตต่าง ๆ ในรอบปีก่อน คิดเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 2,600 ล้านบาท ที่เป็นสมาชิกของเอเม๊กซ์ และ 40% ของบัตรเครดิต 625 ล้านใบทั่วโลกก็เป็นสมาชิกเอเม๊กซ์เช่นกัน

เอเม๊กซ์นั้นใหญ่มาก ใหญ่เสียจน ใคร ๆ ต่างคิดกันว่าถ้าเอเม๊กซ์ย่างเหยียบไปที่ใด ไม่ว่าที่นั่นจะมีบัตรเครดิตรายอื่นเป็นผู้ครองตลาดอยู่แล้วก็ตาม ทว่าถึงที่สุดก็ต้องยอมศิโรราบให้กับเอเม๊กซ์โดยดุษฎี !?

มีก็แต่เมืองไทยที่เอเม๊กซ์ต้อง "เจ็บ" และเจ็บหนักเสียด้วย !!!

การโจรกรรมบัตรเครดิตและการปลอมแปลงเพื่อการฉ้อโกงของเหล่ามิจฉาชีพที่เกิดขึ้นมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นเอเม๊กซ์ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด ไม่เช่นนั้นคงไม่ออกโรงปกป้องภาพพจน์และเรียกร้องให้กำราบขบวนการมิจฉาชีพอย่างแข็งขัน

การเพิกถอนสิทธิร้านค้าสมาชิกที่ร่วมปฏิบัติการฉ้อฉลกว่า 500 แห่งน่าจะเป็นเหตุผลสำทับความกังขาดังกล่าวได้ดี

จำนวนสมาชิกภายในประเทศกว่า 50,000 คนและยังขยายตัวไม่หยุดหย่อนตามแรงอัดโฆษณาของเอเม๊กซ์ ซึ่งสูงกว่าบัตรยี่ห้ออื่นร่วมเท่าตัวสองเท่าตัวก็เป็นจุดยั่วยวนให้เอเม๊กซ์ถูกมุ่งหมายที่จะโดนโค่นล้มดับรัศมีลงให้จงได้

สภาพของเอเม๊กซ์จึงเป็นเสมือนภูเขาน้ำแข็งที่ยอดเยียบเย็นพร้อมที่จะถูกละลายได้ทุกเมื่อเชื่อวัน!!

เอเม๊กซ์ไม่มีโอกาสให้พลาดได้อีก ถ้าหวังที่จะเป็นหนึ่งเพียงหนึ่งเดียว

เอเม๊กซ์นั้นย่างกรายเข้ามาในประเทศไทยในปี 2524 อย่างคนฟอร์มใหญ่ แต่ต้องลงทุนซื้อความสำเร็จ จ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท เล่นเอาเจ้าสัวชาตรี โสภณพนิช ที่เคยหนุนสุดตัวไม่ว่าจะเป็นการร่วมหุ้นหรือให้ใช้กระดาษหัวจดหมายแบงก์กรุงเทพแนะนำบริษัท กระทั่งแนบลายเซ็นช่วยหาสมาชิกให้ถึงกับร้อนตัว ฮึ่ม ๆ "จะถอนตัว" ออกมาทำบัตรเครดิตของแบงก์เสียให้รู้แล้วรู้รอด

"ยังเป็นไปได้ในเรื่องนี้เพราะความพร้อมของแบงก์ไม่ต้องพูดถึง แค่พนักงานกับลูกค้าของแบงก์ก็เหลือเกินแล้ว ที่คุณชาตรีไม่สู้พอใจเพราะว่าลูกค้าชั้นดีที่แบงก์กรุงเทพแนะนำให้ 200 กว่ารายปรากฏว่าบางรายไม่ได้รับการบริการที่ดีเท่าที่ควร ทำให้แบงก์พลอยเสียหายไปด้วย" แหล่งข่าวกล่าวกับ "ผู้จัดการ "

เอเม๊กซ์จะประสานความร้าวฉานทางความรู้สึกนี้ได้อย่างไร !! นับเป็นการพิสูจน์ความประสิทธิภาพของการบริหารงานของยักษ์ใหญ่รายนี้ ได้เป็นอย่างดีเนื่องจากเอเม๊กซ์ในขณะนี้ว่าไปแล้วยังอยู่ในอาการของคนที่เพิ่งอาการป่วยไข้กระเตื้อง ตัวเลขขาดทุนสะสม 100 กว่าล้านบาทในระยะ 5-6 ปีของการก่อตั้งบริษัท เพิ่งชักเนื้อมีกำไรถอนคืนมาได้ ไม่กี่สตางค์ !?

