|

ความท้าทาย มนุษย์เงินเดือน เมื่อ'แฟรนไชส์' สร้างความมั่งคั่ง
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ตกต่ำและถดถอยรุกรามในระดับโลก โอกาสการสร้างรายได้จากภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ริบหรี่ ประกอบกับปัจจัยต่างๆ ในปัจจุบันการหางาน หารายได้ ย่อมไม่ง่ายเหมือนในอดีตอีกต่อไป
จึงเป็นโจทย์ให้กับมนุษย์เงินเดือนทั้งโลก มองหาการสร้างรายได้ที่มากพอกับค่าครองงชีพที่ทะยานขึ้นเป็นเงาตามตัว เงินเป็นปัจจัยหลักและปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์โลกปัจจุบันในการซื้อหาสิ่งต่างๆ เพื่อการดำรงอยู่อย่างสะดวกสบาย
ฉะนั้นจะเห็นปฏิกิริยาของมนุษย์เงินเดือนทั่วโลก ปฏิวัติการสร้างรายได้ ที่ไม่ใช่แค่ "มีรายได้" แต่ต้องมี "ความมั่งคั่ง" การที่จะมีความมั่งคั่งได้นั้น ภายใต้ทฤษฎีของการทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย หากยังเป็นมนุษย์เงินเดือนการเก็บออมจากรายได้ คงไม่เพียงพอที่จะก้าวสู่ความมั่งคั่งได้
"การเป็นผู้ประกอบการ" สามารถสร้างสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนปรารถนาได้เร็วกว่า แต่การสร้างธุรกิจใหม่หรือการซื้อแฟรนไชส์นั้น ในที่นี่คือความหมายเดียวกัน
และสามารถบอกได้มากกว่า 90% ของแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จได้นั้น อันดับต้นๆ มาจากการผลักดันของบุคคลที่เป็นมนุษย์เงินเดือนมาก่อน แฟรนไชส์ทั่วโลกหรือแม้แต่ประเทศไทยเองก็ตาม ล้วนเป็นมนุษย์เงินเดือนมีมีหลายเหตุผลหลายปัจจุบัน ที่ทำให้เขาเลือกที่จะเดินบนเส้นทางธุรกิจแฟรนไชส์มากกว่าหน้าที่การงานจากงานประจำ
บทความจาก www.entrepreneur.com โดย Jeff Elgin กูรูด้านแฟรนไชส์มากว่า 25 ปี จากสหรัฐอเมริกา ได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นของตลาดแรงงานและการพิจารณาเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งเขามองว่า การมองหาตำแหน่งงานใหม่ในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ กับการที่ซื้อแฟรนไชส์อาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
สภาพเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาที่รุมเร้า กระทบทั่วทุกอุตสาหกรรมส่งผลความว่างงานจำนวนมาก ส่วนรายเดิมที่ยังคงมีตำแหน่งงานอยู่ ได้ถูกลดทอนด้วยปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอัตราค่าจ้างที่เท่าเดิม เมื่อเทียบกัยค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ความไม่สัมพันธ์กันระหว่างรายรับรายจ่ายในครอบครัว ล้วนเป็นสิ่งที่บุคคลในครอบครัวต้องดิ้นร้นหางานสร้างรายได้ใหม่ให้เกิดขึ้น
Jeff บอกว่า ปัจจุบันที่สหรัฐอเมริกาพนักงานระดับผู้บริหารระดับสูงและระดับผู้จัดการ มองหาช่องทางใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ และได้เริ่มมองโอกาสของธุรกิจแฟรนไชส์มากขึ้น แทนการมองหาตำแหน่งงานใหม่ในองค์กรอื่นๆ ที่เป็นไปยากเหลือเกินในเวลานี้กับการเปลี่ยนงานใหม่และเชื่อว่าคงไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน
จึงนำไปสู่คำถามที่ดีสำหรับสมาชิกในครอบครัวเพื่อพิจารณากันว่า ความแตกต่างระหว่างการทำงาน (ที่เดิม/ที่ใหม่) กับการเป็นเจ้าของแฟรนไชส์คืออะไร Jeff ว่า แน่นอนย่อมมีข้อดีและข้อเสียให้เลือก มีคำตอบที่หลากหลายจากคนที่เขาต้องการบรรลุเป้าหมายในชีวิตและความรู้สึกต่อปัจจัยเสี่ยงและผลตอบแทนที่เกิดขึ้น ซึ่งพิจารณาสถานะภาพตลาดของงานที่ทำและอุตสาหกรรมแฟรนไชส์
หากมองถึงตลาดแรงงานในปัจจุบัน พบอัตราการว่างงานสูง หลายบริษัทอาศัยจังหวะนี้หาผลประโยชน์จากการเพิ่มข้อกำหนด คุณสมบัติต่างๆ เพิ่มขึ้น แต่เงินเดือนเริ่มต้นที่แสนเจ็บปวดกับตำแหน่งใหม่ หรือพูดง่ายๆว่า คุณสมบัติสูงลิ่วแต่ให้เงินเดือนหรือค่าจ้างต่ำ เพราะพวกนายจ้างมองว่าสภาพของคนตกงานหยิบยื่นอะไรให้ก็ต้องคว้าไว้ก่อน เหมือนยืนรอที่หน้าประตูบริษัทแล้วและเปิดประตูเมื่อไหร่แรงงานเหล่านี้ก็พร้อมที่จะทะลักเข้ามาทันที ฉะนั้นสภาพที่เกิดขึ้นจึงไม่สวยหรูนักสำหรับผู้ที่ต้องการหางาน
