เหตุผลเพราะละหุ่ง กังวาฬ ตันติพงศ์อนันต์จึงต้องมักคุ้นกับทั้งญี่ปุ่น เยอรมัน ยันอเมริกา


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

นานาพรรณกรุ๊ปเป็นที่รู้จักกันดีในฐานผู้นำทางธุรกิจส่งออกพืชไร่ ไม่ว่าจะเป็น ถั่วเขียว ข้าว ข้าวโพด ละหุ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งละหุ่ง ซึ่งสภาพตลาดมีความไม่แน่นอนตลอดเวลา ทำให้กังวาฬ ตันติพงศ์อนันต์ ประธานกลุ่มต้องตัดสินใจขยายธุรกิจของนานาพรรณกรุ๊ปจากกลุ่มผู้ส่งออกพืชไร่มาเป็นอุตสาหกรรม โดยการผลิตน้ำมันละหุ่งและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง

เพราะละหุ่งนี้เองที่ทำให้กังวาฬได้เรียนรู้วิธีดำเนินการค้ากับต่างชาติมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงบทเรียนทางการค้าเท่านั้น แต่รวมถึงเทคโนโลยีอุตสาหกรรมทางการเกษตรด้วย

เรื่องของกังวาฬกับญี่ปุ่นที่กลายเป็นตำนานการค้าละหุ่งที่ลืมไม่ลง ก็คงเป็นเมื่อกังวาฬร่วมกับผู้ส่งออกรายอื่น ๆ ตั้งบริษัท รวมพ่อค้าพืชผลไทยหรือไทยอาโกร ฯ โดยมีข้อตกลงว่าการส่งออกละหุ่งไปญี่ปุ่นนั้นต้องผ่านบริษัทนี้เท่านั้น เพื่อต่อสู้กับญี่ปุ่นที่กดราคาละหุ่งมากในช่วงปี 2508

ในช่วงนั้นไทยอาโกร ฯ ต้องอึดอยู่นานในการต่อสู้กับญี่ปุ่น กว่าจะขายละหุ่งได้ก็ต้องเกือบล้มทั้งยืน แต่เมื่อกังวาฬสามารถติดต่อขายละหุ่งให้เยอรมันได้ ญี่ปุ่นก็ต้องกลับมาเจรจาซื้อละหุ่งจากไทยอาโกร ฯ อีกครั้ง กล่าวได้ว่ากังวาฬได้เรียนรู้การค้าขายกับญี่ปุ่นก็เพราะละหุ่งนั่นเอง

และเมื่อครั้งกังวาฬคิดตั้งโรงงานสะกัดน้ำมันละหุ่งแห่งแรกในประเทศไทย ได้ชักชวนทางญี่ปุ่นมาร่วมทุนด้วยแต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะญี่ปุ่นรู้ดีว่าถ้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทยแล้ว วัตถุดิบป้อนโรงงานในญี่ปุ่นจะไม่พอ กังวาฬจึงหันมาร่วมทุนกับทาง DRODEUTCHE RIZINUS -GELFABRIK BOLEX XCO . แห่งเยอรมัน ซึ่งเคยรับซื้อละหุ่งจากไทยอาโกร ฯ มาก่อน รวมทั้งใช้เทคโนโลยีทางเยอรมันในการผลิตน้ำมันละหุ่ง ด้วยการตั้งบริษัท สยามน้ำมันละหุ่ง ในปี 2515

ในปี 2527 เมื่อตั้งบริษัท ไทยคาวาเคน เพื่อผลิตขี้ผึ้งเทียม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากน้ำมันละหุ่งอีกขั้นหนึ่ง นำมาใช้ในอุตสาหกรรมขัดเงา เช่น ครีมขัดเงา จารบี และยาขัดรองเท้า

ในครั้งนั้นอาจเป็นเพราะกังวาฬรู้จักมักคุ้นกับญี่ปุ่นมากขึ้น จึงสามารถชักชวนให้ KAWAKEN FINE CHEMICALS CO., LTD. และ KASHO CO., LTD. จากญี่ปุ่นมาร่วมทุนในอุตสาหกรรมนี้ได้ โดยไทยคาวาเคนนั้น ฝ่ายไทยบริษัทสยามน้ำมันละหุ่ง ถือหุ้น 51% KASHO CO., LTD. 4% และ KAWAKEN FINE CHEMICALS CO., LTD. 45% ในบริษัทนี้ กังวาฬให้ตัวแทนจากเยอรมันเป็นตัวแทนของสยามน้ำมันละหุ่งเป็นกรรมการคู่กับตัวแทนจากญี่ปุ่น

เป็นอันว่ากังวาฬก็ได้รู้จักญี่ปุ่นและเยอรมัน ทั้งในด้านการบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีในอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวกับละหุ่งดังกล่าว

ล่าสุดกังวาฬก็มีโครงการผลิตสารกำจัดตะไคร่น้ำในบ่อปลา ซึ่งวัตถุดิบก็ได้รับจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการผลิตน้ำมันละหุ่งนั่นเอง แต่คราวนี้กังวาฬเลือกเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา

"เราสั่งตัวอย่างเข้ามาทดลอง เราทำ CONTROL GROUP อยู่กับฟาร์ม 2-3 แห่งภายในสิ้นปีนี้ ถ้าผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ เราก็จะซื้อ LICENCE แล้วผลิตเอง เพราะการผลิตก็ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก" กังวาฬ ตันติพงศ์อนันต์ เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง ถึงโครงการใหม่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่จากบริษัทต่างชาติกลุ่มใหม่ และผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ก็มีลู่ทางที่จะส่งออกด้วยโดยเฉพาะกลุ่มประเทศในเอเชีย อาคเนย์ เกาหลี ญี่ปุ่น

และจากการที่เป็นกลุ่มผู้ส่งออกชั้นนำและใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อการส่งออกด้วย ในนามบริษัทสยามน้ำมันละหุ่งกังวาฬจึงได้รับรางวัลผู้ส่งออกยอดเยี่ยมประเภทอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร ที่มีเทคนิคการผลิตและด้านการตลาดสูง

ดูเหมือนว่ากังวาฬจะพอใจกับตำแหน่งนี้มาก ในวันมอบรางวัลที่ศูนย์วัฒนธรรมนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มาเป็นประธานในการมอบรับรางวัลนั้น เมื่อมีผู้เข้ารวมมาแสดงความยินดีในตำแหน่งที่ได้รับครั้งนี้ กังวาฬในฐานผู้ส่งออก นักพูดนักอภิปราย พีอาร์แมน และนักคุยตอบกลัวด้วยท่าทางเริงร่า

"เมื่อปีที่แล้ว ผมก็ได้ในนามนานาพรรณเอนเตอร์ไพรซ์ "



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.