|
บินไทย' ผนึก 'ไทเกอร์ แอร์เวย์ส'หวังชิงตำแหน่งเจ้าโลว์คอสต์ไทย
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(11 สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังจากการบินไทยถูกดึงส่วนแบ่งตลาดโดยสายการบินโลว์คอสต์ ทำให้ส่วนแบ่งตลาดของการบินไทยจาก 82% เหลือเพียง 33% แม้การบินไทยจะแก้วิกฤตดังกล่าวด้วยการถือหุ้นในสายการบินนกแอร์ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ แต่ข้อจำกัดของการขยายตลาดของนกแอร์ ทำให้การบินไทยต้องหาแนวทางทำตลาดใหม่
การจับมือกับสายการบินต้นทุนต่ำจากสิงคโปร์ อย่าง ไทเกอร์ แอร์เวย์ส นับเป็นกลยุทธ์ใหม่ที่การบินไทยมองออกในเวลานี้ โดยการจับมือกันครั้งนี้เพื่อตั้งสายการบิน 'ไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์ส' (Thai Tiger Airways) โดยการบินไทยถือหุ้น 51% (แบ่งเป็นการบินไทยจะถือหุ้น 49.8% และกลุ่มบริษัทในเครือของการบินไทย 1.2%) ส่วนอีก 49% ถือหุ้นโดยไทเกอร์ แอร์เวย์ส
โดยการจัดตั้งสายการบินต้นทุนต่ำนี้ใช้เงิน 100 ล้านบาท มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท สายการบินนี้จะดำเนินธุรกิจในรูปแบบสายการบินต้นทุนต่ำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทำการบินในเส้นทางภายในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะเอเชียตอนเหนือ และประเทศอินเดีย โดยจะทำการบินเชื่อมโยงแบบจุดต่อจุดที่มีระยะทางทำการบิน 5 ชั่วโมง
ที่สำคัญจะใช้กรุงเทพฯ เป็น Gateway ในการเดินทางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นฐานปฏิบัติการ เมื่อจะต้องเข้าไปแข่งกับโลว์คอสต์ที่มีแอร์เอเชียเป็นเจ้าตลาด 'ไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์ส' จึงต้องจัดหาเครื่องบินใหม่เข้ามาให้บริการ โดยเครื่องบินแอร์บัส เอ 320 ถูกเลือกให้เป็นพาหนะในการนำพาลูกค้าไปถึงทุกหนแห่งเพื่อแข่งขันกับแอร์เอเชียที่ใช้แอร์บัสให้บริการลูกค้าเช่นกัน
โดย 'ไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์ส' ประเดิมรับแอร์บัส 5 ลำแรกในปี 2545 และอีก 5 ลำต่อมาในปี 2555 ส่วนความพร้อมในการเปิดให้บริการจะเป็นช่วงไตรมาส 1 ของปี 2554 โดยจะขายตั๋วโดยสารราคาถูกผ่านทางอินเทอร์เน็ตเป็นหลักถึง 92% เพื่อลดต้นทุน
หลายคนอาจจะมองว่าการเปิด 'ไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์ส' อาจจะไปแย่งส่วนแบ่งการตลาดกับการบินไทย แต่ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มองว่า การเปิดสายการบินนี้แม้จะให้บริการภายในประเทศและในภูมิภาคเหมือนกับการบินไทย แต่จะไม่แย่งส่วนแบ่งตลาดกับการบินไทยอย่างแน่นอน แต่จะไปดึงส่วนแบ่งทางการตลาดจากสายการบินโลว์คอสต์อื่นๆ หรือสร้างโอกาสเพิ่มรายได้ในตลาดมากกว่า ที่สำคัญยังเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวไทยด้วยการนำนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เท่ากับเป็นการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ และเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวทั้งในส่วนของภาครัฐ และภาคเอกชน นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการมากขึ้นอีกด้วย
ไม่ว่า 'ไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์ส' จะออกมาแข่งขันกับสายการบินโลว์คอสต์อื่นๆ จริงอย่างที่ ปิยสวัสดิ์ ว่าไว้หรือไม่ แต่สิ่งที่คนไทยจะได้คือตัวเลือกอีกหนึ่งตัวที่จะทำให้ผู้บริโภคสะดวกกับการเดินทางมากขึ้น
งานนี้ใครจะได้ประโยชน์หรือไม่ได้ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ ผู้บริโภคได้กำไรจากการลงทุนนี้อย่างแน่นอน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|