|
โฉมใหม่ “SME ตีแตก” ย้ำเกมรุกKBANKครองตลาดเอสเอ็มอี
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
นับจากการปูพรมรุกสร้างแบรนด์ K-SME ของธนาคารกสิกรไทยอย่างหนักหน่วงผ่านทุกช่องทาง พร้อมด้วยโปรเจกต์ใหญ่อย่าง “รายการ SME ตีแตก” ร่วมกับเวิร์คพอยท์ฯ ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และโด่งดังไปทั่วเมือง จนถึงขนาดมีพ่อค้าหัวใสทำเป็นดีวีดีออกมาขายกลายเป็นข่าวคราวในหน้าหนังสือพิมพ์ ทั้งหมดเป็นดัชนีชี้วัดกระแสความแรงของรายการ พร้อมกับตอกย้ำภาพของเคแบงก์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นถึงเป้าหมายที่ต้องการจะเป็นธนาคารเพื่อเอสเอ็มอี
หากวัดผลในเบื้องต้นในแง่ความสำเร็จของรายการ SME ตีแตก ปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “ในแวดวงธนาคาร รายการนี้ถือเป็นนวัตกรรมด้านเครื่องมือสื่อสารการตลาดรูปแบบใหม่ เจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจ อายุระหว่าง 30-45 ปี เราออกอากาศมาแล้ว 6 เดือน นำเสนอไป25 ธุรกิจ ผลตอบรับที่ได้ถือว่าดีมากทั้งในแง่คนมาออกรายการ และคนดูรายการ แม้ธุรกิจในสัปดาห์นั้นจะตีโจทย์ไม่แตก แต่วันรุ่งขึ้นยอดขายจะพุ่งเป็นเท่าตัว เพราะรายการเรากลายเป็นช่องทางในการโปรโมทธุรกิจของเขาไปในตัว”
นอกจากนี้จากการสำรวจพบว่า ผู้ที่ชมรายการ 80% รู้สึกชื่นชอบเนื้อหาของรายการ เพราะให้ทั้งความรู้และสาระบันเทิง เป็นไปตามที่เคแบงก์ต้องการ แม้ว่าการใช้สื่อโทรทัศน์ที่ไม่ใช่แค่การซื้อเวลาในช่วงสั้นๆ เพื่อออกสปอตโฆษณา แต่คือการโดดลงมาเป็นเจ้าของรายการเสียเอง ที่มีเวลาออกอากาศกว่า 1ชม. ต่อสัปดาห์เป็นเวลา 1 ปี กลายเป็นการใช้เม็ดเงินซื้อสื่อในจำนวนที่ไม่น้อย แต่เมื่อเทียบกับผลตอบรับที่ได้ก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะนอกจากเคแบงก์จะสามารถนำเสนอเนื้อหาต่างๆ เกี่ยวบริการทางการเงินของตัวเองได้อย่างเต็มที่แล้ว ยังสามารถสร้างแบรนด์ให้ติดปากในกลุ่มแมสหรือคนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
“การทำตลาดรายย่อยแค่สร้าง Awareness ไม่พอ ต้องทำให้ลูกค้าเกิดความสนใจด้วย” ปกรณ์กล่าว
ส่วนผลตอบรับในแง่ของยอดลูกค้าใหม่ที่เข้ามาใช้บริการ K-SMEหลังรายการได้ออกอากาศไปแล้ว ทำให้แบรนด์ K-SME เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ปกรณ์เล่าว่า ลูกค้ามี Brand Awareness ต่อ K-SMEสูงเป็นอันดับ 1 ถึง 44% มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ K-SME Start-up Solution ช่วงครึ่งปีแรกแล้ว 20,216 ราย จากเป้าทั้งปี 30,000 ราย สอดคล้องกับจำนวนการขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจเริ่มต้นที่สูงถึง 937 ราย คิดเป็นวงเงิน 275 ล้านบาท เทียบกับปี 2552 ที่ยังไม่ได้ทำรายการ มียอดขอสินเชื่อเพียง 500 ราย คิดเป็นวงเงิน 150 ล้านบาท เรียกได้ว่าการสร้างแบรนด์ K-SMEผ่านรายการ SME ตีแตกของเคแบงก์ สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดีและสามารถเพิ่มฐานลูกค้าได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ผ่านมาแล้ว 6 เดือน รูปแบบรายการที่เป็นการนำเสนอธุรกิจใหม่ๆ ที่น่าสนใจ รวมถึงคำวิจารณ์จากกูรูการตลาดฝีปากกล้า ถือเป็นรูปแบบที่ค่อนข้างลงตัวแล้ว แต่เพื่อเพิ่มสีสันของรายการและสร้างแบรนด์ K-SME ให้เข้าถึงความเป็นแบรนด์มหาชนในใจผู้ประกอบการมากขึ้น ล่าสุดจึงได้ปรับรูปแบบรายการ SME ตีแตกให้มีการเดินสายสัญจรไปถ่ายทำรายการในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเริ่มต้นเทปแรกที่ จ.อุดรธานี กับธุรกิจ “เด่นซาลาเปา” ซึ่งเป็นของขึ้นชื่อในจังหวัด แม้ว่าความเป็นรายการโทรทัศน์จะเป็นสื่อแมสที่สามารถเข้าถึงผู้ชมได้ทั่วประเทศอยู่แล้ว แต่การลงพื้นที่ไปตามจังหวัดต่างๆ ก็จะทำให้แบรนด์ K-SME รวมถึงชื่อของเครือเคแบงก์เข้าใกล้ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น แม้ว่าฐานลูกค้าเอสเอ็มอีของเคแบงก์ส่วนใหญ่กว่า 60% จะเป็นลูกค้าในต่างจังหวัดอยู่แล้วก็ตาม ซึ่งเคแบงก์ตั้งเป้าผู้ชมรายการ ณ สิ้นปี 2553ประมาณ 1 ล้านคน โดยในช่วงแรกที่ทำรายการมีผู้ชมประมาณตอนละ 650,000 คน สูงสุด 840,000 คน ถือว่าเป็นเรทติ้งค่อนข้างสูงของรายการในรูปแบบ Edutainment
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|