และยังไม่รวมถึงความบึ้งตึงกับร้านค้าสมาชิก 7,000 กว่าแห่งเกี่ยวกับเรื่องการชาร์จค่าธรรมเนียม 5% ที่ร้านค้าบอกว่า "มันโหดเกินไป" รอยแตกแยกนี้นับวันยิ่งประทุมากขึ้นเช่นกัน รวมแล้วสภาพปัญหาที่เอเม๊กซ์ต้องเผชิญในเวลานี้ถูกรุมเร้าหลายทางด้วยกัน

มองผิวเผินธุรกิจบัตรเครดิตควรเป็นเสือนอนกินมากกว่าที่จะต้องจ่าย ยิ่งเป็นบัตรเครดิตดัง ๆ อย่างเอเม๊กซ์ด้วยแล้วอาการง่อยเปลี้ยขาดทุนสะบัดสะบอมติดกัน 4-5 ปี ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่น่าศึกษาไม่น้อย เพราะคาบเกี่ยวถึงอนาคตของเอเม๊กซ์ที่กำลังจะประสบปัญหาหลายด้านรุมเร้าอยู่ในเวลานี้ได้เป็นอย่างดี

"ในปี 27 ยอดขาดทุนต่อหุ้นสูงถึง 174 บาททั้งที่หุ้นมีมูลค่าตามราคาพาร์เพียง 100 บาท สภาพการณ์อย่างนี้ส่อให้เห็นว่าไม่น่าลงทุนเป็นอย่างยิ่ง โอกาสที่จะทำกำไรมาลบยอดขาดทุนสะสมเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญยิ่งนัก ที่เอเม๊กซ์บอกว่าเริ่มกำไรได้แล้วนั้น ต้องมองกันลึก ๆ ว่าเป็นแก่นหรือกระพี้กันแน่" นักลงทุนผู้หนึ่งให้ความเห็น

ถ้าพิจารณาในช่วงปี 2525-27 ที่เป็นช่วงสร้างตัวที่เอเม๊กซ์ขาดทุนมากมายก็จะพบว่า แม้รายได้รวมจะสูงขึ้นทุกปีคือจาก 43,440,021 บาทในปี 2525 เป็น 75,082,049 บาทในปี 2526 และเป็น 120,890,196 บาท ในปี 2527 แต่เมื่อเทียบกับภาระรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วยนั้นเป็นสัดส่วนที่แตกต่างกันมากมายอย่างเห็นได้ชัด

เอเม๊กซ์ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจาก 65,520,621 บาท ในปี 2525 เป็น 100,690,109 บาทในปี 2526 และสูงขึ้นถึง 155,766,590 บาทในปี 2527 ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้หมดไปกับต้นทุนประกอบการ เช่นโฆษณาแบบบ้าดีเดือดโดยเอเม๊กซ์เคยใช้จ่ายค่าโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ เป็นเงินถึง 17,947,000 บาทในปี 2525 และอีกหลายสิบล้านบาทกับการชิงโชคสารพัดรูปแบบ

ภาระใช้จ่ายข้างต้นเมื่อรวมกับเงินกู้เบิกเกินบัญชีจากยอด 73.81 ล้านบาทในปี 2525 ที่เพิ่มเป็น 168.8 ล้านบาทในปี 2527 จึงทำให้ยอดขาดทุนสะสม ณ สิ้นปี 2527 มากถึง 102,945,238 ล้านบาท อันเป็นยอดขาดทุนที่ใครเห็นแล้วต้องแปลกใจว่าทำไม ? จึงเกิดขึ้นได้กับธุรกิจประเภทนี้

และถ้าดูถึงสภาพคล่องการเงิน (CURRENT RATIO) นับแต่ปี 2525 เป็นต้นมาจะพบว่าอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยที่ค่อนข้างต่ำอย่างมากเพียง 0.668, 0.607, 0.638 ต่ำกว่ามาตรฐานทางบัญชีทั่วไป ที่ต้องอยู่ในระดับ 1 โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้านการเงิน

อีกจุดหนึ่งก็คือหนี้สินต่อสัดส่วนผู้ถือหุ้น (DEBT EQUALITY RATIO ) พบว่าอยู่ในระดับที่ไม่น่าวางใจ ได้มากนัก จากในปี 2525-2527 อัตราส่วนสัมพันธ์นี้มีดังนี้

ปี 2525 123,136,867 / 22,500,784

ปี 2526 160,742,661 / 48,068,864

ปี 2527 274,002,976 / 82,945,234

อัตราส่วนความสัมพันธ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงสถานภาพที่ไม่ดีนัก และมองต่อไปได้ว่าถ้ากิจการมีอันเป็นไปด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งความสามารถในการจ่ายคืนเงินกู้ค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก เพราะยอดหนี้สินมีมากกว่าสัดส่วนผู้ถือหุ้นนั่นเอง!!

