เปิดตัวอเมริกันแบรนด์สในไทย ฤาจะถึงยุค"อเมริกันคอนซูเมอร์ โปรดักส์ "?


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อสิบกว่าปีก่อนสำหรับคนไทยตั้งแต่ตื่นขึ้นมาตอนเช้าทำกิจวัตรประจำตัวยันค่ำ ทั้งวันหนีไม่พ้นที่จะบริโภคสินค้าญี่ปุ่นมาใน พ.ศ. นี้ดูเหมือนการค่อย ๆ แทรกเข้ามาของยักษ์ใหญ่คอนซูมเมอร์โปรดักส์ของอเมริกา จะเริ่มมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหมื่นล้านในเมืองไทย เพราะผู้บริโภคหันไปไหนมาไหนจะพบสินค้าอเมริกันมากขึ้น

เริ่มตั้งแต่ข่าวการขยับตัวของพรอกเตอร์ แอนด์ แกรมเบิล ที่ทุ่มเงินกว่าสองหมื่นล้านบาทเข้าเทคโอเวอร์รีซาร์ดสัน วิคส์ ทั่วโลกเมื่อปลายปีที่แล้วมีผลถึงรีซาร์ดสัน วิคส์เมืองไทยที่จะเป็นฐานทางการตลาดให้พรอกเตอร์ แอนรด์ แกรมเบิลนำสินค้าเข้าเมืองไทยโดยสะดวกยิ่งขึ้น

หรือแม้การเข้ามาของแอมเวย์ ยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ในยุทธจักรขายตรงของโลก ที่คอนซูมเมอร์ โปรดักส์อยู่ในมือมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเครื่องสำอาง ฯ ลฯ ซึ่งสินค้าที่ส่งเข้ามาชิมลางตลาดเมืองไทยเช่น สบู่ แชมพู น้ำยาล้างรถ น้ำยาเช็ดกระจก ผงชักฟอก เป็นต้น ซึ่งชื่อแอมเวย์ ก็เริ่มคุ้นหูคนไทยพอสมควรแล้ว

จนถึงล่าสุดเมื่อต้นปีมิถุนายนนี้ มีการเปิดตัวอเมริกันแบรนด์ส อิงค์ กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกาอีกแห่งหนึ่งที่ดำเนินสินค้าอุปโภคบริโภค และบริการทางด้านการเงิน การแถลงข่าวเปิดตัวในเมืองไทยเรื่องหลัก ๆ ก็คือโครงการลงทุนผลิตภัณฑ์บางอย่างในประเทศไทยของบริษัทในเครือคือ บริษัท แอนด์รูว์ เจอร์เก้นส์ และบริษัท อคูชเน็ท

โดยบริษัท เจอร์เก้นส์ ได้จ้างบริษัท นวศรี แมนูแฟนเจอร์ริ่ง ผลิตโลชั่นถนอมผิว เจอร์เก้นส์ และบริษัท อคูชเน็ท จะร่วมกับบริษัทในเครือ ไมเนอร์โฮลดิ้งกรุ๊ป (กรุงเทพฯ ) ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่ทำจากยาง

"ประเทศไทยมีความสำคัญต่อกลยุทธทางการตลาดในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิค การพัฒนาใหม่ ๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทขยายตัวไปทั้งในประเทศและประเทศใกล้เคียง" มร.วิลเลียม เจ. อัลเลย์ รองประธานและหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติงาน อเมริกา แบรนด์ อิงค์ กล่าวและเพิ่มเติมด้วยคำว่าอเมริกาแบรนด์ส ยังมีโครงการจะมาร่วมลงทุนผลิตขนมปังกรอบ และคุกกี้ "ซันไชน์" ในประเทศไทยอีกด้วย

สำหรับยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคของอเมริกัน แบรนด์สในเขตเอเชีย - แปซิฟิค เมื่อปี 2529 มียอดขายถึง 2,550 ล้านบาทในเมืองไทยนั้นมีผลิตภัณฑ์ของบริษัทในเครืออเมริกันแบรนด์สหลายชนิดตั้งแต่ปลายปี 2528 รวมยอดขายได้ทั้งสิ้นประมาณ 12,750,000 บาท ผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือ วิสกี้ จิม บีม ที่จำหน่ายโดยผ่าน บริษัท ริช มอนเด้ และเครื่องกีฬากอล์ฟของบริษัท ฟินเนเกิ้ลและ ฟุต- จอย ที่มีผู้นำเข้ามาจำหน่ายหลายรายด้วยกัน

"ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ทำด้วยยางนั้นลงทุนขั้นต้นประมาณ 25 ล้านบาท โรงงานตอนนี้ก่อสร้างแล้วอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม จะใช้ยางที่เป็นวัตถุดิบในประเทศไทย 15 % ในปีแรกจะผลิตประมาณ 15,000 ตัน และจะส่งออกประมาณ 90 % ของที่ผลิตได้ " มร. วิลเลียม กล่าวถึงโครงการที่ผลิตรถยนต์ที่ทำด้วยยางว่านตอนนี้อยู่ระหว่างการขอรับการส่งเสริมการลงทุนด้วย

"ส่วนผลิตภัณฑ์โลชั่นเจอร์เก้นส์นั้น จะให้ทางนวศรีฯ ผลิตอย่างเดียว คงจะผลิตได้ในเดือนตุลาคมนี้ ขณะนี้ยังสั่งเข้ามาจำหน่ายอยู่ส่วนตัวแทนยังไม่ได้ตัดสินใจจะให้ดำเนินการเองหรือมอบหมายให้ใคร" มร. วิลเลียม กล่าวเสริม

สำหรับคอนซูมเมอร์ โปรดักส์ ในวันนี้ อเมริกัน แบรนด์ส บุกตลาดเมืองไทยด้วยผลิตภัณฑ์ โลชั่นซึ่งคิดว่าจะมีโอกาสทางการตลาดมากที่สุด ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น บุหรี่ คาร์ลตันลัคกี้ สไตรค์ พัลมัล และทาร์เรย์ตัน ของวิสกี่ จิม บีม เบอร์บอน, กุญแจมามาสเตอร์ ขนมปังกรอบและคุกกี้ ซันไชน์ , เครื่องครัว "เคส" ก็คงเตรียมที่จะบุกตลาดเมืองไทยอย่างจริงจังในเวลาอีกไม่นาน

ดูเหมือนจะเป็นการเริ่มยุคสินค้าอุปโภค บริโภค"อเมริกัน" ไม่ว่าจะเป็น พี แอนด์ จี แอมเวย์ หรืออเมริกัน แบรนด์สเสียแล้วสำหรับขณะนี้

สำหรับคอลเกต , ลีเวอร์ฯ ยักษ์คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ ในนามเจ้าภาพที่ครองตลาดในเมืองไทยมาช้านาน คงต้องคอยต้อนรับบคอนซูมเมอร์ โปรดักส์ สัญชาติอเมริกันนี้ไว้เนิ่น ๆ ได้แล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.