ผลงานการตลาดดีเด่น ครั้งที่ 3 น้ำใจยิ่งใหญ่กว่าชัยชนะ


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

การประกวดผลงานการตลาดดีเด่นที่ร่วมกันจัดโดย สาขาวิชาการตลยาด คณะพาณิชยศาสตร์ และสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ประจำปี 2529 - 2530 นี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ในปีนี้มีผู้ที่ส่งแผนงานการตลาดเข้าประกวดทั้งสิ้น 13 ราย น้อยกว่าปีที่แล้วที่มีจำนวน 16 ราย

"ก็นับว่าดีแล้วที่มีคนส่งเข้ามาถึงขนาดนี้ ถึงจะมีน้อยแต่ก็เป็นผลงานที่มีคุณภาพทั้งสิ้นนับว่าผู้ที่ส่งเข้าประกวดนั้นมี SPIRIT มาก ในต่างประเทศยังจัดกันไม่ได้เลย เพราะเขากลัวคู่แข่งรู้แผนงานและเลียนแบบไปใช้ " มานิต รัตนสุวรรณ คุยกับ "ผู้จัดการ"

จะว่าไปก็นับว่าผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวดนั้นใจกว้างพอสมควรที่จะยอมให้แผนงานการตลาดของตนออกสู่สายตาสาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคืนงานประกวดที่มีนักการตลาดนั่งอยู่ทุกโต๊ะ และผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวดก็ใจกว้างขนาดยอมให้จัดพิมพ์แผนการตลาดนั้น เป็นกรณีศึกษาที่ใช้ในการเรียนการสอนทางการตลาดในระดับอุดมศึกษา ซึ่งขณะนี้ขณะผู้จัดงานก็ได้จัดพิมพ์ผลงานการตลาดที่ส่งเข้าประกวดตั้งแต่ครั้งแรกรวมเล่มไว้เพื่อการศึกษาแล้วด้วย

ในการประกวดผลงานการตลาดดีเด่นครั้งนี้ได้แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ ประเภทสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าบริการ และประเภทส่งเสริมสังคม

ประเภทสินค้าอุปโภคบริโภคมีผู้ส่งเข้าประกวด 6 ราย คือ นมยูเอชที ตราโฟร์โมสต์ บริษัท โฟร์โมสต์ ฟรีสแลนด์ (ประเทศไทย) , โครงการ "COLD DRINK PROGRAMME" บริษัท ไทยน้ำทิพย์, เซฟ ที คัท บริษัท ทวีภัณฑ์อีเล็คทริค, น้ำดื่มสิงห์ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่, หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และอาคารชุดเพื่อการอยู่อาศัย ของญาดาคอนโดมิเนียม ประเภทนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลที่ 1 ได้แก่ โครงการ "COLD DRINK PROGRAMME" รางวัลที่ 2 น้ำดื่มสิงห์ รางวัลที่ 3 นมยูเอชที ตราโฟร์โมสต์

ประเภทส่งเสริมสังคมมีผู้ส่งเข้า 2 ราย คือ โครงการชักชวนประชาชนเข้าวัดพระธรรมกาย ระหว่างปี 2527 - 2529 ของศูนย์ประชาสัมพันธ์ มูลนิธิธรรมกาย และโครงการรณรงค์เพื่อการบริโภคนม สำนักนายกรัฐมนตรี ประเภทนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลที่ 1 ได้แก่โครงการส่งเสริมรณรงค์เพื่อการบริโภคนม รางวัลที่ 2 ได้แก่ โครงการชักชวนประชาชนเข้าวัดพระธรรมกาย ระหว่างปี 2527 - 2529

ประเภทบริการมีผู้ส่งเข้าประกวด 4 ราย คือ โครงการประกันชีวิตแบบคุณหญิง - รัชดา ภิเษก บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต , แผนงานตลาดในช่วงปี 2527 - 2529 บริษัทการบินไทย, แผนงานการตลาด บริษัท เสริมแสงเซลส์แอนด์เซอร์วิส และเดอะมอลล์ช้อปปิ้งเซนเตอร์ รามคำแหง บริษัทราชประสงค์ช้อปปิ้งมอลล์ ประเภทนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลที่ 1 ได้แก่ แผนการตลาดของเดอะมอลล์ช้อปปิ้งเซนเตอร์ รามคำแหง รางวัลที่ 2 แผนการตลาดในช่วงปี 2527 - 2529 บริษัทการบินไทย รางวัลที่ 3 แผนการตลาดบริษัท ส่งเสริมแสงเซลส์แอนด์เซอร์วิส

สำหรับประเภทสินค้าอุตสาหกรรมนั้น มีแผนการตลาดเครื่องสุขภัณฑ์ของบริษัทเครื่องสุขภัณฑ์อเมริกันสแตนดาร์ด (ประเทศไทย) ส่งเข้าประกวดเพียงรายเดียว และผลการตัดสินในประเภทนี้ก็ไม่มีใครได้รับรางวัล แม้จะเป็นรางวัลที่ 3 ก็ตาม

สำหรับเครื่องสุขภัณฑ์อเมริกันสแตนดาร์ดนั้น นับว่าเป็นสินค้าที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันสูงจากการเป็นเจ้าตลาดที่ครองส่วนแบ่งอยู่กว่า 50 % โดยไม่มีคู่แข่งรายใหญ่หาญมาต่อกร ต่อเมื่อปูนใหญ่ลงมาเล่นในตลาดนี้ในนามสยามซานิทาร์ แวร์ และตามมาด้วยเครื่องสุขภัณฑ์ BRAND NAME อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น แชงค์ , คอตโต้ , โตโต้, กะรัต, แชมป์เปี้ยน จึงทำให้การตลาดเครื่องสุขภัณฑ์คึกคักขึ้นเป็น CASE ที่น่าศึกษา

"สินค้าประเภทอุตสาหกรรมนั้น ถึงจะมีการแข่งขันกันมาก แต่การที่จะดำเนินการทางการตลาดให้ได้ผลรวดเร็ว ตัวเลขยอดขายเพิ่มมากขึ้นทันตาเห็นนับเป็นไปได้ยาก แผนงานของอเมริกันสแตนดาร์ด ไม่ใช่ว่าไม่ดีแต่ว่าส่งมาเพียงรายเดียว คณะกรรมการกับผู้ส่งตกลงกันว่าจะไม่มีรางวัลให้ในประเภทนี้ ก็ตกลงกันด้วยดี" มานิต รัตนสุวรรณ กรรมการสมาคมการจัดธุรกิจแห่งประเทศไทยหลายสมัยเผยกับ "ผู้จัดการ"

ถึงแม้ว่าในคืนวันประกาศผลการตัดสินเมื่อมีการประกาศว่าไม่มีผู้ได้รับรางวัลประเภทอุตสาหกรรมพร้อม ๆ กับเสียงฮา ก็ตาม

แต่ก็นับว่าเป็นความใจกว้างของอเมริกันสแตนดาร์ดที่ยอมเปิดเผยแผนการตลาดทั้งที่เป็นผู้นำทางการตลาดที่มีแข่งขันสูง งานนี้แผนการตลาดอันเยี่ยมยุทธที่นำมาซึ่งรางวัลดีเด่นแต่ละประเภทนั้นไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปกว่าน้ำใจเลย… อเมริกันสแตนดาร์ดเข้าใจเรื่องนี้ดี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.