การที่เอเม๊กซ์ออกตัวให้ข่าว เมื่อสิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ว่าสามารถทำกำไรได้แล้ว 10 กว่าล้านบาทรวมกับปี 2528 ที่กำไรได้ถึง 24.2 ล้านบาท ในความคิดเห็นของนักบัญชีบางท่านกล่าวว่ายังไม่อาจเป็นเครื่องการันตีให้เกิดความอุ่นใจได้มากนัก

ยิ่งเมื่อถูกผนวกกับการถูกก่อกวนจากโจรเศรษฐกิจและข่าวคราวที่ว่าผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างแบงก์กรุงเทพอาจเล่นตลกถอนตัวไปทำเอง เรื่องนี้แม้เอเม๊กซ์จะให้กำลังใจตัวเองว่า "ถ้าเป็นจริงก็ไม่หนักใจ แต่ถ้ามองให้ลึกเอเม๊กซ์จะต้องปวดหัวกับการเพิ่มภาวะค่าใช้จ่ายในการแข่งขันและรักษาสถานภาพของตนเองอย่างมากมายกว่าเก่าอย่างแน่นอนที่สุด

จุดนี้อาจทำให้เอเม๊กซ์เข้าสู่โคจรขาดทุนอีกครั้งก็เป็นได้!!

เรื่องอย่างนี้มีความเป็นไปได้ไม่น้อย และมองอีกด้านหนึ่งคือนอกจากจะต้องปะทะหักลำกับบัตรเครดิตด้วยกันแล้ว ปัจจุบันยังจะต้องทำท่าเบียดเสียดกับบัตร เอทีเอ็ม. ที่เป็นคู่แข่งโดยบังเอิญเข้าอีก และเอทีเอ็ม นับวันยิ่งจะกระจายตัว เพิ่มบทบาทความสำคัญมากขึ้นในวงสังคม

จุดที่ได้เปรียบของ เอทีเอ็ม. นอกจากจะใช้ได้สะดวกแล้วยังสามรถแทรกซึมเข้าหากลุ่มคนได้ทุกระดับชั้น ผิดกับบัตรเครดิตที่เจาะได้เฉพาะคนชั้นกลางที่มีรายได้สูงขึ้นไป ดังนั้นถ้าต้องแข่งขันกันจริง ๆ เลือดคงได้ตกยางคงได้ออกกันคราวนี้

ผลกระทบของเอทีเอ็ม. หากมองให้แจ่มชัดก็มองกันที่เอเม๊กซ์กันนี่ล่ะดีที่สุด จะเห็นว่าในช่วงปี 2526- 27 ที่เอทีเอ็ม. เริ่มเข้าตลาดมาขึ้นรายได้จาก "ส่วนลดรับ" หรือค่าคอมมิชชั่นที่ได้รับจากร้านค้า 5% ปรากฏว่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าปรกติเพียงร้อยละ 51 เท่านั้นเป็นการชี้ให้เห็นถึงความนิยมที่มีต่อบัตรเครดิตลดน้อยลง

ในภาวะที่ทั้งสมาชิกผู้ถือบัตรและร้านค้าขวัญหนีดีฝ่อกับขบวนการมิจฉาชีพ กอปรกับเสียงเรียกร้องจากร้านค้าให้ลดคอมมิชชั่นลงจาก 5 % หากต้องเดินชนเพื่อความเป็นหนึ่งในตลาด เอเม๊กซ์จึงย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการโฆษณาภาพพจน์ตัวเองและรณรงค์เดินแผนตลาดอย่างหนักหน่วงกว่าทุกครั้ง