หากมองในฟากของอุตสาหกรรมแฟรนไชส์ สภาพเศรษฐกิจส่งผลกระทบวงกว้าง แนวคิดธุรกิจแฟรนไชส์นั้นพบว่ามีภาวะถดถอยในเรื่องของรายได้และกำไร ดังจะเห็นแฟรนไชส์รายที่เข้มแข็งเท่านั้นที่อยู่รอดและรอเวลาที่เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งหมายความว่าเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้ซื้อแฟรนไชส์หรือแฟรนไชซีในอนาคตจะต้องระใดระวังมากขึ้นกว่าปกติในการเลือกซื้อแฟรนไชส์และโอกาสที่เหมาะสม
ขณะเดียวกันสินเชื่อสำหรับการเริ่มต้นทำธุรกิจแฟรนไชส์นั้นไม่เหมือนที่ผ่านมาหรือในยุคที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง ดังนั้นแฟรนไชส์ใหม่อาจจะต้องมองถึงทรัพยากรอื่นๆ เพื่อเป็นทุนในการเริ่มต้นธุรกิจ และส่วนใหญ่ผู้บริหารที่ว่างงานไม่ได้สำรองทุนไว้มากจึงต้องค้นหาแฟรนไชส์ที่สร้างรายได้ดีและเร็วที่สุด แต่ปัจจัยเหล่านี้การที่จะหาแฟรนไชส์ที่ดีอาจท้าทายกว่าในอดีต
Jeff มองว่า แม้ว่าสถานการณ์ตลาดในปัจจุบันจะไม่ดีนัก แต่ยังเป็นโอกาสที่ดีของผู้ที่ระมัดระวังโดยที่เขาให้ประเมินจากตัวเลือกทั้ง 3 ประเด็นนี้
1.รายได้ ทั้งงานหรือแฟรนไชส์ควรสร้างรายได้ ซึ่งงานที่ทำอยู่นั้นโดยปกติจะกำหนดไว้ชัดเจน ที่เราสามารถรู้เงินเดือนที่ได้รับและวิธีการจ่ายหรืออาจเป็นรายได้ที่ไม่คงที่ที่ขึ้นอยู่กับค่าคอมมิชชั่นหรือโบนัส แต่เป็นการง่ายที่ทำให้เราสามารถประเมินล่วงหน้าถึงรายได้ที่เข้ามา
แต่กับการสร้างรายได้จากธุรกิจแฟรนไชส์นั้น ในระยะสั้นอาจไม่เห็นรายได้ที่เข้ามามากนักเพราะเป็นช่วงของการเริ่มต้นธุรกิจ แต่ระยะยาวอาจคาดการณ์ได้ถึงรายได้ที่จะเข้ามาซึ่งอาจจะมากหรือไม่น้อย แต่ต้องให้แน่ใจว่าระหว่างนั้นเราต้องมีเงินสำรองเพียงพอที่จะอยู่ได้ขณะที่กำลังผ่านช่วงของการสร้างธุรกิจหรือการเริ่มต้น
2.มูลค่าทรัพย์สินหรือความมั่งคั่ง เป็นกรณีคลาสิกที่เจ้าของธุรกิจสร้างความมั่งคั่งให้เกิดกับธุรกิจที่เขาลงทุน เช่นกันเมื่อเราสร้างธุรกิจแฟรนไชส์เท่ากับเราสร้างสินทรัพย์ที่เติบโตมีมูลค่าและสามารถขายแฟรนไชส์ และสร้างความมั่งคั่งให้กับเจ้าของแฟรนไชส์ระหว่างการดำเนินธุรกิจนั้น แต่เจ้าของแฟรนไชส์อาจต้องเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในช่วงต้น แต่รางวัลที่ได้รับคือรายได้ที่สร้างขึ้นจากความพยายามที่เกิดขึ้นกับเรามากกว่าคนอื่น ปัจจัยนี้เป็นสิ่งสำคัญมากที่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์
3.การควบคุม งานประจำที่ทำอยู่จะถูกควบคุมโดยเจ้านายที่จะบอกให้เราทำในงานที่พวกเขาต้องการและวิธีการต่างๆ ที่เขาต้องการให้เราทำ แต่หากเราเป็นเจ้าของแฟรนไชส์เท่ากับเราเป็นนายจ้างของตัวเราเอง และสามารถบอกคนอื่นทำในสิ่งที่เราต้องการและจะทำให้งานที่เราทำนั้นสมบูรณ์มีคุณค่าในสิ่งที่ทำ นี่เป็นพื้นฐานที่น่าสนใจมากสำหรับบางคน แต่สำหรับบางคนอาจจะดูน่ากลัวหรืออึดอัด ฉะนั้นเราต้องประเมินตนเองและพิจารณาให้ถี่ถ้วนเพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าเราเหมาะกับการทำงานในรูปแบบใดทำตามคำสั่งหรือทำในบทบาทของการเป็นเจ้าของกิจการ บุคลิกไหนที่เหมาะกับเรา
ฉะนั้นงานที่เราทำอยู่กับธุรกิจแฟรนไชส์นั้นสิ่งไหนดีกว่ากัน Jeff บอกว่า ไม่มีคำตอบถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี แต่ขึ้นอยู่กับความสำคัญของบุคคลหรือสิ่งที่เราพยายามที่จะสำเร็จในชีวิต เพราะมองที่พื้นฐานง่ายๆ ทำงานมีรายได้แน่นอน แต่การที่เป็นเจ้าอขงแฟรนไชส์มีโอกาสสร้างความมั่งคั่ง ซึ่งแต่ละคนต้องพิจารณาถึงความสมดุลระหว่างปัจจัยต่างๆ ให้ดีที่สุดสำหรับเรา
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|