“กรณ์” จี้ สทท.ทำแผน 20 ปี เน้นศึกษาและพัฒนา 3 ประเด็นหลัก


ASTV ผู้จัดการรายวัน(10 สิงหาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

“กรณ์” เปิดทางรัฐบาลพร้อมจัดงบสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แนะสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จัดทำยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวระยะยาว 5-20 ปี เน้นศึกษาและพัฒนาใน 3 ประเด็นหลัก สิ่งแวดล้อม-ตลาดผู้สูงอายุ-เมดิคัลทัวร์ ย้ำที่ผ่านมามัวแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า กดท่องเที่ยวไทยย่ำอยู่กับที่

9ส.ค.53 ในงาน “9 ปี สทท....สู่ก้าวย่างที่กล้าแกร่งคู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย” จัดโดยสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.) นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในการเสวนาภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจโลก และทิศทางเศรษฐกิจไทย” ว่า ต้องการให้ สทท.ในนามภาคเอกชนจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยโดยมองไปในอนาคตระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ใน 3 ประเด็นหลัก

โดยรัฐบาลพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ได้แก่ 1.การดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการรักษาและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืน แก้ปัญหาแหล่งท่องเที่ยวทรุดโทรม มีระบบการดูแลและนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จัดในวงกว้าง เพื่อให้แต่ละท้องถิ่นความโดดเด่นด้านแหล่งท่องเที่ยวตามความเหมาะสมของตัวเอง โดยรัฐและเอกชนต้องดูแลร่วมกัน มีการตรวจสอบการใช้งบประมาณท้องถิ่นให้ตรงประเด็นความต้องการ

“จากเหตุการณ์ความไม่สงบอันเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่ผ่านมาทำให้ นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่กล้าเดินทางมากรุงเทพฯ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวไปลงยังภูเก็ตเพิ่มมากขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นของการสร้างแบรนด์ในแต่ละพื้นที่ให้เกิดขึ้น เช่น บาหลี ก็มีการโปรโมตแยกออกมาจากอินโดนีเซีย

ดังนั้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งดึงจุดเด่นในพื้นที่ของตัวเองโดยเฉพาะด้านทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรม รวมสร้างเป็นแบรนด์คลัสเตอร์ จัดงบประมาณสร้างระบบสาธารณูปโภคให้เหมาะสม จะลดความเสี่ยง และเพิ่มรายได้โดยรวมให้แก่ประเทศ ไม่จำเป็นต้องสร้างคาสิโนมาเพื่อดึงนักท่องเที่ยว โดยให้ดูตัวแบบอย่างฝรั่งเศส และสเปน ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อปี กว่า 60-70 ล้านคน ”

2.ศึกษาและกำหนดตลาดเป้าหมายในการขยายฐานนักท่องเที่ยวให้ชัดเจน มองตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตทั้งจำนวนและความพร้อมในการจับจ่าย เพื่อนำไปปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์เงื่อนไขให้เอื้อต่อการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยว โดย ตลาดนักท่องเที่ยวสูงอายุ เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยเฉพาะจากตลาดยุโรป สแกนดิเนเวีย และ ญี่ปุ่น ซึ่งมีรัฐสวัสดิการในการอุดหนุนให้ประชากรสูงวัย ออกไปพำนักระยะยาวในต่างประเทศซึ่งจะใช้งบประมาณในการดูแลน้อยกว่าการพำนักในประเทศของตัวเอง ขณะที่ไทยมีภูมิศาสตร์ที่มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ แต่ติดเงื่อนไข ระยะเวลาการให้วีซ่า ตลอดจนสิ่งอำนวยที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน

“การศึกษาตลาดเป้าหมาย เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์ชัดเจน เพราะจะต้องทราบความต้องการของลูกค้าเป้าหมาย จากนั้นต้องมีการสร้างภาคี เป็นพันธมิตรกับประเทศต่างๆ ควรใจกว่างในการผ่อนปรนเงื่อนไขเพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากภาคีให้มาลงทุนสร้างธุรกิจในประเทศไทย จึงถึงเวลาที่เราต้องปรับแนวคิดแล้ว”

3.ตลาดการให้บริการทางการแพทย์ หรือ เมดิคัลทัวริสซึ่ม หากไทยต้องการเป็นฮับในงานบริการด้านเมดิคัลทัวร์ และ การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม จะต้องเปิดกว้างในเงื่อนไขให้รับบุคคลากรในกลุ่มนี้เข้ามาในประเทศไทย เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น เช่น บุคคลากรในกลุ่มแพทย์ พยาบาล และเทคนิคการแพทย์ในด้านต่างๆ ชูจุดขายด้านบริการ เทคโนโลยีและราคาที่ถูกกว่าประเทศคู่แข่งขัน

“ผมหวังว่า ใน 3 ประเด็นดังกล่าว สทท.จะตั้งมาเป็นโจทย์ทางยุทธศาสตร์ ส่วนในแง่นโยบายความร่วมมือจากรัฐ ก็มีช่องทางที่รัฐและ สทท.จะพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหากันอยู่บ่อยครั้ง ที่ผ่านมา ช่วง 2-3 ปี รัฐบาลและ สทท.ทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น จึงถึงเวลาที่จะมองไปข้างหน้าแล้ว เพราะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศ ก่อเกิดการจ้างงานในประเทศกว่า 2 ล้านคน คิดเป็น 6%ของ จีดีพี”

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของกิจประเทศไทยและเพื่อนบ้านอย่างจีน อินเดีย เวียดนาม ก่อเกิดศักยภาพการเติบโตของกำลังซื้อและความต้องการเดินทางท่องเที่ยว แรงงานย้ายถิ่นจากชุมชนสูงสังคมเมือง ก่อเกิดความต้องการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนจึงมองเห็นแล้วว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีโอกาสเติบโตสูงซึ่งเราต้องช่วยกันพัฒนาและศึกษาตลาดเพื่อรองรับความต้องการเหล่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปราฐกถาพิเศษในหัวข้อ “เชื่อมั่นประเทศไทย ..งก้าวไกลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย” ว่าท่ามกลางวิกฤติทางการเมืองที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นเร็วได้เร็วที่สุด ขณะที่นายอรรถชัย บุรกรรมโกวิท ปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ยืนยันว่า จากที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปีนี้จะอยู่ 14 ล้านคน คงขึ้นมาเป็น 14.5 ล้านคนได้ ขณะที่นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ท้าเดิมพันว่าในปีนี้จะได้ถึง 15 ล้านคนและสบายใจยิ่งขึ้นเมื่อ ส.ท.ท.คาดว่าจะได้ถึง 15.3 ล้านคน พร้อมทั้งอยากเห็นรายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่สูงกว่าในปัจจุบัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องดีหากรัฐบาลจะพูดว่ารัฐบาลได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมทุกสาขา แต่ท่ามกลางความจริงจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลทำให้เห็นเป็นรูปธรรมคือ นโยบายการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ กำหนดชัดที่จะนำอุตสาหกรรมหนักไปไว้ประเทศเพื่อนบ้านเพื่อไม่ให้มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมกับชุมชนในพื้นที่ที่ต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นอกจากนี้ก็อยากเห็นแต่ละชุมชนใช้ท่องเที่ยวเป็นกระบวนการของการปรองดองเหมือนที่ได้ทำกันใน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.