เอเม๊กซ์เองเหมือนจะเข้าใจลึกซึ่งถึงอนาคต การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดในเวลานี้ก็คือ ได้มีการตั้งทีมขายเป็นของตัวเองไม่หวังพึงใบบุญจากพนักงานแบงก์กรุงเทพและแบงก์เอเชียอีกต่อไปแล้ว "เราเปลี่ยนมาเป็นทีมขายตรงเพื่อต้องการใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น และทราบสถานะต่าง ๆ ของลูกค้าเพื่อหาทางแก้ไขได้อย่างถูกต้อง " แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากจะปรับกลยุทธ์มาเป็นไดเร็ดเซลส์ ที่เข้มแข็งขึ้นในทัศนะของตัวเองนั้น อีกด้านหนึ่งเอเม๊กซ์ได้ขยับไปพึ่งฐานของโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยว ต่าง ๆ อีกด้วย โดยจะรับเป็นผู้ออกค้าใช้จ่ายในการจัดสัมมนาธุรกิจโรงแรมครั้งใหญ่ในเมืองไทย

"ไม่มีอะไรมากไปกว่าสร้างภาพพจน์ใหม่ของเอเม๊กซ์และต้องการสร้างความสัมพันธ์กับโรงแรมต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นฐานในการขยายธุรกิจในอนาคตอีกด้วย ตอนนี้มีการร่วมกับกลุ่ม ไทยสมุทรฯ โดยเอเม๊กซ์ ทำโฆษณาแผ่นพับให้กับแหล่งพักในเชนไทยสมุทร ฯ ทั้งหมด " แหล่งข่าวกล่าว

แต่สิ่งที่เอเม๊กซ์คาดไม่ถึงกับการปรับแผนรุกใหม่ก็คือว่าการทุ่มทำสิ่งพิมพ์โฆษณาอย่างสวยหลู่นั้นไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นมากนัก กับจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็นเสียอีกในเมื่อระบบการทำบัญชีรายชื่อสมาชิกไม่ดีพอทำให้มีการส่งซ้ำซ้อน และทีมขายบางคนยังไปสร้างปัญหาโดยไม่รู้ตัวกับสมาชิกเก่าที่พนักงานแบงค์เคยป้อนให้ เล่นเอาแบงก์กรุงเทพกับแบงก์เอเชียหัวฟัดหัวเหวี่ยงไม่น้อยที่ถูกกล่าวหาว่าให้บริการลูกค้าไม่ดี

และนี่งัยที่ "ผู้จัดการ" บอกว่า แบงก์กรุงเทพถึงได้คิดว่า อาจจะทำให้บัตรเครดิตเป็นของตัวเองมากกว่าเพราะการที่ต้องมาเสียแรงช่วยคนแล้ว ยังถูกมองว่าเป็นการสร้างปัญหาให้อีกนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้จริง ๆ !!!

สภานะการณ์ของเอเม๊กซ์เคยขาดทุนเป็นดินพองหางหมูมาอย่างไร ? ถึงจะดีขึ้นบางแต่ทำไปทำมาท่าว่าจะเจอศึกหนักที่ตัวเองก่อขึ้นอาจเป็นเหตุให้ขาดทุนอีกเสียแล้ว แม้แต่เรื่องการชักชวนให้บริษัทอื่นร่วมกันให้ข้อมูลปราบปรามแก็งบัตรเครดิตปลอมก็ยังไม่ประสบผลอะไรมากนัก

อย่างไรก็ตาม ความยิ่งใหญ่และความยาวนานของเอเม๊กซ์ก็เป็นข้อที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่งถึงสมรรถนะของเอเม๊กซ์ภายใต้สภานะการณ์ที่รุมเร้าอยู่หลายด้านนี้

คนที่รู้จักเอเม๊กซ์หรือที่เคยศึกษาเอเม๊กซ์อย่างละเอียดทุกแง่มุมค่อนข้างจะเชื่อมั่นว่าทุกปัญหาเหล่านี้เอเม๊กซ์สามารถรับมือได้ เพียงแต่อาจก็ไม่ค่อยสบายนักเท่านั้นแหละ

"เรื่องขาดทุนนั้นเอเม๊กซ์ก็ทราบอยู่เต็มอกตั้งแต่เข้ามาแล้ว 5 ปีแรกนี้จะต้องขาดทุนบักโกรนแน่ ๆเพราะจะต้องใช้จ่ายลงทุนมาก โดยเฉพาะที่สำคัญเรื่องการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่ายของไทยให้ทราบซึงถึงประโยชน์ของบัตรเครดิต เอเม๊กซ์คิดว่ามันเป็นเรื่องที่จะต้องเสียเงิน เพื่อตักตวงกำไรในระยะยาว ซึ่งตอนนี้ก็พอที่จะลืมตาอ้าปากกันได้บ้างส่วนเรื่องอื่น โดยเฉพาะเรื่องโดนโกงนั้นก็ถือว่าเป็นความซวยที่จะต้องเผชิญกับกลไกรัฐของเรามันไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ซึ่งเขาก็พยายามแก้ไขมาก ๆ…" คนที่รู้จักเอเม๊กซ์คนหนึ่งพูดให้ฟัง

"ส่วนเรื่องเกี่ยวกับกลุ่มผู้ถือหุ้นคนไทยเพราะกลุ่มคุณชาตรีก็ไม่ณุ้ว่าจริงหรือไม่ เห็นลือ ๆ กันเท่านั้น…"

และสำหรับกรณีการเรียกค่าธรรมเนียมจากร้านค้าสูงกว่าชาวบ้านนั้น "ก็เอเม๊กซ์เขาสามารถให้ราคาสูงกว่าบัตรเครดิตตื่น ๆ เพราะอย่างน้อยจำนวนสมาชิกบัตรก็มากกว่าเพราะฉะนั้นก็น่าจะชอบธรรมแล้วที่เรียกค่าธรรมเนียงสูงกว่า ซึ่งถ้าคำนวนรายรับจากลูกค้าที่เข้ามาซื้อบริการเปรียบเทียบกับค่าธรรมเนียมแล้วนำไปเทียบเคียงกับบัตรอื่น ๆ แล้ว ร้านค้าก็น่าจะได้ประโยชน์มากกว่า แต่โอ.เค ทางด้านจิตวิทยาแล้ว ยิ่งเก็บน้อยร้านค้าก็ยิ่งชอบไม่ต้องสงสัย.." แหล่งข่าวคนเดิมเล่า

เอเม๊กซ์นั้นยิ่งใหญ่คับฟ้าอย่างไม่ต้องสงสัย!!!

เอเม๊กซ์กรุ๊ปซึ่งมีอายุการก่อตั้งกว่าทตวรรษที่สหรัฐอเมริกาและแผ่กิ่งกานสาขาออกไปกว้างขวางทั่วโลก ปัจจุบันที่กิจการในเครือข่ายทั้งหมดอยู่ในความดูแลของ เจมส์ โรบินสัน ที่สาม แชร์แมนและควบตำแหน่ง CEO พร้อมไปด้วย

เอเม๊กซ์กรุ๊ปมีกิรการอยู่ 4 สายที่เหมือนกับขาหยั่ง 4 ขาที่เหมือนค่ำจุนฐานะของเอเม๊กซ์กรุ๊ปให้สูงส่งและยิ่งใหญ่

- เซอร์สัน เลห์แมน เอเม๊กซ์ กิจกรรมร่วมทุนระหว่างเอเม๊กซ์กับเซอร์สัน เลห์แมน บราเธอร์ กรุ๊ป ทำกิจการด้านการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน นายห้างหุ้นและเคชแมเนจเม้นท์คอนซัลแทนท์เป็นกิจการที่ทำเงินมหาศาลและหุ้นของเซอร์สัน เลห์แมน เอเม๊กซ์ในตลาดหุ้นชั้นนำของโลกนั้นก็ถือว่าเป็นหุ้น "บลูชีพ"

- เอเม๊กซ์อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป เป็นกิจการธนาคารที่ถนัดจัดเจนทางด่านแทรดไฟแน้นต์ซิ่ง

- ไอดีเอส (IDS ID ENTIFY SERVICE) ทำกิจการให้คำปรึกษาและจัดการด้านการเงินให้กับประชาชนทั่วไป อย่างเช่น กิจการด้านการประกันให้แนะนำและจัดการเกี่ยวกับเงินออมเพื่อก่อให้เกิดดอกผล

- ทีอาร์เอส (TRS TRAVEL RELATED SERVICD ) ทำกิจกรรมบัตรเครดิต , เช็คเดินทาง ซึ่งบัตรเครดิตอเมริกันเอ็กซเพรสก็อยู่ในกิจกรรมวสายนี้ของเอดม็กซ์กรุ๊ป

พิจารณาจากกิจกรรมทั้ง 4 สายของเอเม๊กซ์แล้วก็น่าจะอยู่รอดที่ เอเม๊กซ์จะถูกเรียกขานว่าเป็น "ซุปเปอร์มาร์เก็ต" ด้วยกันจะมีผลทาบรัศมีได้ก็เพียงซิตี้คอร์ปเท่านั้น

แล้วสำหรับสาขาประเทศไทยเล่า เอเม๊กซ์(ไทย) จะสามารถรักษาความยิ่งใหญ่เกียงไกรเอาไว้ได้หรือไม่ ?!?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.